อยากรู้ไหม... เมืองไทยมีปืนถูกกฎหมายกี่กระบอก?
“ปืน” เป็น 1 ในอาวุธที่คนร้ายใช้ประกอบอาชญากรรมบ่อยครั้งที่สุด ไม่ว่าจะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย
และ "ปืน" ก็เป็นอาวุธที่ไว้ใช้ป้องกันตัวเวลาภยันตรายเข้ามาใกล้
แต่เราเคยรู้หรือไม่ว่า ในเมืองไทย มี "ปืน" "กระสุนปืน" และ "ร้านขายปืน" ที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่จำนวนเท่าใด?
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยปรากฏอยู่ใน “กระทู้ถามที่ 558 ร.” ที่ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ สอบถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการควบคุมการซื้อกระสุนปืน
โดยนายวัชระกล่าวว่า เนื่องด้วยปัญหาอาชญากรรมในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมีการปล้นร้านทองมากขึ้น และมีหลายคดีที่ไม่สามารถติดตามพยานหลักฐานได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีการจำหน่ายกระสุนปืนแต่ละชนิดอย่างเสรี ซึ่งเป็นมูลเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีการควบคุมการจำหน่ายกระสุนปืนอย่างเข้มงวด ทั้งการซื้อ การใช้ด้วยการมีบาร์โค้ดเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ หากกระสุนปืนถูกเก็บได้จากการใช้แล้วเพราะจะทำให้สามารถติดตามได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการก่ออาชญากรรมได้อีกด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอสอบถามใน 3 ประเด็น
1.ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามการจำหน่ายกระสุนปืนอย่างไร และตั้งแต่ปี 2550-2554 ร้านจำหน่ายกระสุนปืนได้แจ้งจำนวนกระสุนปืนที่จำหน่ายแต่ละประเภทเป็นจำนวนเท่าใด
2.มท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีนโยบายการใช้บาร์โค้ดกำกับการซื้อกำกับการซื้อกระสุนปืนเพื่อป้องกันอาชญากรรมหรือไม่ อย่างไร และขอทราบสถิติร้านจำหน่ายปืนตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน ว่ามีจำนวนเท่าไร มีการอนุมัติเพิ่มมากขึ้นปีละกี่ร้าน และมีหลักเกณฑ์อย่างไร
และ 3.ขอทราบรายละเอียดอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งหมดที่อนุญาตให้ครอบครอง ว่ามีกี่ชนิด กี่ประเภท เป็นจำนวนเท่าใด ตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน และมีการอนุมัติให้นำเข้าอาวุธปืน ตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน ว่ามีกี่ชนิดและมีจำนวนเท่าใด
นายกฯมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นผู้ตอบคำถามแทน โดยตอบกระทู้ถามดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรลงในราชกิจจานุเบกษา มีใจความว่า
คำตอบข้อที่ 1
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของ มท.ทราบว่า มท.ได้มีคำสั่งที่ 289/2552 เรื่อง การออกใบอนุญาตร้านค้าอาวุธปืน ร้านประกอบ ซ่อมแซมเปลี่ยนลักษณะอาวุธปืนและกำหนดจำนวนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า ลงวันที่ 8 ก.ย. 2552 เพื่อวางระเบียบการจำกัดจำนวนร้านค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ร้านประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะอาวุธปืนและจำกัดจำนวนอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน โดยได้กำหนดให้ร้านค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนแต่ละใบอนุญาตจำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนตามที่กำหนดไว้ดังนี้
1) อาวุธปืนยาวทุกชนิด ทุกขนาด ไม่เกินใบอนุญาตละ 50 กระบอก
2) อาวุธปืนสั้นทุกชนิด ทุกขนาด ไม่เกินใบอนุญาตละ 30 กระบอก
3) เครื่องกระสุนปืน แยกเป็น
-กระสุนปืนลูกโดดทุกชนิด ทุกขนาด ไม่เกินใบอนุญาตละ 2,000 นัด
-กระสุนปืนลูกซองทุกชนิด ทุกขนาด ไม่เกินใบอนุญาตละ 7,500 นัด
-กระสุนปืนลูกกรดทุกชนิด ทุกขนาด ไม่เกินใบอนุญาตละ 10,000 นัด
-กระสุนปืนอัดลมทุกชนิด ทุกขนาด ไม่เกินใบอนุญาตละ 30,000 นัด
ในการติดตามการจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนนอกจากการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนต่อใบอนุญาตได้ตามจำนวนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจะต้องรายงานยอดอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนที่คงอยู่และที่จำหน่ายไปให้นายทะเบียนท้องที่ทราบทุกเดือนตามแบบ ป.8 (แบบบัญชีสำหรับลงรายการยอดอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนของผู้รับใบอนุญาต) รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจติดตามการจำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ไปดำเนินการตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการจัดท
