“เบื้องหลังชีวิต” ความจริงผ่านคมเลนส์คนชายแดนใต้
ปิยะศักดิ์ อู่ทรัพย์*
เครือข่ายช่างภาพพลเมือง WeWatch
ช่วงค่ำวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา หอศิลปะวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ให้กับนิทรรศการภาพถ่าย “เบื้องหลังชีวิต” หรือ Through Our Eyes ซึ่งเป็นการจัดแสดงภาพถ่ายที่ประกาศชัดเจนว่าเป็นผลงานของ “ช่างภาพมือสมัครเล่น” ที่ต้องการสะท้อนวิถีชีวิตและความจริงอีกบางแง่มุมของผู้คนในชุมชนต่างๆ ในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งถูกสังคมมองว่าเป็นหนึ่งใน “พื้นที่สีแดง”
อาสาสมัครที่บันทึกภาพเรื่องราวต่างๆ จากพื้นที่จริงกว่า 25 ชีวิต เกือบทั้งหมดเป็น “คนในพื้นที่” ซึ่งเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือระหว่าง กลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย, มูลนิธิเพื่อนหญิง และองค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท โดยได้จัดอบรมให้ผู้คนในชุมชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เรียนรู้การถ่ายภาพเพื่อนำเสนอมุมมองที่ “คนใน” ต้องการสะท้อนให้ “คนนอก” ซึ่งอยู่ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศไทยได้มีส่วนรับรู้
โดยเฉพาะภาพความจริงในแง่มุมอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากการนำเสนออย่างดาษดื่นของสื่อมวลชนกระแสหลักทั่วๆ ไป
ผู้ริเริ่มโครงการถ่ายภาพเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตครั้งนี้คือ นายโยสต์ วากเนอร์ ที่ปรึกษาโครงการภาคใต้ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ซึ่งทำงานร่วมกับตัวแทนเครือข่ายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในภาคใต้ โดยเริ่มต้นกระบวนการทำงานจากการนำอาสาสมัครทั้ง 25 คนมาฝึกการถ่ายภาพเบื้องต้น และเรียนรู้การจัดวางองค์ประกอบของภาพร่วมกัน จากนั้นจึงให้อาสาสมัครนำกล้องจากมูลนิธิฯ กลับไปถ่ายภาพชีวิตและเรื่องราวของตัวเอง ของครอบครัว และของเพื่อนบ้านที่ต้องการถ่ายทอดให้คนภายนอกได้รับรู้และเข้าใจ
โซรยา จามจุรี จากกลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในชุมชน เล่าให้ฟังว่า กระบวนการทำงานของโครงการภาพถ่าย “เบื้องหลังชีวิต” เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และเสน่ห์ของภาพอยู่ที่ความไม่เป็นมืออาชีพ
“ที่ผ่านมาการจัดนิทรรศการภาพถ่ายมักจะต้องอาศัยชื่อเสียงและการเป็นช่างภาพมืออาชีพ แต่นิทรรศการครั้งนี้แตกต่างออกไป และมีเสน่ห์ตรงที่คนถ่ายภาพล้วนเป็น ‘คนใน’ ของชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้ทั้งหมด”
“พวกเขาเป็นคนในบ้าน เป็นคนใน บางที (ภาพที่ถ่าย) ก็เป็นภาพแม่ของเขา ลูกของเขา ญาติของเขา ภาพคนในครอบครัวเขาเอง เป็นภาพที่ดูแล้วสามารถเข้าถึง ‘ความจริง’ และสามารถที่จะนำเสนอเรื่องราวหรือตัวตนของพวกเขาเองที่ชัดเจน และเป็นมุมที่ตัวผู้ถ่ายเองต้องการนำเสนอจริงๆ”
“ภาพที่เห็นจึงเป็นแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย เป็นอีกแง่มุมที่ต่างไปจากภาพที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ และเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่แท้จริงโดยผ่านมุมมองของคนในพื้นที่เอง นี่เป็นความงดงาม”
สุรัตน์ โหราชัยกุล รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนกล่าวเปิดนิทรรศการ บอกว่า ภาพถ่ายที่ได้ชมจากนิทรรศการ “เบื้องหลังชีวิต” อาจมีส่วนเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้คนเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมื่อพูดถึงสามจังหวัด คนส่วนใหญ่มักนึกถึงระเบิด เลือด และการฆ่ากัน แต่ภาพถ่ายในนิทรรศการเสนอให้เห็นความสุข ความหวัง จิตอาสา และจิตใจที่จะมุ่งช่วยเหลือกันทางศาสนะและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์
"ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการ บ่อยครั้งที่เรามักจะคุยกันในเชิงทฤษฎี อยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ไม่สามารถเข้าถึงคนอื่นๆ ได้ แต่ในเวลานี้ภาพถ่ายที่เราเห็นกำลังพาให้เราเข้าถึงสถานการณ์และความจริงบางอย่าง”
ขณะที่ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมาร่วมชมนิทรรศการ กล่าวว่า ภาพถ่ายที่ถ่ายโดยคนในพื้นที่แตกต่างจากภาพที่เห็นในหนังสือพิมพ์ ซึ่งค่อนข้างจะลงเฉพาะภาพเหตุการณ์ที่ดุเดือด รุนแรง แต่สิ่งที่เห็นในนิทรรศการคือภาพวิถีชีวิต ซึ่งถือเป็นมุมมองสันติภาพอีกแง่หนึ่ง
“ภาพบางภาพเห็นโต๊ะอิหม่าม ผู้นำศาสนา อยู่ร่วมกันพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ เห็นคนไทยพุทธออกกำลังกายร่วมกับคนมุสลิม ผมว่าดูไปแล้วได้คุณความคิดมากมายหลายประการ ภาพเหล่านั้นบ่งบอกว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้”
“บางภาพจะเห็นผลกระทบ บางภาพจะเห็นเด็กกำพร้า บางภาพจะเห็นทหาร แต่ไม่ได้นำเสนอในภาพของความรุนแรง ทหารถือปืนก็จริง แต่อยู่ข้างๆ ประชาชนคนธรรมดา บางภาพเราก็รู้สึกว่ามันมีความรุนแรงแฝงอยู่หรือไม่ แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะเห็นรอยยิ้มมากกว่าความทุกข์โศก”
“ผมคิดว่าการจัดนิทรรศการในครั้งนี้พยายามตอบโจทย์สมานฉันท์ เรามักจะนึกไปว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้อาจเป็นเรื่องของการแก่งแย่งผลประโยชน์ อาจจะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่า ‘กุญแจ’ หรือสาเหตุหลักสำคัญที่สุดของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือการไม่ยอมรับพหุนิยม หรือการไม่ยอมรับความแตกต่างที่มีอยู่ ถ้าเราเปลี่ยนท่าทีเช่นนี้ ถ้ารัฐและประชาชนคนไทยอีก 73 จังหวัดยอมรับและเคารพความหลากหลายและความแตกต่าง ผมคิดว่าปัญหาจะหมดไปครึ่งหนึ่ง ความไว้วางใจจะได้รับการฟื้นฟูกลับมา” โคทม กล่าว
ด้านช่างภาพมือสมัครเล่นที่ร่วมในโครงการ ต่างพร้อมใจกันเล่าถึงมุมมองผ่านคมเลนส์ของตนเอง...
