เส้นทางสู่นรก...'การฆ่าตัวตาย' ในศาสนาอิสลาม
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“...และสูเจ้าจงอย่าได้ฆ่าตัวตาย แท้จริงอัลเลาะฮฺทรงเมตตาสูเจ้าอย่างยิ่ง...” (อัลกุรอาน 4:29)
เมื่อสัก 3 ปีที่แล้ว (ค.ศ.2007/พ.ศ.2550) เว็บไซต์ของบีบีซีได้ลงบทความพิเศษซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือ ‘การฆ่าตัวตาย’ ในศาสนาอิสลาม บีบีซี ระบุว่า ชาวมุสลิมนั้นต่างต่อต้านหรือคัดค้าน ‘การฆ่าตัวตาย’ (suicide) รวมทั้ง ‘การฆ่าฐานกรุณา’ (mercy killing หรือ euthanasia) เช่น ในกรณีหมอทำกับคนไข้เพื่อไม่ให้คนไข้ทนทุกข์ทรมานอย่างยาวนานต่อไป[1] โปรดดู http://www.bbc.co.uk/religion/religions/islam/islamethics/euthanasia.shtml (retrieved: 13/6/2553)
ในการอภิปรายประเด็นดังกล่าวนี้ บีบีซีได้ยกตัวบท (text) จากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานข้างต้นและอื่นๆ อีกหลายบทที่มีเนื้อหาถึงการสั่งห้ามการกระทำอัตวินิบาตกรรม นอกจากนี้บีบีซียังยกวจนะของท่านศาสดามูฮัมมัด (สันติจงมีแด่ท่าน) มาประกอบอีกจำนวนหนึ่งด้วย
เป็นที่แน่นอนว่า การฆ่าตัวตายตามบทบัญญัติในศาสนาอิสลามเป็นที่ต้องห้ามหรือ ‘ฮารัม’ (haram) และถือเป็นบาปใหญ่ ผู้ฝ่าฝืนหรือผู้ละเมิดจะไม่ได้เข้าสวรรค์ ตรงกันข้ามจะต้องถูกลงโทษทัณฑ์ให้ตกนรกหมกไหม้ (ยะฮันนัม) ไม่ต่างไปจากการฆ่าผู้อื่น
การฆ่าตัวตายถือเป็นบาปใหญ่และถือเป็นหายนะที่มนุษย์พึงหลีกเลี่ยง คัมภีร์กุรอานได้กล่าวเตือนสติมนุษย์ความว่า “...และพวกเจ้าจงอย่ายื่นมือของพวกเจ้าเข้าไปสู่ความหายนะ...” (อัลกุรอาน 2:195) ผลจากข้อห้ามการฆ่าตัวตายในศาสนาอิสลามปรากฏว่า ประเทศมุสลิมเกือบทุกประเทศในโลกไม่มีสถิติบันทึกกรณีอัตวินิบาตกรรม ยกเว้นประเทศตุรกีและประเทศจอร์แดน ประเทศตุรกีซึ่งกำลังร้องขอเข้าร่วมในสหภาพยุโรปเริ่มต้นปกครองในระบบโลกยวิสัย (secular) มาตั้งแต่อตาเติร์กทำรัฐประหารล้มระบอบอิสลามและอาณาจักรอุษมานียะฮฺ (ออตโตมัน) มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาชนชั้นปกครองและพลเมืองตุรกีมิได้เคร่งครัดในการนับถือศาสนา อิสลามเป็นสรณะดังในสมัยก่อนหน้านี้ อีกประเทศหนึ่งคือจอร์แดนนั้นก็พยายามปฏิรูปประเทศและมีชาวอาหรับคริสเตียนอาศัยอยู่จำนวนมาก
ปัจจุบันปรากฏว่าชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ตัวเลขการฆ่าตัวตายเริ่มขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แสดงว่าชาวมุสลิมเริ่มห่างเหินจากบทบัญญัติในศาสนาของตนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรสถิติพลเมืองฆ่าตัวตายติดอันดับโลกมาหลายปีแล้ว ตัวอย่างในปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2544) สถิติบันทึกว่า ในสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์มีคนฆ่าตัวตายถึงวันละ 2 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวทั้งนั้น
น่าเสียดายที่พวกเขาต่างด่วนคิดสั้น แทนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป
ทำไมคนเราถึงฆ่าตัวตาย?
