‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีชีวิต’ แหล่งบ่มเพาะปัญญาพัฒนาชุมชน
การทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะภูมิปัญญาพัฒนาชุมชนของ พิพิธภัณฑ์บ้านแพรกและพิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาวทำให้ทั้งสองแห่งคงอยู่คู่กาลเวลาอย่างทรงคุณค่า ไม่กลายเป็นเพียงกรุเก็บของเก่า ไปชมใน....เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น“ภูมิรู้สู้วิกฤต” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
พิพิธภัณฑ์บ้านแพรก “สร้างพลังชุมชนเริ่มต้นที่การสืบสานวัฒนธรรม”
“งานแรกที่ผมทำคือการเก็บพวกเศษกระเบื้องเก่าที่เขาขุดได้ ออกไปพูดคุยกับคนเก่าคนแก่ และเดินสำรวจทั่วชุมชน เพราะถือว่าชุมชนคือตำราเล่มใหญ่ที่ผู้เรียนเรียนไม่รู้จบ โดยมีเด็กนักเรียนเป็นแนวร่วมทำงานสืบค้นเรื่องในท้องถิ่นให้เรา”
ครูประสาน เสถียรพันธุ์ อาจารย์โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการรวบรวมสิ่งของเพื่อก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บางแพรก อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เพราะความชอบสะสมของโบราณประกอบกับเห็นความสำคัญของอารยธรรมท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำลพบุรีที่มีความเก่าแก่ทางวัฒนธรรม ครูประสานจึงเริ่มสะสมวัตถุโบราณและสืบค้นเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านแพรกตั้งแต่ปี 2522 และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นในปี 2526 โดยใช้พื้นที่ของโรงเรียน และให้เด็กนักเรียนเป็นมัคคุเทศก์น้อยช่วยถ่ายทอดเรื่องราว
วันนี้หากจะ ถามว่าชาวบ้านแพรกมีที่มาที่ไปอย่างไร หรือ ที่นี่มีของดีอะไรตั้งแต่โบร่ำโบราณ พิพิธภัณฑ์บางแพรกคือศูนย์รวมคำตอบด้านประวัติศาสตร์ชุมชนรอบด้าน ทั้งเศษกระเบื้อง เครื่องปั้นดินเผา ตุ๊กตาโบราณนับพันชิ้นที่ขุดพบบริเวณชุมชนซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์ย้อนไปกว่า 700 ปี, ตำนานความรักของชาวบ้านแพรกซึ่งมีวัตถุโบราณเช่น คานหางหงส์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักของหนุ่มสาวที่ไม่สมหวัง, ตำนานลิเกหอมหวนชื่อดังซึ่งเป็นชาวบ้านแพรก , สมุดข่อยรวบรวมวรรณกรรม นิทานพื้นบ้านและบทกลอนท้องถิ่น, เรือไทยกว่า 80 ลำฯลฯ รวมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกว่าหมื่นชิ้นที่คนในชุมชนช่วยกันรวบรวมและสืบค้น
อย่างไรก็ดีพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงอาคารรวบรวมของเก่าที่ตั้งไว้ให้ภูมิใจเท่านั้น ทุกๆปี ที่พิพิธภัณฑ์จะจัดงาน ‘วันรักษ์บ้านแพรก’ ขึ้นโดยให้โรงเรียนต่างๆในอำเภอและชาวบ้านนำกิจกรรมที่เป็นภูมิปัญญาของคนบ้านแพรกมาแสดง เช่น การรำพัดสานและการประกวดทำอาหารคาวหวานขึ้นชื่อของท้องถิ่น นอกจากนี้ยังจัดเวทีเสวนาเรื่องภูมิปัญญาบ้านแพรกปีละ 2-3ครั้ง โดยมีชาวบ้านมาร่วมกันแบ่งปันเรื่องราววัฒนธรรมท้องถิ่นกันในชุมชน อย่างที่ครูประสานเรียกว่า “เอาของดีมาอวดกัน”
ครูประสานผู้ได้รับรางวัลนักอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นของกรมศิลปากรปี 2555 กล่าวว่า“การดึงเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบทอดอารยธรรมท้องถิ่นทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น การที่เรายังรักษาประเพณีแห่นางแมวของชุมชนไว้ ก็ได้มากกว่าการขอฝน เพราะลึกๆแล้วคือกุศโลบาย ที่ทำให้คนในชุมชนรู้รักสามัคคี รู้จักทำงานร่วมกัน ซึ่งพลังตรงนี้สามารถนำไปพัฒนาวัด พัฒนาโรงเรียนและชุมชนให้มีความเข้มแข็งไม่แตกแยกได้” ดังนั้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และรักษามรดกทางวัฒนธรรมชุมชนไว้จึงเป็นมากกว่าการอนุรักษ์ของเก่า แต่ยังเป็นการหลอมรวมชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อย่างที่ครูประสานบอกไว้ว่า “เพราะการรักษาวัฒนธรรม คือการรักษาชาติ”
พิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาว “พิพิธภัณฑ์มีชีวิตอนุรักษ์วิถีชุมชน”
อีกพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างของการดึงชุมชนร่วมพัฒนา โดยมีปูมหลังทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชนในอดีตที่ยังสืบทอดมาจนปัจจุบันเป็นองค์ความรู้สำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาว ต.หนองขาว จ.กาญจนบุรี
