รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่เป็นประชาธิปไตย โดย สมเกียรติ อ่อนวิมล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ (ฉบับประชามติ)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ (ฉบับประชามติ) มีความไม่เหมาะสมที่จะเป็นรัฐธรรมในระบอบประชาธิปไตยสำหรับประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ คือเรื่องเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนขัดกับหลักประชาธิปไตย และมีที่มาอันมิใช่จิตวิญญาณประชาธิปไตย
สาระในรัฐธรรมนูญละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขัดกับหลักประชาธิปไตย
“มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”
[ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนพระองค์ในฐานะพลเมืองไทย พระองค์ควรมีสิทธิและเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดๆก็ได้ ไม่ควรถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนบังคับพระเจ้าอยู่หัวมิให้เลื่นับถือศาสนาได้ หากพระองค์ทรงต้องการจะนับถือศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ก็จะทรงนับถือมิได้ ขณะที่พสกนิกรของประองค์กลับทำได้อย่างเสรี ประเทศไทยมิใช่แหล่งกำเนิดของศาสนาใดๆในโลกเลย เพียงแต่คนไทยรับศาสนาอันเป็นวัฒนธรรมจากต่างชาติ มิบังควรที่คนไทยจะต้องเขียนรัฐธรรมนูญบังคับคนไทยด้วยกันเองให้จำกัดโอกาสในการเลือกนับถือศาสนาได้]
“มาตรา ๔๘ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”
[เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของการประกอบอาชีพและการลงทุนในสาชาอาชีพสื่อสารมวลชนและกิจการโทรคมนาคม ในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองทุกคนทุกอาชีพย่อมมีสิทธิในการเสนอตนเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อให้รับเลือกตั้งแต่เข้าสู่งานทางการเมืองโดยเสรี ผู้ใดต้องการจะเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น จะเป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภา หรือนายก อบต. หรือ อบจ. ย่อใมีสิทธิ์เสนอตัวและเข้าสู่ตำแหน่งได้ ไม่ว่าจะมีการงานในอาชีพอะไร แต่รัฐนูญฉบับ 2550 กลับห้ามบุคคลในอาชีพสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมมิให้ทำกิจกรรมทางการเมืองในแนวทางที่บุคคลอาชีพอื่นทำได้ ไม่มีรัฐธรรมนูญชาติใดในโลกที่จำกัดสิทธิของเจ้าของประเทศผู้มีสิทธิออดเสียงเลือกตั้งแบบนี้]
“มาตรา ๑๑๑ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวมหนึ่งร้อยห้าสิบคนซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ....... ....... ....…”
“มาตรา ๑๑๓ ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวนหนึ่งคน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ ทำหน้าที่สรรหาบุคคลตามมาตรา ๑๑๔ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วแจ้งผลการสรรหาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลผู้ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ....... ....…”
[ผู้แทนของประชาชนในระบอบประาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน สมาชิกวุฒิสภาคือผู้แทนของประชาชนจึงต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดทุกคน สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาเป็นเพียงผู้แทนของกลุ่มอาชีพหรือองค์วิชาชีพที่ตนสังกัด มิใช่ผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเป็นทางการ ไม่มีความรับรู้รับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน ไม่ต้องคิดเกรงใจใฝ่ถามประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้เลือกมา ไม่ต้องใส่ใจต่อทุกข์สุขของประชาชนด้วยเหตุที่ไม่ต้องหาคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชน และไม่มีเขตพื้นที่ประชาชนในจังหวัดใดเลยในประเทศไทยที่ตนต้องรับผิดชอบหรืออ้างได้ว่าเป็นเขตเลือกตั้งของตน สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจึงไม่มีประชาชนเป็นฐาน และจำนวนมากได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยการวิ่งเต้น ด้วยอิทธิพลและบารมีส่วนตัว สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจึงมิได้เข้าสู่ตำแหน่งด้วยหลักการประชาธิปไตย
เมื่อพิจารณาเหล่ากรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาแล้วจะพบว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตยใดๆทั้งสิ้น เพราะกรรมการสรรหามาจากบุคคลเหล่านี้:
1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ประธานศาลรัฐธรรมซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง ซึ่งมาจากการสรรหาโดยประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร,
ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ๑ คน แล้ววุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามจำนวนพอดีที่สรรหา และส่งมาดังนั้นประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงมาจากการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา จะกลับมาเป็นผู้สรรหาสมาชิกวุฒิสภาย่อมไม่ได้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงข้าราชการตุลาการคนหนึ่ง เป็นพลเมืองไทยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น มิควรมีอำนาจในการเลือกใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย ประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งแทนประชาชนไทยคนหนึ่งคนใดหรือคนไทยทั้งประเทศเลย
2. ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
ประธานกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง สรรหามาโดยประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เลือก ๑ คน, ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเลือก ๑ คน แล้ววุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามจำนวนพอดีที่สรรหา และส่งมา ดังนั้นประธานกรรมการการเลือกตั้งจึงมาจากการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา จะกลับมาเป็นผู้สรรหาสมาชิกวุฒิสภาย่อมไม่ได้ ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นเพียงเจ้าหน้าที่องค์อรอิสระคนหนึ่ง เป็นพลเมืองไทยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น มิควรมีอำนาจพิเศษในการเลือกใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งแทนประชาชนไทยคนหนึ่งคนใดหรือคนไทยทั้งประเทศเลย
3. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน สรรหามาโดย
ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เลือก ๑ คน, ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเลือก ๑ คน แล้ววุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามจำนวนพอดีที่สรรหา และส่งมา ดังนั้นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมาจากการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา จะกลับมาเป็นผู้สรรหาสมาชิกวุฒิสภาย่อมไม่ได้ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง เป็นพลเมืองไทยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น มิควรมีอำนาจพิเศษในการเลือกใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งแทนประชาชนไทยคนหนึ่งคนใดหรือคนไทยทั้งประเทศเลย
4. ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สรรหามาโดยประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ,
ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แล้ววุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามจำนวนพอดีที่สรรหา และส่งมา ดังนั้นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงมาจากการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา จะกลับมาเป็นผู้สรรหาสมาชิกวุฒิสภาย่อมไม่ได้ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นเพียงเจ้าหน้าที่องค์อรอิสระคนหนึ่ง เป็นพลเมืองไทยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น มิควรมีอำนาจพิเศษในการเลือกใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งแทนประชาชนไทยคนหนึ่งคนใดหรือคนไทยทั้งประเทศเลย
5. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สรรหามาโดยประธานศาลฎีกา,
ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ๑ คน แล้ววุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามจำนวนพอดีที่สรรหา และส่งมา ดังนั้น ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงมาจากการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา จะกลับมาเป็นผู้สรรหาสมาชิกวุฒิสภาย่อมไม่ได้ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง เป็นพลเมืองไทยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น มิควรมีอำนาจพิเศษในการเลือกใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งแทนประชาชนไทยคนหนึ่งคนใดหรือคนไทยทั้งประเทศเลย
6. ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ผู้พิพากษาในศาลฎีกา มาตามระบบราชการตุลาการ ไม่มีอำนาจหน้าที่มาแทรกแซงแต่งตั้งใดๆในฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะอำนาจหน้าที่ต้องแยกออกจากกันในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลใดจะมาเป็นผู้สรรหาสมาชิกวุฒิสภาย่อมไม่ได้ เพราะเป็นเพียงเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง เป็นพลเมืองไทยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น มิควรมีอำนาจพิเศษในการเลือกใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย ผู้พิพากษาในศาลฎีกาไม่มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งแทนประชาชนไทยคนหนึ่งคนใดหรือคนไทยทั้งประเทศเลย
7. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มาตามระบบราชการตุลาการ และตุลาการศาลปกครอง ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ แล้ววุฒิสภาให้ความเห็นชอบตามที่เสนอชื่อ ดังนั้น ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จึงมาจากการให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา จะกลับมาเป็นผู้สรรหาสมาชิกวุฒิสภาย่อมไม่ได้ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เป็นเพียงเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง เป็นพลเมืองไทยธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น มิควรมีอำนาจพิเศษในการเลือกใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไม่มีสิทธิใช้สิทธิเลือกตั้งแทนประชาชนไทยคนหนึ่งคนใดหรือคนไทยทั้งประเทศเลย]
“มาตรา ๑๑๔ ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา เป็นสมาชิกวุฒิสภา เท่าจำนวนที่จะพึงมีตามที่กำหนดในมาตรา ๑๑๑ วรรคหนึ่ง”
[เมื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไม่มีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยที่จะมาใช้สิทธิเป็นการพิเศษในการสรรหาหรือเลือกบุคคลให้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้นจึงไม่ควรมีอำนาจใดๆตามมาตรา ๑๑๔ นี้เลย อีกทั้งการกำหนดกลุ่มพวกและภาคอาชีพต่างๆก็ย่อมจำกัดเป็นบางกลุ่มพวกและบางสาชาอาชีพ ไม่มีทางใดเลยที่จะครอบคลุมทุกสาขาอาชีพในหมู่พลเมืองไทย ระบบการเลือกตัวแทนโดยสาขาอาชีพจึงบ่องพร่องอย่างบริบูรณ์ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจึงมิใช้ตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม]
“มาตรา ๑๑๕ บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ....
