จุฬาราชมนตรีคนใหม่ที่ “ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู” กับภารกิจดับไฟใต้
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“อาศิส เกิดเมื่อ พ.ศ.2490 ที่ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา จบการศึกษาสายศาสนาจากสถาบันปอเนาะใน อ.จะนะ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี เขาไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู แต่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้มาหลายครั้ง...”
ข้อความข้างต้นนี้คือประวัติของจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทยที่เผยแพร่ในสื่อแทบทุกชนิดทั้งสิ่งตีพิมพ์ เว็บไซต์ วิทยุและโทรทัศน์ ภายหลังผลโหวตการสรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่แทน นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ที่ได้กลับไปสู่พระเจ้ารอฮีมมะฮุลลอฮ์ (ถึงแก่อนิจกรรม) เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่คือ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ซึ่งในประวัติบอกว่า “เขาไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู”
น่าแปลกที่ประโยคที่ว่า นายอาศิส จุฬาราชมนตรีคนใหม่ “ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู” ถูกเผยแพร่ออกไป เพราะในศาสนาอิสลามเชื้อสายและวงศ์ตระกูลไม่ใช่สาระสำคัญเลยแม้แต่น้อย ในพระมหาคัมภีร์กุรอานกลับมีนัยแห่งคำสั่งห้ามไม่ให้หยิบยกเชื้อสายและวงศ์ตระกูลมาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแท้ที่จริงศาสนาอิสลามยกย่องผู้ที่มีความเคารพภักดีต่อเอกองค์อัลลอฮ์ (ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) เป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเท่านั้น
แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง ประวัติที่บ่งบอกถึงเชื้อสายของท่านจุฬาราชมนตรีคนใหม่ คงมีนัยยะบางประการ นั่นคือความต้องการที่จะเห็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่มีบทบาทในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาซึ่งขณะนี้ย่างเข้าปีที่ 7 แล้ว คนไทยทั้งประเทศจึงต่างคาดหวังบทบาทดังกล่าวจากผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของประเทศคนใหม่ ด้วยเหตุนี้เชื้อสายของท่านที่ไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู ซึ่งแตกต่างจากพี่น้องใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายมลายู จึงไม่ควรเป็นอุปสรรคในการช่วยแก้ปัญหานี้ จึงมีการขยายความเพิ่มเติมว่า แม้ว่า “เขาไม่ใช่ชาวไทยเชื้อสายมลายู แต่ก็มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้มาหลายครั้ง...”
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เคยเป็นหนึ่งใน กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในช่วงที่เป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ท่านก็ได้รับเลือกเป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาของ สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี นายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานกรรมการอิสลามจังหวัดยะลาเป็นประธาน และจังหวัดยะลานี่เองที่เป็นผู้เสนอชื่อนายอาศิสเข้าสู่กระบวนการคัดสรรจุฬาราชมนตรีคนใหม่ 1 ใน 9 ชื่อที่ได้รับการรับรองจากกรรมการอิสลามฯ ทั่วประเทศอย่างน้อย 20 คน ซึ่งปรากฏว่าท่านเป็น 1 ใน 3 คนที่จับฉลากได้ และเป็นผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากกรรมการอิสลามทั่วประเทศ 423 เสียง
นอกจากนี้ นายอาศิสยังถูกระบุว่าเป็นผู้ที่มีความสนิทแนบแน่นกับพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย ซึ่งมีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้เขาต้องเข้าไปรับผิดชอบในฐานะผู้นำศาสนาประจำจังหวัดอีกด้วย
ความเป็นมาจุฬาราชมนตรีในสยามประเทศ
ในอดีตนั้น ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งหัวหน้าของอิสลามิกชนและเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
เข้าใจกันว่า ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีซึ่งเดิมเรียกว่า “พระยาจุฬาราชมนตรี” คนแรกเป็นของ ท่านเชคอาหมัด กุมมี พ่อค้าชาวเปอร์เซียที่เข้ารับราชการในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พระศรีสรรเพ็ชญ์ที่ 1 พ.ศ.2112-พ.ศ.2133)