การฆ่าตัวตายสืบเนื่องมาจากหลากหลายสาเหตุ ในที่นี้ขอประมวลสาเหตุการฆ่าตัวตายของคนเราเท่าที่รวบรวมมาได้ ดังนี้ โปรดดู http://www.inter-islam.org/Prohibitions/suicide.html (retrieved: 6/6/2553)
1. ความรู้สึกถูกบีบคั้นหรือถูกกดดันอย่างรุนแรง
การฆ่าตัวตายมาจากสาเหตุหลักๆ คือ ความรู้สึกถูกบีบคั้นทางจิตใจ ทำให้เกิดภาวะสับสนอย่างรุนแรง ซึ่งอาจแยกย่อยออกเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้
ก. อารมณ์ ‘บ่จอย’ เป็นต้นว่ามีอารมณ์หดหู่ เศร้าหมอง ไม่สบาย คับข้องใจอยู่เป็นนิจ ความรู้สึกดังกล่าวปรากฏให้เห็นในหลายรูปแบบด้วยกัน เป็นต้นว่า ผู้ป่วยเกิดภาวะอารมณ์ ‘บ่จอย’ (moody) ในขั้นลึกซึ้งดื่มด่ำ อันที่จริงภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นได้กับใครก็ได้หรือกับทุกคนนั่นแหละ แต่คนอื่นกลับสามารถจัดการกับความรู้สึกดังกล่าวได้ แม้จะประสบกับความรู้สึกถูกกดดันหรือบีบคั้นอย่างหนักสักเพียงใด แต่กลับบอกตัวเองว่า “สู้ไหวหรอก สบายมาก” ไม่มีอะไรที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมีความรู้สึกดีๆ เป็นภาวะอารมณ์ส่วนตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ข. ภาวะความรับรู้ผิดปกติ กรณีนี้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองถูกจงเกลียดจงชัง เป็นคนไร้ค่า ไม่มีคนไยดี ในขั้นลึกซึ้งมีความรู้สึกว่าตนเองไม่มีชีวิตอยู่ เสมือนคนที่ตายแล้ว
ค. ขาดพลังชีวิต เกิดอารมณ์หดหู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเช้า แต่พอในช่วงบ่ายกลับรู้สึกมีจิตใจฮึกเหิม หรือรู้สึกมีความทุกข์กดทับจิตใจเป็นเท่าทวีคูณ เป็นต้น
ง. ปัญหาการนอนไม่หลับ
จ. สูญเสียรสชาติ การรับประทานอาหารมีปัญหาขึ้นมา รู้สึกอาหารไม่อร่อย ไม่มีรสชาติ กร่อยหรือจืดชืดไปหมด
ช. ความเครียด เกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน โรงเรียน หรือที่บ้านเอง ฯลฯ ความเครียดกลายเป็นความรู้สึกทรมาน เป็นภาวะบีบคั้นหรือกดดันรุนแรง สามารถนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ง่ายๆ
2. ความรู้สึกโดดเดี่ยวว้าเหว่
สาเหตุสำคัญของคนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้างว้าเหว่ รู้สึกราวกับตนถูกทอดทิ้ง ไร้คนไยดี และรู้สึกสิ้นหวังไม่เชื่อว่าจะมีใครมาช่วยแก้สถานการณ์ให้ดีขึ้นได้
3. สารเสพติด
จากสถิติบ่งบอกว่า ยาเสพติดทุกประเภทรวมทั้งแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญและสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายในปัจจุบัน
4. การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อน หรือคนในครอบครัวทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรวดร้าวใจ เหงาเศร้า ทุกข์ทรมานปิ้มว่าจะขาดใจและไม่อาจทน บางคนหลงเชื่อไปว่าถ้าตัวเขาเองจากไป (ตาย) บ้าง ก็(อาจ)จะได้ไปพบผู้ที่เขารักอย่างดื่มด่ำนั้น
จากประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อประมาณสัก 20 ปีที่แล้ว เลขาฯทูตคนหนึ่งของสถานทูตอินเดียประจำกรุงเทพฯ ซึ่งข้าพเจ้ารู้จัก เพราะเป็นเพื่อนกับเพื่อนของข้าพเจ้าซึ่งทำงานที่สถานทูตแห่งนั้น เขาประสบความทุกข์ทรมานใจอย่างรุนแรงที่เพื่อนสนิทชาวอินเดียคนหนึ่งของเขาตาย เขาตัดสินใจ (ฆ่าตัว) ตายตาม ก่อน (ฆ่าตัว) ตายได้เขียนจดหมายลาตายว่าจะขอไปอยู่กับเพื่อนในปรภพ
5. ความสัมพันธ์ที่แตกหัก