แยน๊ะ สะแลแม หญิงหม้ายวัย 51 ปีจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หนึ่งในอาสาสมัครที่ถ่ายภาพเด็กนักเรียนในโรงเรียนตาดีกาและวิถีชีวิตชาวบ้านที่ตากใบ บอกว่า ต้องการนำเสนอให้เห็นสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ และการสื่อสารด้วยภาพทำให้นางก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษาที่ถนัดพูดมลายูถิ่นมากกว่าภาษาไทย
ด้วยความที่ “คนใน” หลายๆ คนมีปัญหากับการสื่อสารภาษาไทย งานที่สำคัญไม่แพ้การถ่ายภาพจึงหนีไม่พ้นการเขียนคำอธิบายภาพเป็นภาษาไทยเพื่อสื่อสารมุมมองของภาพถ่ายเพิ่มเติม ผู้ที่รับหน้าที่นี้คือ เลขา เกลี้ยงเกลา เครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่ ผู้สื่อข่าวหญิงแกร่งจากโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
งานของเลขา คือการเรียบเรียงคำบรรยายภาพจากคำบอกเล่าของช่างภาพสมัครเล่นแต่ละคน...
ขณะที่เยาวชนทั้งหญิงและชายจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครโครงการนี้ บอกว่า ภาพที่พวกเขาและเธอต้องการนำเสนอคือแง่มุมความสงบสุขในพื้นที่ เพื่อให้สังคมภายนอกได้เข้าใจว่าชุมชนที่นี่ไม่ได้ “น่ากลัว” ตามที่สื่อได้นำเสนอ แต่ยังมีเสน่ห์อีกมากมายทั้งในมิติของผู้คน วัฒนธรรม และสถานที่
สุรีรัตน์ โสภิณ เยาวชนไทยพุทธจาก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งสูญเสียบิดาไปในเหตุการณ์ความรุนแรง เข้าร่วมโครงการด้วยการนำเสนอภาพถ่ายที่เป็นมุมมองของความสุขและความหวัง โดยภาพที่เธอถ่ายเป็นภาพเด็กๆ มุสลิมทำกิจกรรมวันปีใหม่ร่วมกับเด็กๆ ชาวไทยพุทธในโรงเรียนวัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งการละเล่นต่างๆ และกิจกรรมการแสดงร่วมกัน
“อยากให้เห็นว่าในชุมชนไม่ได้มีการแบ่งแยกระหว่างไทยพุทธและมุสลิม เราทำกิจกรรมร่วมกันในวัดได้ เราทำกิจกรรมร่วมกันในมัสยิดได้ เราไม่ได้แบ่งแยก เราอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”
“ส่วนอีกภาพที่ถ่ายแม่ เพราะอยากให้คนเห็นผู้หญิงคนนี้ว่าเป็นอย่างไร แม่อาจจะเศร้าในระยะแรกๆ ที่ต้องสูญเสียพ่อไป แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องเลี้ยงดูลูก แม่จะเศร้าอยู่ไม่ได้ เพราะต้องเป็นผู้นำครอบครัวแทนพ่อ หนูกับแม่ก็เลยเป็นกำลังใจให้กัน เพื่อก้าวผ่านช่วงวันร้ายๆ ไปให้ได้” สุรีรัตน์ กล่าว
“เบื้องหลังชีวิต” ที่ชายแดนใต้ คือเรื่องราวของผู้คนที่ยังคงดำเนินต่อไป และยังฝันใฝ่ถึงสันติภาพและความสุขสงบร่มเย็น....
------------------------------------------------------------------------------------------------
*ปิยะศักดิ์ อู่ทรัพย์ เป็นหนึ่งในทีมงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือดีพเซาท์วอทช์ และเป็นอดีตผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวอิศรา
บรรยายภาพ :
1 กับ 3 บางส่วนของภาพในนิทรรศการภาพถ่าย "เบื้องหลังชีวิต"
2 อาจารย์สุรัตน์ โหราชัยกุล ขณะกล่าวเปิดงาน