หนึ่งปีไอร์ปาแย (2) สำรวจรอยร้าวชุมชนมุสลิมกับไทยพุทธบ้านป่าไผ่
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุการณ์คนร้ายบุกใช้อาวุธสงครามกราดยิงถึงในมัสยิดอัลฟุรกอน ที่บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 8 มิ.ย.2552 นั้น มีประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและสงสัยใคร่รู้ รวมทั้งมี ส.ส.หยิบยกไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรด้วย นั่นก็คือเหตุการณ์ร้ายในครั้งนั้นเป็นการแก้แค้นของชาวไทยพุทธจากหมู่บ้านใกล้เคียงกันหรือไม่
มูลเหตุแห่งความกังขาสืบเนื่องจากเมื่อเช้าวันที่ 8 มิ.ย.ก่อนเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดเพียงสิบกว่าชั่วโมง เพิ่งเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายช่วย นาดี อายุ 38 ปี ชาวไทยพุทธที่เข้าไปกรีดยางในท้องที่บ้านป่าไผ่ หมู่ 5 ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกัน จนนายช่วยเสียชีวิต และหลังก่อเหตุคนร้ายยังได้นำระเบิดแสวงเครื่องซุกไว้ใกล้ศพ เพื่อหวังสังหารเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจจุดเกิดเหตุด้วย
แม้จนถึงขณะนี้จะยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า เหตุการณ์กราดยิงในมัยิด เป็นการแก้แค้นจากเหตุการณ์ที่บ้านป่าไผ่หรือไม่ แต่ความรู้สึกของชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านย่อมมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ทั้งๆ ที่ในอดีตตั้งแต่สมัยปู่ยาตายาย ชาวบ้านของสองหมู่บ้านนี้ต่างไปมาหาสู่และพึ่งพาอาศัยกันอย่างดีตลอดมา
ในวาระ 1 ปีเหตุการณ์ร้ายที่บ้านไอร์ปาแย “ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่สำรวจความสัมพันธ์ของชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลาย
ผู้นำชุมชนบ้านป่าไผ่รายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ บอกเล่าถึงความสัมพันธ์เมื่อครั้งอดีตของชุมชนทั้งสองแห่งว่า สมัยก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่ ชาวไทยพุทธที่หมู่บ้านป่าไผ่กับชาวไทยมุสลิมที่บ้านไอร์ปาแยล้วนเป็นเพื่อนกัน ไปมาหาสู่กันตามประสาบ้านใกล้เรือนเคียง มีการค้าขายกัน และเมื่อมีงานรื่นเริงของแต่ละหมู่บ้าน โดยเฉพาะงานแต่งงาน ก็จะไปเชิญเพื่อนจากอีกหมู่บ้านมาร่วมงานกันอย่างครึกครื้น
ทว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 มีเหตุร้ายเกิดขึ้นหลายครั้งในท้องที่บ้านป่าไผ่ มีชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิตหลายราย ทำให้เกิดความกลัวและหวาดระแวง
“ก็เป็นธรรมดาที่ทุกคนจะต้องกลัว สุดท้ายก็ไม่กล้าไปมาหาสู่กันเหมือนในอดีต ไม่ใช่ว่ากลัวกันเองนะ แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านล้วนถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง”
ผู้นำชุมชนบ้านป่าไผ่ เล่าต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสับสน ชาวบ้านไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงทำให้การไปมาหาสู่กันระหว่างสองชุมชนยุติลง ความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิมเริ่มห่างหาย
“แม้คนในบ้านบ้านไผ่จะเสียชีวิตหลายราย แต่เราก็ไม่เคยโทษใคร เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าคนที่ก่อเหตุเป็นใคร แต่ที่แน่ๆ เรารู้ว่าคนที่ทำต้องการสร้างความแตกแยกให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิมที่เคยดีๆ กันนั่นแหละ”
กระทั่งเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งมีความสูญเสียทั้งชาวบ้านป่าไผ่และชาวบ้านไอร์ปาแย ยิ่งทำให้ความรู้สึกของคนจากสองหมู่บ้านย่ำแย่มากขึ้นไปอีก และหลายฝ่ายก็เป็นห่วงว่าชาวบ้านจะขัดแย้งกันเอง