ประเด็นนี้คล้ายคลึงกับการสูญเสียเพื่อนที่รักหรือบุคคลอันเป็นที่รักไปตลอดกาล ความสัมพันธ์ที่เคยดีต่อกันแต่มีอันต้องเลิกรากันไป นำไปสู่หัวใจที่แตกสลาย ระทมทุกข์ หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง หลายคนรู้สึกทำใจให้ยอมรับไม่ได้ ในที่สุดก็ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง
6. ปัญหาการเงิน
ต้องยอมรับว่าสังคมปากกัดตีนถีบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา มือใครสั้นทนกอดอกตัวเอง ชีวิตมีแต่หนี้สินล้นพ้นตัว ในกรณีนี้หลายคนต้องคิดหนัก นานๆ เข้าอาจเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง เป็นคนไร้ประสิทธิภาพ ดิ้นรนอย่างไรก็ไม่มีทางจ่ายหนี้เขาหมด เลยตัดสินใจหนีปัญหาด้วยวิธีตัดช่องน้อยแต่พอตัว
7. ความเจ็บป่วยเรื้อรัง-บุคคลไร้ความสามารถ
การเจ็บป่วยเรื้อรังซึ่งดูเหมือนไม่มีทางรักษาให้หายขาด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนเราคิดสั้นตัดสินใจ ‘ฆ่าตัวตาย’ ในบางกรณีผู้ป่วยเรียกร้องให้หมอหรือญาติ ‘ทำให้เขาตาย’ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘การฆ่าฐานกรุณา’ ‘การุณยฆาต’ หรือ ‘ปรานีฆาต’ สุดแท้แต่จะเรียก
นอกจากสาเหตุดังกล่าวนี้แล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมากที่นำไปสู่การปลิดชีวิตตนเอง ซึ่งจะพบได้ในงานวิจัยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายโดยตรง สำหรับสาเหตุการฆ่าตัวตายโดยรวมๆ แล้วมีทั้งสาเหตุอันเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ลัทธิ ศาสนา และอุดมการณ์, สาเหตุทางจิตวิทยา สาเหตุทางเวชปฏิบัติ และสาเหตุทางสังคมวิทยา ฯลฯ เป็นต้น
สถิติการฆ่าตัวตาย : จังหวัดนราธิวาสรั้งท้าย
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ค.ศ.2005) มีการบันทึกสถิติไว้ว่า ประเทศฮังการีเป็นประเทศที่มีคนฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 1 โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากร 38.6 : 100,000 คน รองลงมาคือศรีลังกา ส่วนประเทศไทยติดอันดับที่ 26 โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรประมาณ 9:100,000 คน ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยในปี 2541 ซึ่งสถิติการฆ่าตัวตายมีราว 8:100,000 คน ปี 2548 ลดลงเหลือราว 6.35:100,000 คน และในปี 2549 ลดลงเหลือราว 5:100,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าต่างประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีสถิติฆ่าตัวตายสูงราว 10-20:100,000 คน
แต่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังทำสถิติครั้งใหม่จนเกือบๆ จะเท่าญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ข้อมูลของกรมสุขภาพจิตระบุว่า ในประเทศไทยสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยมีแนวโน้มลดลง คือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.77:100,000 คน หรือมีจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 3,612 คนต่อปี ถ้าคิดเฉลี่ยต่อวันพบว่า ในแต่ละวันมีคนฆ่าตัวตายถึง 12 คน หรือเฉลี่ย 1 คนต่อทุกๆ 2 ชั่วโมง
เมื่อดูสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยจำแนกตามอายุและเพศ พบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปีมากที่สุด เมื่อแบ่งตามเพศพบว่า เพศชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า แต่เพศหญิงมีแนวโน้มที่คิดจะฆ่าตัวตายได้ง่าย และมีจำนวนมากกว่าเพศชาย