นางดารณี ยิ้มน้อย ชาวบ้านหนองขาว เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เล่าว่า พิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในวัดอินทาราม ก่อตั้งมากว่า 10 ปีโดยอดีตเจ้าอาวาส โดยรวบรวมวัตถุโบราณและข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี กระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผู้นำชาวบ้านหรือที่เรียกว่า’นักเลง’ ร่วมกับกลุ่มเสรีไทยและกลุ่ม’เสือ’ชื่อดังคอยปกป้องชาวบ้านต่อต้านทหารญี่ปุ่น โดยวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่จัดแสดงก็ยังคงพบเห็นได้ในวิถีชีวิตปัจจุบันของชาวหนองขาวกว่าพันครัวเรือนเป็นเหตุให้ชาวบ้านแทบทุกคนคือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่ “สามารถบอกเล่าเรื่องราวหนองขาวได้” หากมองในแง่เนื้อหาสาระแล้วพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงกว้างใหญ่ครอบคลุมทั้งตำบล
คนบ้านหนองขาววันนี้ยังรักษาภาษาพูดแบบสำเนียงท้องถิ่น และดำรงชีวิตเรียบง่ายอย่างในอดีต เช่น การตักบาตรในยามเช้า อาศัยบ้านเรือนไม้ คนสูงวัยนุ่งผ้าถุงใส่เสื้อคอกระเช้า การรวมกลุ่มทอ ‘ผ้าขาวม้าร้อยสี’ ทำสวนผักชี ทำนา ทำน้ำตาลโตนด การนับถือคนทรงเจ้า และบูชา ‘หม้อยาย’ (หม้อดินใส่หุ่นขี้ผึ้งปั้นซึ่งถือเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษแขวนไว้ในห้องนอน หากมีกิจกรรมใด มีเด็กเกิดใหม่หรือใครไปใครมาจะต้องจุดธูปบอกกล่าว เชื่อว่าช่วยคุ้มครองปกป้องคนในบ้าน) นอกจากนี้ชาวหนองขาวยังนับถือ ‘หมอภูมิปัญญา’ ที่รักษาคนด้วยมนต์วิชาและสมุนไพร เช่น หมอพ่นซาง รักษาพิษไข้ หมอกวาดคอ รักษาคออักเสบ
นางดารณีเล่าว่า เหตุที่บ้านหนองขาวยังรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะการมีพิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน โดยโรงเรียนซึ่งอยู่ในเขตวัดจะพาเด็กนักเรียนมาทำกิจกรรมและศึกษาเรื่องราวของชุมชนเสมอ ขณะที่ชาวบ้านเมื่อมาวัดก็มักจะแวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และรวมตัวกันจัดกิจกรรมและประเพณีสำคัญของตำบล นอกจากนี้ยังมี‘ครูภูมิปัญญา’ คือชาวชุมชนที่มีความรู้คอยถ่ายทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของบ้านหนองขาวให้แก่นักเรียนในโรงเรียนตามหลักสูตรท้องถิ่น ทำให้เด็กรุ่นใหม่ทอผ้าและทำนาเป็นเช่นคนรุ่นก่อน
อัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นที่ยังคงสืบทอดมาได้ท่ามกลางความเจริญรายล้อม คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของบ้านหนองขาวที่นางดารณีในฐานะผู้ถ่ายทอดเรื่องราวชุมชนกล่าวอย่างภาคภูมิว่า “มีความสุขที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของบ้านเราให้คนอื่นฟัง เพราะความเป็นหนองขาวคือความภูมิใจของชุมชน และทุกปีไม่ว่าชาวหนองขาวจะอยู่ที่ไหน ก็จะต้องกลับมาร่วมประเพณีสำคัญด้วยกัน เช่น ประเพณีตั้งศาลเจ้าหรือการแห่เกวียน”
กล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์บ้านหนองขาว คือพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่องค์ความรู้ไม่ได้ตั้งอยู่เพียงในตัวอาคารแต่แทรกซึมในวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกคน เป็นเหตุให้ชาวหนองขาวในวันนี้มีความเข้มแข็ง และใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นจุดขายของชุมชนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากมาย จนได้รับรางวัล Thailand Tourism Awards ปี 2545 และ Ego Tourism Awards ปี 2547
...................
หาก พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เข้าไปมีบทบาทช่วยสร้างภูมิความรู้แก่คนในพื้นที่ด้วยการถ่ายทอดและสืบ สานมรดกทางวัฒนธรรม จะไม่กลายเป็นเพียงกรุของเก่าที่ถูกทิ้งร้างไม่เห็นคุณค่า เพราะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนชุมชนให้เข็มแข็งอย่างภาคภูมิ
ที่มาภาพ ::::
http://www.culture.go.th/culturemap/index.php?action=listdistrict&pid=13&did=13240&pnum=1
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/133189
http://www.edtguide.com/bigcampaignview/?typeid=823&cmsid=7528