แลกคนละหมัด!เมีย“ชัจจ์”เล่านาที“สมยศ”พาตำรวจ 30 คนบุกยึด“เวิลด์แก๊ส”
แลกคนละหมัด เปิดหนังสือเมีย“ชัจจ์”ร้อง รก.ผบ.ตร.อ้าง“สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง”พาตำรวจ 30 คนบุกยึดหุ้น บ.เวิลด์แก๊ส 2 ครั้ง เรียกสามีเจรจาหลายหน ก่อนฝ่ายหลังร้องป.ป.ช.
ก่อนที่ นางวิมลรัตน์ กุลดิลก จะยื่นฟ้อง นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ปัจจุบัน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.) กับพวกรวม 10 คนเป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นมูลค่า 101,996,000 บาท (คดีหมายเลขดำที่ 830/2553)
(อ่านประกอบ ผ่าปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น 101 ล้าน “ชัจจ์-สุริยา-สมยศ” เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด? http://www.isranews.org/investigate/item/18016-ชัจจ์-สุริยา-สมยศ.html)
และก่อนที่ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ยื่นเรื่องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ให้ตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ตอนรับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปี 2551 ว่าจงใจปกปิดบัญชีฯหรือไม่ กรณีไม่แจ้งว่ามีเงินกู้ให้ยืมแก่นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน จำนวน 232 ล้านบาท
(อ่านประกอบ “สมยศ”ซัด“ชัจจ์”ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้ 232 ล้าน ชงประธาน ป.ป.ช.สอบแจ้งเท็จ? http://www.isranews.org/investigate/item/18059-“สมยศ”ซัด“ชัจจ์”ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้-232-ล้าน-ชงประธาน-ป-ป-ช-สอบแจ้งเท็จ.html)
ความขัดแย้งปรากฏอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2552 เมื่อนางวิมลรัตน์ กุลดิลก ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญานายธรรมนูญ ทองลือ กับพวก ต่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2552
ทั้งนี้ นายธรรมนูญ ทองลือ คือตัวแทนของนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน และเป็นคนที่โอนหุ้น บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด มูลค่า 101.9 ล้านบาทมาให้ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และถูกนางวิมลรัตน์ฟ้องเป็นจำเลยที่ (คดีหมายเลขดำที่ 830/2553)
แม้ว่านางวิมลรัตน์ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษนายธรรมนูญ ทองลือ แต่ทว่าเนื้อหาของหนังสือฉบับดังกล่าวได้พาดพิง พล.ต.ท.สมยศ เป็นหลัก เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนได้ดังนี้
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้นำตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลประเวศ และตำรวจจากกองปราบปรามประมาณ 30-40 นาย เข้าไปที่บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่ง และผู้ติดตามอีกสองคนเข้าไปในห้องประชุมคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งในขณะนั้นมีการประชุมคณะกรรมการของบริษัทอื่นอยู่ คือ บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด เพื่อให้กรรมการที่เข้าประชุมเลือกกรรมการใหม่เข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการ จากการที่กรรมการเก่าได้ลาออก
โดยในวันดังกล่าวในที่ประชุมกรรมการ กรรมการท่านหนึ่งโดยนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ ซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุมได้เสนอชื่อนายพิศาล พุ่มพันธ์ม่วง เข้ามาเป็นกรรมการใหม่ของบริษัท นายโดนัล เนียน แม็คเบน จำต้องลงมติตามที่ประธานที่ประชุมเสนอมา และได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน โดยโอนหุ้นที่ถูกอายัดโดย ก.ล.ต.ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดคือ นายธรรมนูญ ทองลือ เป็น พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ลงนามโดยกรรมการของบริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด คือนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ และนายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัท
ในขณะที่นายธรรมนูญ ทองลือ ถือครองหุ้น และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเป็น พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้ถือหุ้น และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทในปัจจุบันที่มีการโอนหุ้นบางส่วนจาก พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นบุคคลภายนอก โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย โดยเฉพาะนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ เป็นผู้ถูกกล่าวหาและถูกคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นคำสั่งเดียวกันพร้อมกับนายธรรมนูญ ทองลือ แต่ก็ยังบังอาจลงนามทั้งที่รู้ว่าหุ้นเป็นทรัพย์สินที่ถูกอายัดอยู่ นำความไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนผู้ถือหุ้นดังกล่าว