ความจริงตำแหน่งนี้ปรากฏใน “ทำเนียบศักดินา” ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-พ.ศ.2031) หรือประมาณ 150 ปีก่อนรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชามาก่อนแล้ว โดยใน “ทำเนียบศักดินา” บางแห่งสะกดว่า “จุฬาราชมนตรี” และบางแห่งว่า “จุลาราชมนตรี” กรมท่าขวา เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก หากแต่ในครั้งนั้นผู้ที่รั้งตำแหน่งนี้ไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามหรือตัวตนว่าเป็นใคร
ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.2148 – พ.ศ.2163) ทราบว่ามีตัวตนปรากฏอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าในสมัยนั้นได้มีชาวต่างชาติซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเข้ามาค้าขายและตั้งหลักแหล่งรวมทั้งเข้ารับราชการในสมเด็จพระเจ้าหัวแห่งกรุงสยามมาช้านาน โดยเฉพาะชาวมลายู จาม และชวา จึงมีผู้สันนิษฐานว่าผู้ที่น่าจะรั้งตำแหน่งว่าที่จุฬาราชมนตรีคนแรกๆ ในแผ่นดินสยามเป็นแขกมลายูมากกว่าชาติอื่นใด
ใน “ทำเนียบศักดินา” ดังกล่าวถือว่าจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งขุนนาง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “กรมท่าขวา” มี “พระจุฬาราชมนตรี” เป็นหัวหน้าฝ่ายแขก คู่กับ “หลวงโชฎึกราชเศรษฐี” หัวหน้าฝ่ายจีน
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2163-2171 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท่าน เฉกอะหะหมัด มุสลิมนิกายชีอะห์ชาวเปอร์เซียเข้ารับราชการ มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาเฉกอะหะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ทำหน้าที่เป็นทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ควบคุมเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ การรับแขกเมือง เก็บภาษีอากร สินค้าขาเข้า สินค้าขาออก การเดินเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงให้ท่านควบคุมดูแลกิจการทางด้านศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมทั้งหลายในราชอาณาจักร พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่านเป็น “พระยาจุฬาราชมนตรี” เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่มีตัวตนแน่นอน จึงเชื่อตามๆ กันมาว่า ท่านเฉกอะหะหมัด เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของสยามประเทศ โดยเชื้อสายของท่านรวมทั้งท่านเองดำรงตำแหน่ง “พระยาจุฬาราชมนตรี” สืบเนื่องกันมารวมทั้งหมด 13 คน ทั้งหมดมีเชื้อสายเปอร์เซียและนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์
ภารกิจของจุฬาราชมนตรีสมัยต่างๆ
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 นายแช่ม พรหมยงค์ สมาชิก “คณะราษฎร” ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระยาจุฬาราชมนตรี” คนที่ 14 ในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นคนแรกที่เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูจากนิกายสุหนี่ ท่านผู้นี้ถือว่าเป็นจุฬาราชมนตรีตาม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2454 ซึ่งกำหนดให้ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ปรึกษาราชการขององค์พระมหากษัตริย์ในด้านกิจการศาสนาอิสลาม ไม่มีตำแหน่งอื่นใดควบอีกไม่ว่าทางพลเรือนหรือทางทหารเหมือนในสมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์
ในสมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์นั้น ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจะแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และสืบเชื้อสายอยู่ในวงศ์ตระกูลกันเองซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอาหมัด) มุสลิมนิกายชีอะห์ชาวเปอร์เซีย โดยทุกคนยังมีตำแหน่งทางราชการอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะตำแหน่งทางพลเรือน เช่น ตำแหน่งหลวงราชเศรษฐี พระราชเศรษฐี หรือพระยาราชเศรษฐี (เทียบเท่ามลายูคือตำแหน่ง “โอรังกายา ดิรายา” / orangkaya diraja) ควบคู่มาตลอด หรือมักมีตำแหน่งทางทหารหรือเคยเป็นทหารมาก่อนด้วย