ถิติด้านพื้นที่ที่มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าภาคเหนือของไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกภาค โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และ จ.เชียงราย มีสถิติการฆ่าตัวตาย ‘สูงสุด’ สลับเปลี่ยนกันนำ โดยในปี 2548 ทั้ง 3 จังหวัดมีสถิติการฆ่าตัวตายประมาณ 18:100,000 คน ในปี 2549 ลดลงเหลือประมาณ 16.05:100,000 คน สาเหตุอาจจะมาจากการป่วยเป็นโรคร้าย ปัญหาหนี้สิน ปัญหาครอบครัว และปัญหารุมเร้าอื่นๆ อีกหลายประการ ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็ทนไม่ไหวทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตาย สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากคือ จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี
น่าสนใจที่ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตาย ‘ต่ำสุด’ อยู่ที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม คือราวๆ 90% (ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต)
บทบัญญัติเกี่ยวกับ ‘การฆ่าตัวตาย’ และ ‘ข้อห้าม’ ในศาสนาอิสลาม
อัลกุรอาน : “...และสูเจ้าจงอย่าได้ฆ่าตัวสูเจ้าเอง แท้จริงอัลเลาะฮฺทรงเมตตาสูเจ้าอย่างยิ่ง” (อัลกุรอาน 4:29)
“และผู้ใดกระทำเช่นนั้น แน่นอนเราจะให้เขาตกนรก...” (อัลกุรอาน 4:30)
อัล-ฮาดิษ (วจนะท่านศาสดา) : วจนะของศาสดาแห่งอัลเลาะฮฺนั้นมีเนื้อหาในทำนองที่ว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายด้วยวิธีใด เช่นด้วยการแขวนคอตัวเอง เขาก็จะทำเช่นนั้นในนรก และผู้ที่ฆาตกรรมตัวเองด้วยวิธีใช้มีดแทงตัวเอง เขาก็จะทำในลักษณะเดียวกันนี้ในนรก ต่อไปนี้คือตัวอย่างวจนะของท่านศาสดา (สันติจงมีแด่ท่าน) เพียงส่วนหนึ่งที่ยกมาแสดง
ท่านศาสดา (มูฮัมมัด ศ็อลฯ) กล่าวว่า “ผู้ใดที่จงใจสาบานอย่างหลงผิดในนามศาสนาอื่นอันไม่ใช่อิสลาม ดังนั้นเขาก็จะเป็นในสิ่งที่เขาลั่นวาจาไว้ (เช่นสาบานว่าถ้าข้าฯพูดไม่จริง ขอให้ข้าฯ เป็นยิว เขาก็จะกลายเป็นยิวสมดังใจ) และผู้ใดก็ตามที่ฆ่าตัวตายโดยใช้เหล็ก เขาก็จะถูกลงโทษด้วยเหล็กเช่นกันในขุมนรก” (หะดิษบุคอรี 2:445 เล่าโดย ษาบิต บิน อัด-ดาฮัก)
ท่านศาสดา (มูฮัมมัด ศ็อลฯ) กล่าวว่า “ผู้ใดตั้งใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดเขา เขาจะได้อยู่ในขุมนรกไปตลอดกาล และผู้ใดฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาพิษ เขาจะเอายาพิษนั้นมากับมือของเขา และดื่มมันในขุมนรกที่ซึ่งเขาจะได้อยู่ในนั้นตลอดกาล และผู้ใดฆ่าตัวตายด้วยอาวุธที่ทำด้วยเหล็ก เขาก็จะเอาอาวุธนั้นแทงไปที่ท้องของเขาเองในขุมนรก ที่ซึ่งเขาจะได้อยู่ในนั้นไปตลอดกาล” (หะดิษบุคอรี 7:670 เล่าโดย อบูฮูร็อยเราะฮฺ)
ท่านฮัมมัม บิน มูนับบิฮฺ กล่าวว่า : อบูฮูร็อยเราะฮฺเล่าฮาดิษจากท่านศาสดาของอัลเลาะฮฺให้พวกเราฟัง และหนึ่งในจำนวนนั้นท่านศาสดาได้กล่าวว่า อย่าได้มีในหมู่พวกท่านร้องขอที่จะตาย และจงอย่าขอมันก่อนกำหนดที่จะมาถึง ด้วยว่าหากคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านตาย เขาก็จะหยุดยั้งที่จะกระทำความดี แลชีวิตสำหรับผู้ศรัทธานั้นจะไม่ยืนยาวเว้นเสียแต่เพื่อที่เขาจะกระทำความดี” (หะดิษมุสลิม #6485)
