ห้องเรียนปรองดอง...จากแอฟริกาใต้ ไอร์แลนด์เหนือ ถึงประเทศไทย
ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
"ไม่แน่ใจว่าชาตินี้จะปรองดองกันได้หรือเปล่า เพราะความคิดเห็นมันแตกแยกกันเหลือเกิน" เป็นวาทะสั้นๆ แต่ได้ความหมาย ของบุรุษผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองไทยมานานกว่าค่อนชีวิตอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สะท้อนให้เห็นว่ายังมองไม่เห็นแสงสว่างใดๆ ที่ปลายทางความขัดแย้งของบ้านเมือง
แต่โบราณว่าไว้ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จมักอยู่แถวๆ นั้น และวันนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เดินหน้าตั้งคณะกรรมการหลากชื่อหลายชุด โดยมีเป้าหมายที่ "ความปรองดอง" จึงน่ามาช่วยกันสำรวจว่า "อุปสรรค" ของเจ้าสิ่งที่เรียกว่า "ปรองดอง" นั้นมันอยู่ตรงไหน ทำไมต้องรอถึงชาติหน้า...
"คอป."ความหวังช่างริบหรี่?
ภายหลังปฏิบัติการ "กระชับวงล้อม" ของทหารเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม แม้จะสามารถยุติการชุมนุมของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ลงได้ แต่ก็ทิ้งซากศพและบาดแผลเอาไว้ในหัวใจของผู้คนจำนวนมาก ทำให้ภารกิจ "สร้างความปรองดอง" มิอาจรั้งรอได้อีกต่อไป
คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น และเชื้อเชิญบุคคลระดับ "บิ๊กเนม" มาเป็นประธานนั้น แม้จุดหมายจะเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ "ความปรองดอง" แต่ในรายละเอียดยังมีความต่างกันอยู่
เพราะส่วนใหญ่ของคณะกรรมการเหล่านั้น มุ่งทำงานด้าน "ปฏิรูป" ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ซึ่งเป็นแผนงานระยะยาว แต่คณะกรรมการชุดที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยัง "คาใจ" กับปฏิบัติการสลายการชุมนุม ก็คือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ "คอป."
คณะกรรมการชุดนี้มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน และมี ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นดั่ง "มันสมอง" ในการขับเคลื่อนงาน
หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า คอป.จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์การชุมนุมเกือบ 70 วันของ "คนเสื้อแดง" เพื่อหาตัว "คนผิด" ที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากมายเกือบ 90 ศพมาลงโทษ เหตุนี้จึงทำให้ คอป.ถูก "ยี้" ตั้งแต่วันแรก เพราะเป็นคณะกรรมการที่รัฐบาลในฐานะ "คู่ขัดแย้ง" ตั้งขึ้นเอง ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือ โดยเฉพาะจากฝั่งที่สนับสนุน "เสื้อแดง"
แต่เมื่อมีการอรรถาธิบายว่า คอป.ไม่ได้มุ่งสอบสวนหา "คนผิด" เท่านั้น ทว่าได้กำหนดแผนงานไปถึงขั้นค้นหา "ชุดความจริง" ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และเสนอแนวทางแก้ไขเป็น "แพคเกจ" ทั้งลงโทษ นิรโทษ เยียวยา ให้อภัย เพื่อก้าวไปสู่ "สันติภาพ" ตามสูตร Truth-->Justice-->Peace ก็เริ่มทำให้เสียงวิจารณ์เบาบางลง
แต่สิ่งที่ คอป.ยังคงหนักใจ จากการที่ได้พูดคุยกับ ดร.กิตติพงษ์ ก็คือความรู้สึกของสังคมไทยที่ยังคุกรุ่นในเรื่องแพ้-ชนะ และกล่าวโทษกันอยู่ว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด
"การจะทำให้เกิดกระบวนการหรือกลไกที่นำไปสู่การปรองดองได้ ทุกฝ่ายต้องเห็นภาพอนาคตร่วมกันเสียก่อนว่าต้องการเดินบนถนนสายนี้บ้านเมืองจึงจะไปได้ หากอยู่อย่างเดิมบ้านเมืองต้องล่มสลายแน่นอน ทุกคนต้องเห็นตรงกันในจุดนี้เสียก่อน แต่คำถามคือวันนี้ทุกฝ่ายในสังคมยืนอยู่ตรงจุดไหน มองภาพเดียวกันอยู่หรือเปล่า" ดร.กิตติพงษ์ ตั้งคำถาม
นี่คือปัญหาลำดับต้นๆ ที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ก่อนจะก้าวข้าม "วิกฤติ" ไปสู่ "ความปรองดอง"
โมเดลสีผิว สู่ สีเสื้อ
