เมื่อภัยเอสด์ที่ชายแดนใต้ (อาจ) ร้ายกว่าภัยความไม่สงบ
เอ่ยถึง "เอดส์" หลายคนไม่อยากต่อความยาว หลายคนสะอึกเพราะพบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีเข้าไปแล้ว ในอดีตผู้คนมักมองว่าคนที่เป็นโรคนี้น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากข้องเกี่ยวเพราะกลัวจะติดเชื้อไปด้วย ทั้งที่โรคนี้แพร่เชื้อได้ไม่กี่ช่องทาง
โรคเอดส์เริ่มปรากฏในสังคมโลกครั้งแรกในราวปี พ.ศ.2524 จากการแพร่เชื้อโดยกลุ่มชายรักชาย และเริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศไทยประมาณปี 2527 ในกลุ่มหญิงขายบริการ ก่อนจะขยายวงไปยังกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จากนั้นก็แพร่สู่ครอบครัว ทำให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2538
สิบกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่โรคเอดส์กำลังแพร่ระบาดไปทั่ว พบว่าสังคมมุสลิมไม่ค่อยเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระแสรณรงค์ป้องกันเอดส์มากนัก ความตื่นตัวและการเข้าถึงองค์ความรู้เพื่อป้องกันการติดเชื้อยังมีน้อยมาก ทั้งที่ทั่วทั้งโลกต่างผวาภัยเอดส์ มีการประกาศให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันเอดส์โลก" และรณรงค์ป้องกันกันอย่างกว้างขวาง
จากการลงสำรวจพื้นที่ของเครือข่ายศาสนากับการทำงานด้านเอดส์ (ประเทศไทย) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า ตั้งแต่ปี 2538 มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดสูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุ 18 ปีขึ้นไป และเอดส์ได้เริ่มแพร่ระบาดในคนกลุ่มนี้ ก่อนขยายวงเข้าสู่ครอบครัว ทำให้สตรีมุสลิมติดเชื้อมากขึ้น และเริ่มมีสถิติติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในเวลาต่อมา
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2545 การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีมุสลิมติดเชื้อเอดส์ที่รักษาในโรงพยาบาลในสามจังหวัดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20 รายต่อโรงพยาบาล ที่น่าตกใจก็คือการติดเชื้อของกลุ่มคนดังกล่าวจำนวนไม่น้อยมาจากการสมรส เพราะไม่รู้ว่าคู่สมรสของตนติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน
นราฯผวานักเรียนนักศึกษากลุ่มเสี่ยงสูงสุด
ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส รายงานเนื่องในโอกาสวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2555 ว่า ภาพรวมของสถานการณ์โรคเอดส์ในพื้นที่ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส มียอดรวมผู้ติดเชื้อ 2,370 ราย เสียชีวิตจากภาวะโรคแทรกซ้อนแล้ว 603 ราย ส่วนที่เหลือ 90% เข้ารับการรักษาในระบบประกันสุขภาพ โดยได้รับยาต้านไวรัสเอดส์เป็นประจำทุกเดือน
สำหรับผู้ติดเชื้อแยกเป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป 51% เกษตรกรรม 11% แม่บ้าน 7% นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษามีแนวโน้มติดเชื้อเอดส์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี โดยขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกัน โดยเฉพาะการไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในการเสพสารเสพติด
ส่วนสตรีมีครรภ์ที่ไปฝากครรภ์ตามโรงพยาบาลต่างๆ พบว่ามีถึง 1% ที่เกิดภาวะติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