ท่านอนัสฺ (บิน มาลิก) รายงานวจนะของท่านศาสดาของอัลเลาะฮฺว่า : ไม่พึงมีในหมู่พวกท่านร้องขอเพื่อที่จะตาย อันเนื่องมาจากความยากลำบากในสิ่งที่พวกท่านเกี่ยวข้องด้วย แต่ผิว่าหาได้มีความช่วยเหลือใดๆ ตกถึงแก่ท่านไซร้ จงกล่าวเถิดว่า : โอ้ อัลเลาะฮฺ ขอให้ข้าฯ มีชีวิตอยู่ต่อไปตราบใดที่ชั่วชีวิตนี้ยังจะมีความดีเพื่อข้าฯอยู่อีก และขอได้โปรดนำความตายมาสู่ข้าฯ เถิด หากว่ามีความดีดำรงอยู่ในความตายของข้าฯ (หะดิษมุสลิม #6480)
“แน่แท้ผู้ใด (จงใจ) ฆ่าตัวตาย ดังนั้นแน่นอนเขาจะถูกลงโทษด้วยเปลวไฟจากขุมนรก ที่ซึ่งเขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล” (หะดิษบุคอรี : 5778 และมุสลิม : 109 และ 110)
ละหมาดญานาซะฮฺ (ศพ) ให้คนฆ่าตัวตายได้หรือไม่?
ปราชญ์มุสลิมส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องต้องกันว่า การละหมาดญานาซะฮฺ หรือการละหมาดหน้าศพให้ ‘ฟะอฺญิรฺ’ (คนบาป) เช่น คนที่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ไม่ดำรงละหมาด [2] ไม่จ่ายซะกาต (ทานบังคับสำหรับคนยากไร้) ติดเหล้าหรือติดยา ทำซีนา (ผิดประเวณี) ฯลฯ จะต้องได้รับการปฏิบัติตามปกติ แต่ให้ยกเว้นสำหรับผู้นำที่ไม่ต้องละหมาดศพให้ผู้ตายซึ่งเป็น ‘ฟะอฺญิรฺ’ ทั้งนี้เป็นการลงโทษเขาไปในตัว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนรุ่นหลังหรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังปรากฏในฮาดิษซึ่งรายงานโดย ซัยอิด บิน คอลิด และโดยอบูกอฏาดะฮฺว่า ท่านศาสดามูฮัมมัด (สันติจงมีแด่ท่าน) เคยปฏิเสธการละหมาดญานาซะฮฺ (ละหมาดหน้าศพ) ให้ ‘ฟะอฺญิรฺ’ หรือ ‘คนบาป’ ดังกล่าวมาแล้ว
มีฮาดิษบทหนึ่งรายงานโดยท่านญาบิรฺ บิน ซามาราฮฺ (ร.ฎ.) ความว่า มีผู้ชายคนหนึ่งนอนป่วยอยู่ คนในครอบครัวพากันร้องไห้คร่ำครวญ เพื่อนบ้านของเขาจึงไปหาท่านศาสดาและเล่าว่า มีชายคนหนึ่งได้ตายไปแล้ว ท่านศาสดาถามว่า ท่านรู้ได้ยังไงว่าชายคนนั้นตายไปแล้ว เขาตอบว่าข้าฯเห็นเขา ท่านศาสดาพูดว่าเขายังไม่ตาย ชายคนนั้นจึงกลับไปและเขาก็ได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญนั้นอีก ภรรยาของเขาจึงให้เขากลับไปบอกท่านศาสดา (เรื่องการร้องคร่ำครวญ) นั้นอีก ชายคนนั้นลั่นวาจาว่าขอให้อัลเลาะฮฺทรงสาปแช่งเขา จากนั้นเขาก็เดินไปที่บ้านของเพื่อนบ้านจึงพบว่า เขาคนนั้นได้ใช้มีดปาดคอตัวเองจนกระทั่งเขาตาย ชายคนนั้นจึงกลับไปเล่าให้ท่านศาสดาว่าเขาคนนั้นได้ตายไปแล้วจริงๆ ท่านศาสดาถามว่าแล้วท่านรู้ได้อย่างไร ชายคนนั้นตอบว่าข้าฯ เห็นเขาใช้มีดที่เขามีอยู่ปาดคอตัวเองจนตาย ท่านศาสดาถามว่าท่านเห็นเขาทำเช่นนั้นหรือ? ชายคนนั้นก็ตอบว่าข้าฯ เห็น (ด้วยตาข้าฯเอง) ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า “ฉันจะไม่ละหมาดญานาซะฮฺให้แก่เขา” (บันทึกโดย มุสลิม, อบูดาวุด และคนอื่นๆ)
ในหนังสือ The Inevitable Journey Part 3: Funerals - Regulations and Exhortations เขียนโดย มูฮัมมัด อัล-ญิบาลี ได้อ้างถึงนักเล่าฮาดิษหลายท่าน เช่น ท่านอัตตัรฺมีซียฺ เขาเขียนว่าต่อไปนี้เป็นฮาดิษที่ดี ผู้รู้ในศาสนาอิสลามมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ บางคนเห็นว่าคนมุสลิมทุกคนควรละหมาดให้ผู้ตายซึ่งใบหน้าของเขาเคยผินไปยังกิบลัตในขณะที่เขาละหมาด และสำหรับคนฆ่าตัวตายด้วย นี่เป็นทัศนะของท่านซุฟยาน อัสเษารีย์และท่านอิสฮากด้วย