ประเด็นที่ทั้ง อาจารย์คณิต และ ดร.กิตติพงษ์ สื่อสารต่อสังคมหลายต่อหลายครั้งถึงแนวทางการทำงานของ คอป.มี "คีย์เวิร์ด" อยู่ 2 คำ คือ Truth ที่แปลว่า "ความจริง" กับ Reconciliation ที่หมายถึง "ความปรองดองสมานฉันท์"
โมเดลที่หยิบยกขึ้นมาประกอบการอธิบายคือ "ทีอาร์ซี" (Truth and Reconciliation Commission : TRC) หรือคณะกรรมการแสวงหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ของประเทศแอฟริกาใต้...เจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกเที่ยวล่าสุด
น่าสนใจว่ากลไกที่กล่าวกันว่าเคยประสบความสำเร็จในการคลี่คลายปมขัดแย้งในประเด็น "สีผิว" อย่างรุนแรงถึงขั้นเข่นฆ่ากันเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมาในแอฟริกาใต้นั้น จะ "เวิร์ค" หรือไม่กับปัญหาขัดแย้งเรื่อง "สีเสื้อ" แบบไทยๆ
สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทย 5 ประเทศ อธิบายถึงการทำงานของคณะกรรมการทีอาร์ซี ผ่านบทความที่ชื่อ "คณะกรรมการแสวงหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) ของประเทศแอฟริกาใต้ : เรียนจากเขาแต่อย่าเลียนอย่างเขา" เอาไว้อย่างเห็นภาพ
บทความของ ทูตสุรพงษ์ ระบุว่า จุดเริ่มต้นของ "ทีอาร์ซี" เกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.2538 โดยประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ของแอฟริกาใต้ ได้ขอให้รัฐสภาผ่านกฎหมายเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ (ทีอาร์ซี) ขึ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์และการสร้างประเทศร่วมกันของประชาชนแอฟริกาใต้ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนา
ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายให้พลเมืองแอฟริกาใต้ที่เป็นคนผิวดำและเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ กับคนผิวขาวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ไม่มีความเกลียดชังเคียดแค้นระหว่างกันจากผลแห่งอดีตกว่า 30 ปีของระบอบการปกครองของคนขาวที่แบ่งแยกและเหยียดสีผิว หรือที่เรียกว่า Apartheid
ผู้ทำหน้าที่ประธานของคณะกรรมการทีอาร์ซี คือ หัวหน้าบาทหลวง Desmond Tutu ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดย กรอบการทำงานของ ทีอาร์ซี ภายใต้การนำของบาทหลวง Tutu คือมุ่งพิจารณาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายคนผิวขาวและคนผิวดำ อย่างรอบด้านและอย่างเป็นธรรม โดยยึดสัจจะและข้อเท็จจริงอย่างเคร่งครัด
ทีอาร์ซี มีมติร่วมกันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงช่วงระหว่าง พ.ศ.2503-2537 ในแอฟริกาใต้มาจากการกระทำทั้งของฝ่ายคนผิวขาวและฝ่ายคนผิวดำ แม้การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอย่างกว้างขวางและอย่างมโหฬารจะมาจากการกระทำของระบอบ Apartheid ของคนผิวขาวเป็นสำคัญก็ตาม แต่บาทหลวง Tutu ให้ความเห็นว่า การละเมิดอย่างร้ายแรงนั้น ไม่เกี่ยวกับว่ามาจากการกระทำของฝ่ายใดหรือมาจากเหตุผลใด หรือจากอุดมการณ์ทางการเมืองอะไร
การทำงานของ ทีอาร์ซี ในแอฟริกาใต้ ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี 4 เดือน โดยได้จัดพิมพ์รายงานมีความยาว 3,500 หน้า เสนอต่อประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา เมื่อเดือน ตุลาคม 2541 แม้ผลสำรวจในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาจะปรากฏว่าทั้งคนผิวดำและคนผิวขาวชาวแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับรายงานของ ทีอาร์ซี เพราะมุ่งทำให้เกิดความสมานฉันท์โดยการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ผู้กระทำความผิดยอมสารภาพและแสดงความสำนึกผิด เสียใจในความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว โดยไม่เน้นการลงโทษก็ตาม
แต่วันนี้ประเทศแอฟริกาใต้ก็หยุดเข่นฆ่า และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขพอสมควร...
