ไขปม "ครูใต้" ทำไมตกเป็นเป้าสังหาร แง้ม "ช่องโหว่" มาตรการ รปภ.
เหตุการณ์ลอบสังหารครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 3 รายในห้วงเวลาเพียง 12 วัน และยังมีเหตุวางเพลิงเผาโรงเรียนอีก 2 แห่ง ทำให้มาตรการ "รักษาชีวิตครู" ถูกหยิบยกขึ้นหารือและวิพากษ์วิจารณ์กันในระดับประเทศอีกครั้ง
22 พ.ย. ครูนันทนา แก้วจันทร์ อายุ 51 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตคารถ ทำให้สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สั่งปิดการเรียนการสอนโรงเรียนในระดับประถมศึกษาทั่ว จ.ปัตตานี รวม 332 แห่ง
3 ธ.ค. ครูฉัตรสุดา นิลสุวรรณ อายุ 32 ปี จากโรงเรียนบ้านตาโงะ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกยิงเสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน ทำให้โรงเรียน 21 แห่งใน อ.เจาะไอร้อง ปิดการเรียนการสอนชั่วคราว
4. ธ.ค. ครูธีระพล ชูส่งแสง อายุ 52 ปี จากโรงเรียนบ้านบอเกาะ หมู่ 2 ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้สมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาสประกาศปิดการเรียนการสอนโรงเรียนประถมทั่วทั้งจังหวัดเป็นการชั่วคราว
ขณะเดียวกัน ช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 พ.ย. และ 3 ธ.ค. โรงเรียนบ้านบางมะรวด และโรงเรียนบ้านท่าสู อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ถูกวางเพลิง ทำให้อาคารเรียนได้รับความเสียหาย
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยครูที่ต้องสังเวยชีวิตไปแล้ว 155 ราย บาดเจ็บ 151 ราย และการคุ้มครองโรงเรียนซึ่งถูกเผาไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ตลอดเกือบ 9 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง แกนนำครู องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อไขปริศนา "ทำไมครูถูกฆ่า" และมาตรการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐมีช่องโหว่อย่างไร
ไขปริศนาทำไมต้องฆ่าครู
ก่อนจะวิเคราะห์มาตรการ รปภ. ต้องเริ่มจากการค้นหาคำตอบก่อนว่าเหตุใดครูถึงตกเป็นเป้าหมายของการทำลายชีวิต ซึ่งพอสรุปสาเหตุได้ดังนี้
1."ครู" ถือเป็นเป้าหมายบุคคล ซึ่งนอกจากจะเป็นเป้าหมายอ่อนแอ คือมีความเสี่ยงสูง เพราะต้องเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน และโรงเรียนกลับบ้านด้วยเส้นทางซ้ำๆ กันในเวลาเดียวกันทุกวัน ทั้งยังแทบไม่มีทางต่อสู้กับผู้ที่จ้องประทุษร้ายได้แล้ว ครูยังเป็นสัญลักษณ์การศึกษาของรัฐไทย การโจมตีเอาชีวิตครูจึงมีความหมายการปฏิเสธรัฐไทยของฝ่ายก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้อย่างชัดเจนและง่ายที่สุด
2.กว่า 90% ของครูที่ถูกลอบทำร้าย ถูกกระทำบนถนนระหว่างการเดินทางไปสอนหรือกลับบ้าน แต่แทบไม่เคยมีการบุกยิงครูที่บ้าน ทั้งๆ ที่ฝ่ายผู้ก่อการมีศักยภาพกระทำได้ สะท้อนให้เห็นว่าคนร้ายต้องการก่อเหตุเพื่อดิสเครดิตมาตรการรักษาความปลอดภัยของฝ่ายความมั่นคง และเพื่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน (ข้าราชการครู กับฝ่ายความมั่นคง) เป็นหลัก
3.สังคมไทยเชิดชูครูในฐานะ "บุคลากรที่มีคุณค่า" มีความเสียสละ เปรียบดั่ง "เรือจ้าง" ที่แจวเรือพาลูกศิษย์ส่งถึงฝั่งคนแล้วคนเล่าโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ การลอบทำร้ายครูจึงเป็นเรื่องสะเทือนใจและกลายเป็นข่าวโด่งดังทุกครั้ง สมประโยชน์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เป็นข่าวอยู่แล้ว ดังที่เคยมีคำกล่าวว่า "ยิงครู 1 ศพ สะเทือนทั้งสามจังหวัด และยังเขย่าไปถึงทำเนียบรัฐบาลด้วย"