“ทุกคนเป็นห่วงว่าทั้งสองหมู่บ้านจะทะเลาะกัน จึงได้ให้ผู้นำชุมชนของทั้งสองฝ่ายได้นัดพบและพูดคุยกัน โดยมีท่านรองผู้ว่าฯนราธิวาสเป็นคนประสาน เราก็คุยกันอย่างเปิดอกในทุกๆ เรื่อง พูดถึงความสัมพันธ์อันดีที่พวกเราทั้งสองชุมชนเคยมีมาตั้งแต่สมัยอดีต สุดท้ายเราก็เข้าใจกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ได้ติดใจสงสัยกันเอง เพียงแต่เราไม่ได้พูดคุยกันบ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน”
“สิ่งหนึ่งที่ผู้นำทั้งสองชุมชนคิดเหมือนกันก็คือ เราไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของอีกชุมชนหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นการกระทำของใคร แต่ที่แน่ๆ คือคนที่กระทำต้องการให้เราแตกแยกกันแน่นอน ฉะนั้นเมื่อได้คุยกันแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็นำข้อมูลไปบอกกับสมาชิกในชุมชนของตนเองเพื่อสร้างความเข้าใจ” ผู้นำชุมชนบ้านป่าไผ่ กล่าว
ส่วนการทุ่มงบเยียวยาจำนวนมหาศาลลงไปในพื้นที่บ้านไอร์ปาแยหลังเกิดเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดนั้น ผู้นำชุมชนบ้านป่าไผ่ บอกว่า ไม่เคยรู้สึกน้อยใจเหมือนกับที่หลายฝ่ายกังวลและเป็นห่วง
“ในส่วนของบ้านป่าไผ่เองก็มีหน่วยราชการในพื้นที่เข้ามาดูแลเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือหน่วยงานอื่นๆ โดยได้จัดโครงการพัฒนาเข้ามาในหมู่บ้าน ภาพรวมก็ไม่ได้แตกต่างจากบ้านไอร์ปาแย บอกได้เลยว่าหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญเท่าเทียมกัน”
“เรื่องราวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นของสองหมู่บ้านได้ผ่านไปแล้ว ทุกคนหวังว่า ความสัมพันธ์อันดีของาวบ้านสองชุมชนจะกลับมาเหมือนเดิม เหมือนรุ่นปู่ย่าตายายที่อยู่ร่วมกันมาอย่างสันติสุข” ผู้นำชุมชนบ้านป่าไผ่ กล่าว
ขณะที่ นายสมาน ปะเงาะห์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านไอร์ปาแย ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิด เล่าว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ มีการพูดกันถึงความขัดแย้งของชาวบ้านไอร์ปาแยกับบ้านป่าไผ่ จนผู้ใหญ่จากทางจังหวัดต้องนัดให้ผู้นำชุมชนทั้งสองชุมชนมาพูดคุยทำความเข้าใจกันด้วยความเป็นห่วง
“จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่มีอะไร เป็นแค่ความสงสัยกันเองของคนภายนอกที่ได้รับรู้ข่าวสาร เพราะเราเองไม่เคยคิดหรือสงสัยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของชาวบ้านป่าไผ่ และไม่เคยไปโทษว่าเป็นฝีมือของใคร เนื่องจากเราไม่รู้จริงๆ ว่าใครทำ”
ผู้ใหญ่ฯสมาน กล่าวต่อว่า สมัยก่อนทั้งสองหมู่บ้านไปมาหาสู่กันดี แต่เมื่อเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น การไปมาหาสู่กันก็ต้องหยุดชะงักไปตามธรรมดา เพราะชาวบ้านทั้งบ้านไอร์ปาแยและบ้านป่าไผ่ก็หวาดกลัวกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น
“หลังจากได้พูดคุยทำความเข้าใจกันแล้ว ผมก็ได้นำไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านฟังเพื่อสร้างเข้าใจให้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องหวาดระแวงกันเอง เพราะต้องยอมรับว่าด้วยสถานการณ์ความรุนแรงทำให้ชาวบ้านไม่ได้คุยกันเลย ซึ่งทุกคนก็เข้าใจดี และปัจจุบันความสัมพันธ์อันดีก็เริ่มกลับมา”
“อย่างในวันนี้พ่อตาของผมก็เข้าไปกรีดยางให้เจ้าของสวนยางที่เป็นชาวบ้านป่าไผ่ เพราะสวนยางของเขาอยู่ในเขตบ้านไอร์ปาแย จริงๆ แล้วชาวบ้านหลายคนของทั้งสองหมู่บ้านก็มีสวนยางอยู่ในพื้นที่รอยต่อของกันและกัน และก็มีหลายรายที่ช่วยเหลือกันแบบนี้เป็นปกติ” ผู้ใหญ่ฯสมาน กล่าว
เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นภาพอันสวยงามของมิตรภาพบนความแตกต่างหลากหลายที่ไม่ควรให้ “ผู้ประสงค์ร้าย” คนใดมาตอกลิ่มและบั่นทอน...
---------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายริมถนนบอกผู้สัญจรว่ากำลังเข้าเขตบ้านไอร์ปาแย
อ่านประกอบ : หนึ่งปีไอร์ปาแย (1) เรื่องร้ายๆ ที่ชาวบ้านอยากจะลืม