ทูตสุรพงษ์ ขมวดปมทิ้งท้ายบทความเอาไว้อย่างน่าสนใจ สรุปได้ว่า ถ้าคู่ขัดแย้งยังไม่ตระหนักร่วมกันที่จะเลือกใช้แนวทางสมานฉันท์และสันติวิธี ก็ป่วยการที่จะพูดถึงความปรองดอง
เป็นความเห็นที่สอดคล้องกับความกังวลใจของ ดร.กิตติพงษ์ ในนามของ คอป.
มิคสัญญีที่ไอร์แลนด์เหนือ...
ท่ามกลางบรรยากาศการคลำทางสู่ความ "ปรองดอง" ในสังคมไทย เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าได้จัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือ และอดีตสมาชิกขบวนการไอร์อาร์เอ (Irish Republican Army) ซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งถึงขั้นเข่นฆ่ากันมาก่อน แต่ปัจจุบันได้หันหน้ามาร่วมมือกันสร้าง "กระบวนการสันติภาพ" อันนำมาสู่การยุติความรุนแรงยืดเยื้อในไอร์แลนด์เหนือได้ในที่สุด
ไอร์แลนด์เหนือตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์ และอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอังกฤษ ปัญหาบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ปะทุขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เมื่อชาวอังกฤษและสก็อตแลนด์ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์จำนวนมาก ได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์ ทำให้ประชากรดั้งเดิมซึ่งป็นชาวไอริชนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกรู้สึกว่าถูกขโมยดินแดนไป และเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อเรียกร้องอิสระในการปกครองตนเอง
กระทั่งปี ค.ศ.1921 อังกฤษและไอร์แลนด์ลงนามในสนธิสัญญา Government of Ireland Act โดยอังกฤษยินยอมให้ 26 แคว้นบนเกาะไอร์แลนด์แยกตัวเป็นรัฐอิสระไอร์แลนด์ ในขณะที่อีก 6 แคว้นทางตอนเหนือของเกาะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไป
การแบ่งประเทศครั้งนั้นทำให้ไอร์แลนด์เหนือซึ่งมีประชากรโปรแตสแตนท์ประมาณร้อยละ 60 และประชากรคาธอลิกราวร้อยละ 40 กลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่ม Unionist ซึ่งเป็นชาวโปรแตสแตนท์ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ กับกลุ่ม Nationalist ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก และต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษเพื่อไปผนวกกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์
กลุ่ม Unionist เป็นเสียงส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เหนือ กุมอำนาจทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมานานเกือบ 50 ปี กระทั่งปี ค.ศ.1968 ได้เกิดการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม และยุติการกดขี่ชาวคาทอลิก
การประท้วงขยายตัวเป็นความรุนแรงถึงขั้นปะทะกันระหว่างกองกำลังประชาชนทั้งสองฝ่าย หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Troubles กินเวลานานถึง 30 ปี ก่อให้เกิดความสูญเสียกว่า 3,600 ชีวิต บาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจหลายหมื่นคน ทั้งยังมีผู้ถูกจับกุม 36,000 คน
แต่แล้วสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ก็ก่อตัวขึ้น เมื่อเริ่มมีกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างไออาร์เอกับรัฐบาลอังกฤษ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีอำนาจรัฐ ในปี ค.ศ.1994 นำไปสู่สัญญาณที่ดีของการเริ่มหยุดยิงบางช่วง
กระทั่งปี ค.ศ.1998 ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพจากความพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยสันติวิธี โดยให้อังกฤษถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้แก่คณะผู้บริหารและสภาของไอร์แลนด์เหนือ ในลักษณะของการแบ่งสรรอำนาจระหว่างพรรคการเมืองหลักของทั้งสองฝ่าย
ผลจากข้อตกลงสันติภาพ ทำให้วันนี้คนที่เคยอยู่คนละขั้วคนละฝ่ายกัน และเคยไล่เข่นฆ่ากัน กลับมานั่งอยู่บนเวทีเดียวกันได้
เมื่อวานฆ่า วันนี้คุย
วิทยากรจากไอร์แลนด์เหนือที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประกอบด้วย Alex Maskey สมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือจากเขตเบลฟาสต์ใต้ สังกัดพรรค Sinn Fein มีอุดมการณ์แยกดินแดนจากอังกฤษเพื่อตั้งรัฐอิสระ, Jimmy Spratt สมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือจากเขตเบลฟาสต์ใต้ สังกัดพรรค Democratic Unionist มีจุดยืนต้องการอยู่กับอังกฤษต่อไป
