กษ.อนุมัติโครงการพัฒนาพืชวังน้ำเขียว-เพิ่มขีดความสามารถผลิตพืชเมืองหนาว
บอร์ดกองทุน FTA เห็นชอบโครงการพัฒนาคุณภาพพืชผักวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา วงเงิน 12 ล้านบ. หวังเพิ่มประสิทธิภาพปลูกพืชเมืองหนาวสู้จีน มอบ TDRI ทำวิจัยประเมินกองทุนฯ
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือกองทุน FTA ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพพืชผักวัง น้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชผักเมืองหนาวของเกษตรกร อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ให้สามารถแข่งขันกับผักที่นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่นๆได้ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตรกรให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการผลิตและ การตลาด ตลอดจนสร้างรูปแบบการปลูกผักไร้สารและผักอินทรีย์ ซึ่งเป็นการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้แรงงานในครัวเรือน และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ซึ่งพืชผักเมืองหนาวที่เกษตรกรจะวางแผนการปลูกกับผู้รับซื้อในระบบ Contract Farming มีหลายชนิด อาทิ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคลอรัล บัตเตอร์เฮด ผักคอส ผักกาดแก้ว หรือผักอื่นๆ ที่ตลาดต้องการ โดยมีสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว เป็นผู้ดำเนินการ ใช้งบประมาณที่ขอการสนับสนุนจากกองทุนฯ รวมทั้งสิ้น 12.514 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจ่ายขาด 7.394 ล้านบาท และเงินยืมปลอดดอกเบี้ยชำระคืนภายในระยะเวลา 5 ปี จำนวน 5.12 ล้านบาท
โดยโครงการนี้จะทำให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 103 ราย มีอาชีพการปลูกพืชผักเมืองหนาวที่ยั่งยืน สามารถแข่งขันกับพืชผักเมืองหนาวที่นำเข้าได้ โดยคาดหวังถึงการส่งออกขายยังต่างประเทศได้ในอนาคต ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้จากการขายผลผลิตทั้งปีประมาณ 40,000-50,000 บาท
นายยุคล กล่าวต่อว่า สำหรับสถานะการเงินของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ได้รับการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2556 รวมเป็นเงิน 698 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2549-พฤศจิกายน 2555 ได้อนุมัติเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้กองทุนฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 597 ล้านบาท แยกเป็นเงินยืมปลอดดอกเบี้ย 180.422 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 416.680 ล้านบาท โดยมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จและสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานแล้ว อาทิ โครงการปรับโครงสร้างสินค้าชา ที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นทั้งชาอัสสัมและชาจีน ส่วนโครงการอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิดและรายงานความคืบหน้าต่อกองทุนฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นถึงสภาพปัจจุบัน ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายและระยะเวลาที่กำหนด สำหรับปี 2556 มีผู้ยื่นเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุน จำนวน 5 โครงการ แบ่งออกเป็นด้านปศุสัตว์ ได้แก่ การจัดสร้างโรงฆ่ามาตรฐานและศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับโคเนื้อธรรมชาติ การเพิ่มมูลค่าโคขุนเกรดคุณภาพ การแปรรูปโคเนื้อฮาลาล ส่วนโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพในกลุ่มพืช ได้แก่ พริกไทยและมะพร้าว ซึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการเสนอขอรับเงินสนับสนุนกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร จะพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
ทั้งนี้คณะกรรมการกองทุน FTA ได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการวิจัยประเมินผลการบริหารงานของกองทุนฯในภาพรวม เช่น หลักเกณฑ์ของกองทุน จุดแข็ง จุดอ่อนของการดำเนินงานด้านต่างๆด้วย โดยผลการวิจัยจะเสร็จสิ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อศึกษาและนำมากำหนดทิศทางการบริหารงานของกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://market.onlineoops.com/541068