อีกท่านคือท่านอาหมัดได้กล่าวว่า “ผู้ที่เป็นอิหม่าม (ผู้นำของมัสยิดและชุมชนทางศาสนา) ไม่ควรละหมาดให้คนที่ฆ่าตัวตาย แต่ไม่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่อิหม่ามควรทำการละหมาดให้” (ซูนัน อุตตัรฺมีซียฺ)
ส่วนท่านอิบนีตัยมียะฮฺ ได้กล่าวว่า “หากบางคนปฏิเสธที่จะละหมาดให้คนพวกนั้น (เช่น ฆาตกร โจรหรือหัวขโมย รวมทั้งผู้มีหนี้สินท่วมตัว) เพื่อเป็นการตักเตือนหรือให้สติพวกที่กระทำในสิ่งเดียวกันก็จะนับว่าเป็นสิ่งที่ดี และ (โดยเฉพาะ) ถ้าพวกเขาปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้นในที่แจ้ง (หรือในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย) แต่ถ้าเขาจะทำละหมาดให้คนตายพวกนั้นในที่รโหฐาน (ที่ส่วนตัวที่ไม่เปิดเผย) ก็นับว่าเขาได้ทำสิ่งที่มีคุณูปการทั้งสองประการ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า” (อัล-อิคติยารัต หน้า 52)
อยากฆ่าตัวตาย ก่อนฆ่าตัวตายทำอย่างไรดี?
เว็บไซต์ อัล-มุตตะกีน โปรดดู http://muttaqun.com/suicide.html (retrieved: 6/6/2553) ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่อาจเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย ดังนี้
- (แม้ว่ามุสลิมจะทราบกันดีอยู่แล้ว แต่--) จงทราบ (อีกครั้งหนึ่ง) เถิดว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้น อัลเลาะฮฺทรงปฏิเสธสวรรค์สำหรับเขา (ตรงกันข้ามกลับเตรียมขุมนรกไว้ให้แทน)
- (เมื่อคิดจะฆ่าตัวตาย) จงบอกเล่าความรู้สึกที่อยากฆ่าตัวตายต่อท่านอิหม่ามประจำมัสยิดและชุมชนของท่าน ท่านอิหม่ามไม่ควรให้คำตอบที่ชี้ขาดไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งตามอารมณ์ของตนเอง แต่ให้ยกบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะของท่านศาสดาฯ (สันติจงมีแด่ท่าน) ดังแสดงไว้ข้างต้นเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญาญาณด้วยตัวเอง สามารถเลือกหนทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่หนทางที่ผิด อันจะเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเอง ญาติพี่น้อง และบุคคลอันเป็นที่รัก
- จงภาวนาด้วยประโยค : “อัสตัฆฺฟีรุลลอฮฺ วะอะตูบูอิลัยฮฺ” (astaghfir Allah wa atubu alaihi - ขอเอกองค์อัลเลาะฮฺทรงโปรดประทานความเมตตาแก่ข้าฯ และทรงรับความสำนึกในบาปของข้าฯ ด้วยเถิด) วันละ 100 ครั้งตามแบบอย่าง (ซุนนะฮฺ) ของท่านศาสดาฯ
- เมื่อเกิดความรู้สึกกลัว จงกล่าว “ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮฺ” (La ilaha ill Allah - ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะฮฺ)
- เมื่อมีใครบอกเล่าความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายให้ท่านรับรู้ ท่านจะต้องพูดเตือนให้สติถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำเช่นนั้น
- อย่ากระทำอัตวินิบาตกรรม จงเสาะแสวงความโปรดปรานจากอัลเลาะฮฺ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เมตตาธิคุณ แด่บ่าวของพระองค์ทุกคน
- จงรับรู้เถิดว่า อัลเลาะฮฺ ผู้ทรงมหาบริสุทธิ์ ทรงเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำ ไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง และหามีสิ่งใดที่จะปิดบังพระองค์ได้ไม่
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 วิธีฆ่าตัวตายยอดฮิต
2 การฆ่าตัวตายกับสังคมไทย
3 ฆ่าตัวตายแล้วไปไหน ไม่กลัวหรือ?