Michael Culbert อดีตสมาชิกขบวนการไออาร์เอ และนักโทษการเมือง ซึ่งวันนี้เป็นผู้อำนวยการ Coiste องค์กรที่ดูแลนักโทษการเมืองของไออาร์เอ และ Ian White ผู้อำนวยการศูนย์ Glencree ซึ่งเป็นเอ็นจีโอไอร์แลนด์เหนือ ทำหน้าที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายสามารถพูดคุยกันได้
Ian White ถอดประสบการณ์ให้ฟังว่า ปัจจัยสำคัญของกระบวนการสันติภาพคือทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะทุกฝ่ายล้วนมีคุณูปการต่อกระบวนการสันติภาพ แต่การสร้างกระบวนการสันติภาพนั้น เขาใช้คำว่า "Easy to say but difficult to do" เพราะมักจะมีคำถามว่าไปคุยกับคนที่ฆ่าเราได้อย่างไร
"ความยากคือการดึงคนที่ไม่ใช่เพื่อนเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ" เขาบอก และว่า การส่งกำลังทหารเข้าไปแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วจากหลายๆ พื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น รากเหง้าของปัญหาที่ไอร์แลนด์เหนือคือความไม่เท่าเทียม ความพยายามปลูกฝังให้ยอมรับอัตลักษณ์ของอีกฝ่าย ฉะนั้นทางแก้จึงไม่ใช่อาวุธปืน
Alex Maskey เสริมว่า เคล็ดลับความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ คือประชาชนต้องรู้ว่ากำลังเจรจาเรื่องอะไร มีความเข้าใจ และต้องเป็นรูปธรรม ผลของกระบวนการต้องทำให้ชีวิตของประชาชนทุกฝ่ายดีขึ้น
ขณะที่ Jimmy Spratt อดีตตำรวจ ให้ทัศนะว่า กระบวนการสันติภาพใช้เวลายาวนาน ฉะนั้นแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือผู้คนต้องแสดงให้เห็นว่าต้องการสันติภาพจริงๆ ก่อน การจะแสวงหาทางออกต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องรู้จักรับฟังความเห็นคนอื่นที่ไม่เหมือนกับเรา ต้องฟังว่าคนอื่นมีปัญหาอะไรบ้าง จะได้ช่วยกันแก้ แม้ปัญหาที่เจอจะไม่เหมือนกันก็ตาม
"การแก้ปัญหาไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธ แต่ใช้จิตใจ การดึงทุกฝ่ายมานั่งด้วยกันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดการถ่วงดุลและได้รับการยอมรับในที่สุด"
ในฐานะอดีตตำรวจ เขาบอกว่า "จุดเปลี่ยน" ในทัศนะของเขาเอง คือการที่ได้ไปงานศพแล้วน้ำตาของผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะฝ่ายไหนทุกคนก็ร้องไห้เหมือนกัน ความสูญเสียร่วมกันทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ ขณะที่กฎหมายควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินแก้ไขได้ชั่วคราว แต่ไม่ยั่งยืน
Michael Culbert อดีตสมาชิกไออาร์เอ ซึ่งเคยติดคุกถึง 16 ปี ยืนยันว่า แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนคือต้องสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเจรจา และเอื้อต่อกระบวนการสร้างสันติภาพด้วย สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องฟังกันและกัน
จากบทเรียนของแอฟริกาใต้ และประสบการณ์ของไอร์แลนด์เหนือ...มองเห็นทาง "ปรองดอง" ของบ้านเราบ้างหรือยัง?
--------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก...
http://www.thaibookworld.com/image/cache/book5/9786167061351L-500x500.jpg และข้อมูลดีๆ จาก Pornsuri บล็อคเกอร์โอเคเนชั่น http://www.oknation.net/blog/pornsuri/2010/07/05/entry-1
บรรยายภาพ : ปกหนังสือที่ชื่อ MANDELA'S WAY หรือ "วิถีแมนเดลา" บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่กลั่นมาจากทั้งชีวิตของ เนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ นักต่อสู้ที่ใช้กระบวนการปรองดองคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งเรื่องสีผิว กระทั่งสามารถหยุดยั้งสงครามกลางเมืองบนแผ่นดินเกิดได้สำเร็จ โดยเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2536 ขณะที่ปัจจุบันประเทศแอฟริกาใต้มีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมจนสามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเที่ยวล่าสุดได้อย่างงดงาม
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.2553 ในชื่อ "วิชาปรองดอง จาก (อดีต) คู่แค้น"