บทเรียนจากชุมชนมุสลิมเมืองคอน
ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ที่มีความเจริญและมีความเป็นสังคมเมืองสูงมากอย่างนครศรีธรรมราช อันธิกา เสมสรร ผู้ประสานงานโครงการป้องกันการแพร่ระบาดของเอดส์ในชุมชน บอกเล่าถึงสถานการณ์โรคเอดส์ที่กำลังน่าเป็นห่วงอย่างมากว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ใน จ.นครศรีธรรมราช เริ่มมีมากขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อย ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ ทั้งการใช้สารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน และการมีความเข้าใจที่ผิดในเรื่องเอดส์
อันธิกา เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันเธอทำงานอยู่ในหลายองค์กร ทั้งโครงการดูแลผู้ติดเชื้อและได้รับผลกระทบจากเอชไอวีผ่านเครือข่ายองค์กรศาสนาด้านเอชไอวีเอดส์ในประเทศไทย โครงการพัฒนาระบบที่เป็นมิตรกับเยาวชน รวมถึงโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กโดยชุมชนใน จ.นครศรีธรรมราช โดยได้รับงบสนับสนุนทั้งหมดจากกองทุนเอดส์โลก แต่งานที่เธอเน้นหนักเป็นพิเศษคือการดูแลผู้ติดเชื้อในชุมชนมุสลิม
"ตั้งแต่ปี 2549 ฉันทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเอดส์ และเข้ามาทำงานดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ได้รับผลกระทบเต็มตัวเมื่อปี 2550 เนื่องจากหาคนทำงานด้านนี้ในชุมชนมุสลิมของ จ.นครศรีธรรมราช ยากมาก"
อย่างไรก็ตาม อันธิกา บอกว่า แม้จะหาคนทำงานด้านนี้ยาก แต่การทำงานกับชุมชนไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคนในชุมชนเปิดใจเต็มที่ เพียงแต่ขาดความรู้ความเข้าใจเท่านั้นเอง
"การทำงานวิจัยทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและพบว่าชาวบ้านยังรับรู้สถานการณ์ความเสี่ยงของเอดส์น้อยมากจนถึงไม่รู้เรื่องอะไรเลย ชาวบ้านยังมองว่าคนเป็นเอดส์เป็นคนชั่ว ตายแล้วฝังในกุโบร์ (สุสานของมุสลิม) ไม่ได้ โดยเฉพาะมุสลิมะฮ์ (หญิงมุสลิม) ไม่รู้เรื่องว่ามีความเสี่ยงใกล้ตัวที่สุดจากสามี หากติดเชื้อก็จะยอมรับว่าเป็นประสงค์จากอัลลอฮ์ หรือรู้ว่าสามีติดเอดส์แต่คิดว่าหลักการศาสนาพูดอะไรไม่ได้ ก้มหน้ายอมรับชะตากรรมอย่างเดียว ทั้งที่หากเป็นเช่นนั้นจริง ฝ่ายหญิงมีสิทธิ์ต่อรองให้สามีใช้ถุงยางอนามัยได้"
"มีตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งใน อ.ท่าศาลา (จ.นครศรีธรรมราช) เป็นชาวประมงออกเรือหาปลา ติดยาเสพติด และเที่ยวผู้หญิงจนติดเชื้อ แล้วนำเชื้อไปติดภรรยา พอเลิกออกเรือไปดาวะฮ์ แต่เชื้อยังอยู่ พอเจ็บหนักฉันได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยรายนี้ ญาติพี่น้องถามว่าไปดูแลทำไมเพราะพวกเขายังไม่ดูแลเลย สุดท้ายผู้ป่วยรายนี้ก็ตาย ต่อมาภรรยาก็ตาย ลูกๆ ต้องไปตามโต๊ะอิหม่ามมาจัดการศพ เพราะพี่น้องไม่ดูดำดูดี คิดแต่ว่าเป็นคนบาป ให้อภัยไม่ได้"
ชุมชนไม่ทิ้งกัน...ใช้หลักศาสนาสู้ภัยเอดส์
จากงานดูแลผู้ติดเชื้อที่อันธิกาทำอย่างต่อเนื่อง ได้ค่อยๆ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชน โดยใช้ "ทุนทางสังคม" ที่ชุมชนมุสลิมมีอยู่แล้ว ได้แก่ผู้นำศาสนากับผู้นำทางธรรมชาติ ทำให้สถานการณ์การรับรู้ของชุมชนดีขึ้น โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโดยชุมชน
"เราได้พูดคุยทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่ลงไปทำงาน และพาลงไปเยี่ยมผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อผู้นำศาสนาตัดสินว่าผู้ติดเชื้อเป็นคนผิด ทำให้เขาต้องเก็บตัว ชุมชนไม่เข้าใจ ญาติพี่น้องไม่ดูแล ทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดความโดดเดี่ยว"
"เราก็ลงไปคุยกันว่าตามหลักการอิสลาม เมื่อผู้ติดเชื้อหรือใครที่เขาเตาบัต (สำนึกผิดอย่างจริงใจ) เราต้องดูแลเขา ผู้นำศาสนาก็คิดได้ว่าต้องกลับไปเตาบัตตัวเองด้วยที่คิดว่าผู้ติดเชื้อเป็นคนผิดอย่างเดียว เราได้เปลี่ยนมุมมองความคิดให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้านผู้ติดเชื้อเมื่อเตาบัตและทำอิบาดะห์ (การสักการะต่ออัลลอฮ์) อาการก็ดีขึ้นทั้งกายและใจ บางรายไม่ต้องใช้ยาเลย และมีชีวิตอย่างปกติ"
"ทุกวันนี้งานดูแลจะมีโต๊ะอิหม่าม โต๊ะครู อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) เป็นอาสาสมัครช่วยในชุมชน ส่วนงานป้องกันได้ให้ความรู้กับเยาวชนและชุมชนว่าเอดส์ไม่ได้เป็นแล้วตายอย่างเดียว มีทางป้องกันและรักษาได้"
ชาวบ้านเปิดใจ-คนมีหน้ามีตาปิดตัว
จากข้อมูลของโรงพยาบาลท่าศาลา อันธิกาพบว่าพบผู้ติดเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นในคนวัยทำงานมากที่สุด ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ จนเมื่อได้ไปตรวจเลือดจึงรู้ว่าเป็นเอดส์
"ตอนนี้เชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้นในคนวัยทำงานและคนมีหน้ามีตาในสังคม เพราะคนเหล่านี้คิดว่าตัวเองมีความรู้และปลอดภัย ทั้งที่ไม่รู้อะไรเลย คนที่เที่ยวเป็นบางครั้งหรือเที่ยวผู้หญิงตอนวัยรุ่น ในแง่ของศาสนาพุทธมองว่าไม่เป็นไรและคิดว่าตัวเองปลอดภัย ไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ จนกว่าจะไปตรวจเลือดแล้วพบเชื้อเอดส์"
"ในวันพุธที่เป็นวันนัดรับยาของคลินิคเอชไอวีของโรงพยาบาลท่าศาลา จะมีแต่ชาวบ้านมาปรึกษาและรับยา ส่วนคนทำงานบริษัทหรือข้าราชการจะไม่มา ถ้าจะรับยาก็รับนอกเวลาหรือรักษากับคลินิกเอกชนเพราะกลัวเสียหน้า ถือเป็นกลุ่มที่ทำงานด้วยยาก ชาวบ้านกลับเป็นกลุ่มที่ทำงานด้วยง่ายกว่า เพราะกล้ามาปรึกษาและเข้าถึงยา มีการปรับตัวปรับใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้การรักษาคนกลุ่มนี้เป็นไปด้วยดี"
แนะตรวจเลือดก่อนแต่งงาน
สิ่งสำคัญที่อันธิกาบอกว่าเป็นตัวยับยั้งการแพร่ระบาดของเอดส์และสามารถหาวิธีรักษาก่อนสายเกินไปคือ การตรวจเลือดก่อนแต่งงาน เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะปลอดภัยจากโรคนี้ แต่ไม่ใช่ตรวจวันนี้ไม่เจอจะหมายความว่าคนคนนั้นปลอดจากเอดส์
"ต้องมีความสำนึกและตระหนัก ก่อนแต่งงานต้องมีการตรวจเลือดอย่างละเอียด แต่ไม่ใช่ตรวจวันนี้แล้วพอทราบผลว่าไม่มีเลือดบวกจะมั่นใจได้ 100% ว่าไม่เป็นเอดส์ เพราะเชื้อเอดส์มีระยะเวลาฟักตัวด้วย อย่างรับเชื้อไปวันนี้ เมื่อเชื้อเข้าไปจะสร้างแอนตี้บอดี้มาต่อสู้เชื้อเอชไอวี พรุ่งนี้ไปตรวจเลือดก็จะมีผลออกมาว่าไม่เจอ ต้องรอสัก 2 อาทิตย์จึงจะรู้ หากใน 2 อาทิตย์นี้ไปเที่ยวอีกแล้วไปตรวจก็จะไม่เจออีก เมื่อเอาผลอย่างนี้ไปก็จะมองว่าไม่มีเชื้อเอดส์ ส่วนผู้ที่รู้ว่ามีเชื้อเอดส์อยู่ก็ต้องหาทางป้องกันเวลามีเพศสัมพันธ์โดยการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของเอดส์ได้ 99%"