(๕) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
[มาตรา ๑๑๕ นี้ ละเมิดหลักการพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยอย่างรุนแรง เพราะตัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองโดยเหตุของความเป็นเครือญาติกัน ในโลกนี้ไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่ไหนจะห้ามพ่อ, แม่, ลูก, สามี, ภรรยา, มิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นไปแล้ว การเป็นพ่อแม่ลูกและภรรยาสามีกันต้องไม่เป็นเหตุแห่งการเสียสิทธิและโอกาสในการเป็นพลเมืองดีผู้ประสงค์จะรับใช้ประชาชนและประเทศชาติในตำแหนง่หน้าที่ทางการเมือง และหากลูกจะมีความคิดเจริญรอยตามพ่อแม่ในทางการเมือง หรือจะมีความคิดตรงข้ามกัน ระบอบประชาธิปไตยเห็นเป็นความงดงามที่ต้องส่งเสริม และถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญจะทำลายสิทธิของพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางใดทางหนึ่งมิได้เด็ดขาด]
“มาตรา ๑๑๕
(๖)...พ้นจากการเป็นสมาชิกหรือการดำรงตำแหน่งใดๆในพรรคการเมืองมาแล้วยังไม่เกินห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
(๗)...พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว(ยัง)ไม่เกินห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ”
[มาตรา ๑๑๕ ส่วนนี้จำกัดสิทธิและทางเลือกในการทำงานการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ประสงค์จะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ผู้ที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาย่อมมีเสรีภาพที่จะคิดสนับสนุนหรือคัดค้านหรือเป็นพวกเดียวกัน หรือเป็นคนละพวกกัน กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองต่างๆ หรือนโยบายใดนโยบายหนึ่ง หรือทั้งหมดของรัฐบาลหรือของพรรคการเมืองใด ย่อมได้ และเป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตย จะมาห้ามมิได้ จะมากำหนดเวลา 5 ปีว่าพอเพียงที่จะเปลี่ยนความผูกพันและความคิดของบุคคลย่อมมิอาจเป็นไปได้ ในพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย ผู้ที่พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หรือพ้นจากสมาชิกภาพพรรคการเมืองแล้ว ย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งมีส่วร่วมทางการเมืองช่วยสร้างสังคมสร้างประเทศชาติได้เสมอ]
“มาตรา ๑๑๕
(๙) ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี”
[ใช้หลักคิดแบบเดียวกันกับ มาตรา ๑๑๕ (๖) (๗)]
“มาตรา ๑๑๖ ...
บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้”
[ใช้หลักคิดแบบเดียวกันกับ มาตรา ๑๑๕ (๖) (๗)]
“มาตรา ๒๙๖ ...
ในวาระเริ่มแรก ห้ามมิให้ผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งจะมีการได้มาเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้.…”
[ใช้หลักคิดแบบเดียวกันกับ มาตรา ๑๑๕ (๖) (๗)]
ที่มาอันมิใช่จิตวิญญาณประชาธิปไตย
เรื่องจิตวิญญาณประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สำคัญยิ่งเหนืิอสาระในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาจากการร่างของคณะบุคคลผู้มากจากอำนาจแต่งตั้งแต่ต้นของคณะนายทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลประชาธิปไตย สมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร สภาร่างรัฐธรรมนูฐในปี พ.ศ. 2550 จึงมาจากอำนาจทหารและพลเรือนผู้ยึดอำนาจประชาธิปไตยจากประชาชนมา ย่อมไม่มีจิตวิญญาณของประชาธิปไตยเป็นพลังค้ำจุนรัฐธรรมนูญอยู่เลย ไม่ว่าเหตุผลของการยึดอำนาจจะอ้างว่าอย่างไรก็ตาม ย่อมไร้ซึ่งพลังอำนาจแห่งจิตวิญญษณประชาธิปไตยทั้งสิ้น ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง นอกจากการใช้สิทธิลงประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเองไม่พึงเรียกร้องต้องการ แม้เสียงข้างมากจะมีประชามติรับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญก็ยังขาดจิตวิญญาณอยู่เช่นเดิม
พลังร่วมที่ควรจะมีอย่างมหาศาล ในอันที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความสามัคค ีเจริญก้าวหน้า รุ่งเรือง ยั่งยื่น บริบูรณ์ หากประชาชนได้เป็นเจ้าของรัะฐธรรมนูญ จึงไม่มี เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มิได้มาโดยกระบวนการประชาธิปไตย
จึงสมควรที่จะต้องจัดให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดยเร็ว และให้ประชาชนทั้งประเทศพร้อมด้วยนักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรค ตลอดจนพลังสังคมทุกแหล่งล้า ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนร่างรัฐธรรมฉบับใหม่นี้ด้วยอย่างสมานสามัคคี
สมเกียรติ อ่อนวิมล
10 ธันวาคม 2555
วันรัฐธรรมนูญ