ทั้งหมดสอดรับกับทฤษฎีการต่อสู้ของคนกลุ่มน้อยที่ใช้ยุทธวิธี "ก่อการร้าย" เนื่องจากไม่มีกองกำลังขนาดใหญ่พอที่จะรบกับกองกำลังของรัฐชาติได้ จึงต้องฉวยโอกาสใช้การก่อเหตุเล็กๆ แต่สามารถสร้างแรงกดดันไปถึงรัฐบาลของรัฐชาติ ด้วยหวังให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายต่อคนกลุ่มน้อย หรือยอมรับเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องในบริบทที่ตนเองต้องการ
รปภ.ครู 5 พันชุดต่อวัน
การ รปภ.ครู เป็นหนึ่งใน 10 เป้าหมายพิเศษของภารกิจรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินซึ่งฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบ โดย 10 เป้าหมายดังกล่าวประกอบด้วย ชุมชนเมือง ชุมชนไทยพุทธ วัด พระ โรงเรียน ครู เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า รถไฟ และเขื่อน
ปัจจุบันการ รปภ.ครูถือว่าใช้กำลังแบบเต็มพิกัดของหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่แต่ละพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เพราะนอกจากจะมีชุด รปภ.ที่เดินทางไปพร้อมกับครูแล้ว ยังมีชุดลาดตระเวนล่วงหน้า ทั้งชุดลาดตระเวนเดินเท้าและใช้ยานพาหนะ กับมีชุด รปภ.บริเวณโรงเรียนช่วงก่อนและหลังจากที่คณะครูไปถึงโรงเรียนอีกด้วย
ข้อมูลจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ระบุว่า ในแต่ละวัน มีกำลังพลทั้งทหาร ตำรวจ ทหารพราน อาสารักษาดินแดน (อส.) และกองกำลังประจำถิ่น ปฏิบัติหน้าที่เป็น "ชุดคุ้มครองครู" มากถึง 5,000 ชุดต่อวัน โดยมีเป้าหมายการคุ้มครองครูทั้งสิ้นกว่า 2 หมื่นคน โรงเรียนกว่า 1,300 โรง
ผ่ามาตรการ รปภ.ครู
สำหรับมาตรการ รปภ.ครู เท่าที่ปฏิบัติกันมา สรุปได้ดังนี้
1.วางกำลัง 2 ระดับ คือ กำลังสำหรับตรวจตราเส้นทาง เฝ้าระวังตามจุดเสี่ยงหรือจุดล่อแหลมระหว่างจุดนัดพบครูกับโรงเรียน และกำลังที่จัดเป็นชุดปฏิบัติการติดตามครู ซึ่งจะเดินทางพร้อมกับครู
2.ชุด รปภ.ที่เป็นชุดติดตามครู จะมีทั้งที่ใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ มีกำลังพลพร้อมอาวุธครบมือ ขับประกบทั้งหน้าและหลังคณะครู ซึ่งในคณะก็มีทั้งครูที่ขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือว่าจ้างรถสองแถวเพื่อเดินทางพร้อมกัน
3.กำลังพลชุดตรวจตราเส้นทาง มีหน้าที่เฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย คนแปลกหน้าที่อาจรอดักซุ่มยิง รวมทั้งวัตถุต้องสงสัยที่อาจเป็นระเบิดฝังไว้ใต้ผิวถนน หรือถูกวางไว้ริมถนน เสาป้ายสัญญาณจราจร หลักกิโลเมตร หรือตามศาลาที่พักริมทาง
4.จัดกำลังเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วดูแลพื้นที่ข้างเคียงเส้นทางที่คณะครูใช้เดินทาง
ช่องโหว่ทางยุทธวิธี
ปัญหาที่ทำให้มาตรการ รปภ.ไม่ประสบความสำเร็จหรือมีช่องโหว่ให้คนร้ายก่อเหตุประทุษร้ายครูได้ แบ่งเป็น
1.ช่องโหว่โดยสภาพ ได้แก่ เส้นทางระหว่างบ้านครูกับจุดนัดพบเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ซึ่งมีหลายครั้งที่เกิดเหตุร้ายขึ้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เจ้าหน้าที่ไปรับครูจากบ้านของแต่ละคน วิธีการที่ใช้คือนัดพบกันในย่านชุมชนในตำบลหรืออำเภอนั้นๆ เมื่อครูมาครบจึงเดินทางไปพร้อมกัน ทำให้เส้นทางระหว่างบ้านครูแต่ละคนถึงจุดนัดพบกลายเป็น "ช่องโหว่" เพราะครูต้องเดินทางเพียงลำพัง แม้จะมีความพยายามจัดกำลังลาดตระเวนตามถนน แต่ก็ทำไม่ได้ครอบคลุมทุกสาย