หมายเหตุ :
[1] ศัพท์เฉพาะใช้ว่า ‘การุณยฆาต’ หรือ ‘ปรานีฆาต’ (อังกฤษ: euthanasia หรือ mercy killing; ‘การุณยฆาต’ เป็นศัพท์ทางนิติศาสตร์ ส่วน ‘ปรานีฆาต’ เป็นศัพท์ทางแพทยศาสตร์ หรือ ‘แพทยานุเคราะหฆาต’ (อังกฤษ: physician-assisted suicide) หมายถึง การทำให้บุคคลตายโดยเจตนาด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรง หรือวิธีการที่ทำให้ตายอย่างสะดวก หรือ การงดเว้นการช่วยเหลือหรือรักษาบุคคลโดยปล่อยให้ตายไปเองอย่างสงบ ทั้งนี้ เพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคอันไร้หนทางเยียวยา อย่างไรก็ดี การุณยฆาตยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นความผิดอาญาอยู่ในบางประเทศ กับทั้งผู้ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าคนชนิดนี้ก็เห็นว่าเป็นการกระทำที่เป็นบาป
[2] มุตตะกีนออนไลน์ (Muttaqun OnLine) อธิบายว่า ผู้ที่ขาดละหมาดอย่างสิ้นเชิงถือว่าเขาไม่ใช่มุสลิม และถ้าหากว่ามีพยานที่เชื่อถือได้สารภาพต่ออามีรฺ (ผู้นำ) ว่าบุคคลได้ขาดละหมาดโดยสิ้นเชิง จะต้องถือว่าเขาไม่ใช่มุสลิมอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงจะไม่มีการจัดพิธีศพแบบมุสลิมให้เขา อย่างไรก็ตาม การพิจารณาตัดสินว่าผู้ตายเป็นมุสลิมหรือไม่ต้องมีพยานหลักฐานครบถ้วนและหนักแน่นพอ ซึ่งการเสาะหาพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้จริงๆ เช่นนั้นถือเป็นภาระหนักสำหรับผู้ตัดสิน อีกประการหนึ่งด้วยเหตุที่ว่าผู้ที่จะถูกตัดสินเองก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว เขาจึงไม่สามารถลุกขึ้นมาแถลงปกป้องตนเองได้เลย จึงเป็นการไม่ยุติธรรมที่จะตัดสินคนที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้
ถ้าดูจากฮาดิษซึ่งรายงานโดยท่านอาหมัด ท่านดาวุด ท่านติรฺมีซีย์ ท่านอันนะซาอี และท่านมาญาฮฺ บูร็อยดะฮฺ ล้วนกล่าวว่า ท่านศาสดามูฮัมมัด (สันติจงมีแด่ท่าน) ได้เคยกล่าววจนะว่า “ข้อผูกพันระหว่างเรากับพวกเขาก็คือการละหมาด ใครก็ตามที่ไม่ละหมาดถือว่าเขาไม่ใช่ศรัทธาชน” (ศรัทธาชน คือผู้เชื่อในพระเจ้า หมายถึงชาวมุสลิม)