หนังสือร้องทุกข์ระบุอีกว่า และเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้นำตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลประเวศจำนวนกว่า 10 นายเข้าไปในบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อจะยึดการบริหารของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ข้าพเจ้าทราบเรื่องจึงแจ้งให้สามีของข้าพเจ้าคือ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ให้ทราบ และ พล.ต.ท.ชัจจ์ได้เข้าไปเจรจากับ พล.ต.ท.สมยศ ที่บริษัทฯ ซึ่งต่อมาได้มีการดำเนินการทางศาล โดยนายโดนัล เอียน แม็คเบน ฟ้องร้องในคดีละเมิด และร้องขอไต่สวนฉุกเฉินต่อศาลเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว โดยศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวบางส่วนเหตุการณ์จึงได้ยุติไปพักหนึ่ง
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาสามฝ่ายระหว่าง พล.ต.ท.ชัจจ์ สามีซึ่งเป็นตัวแทนของข้าพเจ้า พล.ต.ท.สมยศ และนายโดนัล เอียน แม็คเบน แต่ก็ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ซึ่งนายโดนัล เอียน แม็คเบน ก็ได้ใช้สิทธิดำเนินการทางศาลอีกหลายกรณี ในส่วนเรื่องการฟ้องร้องขอให้เพิกถอนมติการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด
และฟ้องร้องขอให้เพิกถอนมติการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด เพราะมีผู้ถือหุ้นที่เขาประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมายและลงมติโดยในครั้งล่าสุด วันที่ 2 ธันวาคม 2552 ได้มีตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลประเวศพร้อมกรรมการชุดใหม่รวม 4 ท่านซึ่งมาจากการประชุมผู้ถือหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นไม่ชอบด้วยกฎหมายดำเนินการจัดการประชุมซึ่งมี พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และได้ดำเนินการนำความไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด
อันทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการชุดเดิมเป็นชุดใหม่ตามจุดมุ่งหมายที่จะยึดบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (โดยกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทฯคือหม่อมหลวงชัยภัทร ชยางกูร ได้ดำเนินการฟ้องร้องเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทางสำนักงานทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กลับรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงในขณะที่ขั้นตอนการฟ้องเพิกถอนอยู่ระหว่างไต่สวนของศาล)
และกรรมการชุดใหม่ได้ดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการพร้อมทั้งมีมติประกาศแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นประธานที่ปรึกษาบริษัท และมีมติพร้อมประกาศไล่กรรมการชุดเก่าซึ่งมีตำแหน่งบริหารและผู้บริหารของบริษัทออกทั้งหมด รวมทั้งมีคำสั่งไม่ให้ผู้บริหารชุดเดิมเข้าไปภายในบริษัทฯ
หนังสือระบุอีกว่า
“ตามที่ข้าพเจ้าได้เรียนชี้แจงต่อท่านจเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาแล้วในข้างต้น ข้าพเจ้าเชื่อโดยสุจริตว่าหุ้นของบริษัทแอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด ในจำนวนดังกล่าวที่ข้าพเจ้าได้รับโอนมาและถือครองมาโดยถูกต้อตามกฎหมาย และปัจจุบันเป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงมาก บัดนี้ได้มีการทุจริตโดยมิชอบ ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโดยโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวไปยัง พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งมีนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ และนายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้ลงนามในเอกสาร เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้รับความเสียหาย ข้าพเจ้าจึงต้องมาร้องทุกข์ให้เจาพนักงานตำรวจดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำทุจริตในกรณีนี้ให้ถึงที่สุด”
ในตอนท้ายหนังสือฉบับดังกล่าวอ้างว่า เนื่องจาก พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่งระดับสูงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและให้ความจริงปรากฏ
“ข้าพเจ้าจึงขอความกรุณาจากท่านขอให้ท่านมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจที่มีตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเกี่ยวข้องในการกระทำในกรณีนี้ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ต่อไป”
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและมีคำสั่งให้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเป็นการด่วน
อย่างไรก็ตามหลังนางวิมลรัตน์ร้องทุกข์กล่าวโทษวันที่ 28 ธ.ค.2552
วันที่ 30 ธ.ค.2552 พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ สั่งให้ ผบช.กมค. ทำความเห็นเสนอด่วน
วันที่ 4 ม.ค.2553 พล.ต.ท.เจตน์ มงคลหัตถี สั่งให้ผู้บังคับการกองคดีพิจารณามีความเห็นเสนอด่วน
หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหาย กระทั่งนางวิมลรัตน์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง นายสุริยากับพวก เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 ซึ่งมี พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นจำเลยที่ 3 กระทั่งพล.ต.ท.สมยศก็ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.ท.ชัจจ์
และนายถาวร เสนเนียม ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้หยิบมากรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.ท.ชัจจ์ เมื่อหลายเดือนพฤศจิกายน 2555