โครงการฐานข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถตรวจสอบข้อมูลติดตามการจำหน่ายกระสุนปืนได้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ และตั้งแต่ปี 2550-2554 ร้านจำหน่ายกระสุนปืนได้แจ้งจำนวนการจำหน่ายกระสุนปืนแต่ละประเภทดังนี้
-กระสุนปืนลูกโดด จำนวน 263,272 นัด
-กระสุนปืนลูกซอง จำนวน 1,218,389 นัด
-กระสุนปืนลูกกรด จำนวน 557,900 นัด
-กระสุนปืนอัดลม จำนวน 1,260,000 นัด
คำตอบข้อที่ 2
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของ มท.ทราบว่า มท.ไม่มีนโยบายใช้บาร์โค้ดกำกับการซื้อขายกระสุนปืน แต่มีโครงการจัดเก็บข้อมูล หัวกระสุนปืนเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลประวัติอาวุธปืนที่นายทะเบียนได้ออกใบอนุญาตให้ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 โดยการนำอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตไปทำการยิงเก็บหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน
จากนั้นนำไปบันทึกข้อมูลด้วยเครื่องตรวจหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนอัตโนมัติ IBIS (Integrated Ballistic Identification System) สำหรับใช้ในการตรวจสอบประวัติการกระทำผิดเพื่อเป็นการสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนและการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสอดคล้องกับภารกิจของ มท.ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน
สำหรับสถิติจำนวนร้านจำหน่ายปืนและหลักเกณฑ์การพิจารณา มีดังนี้
1) มท.ได้มีคำสั่งที่ 109/2535 เรื่อง การออกใบอนุญาตร้านค้าอาวุธปืน ร้านประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะอาวุธปืน และกำหนดจำนวนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า ลงวันที่ 10 ก.พ.2535 โดยจำกัดการเพิ่มร้านค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และร้าน ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะอาวุธปืนมิให้เพิ่มจำนวนขึ้น และหากเห็นสมควรให้ลดจำนวนลงได้
2) มท.ได้มีคำสั่งที่ 289/2552 เรื่อง การออกใบอนุญาตร้านค้าอาวุธปืน ร้านประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะอาวุธปืน และกำหนดจำนวนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า ลงวันที่ 8 ก.ย.2552 ยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ตามข้อ 1)
ดังนั้น ก่อนที่จะมีคำสั่ง มท.ที่ 109/2535 ลงวันที่ 10 ก.พ.2535 จำกัดการขออนุญาตตั้งร้านค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้น มีจำนวนร้านค้าที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 335 ใบอนุญาต
และหลังจากที่มีการออกคำสั่ง มท.ที่ 289/2552 ลงวันที่ 8 ก.ย.2552 สามารถขอใบอนุญาตร้านค้าอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนได้ มีจำนวนร้านค้าที่ขอออกใบอนุญาตเพิ่มขึ้น จำนวน 167 ใบอนุญาต
รวมถึงปัจจุบัน มีร้านค้าที่ได้รับใบอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 502 ใบอนุญาต แยกเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 381 ใบอนุญาต ในจังหวัดอื่น จำนวน 121 ใบอนุญาต โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้บุคคลทำการค้า จำหน่ายประกอบ ซ่อมแซมเปลี่ยนลักษณะอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ตามคำสั่ง มท.ที่ 289/2552 ลงวันที่ 8 ก.ย.2552
คำตอบข้อที่ 3
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของ มท.มีดังนี้
1. ปัจจุบันอาวุธปืนที่อนุญาตให้บุคคลครอบครองทั่วประเทศมี 2 ประเภท คือ
1.1 อาวุธปืนสั้น จำนวน 3,744,877 กระบอก
1.2 อาวุธปืนยาว จำนวน 2,476,303 กระบอก
รวมจำนวน 6,221,180 กระบอก
2. มีการอนุมัติให้นำเข้าอาวุธปืนตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน จำนวน 2 ชนิด คือ อาวุธปืนสั้น และอาวุธปืนยาว จำนวนทั้งสิ้นแยกเป็นรายปี ดังนี้
2.1 ปี 2550 จำนวน 61,112 กระบอก แยกเป็น
-อาวุธปืนสั้น จำนวน 48,063 กระบอก
-อาวุธปืนยาว จำนวน 13,049 กระบอก
2.2 ปี 2551 จำนวน 64,798 กระบอก แยกเป็น
-อาวุธปืนสั้น จำนวน 45,826 กระบอก
-อาวุธปืนยาว จำนวน 18,972 กระบอก
2.3 ปี 2552 จำนวน 35,589 กระบอก แยกเป็น
-อาวุธปืนสั้น จำนวน 15,933 กระบอก
-อาวุธปืนยาว จำนวน 19,656 กระบอก
2.4 ปี 2553 จำนวน 80,730 กระบอก แยกเป็น
-อาวุธปืนสั้น จำนวน 65,193 กระบอก
-อาวุธปืนยาว จำนวน 15,537 กระบอก
2.5 ปี 2554 จำนวน 21,102 กระบอก แยกเป็น
-อาวุธปืนสั้น จำนวน 11,175 กระบอก
-อาวุธปืนยาว จำนวน 9,927 กระบอก
นับเฉพาะปืนถูกกฎหมาย 6.2 ล้านกระบอก จากจำนวนประชากรไทย 63 ล้านคน คำนวณง่ายๆ ก็คือ ทุก 10 คน จะมีปืนถูกกฎหมาย 1 กระบอก นี่นับเฉพาะปืนถูกกฎหมาย ยังไม่รวมปืนเถื่อนและปื่นไทยประดิษฐ์ที่ยังมีอยู่อีกมากมายจนนับไม่ถ้วน !