ปัญหาของการป้องกันอีกด้านหนึ่งคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชายในสังคมไทย อันธิกาบอกว่าผู้หญิงไทยไม่กล้าบอกให้ผู้ชายไปตรวจเลือด เพราะหากผู้ชายรู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมเสี่ยงแล้วไม่บอกความจริง ก็มักโทษผู้หญิง นำไปสู่การหย่าร้าง ผู้หญิงจึงทนอยู่ในภาวะจำยอม แม้ว่าสามีจะไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัยก็ตาม ฉะนั้นผู้หญิงจึงต้องมีความกล้ามากขึ้นเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง
สถานการณ์เอดส์ชายแดนใต้ร้ายกว่าความไม่สงบ
อันธิกายังให้ข้อมูลที่น่าตกใจถึงความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของโรคเอดส์ในนครศรีธรรมราชว่า ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อไปเรียนที่นครศรีธรรมราชแล้วมีพฤติกรรมมั่วสุมเสพยาและมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
"ได้พูดคุยกับคนทำงานด้านนี้ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาบอกว่าสถานการณ์เอดส์ในกลุ่มเยาวชนรุนแรงกว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้นเสียอีก เด็กปอเนาะจากที่นั่นมาเรียนระดับอุดมศึกษาในนครศรีธรรมราชมากขึ้น แล้วนิยมอยู่กันเป็นคู่โดยยังไม่ได้นิกะฮ์ (สมรส) อย่างถูกต้อง มีการเปลี่ยนคู่ สวิงกิ้ง ใช้ยาเสพติด เรียกว่ามีทุกอย่าง เด็กมุสลิมบางคนบอกว่ายอมอยู่ร่วมห้องพักกับเพื่อนไทยพุทธดีกว่าอยู่กับเพื่อนมุสลิมที่มีพฤติกรรมเช่นนี้"
"อีกปัญหาหนึ่งที่ชายแดนใต้คือมีพวกชายข้ามเพศเข้าไปขายบริการทางเพศฝั่งมาเลเซียในวันเสาร์อาทิตย์ เพราะโรงแรมหรือห้องเช่าที่นั่นจะไม่เปิดห้องให้กับชายหญิงที่ไม่ได้แต่งงานกัน แต่เปิดให้กับผู้ชายกับผู้ชายได้ และมีจำนวนชายข้ามเพศจากฝั่งไทยเข้าไปขายบริการเพิ่มมากขึ้น"
อย่างไรก็ดี สิ่งดีๆ ของสังคมมุสลิมคือ ความเข้มแข็งในหลักการศาสนา อันธิกาบอกว่าเป็นสิ่งที่ควรนำมาปฏิบัติจริงจัง ให้สังคมรับรู้ว่ามุสลิมที่ดีเป็นอย่างไร
"สังคมชายแดนใต้ถูกสังคมใหญ่ตีตราว่ามีจุดด้อย คร่ำครึ อนุรักษ์นิยม เมื่อคนในพื้นที่คิดตอกย้ำตัวเองตามที่ถูกสังคมตีตรา แล้วได้ไปอยู่ในพื้นที่อื่นจึงอยากมีอิสระทำอะไรตามใจตัวเองโดยไม่แยกแยะถูกผิด หากเปลี่ยนสำนึกเสียใหม่ว่าต้องหาทางเปลี่ยนแปลงให้หลุดพ้นจากข้อกังขาของสังคม ให้อัตลักษณ์แห่งความดียังคงอยู่ เช่น คนเชียงใหม่ที่มีอัตลักษณ์เป็นภาษาพูด เพราะเขาภูมิใจในอัตลักษณ์และถ่ายทอดออกมาให้สังคมรับรู้ หรืออย่างคนนครศรีธรรมราชไปอยู่ที่ไหนก็เป็นคนคอน พูดเสียงดัง ชัดถ้อยชัดคำ"
"คนมลายูก็ควรปลุกสำนึกความเป็นชนชาติมลายูให้เป็นเรื่องที่ดีในมุมที่ดี ลบข้อกังขาของสังคมด้วยความดี และความดีนั้นจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคร้ายได้" อันธิกา กล่าว
เพราะความดีและผู้ดำรงตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่ชิงสุกก่อนห่าม รักเดียวใจเดียว และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด คือเกราะป้องกันเอดส์ที่ดีที่สุด!
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพรณรงค์สำหรับคำขวัญเนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2555 ที่ว่า Getting to Zero หรือ "มุ่งสู่การทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเท่ากับศูนย์"
ขอบคุณ :
1 ภาพจากเว็บไซต์เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก http://www.who.int/hiv/en/
2 เนื้อหาของรายงานเฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูลของ จ.นราธิวาส โดย สัญฐิติ ขอจิตต์เมตต์ ผู้สื่อข่าวเครือเนชั่นประจำจังหวัดนราธิวาส