นอกจากนั้น ทั้งจุดนัดพบและเส้นทางที่ใช้เดินทางไปโรงเรียนมักเป็นจุดเดียวกันและเส้นทางเดียวกันทุกวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล หลายโรงเรียนมีถนนเข้าถึงเพียงสายเดียว ทำให้ชุด รปภ.ไม่มีทางเลือกที่จะหลีกเลี่ยงหรือสับเปลี่ยนเส้นทางได้เลย
2.ช่องโหว่โดยพฤติกรรม ได้แก่ ครูบางพื้นที่ไม่ต้องการให้มีกำลังของฝ่ายความมั่นคงติดตาม จึงจับกลุ่มเดินทางกันเอง เพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า แล้วให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง รปภ.ตามเส้นทางเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ยังมีครูอีกจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธการอยู่ในแผน รปภ. เพราะเป็นคนในพื้นที่ จึงค่อนข้างมั่นใจในความปลอดภัย และบางรายมีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนมาก แต่นั่นได้กลายเป็นช่องโหว่ เพราะมีครูในกลุ่มนี้หลายรายที่ถูกลอบยิง
3.ปัญหาเรื่องการสื่อสาร ที่ผ่านมาครูกับเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.อาจติดต่อสื่อสารกันน้อยเกินไป โดยเฉพาะครูที่ต้องเดินทางนอกช่วงเวลา รปภ. เช่น มีธุระส่วนตัว หรือมีกิจกรรมเสริมที่โรงเรียน พฤติกรรมที่พบคือครูมักเกรงใจ ไม่ค่อยแจ้งให้เจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ทราบ ขณะที่มีข้อมูลจากแกนนำครูบางรายระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสับเปลี่ยนกำลังบ่อยเกินไป ทำให้ครูไม่รู้จักและไม่รู้เบอร์โทรศัพท์ของชุด รปภ.
มาตรการเสริมและเยียวยา
จากสถิติที่ผ่านมาชี้ว่า ครูที่ถูกลอบทำร้ายเกือบทั้งหมดเดินทางคนเดียว หรืออยู่นอกแผน รปภ.ด้วยเหตุผลต่างๆ ตามที่กล่าวมา ด้วยเหตุนี้จึงมีมาตรการเสริมหลังเกิดวิกฤติสังหารครูเที่ยวล่าสุด ดังนี้
1.สร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.กับครู โดยบางพื้นที่ของ จ.นราธิวาส พยายามจัดชุด รปภ.ประกบครูแบบตัวต่อตัว เพื่อเพิ่มความมั่นใจ
2.ห้ามเดินทางคนเดียวนอกแผน รปภ.ทุกกรณี หากมีความจำเป็นให้แจ้งขอกำลังเสริม
3.บางจังหวัด เช่น ปัตตานี มีการเปิดสายด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อครูไม่มั่นใจในความปลอดภัย สามารถโทรศัพท์แจ้งได้ทันที
4.จัดตั้ง "ชุดคุ้มครองตำบล" ดึงชาวบ้านและชุมชนร่วมดูแลครู พร้อมเพิ่มบทบาทคณะกรรมการโรงเรียน ซึ่งมีทั้งผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำศาสนาร่วมเป็นกรรมการ ให้ร่วมวางมาตรการเพื่อสวัสดิภาพครู
สำหรับข้อเรียกร้องของครูในแง่ของสวัสดิการและการเยียวยา ในฐานะที่ต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยและมีโอกาสตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงได้ทุกเมื่อ คือ
- เพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยจาก 2,500 บาท เป็น 3,500 บาท
- เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
- เพิ่มเงินเยียวยากรณีเสียชีวิตเป็น 4.3 ล้านบาท
- ลดเกณฑ์การปรับวิทยฐานะของครูชายแดนใต้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่ทหารกำลังเคลื่อนกำลังโดยใช้รถฮัมวี่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ รปภ.ครู (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)