ตัวอย่างเช่น ท่านมุฮัมมัดมะอ์ซูม (ก้อนแก้ว) จุฬาราชมนตรีคนที่ 5 (คนที่ 1 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์) ท่านเคยออกรบในฐานะแม่ทัพในสมัยกรุงธนบุรี ส่วนท่านมูฮัมมัดการีม (เถื่อน) จุฬาราชมนตรีคนที่ 7 ในสมัยที่ท่านรับราชการมีตำแหน่งเป็น “พระศรีเนาวรัตน์” ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นได้ไปราชการทัพตีเมืองเชียงใหม่และเชียงแสน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านก็ได้ไปราชการตีเมืองถลางและไทรบุรีซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้อีก
เกร็ดที่น่าสนใจของจุฬาราชมนตรีมูฮัมมัดการีม (เถื่อน) คือในวัยเยาว์ราวอายุ 13-14 ขวบ ท่านหนีพม่าไปบวชเป็นเณร ได้ศึกษาเวทมนตร์คาถามากมาย แต่ก็ถูกจับตัวเป็นเชลยไปอยู่พม่า จนกระทั่งหนีรอดกลับมาได้ทางด่านแม่สอดเมื่ออายุได้ 19 ท่านบิดาซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีอยู่ในขณะนั้น คือ ท่านมุฮัมมัดมะอ์ซูม (ก้อนแก้ว) จึงให้ไปเรียนศาสนาอิสลามเสียใหม่ ทำให้มีความรู้ในศาสนาอิสลามมากมาย และเป็นผู้แต่งตำรับตาราทางศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์จำนวนมากเผยแพร่ในเวลานั้น
จุฬาราชมนตรีกับภารกิจดับไฟใต้ในอดีต
หัวเมืองปักษ์ใต้ซึ่งปรากฏว่าหัวเมืองมลายูไม่ว่าจะเป็นปัตตานี ไทรบุรี (เคดะห์) ปะลิศ (เปอร์ลิส) กลันตัน หรือตรังกานู ล้วนแต่มีปัญหากับศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่น้อยกว่า 200 ปี จุฬาราชมนตรีในอดีตซึ่งมักมีตำแหน่งทางการเมืองการปกครองนอกเหนือจากตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรีเท่านั้น จึงต้องรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้มีส่วนร่วมในการเข้าแก้ปัญหาของหัวเมืองมลายูเหล่านั้นอยู่เนืองๆ
ยกตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านเถื่อน หรือ ท่านมูฮัมมัดการีม (บางแห่งว่าชื่อ มุฮัมมัดกาซิม) ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “หลวงภักดีสุนทร” ได้รับราชการให้ไปตีหัวเมืองถลางและไทรบุรี (เคดะห์) เพื่อแก้ปัญหาการแข็งเมือง เมื่อเสร็จศึกเมืองไทรบุรีท่านมูฮัมมัดการีมก็ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็น “พระยาวรเชษฐ์ภักดีศรีวรข่าน” ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "พระยาจุฬาราชมนตรี" คนที่ 7 หรือคนที่ 3 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ท่านมิรซา มูฮัมมัดตะกี หรือ “ท่านนาม” บุตรของจุฬาราชมนตรีมูฮัมมัดการีม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ท่านได้มีส่วนในการปราบปรามการจลาจลในภาคใต้ เข้าใจว่าเหตุเกิดมาจากความไม่พอใจที่หัวเมืองปัตตานีถูกแยกเป็นเจ็ดหัวเมืองแขก ท่านยังเป็นผู้วางระเบียบการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ นอกจากนี้ท่านยังได้เป็นข้าหลวงตรวจการภาคใต้อยู่หลายเดือนจนเหตุการณ์เป็นปกติ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นพระจุฬาราชมนตรีคนที่ 9 หรือคนที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงแต่งตั้ง “ท่านสัน” หรือ ท่านมิรซา อาลีระชา บุตรพระยาจุฬาราชมนตรีกุลาฮูเซ็น (สิน) เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีคนที่ 11 ท่านได้รับพระราชทานนามสกุล "อะหมัดจุฬา" บางครั้งจึงมีเรียกท่านท่านว่า “ท่านสัน อะหมัดจุฬา” ท่านจุฬาราชมนตรีท่านนี้เป็นที่ปรึกษาในทางศาสนาอิสลามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงสนพระทัยศึกษาศาสนาทุกศาสนา เชื่อกันว่าพระบรมราโชบาย (บางแห่งเรียกรัฐประศาสโนบาย) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับมณฑลปัตตานี ซึ่งตราเมื่อ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 อันถือได้ว่าเป็นพระราชกุศโลบายในการปกครองหัวเมืองมลายูทางปักษ์ใต้ที่ก้าวหน้าในแนวสันติวิธี ประกอบด้วยสาระสำคัญยิ่งนั้น มีท่านจุฬาราชมนตรีท่านนี้เป็นผู้คอยถวายคำแนะนำอย่างใกล้ชิด แม้ว่าท่านจะถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ.2466 ก่อนที่พระบรมราโชบายฉบับดังกล่าวจะออกประมาณ 2 เดือนเศษก็ตาม
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นายแช่ม พรหมยงค์ (หะยีซัมซุดดีน บิน มุสตาฟา) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น “พระยาจุฬาราชมนตรี” คนที่ 14 และเป็นคนที่ 10 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สังกัดกรมโษณาการมาก่อน ซึ่งนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด เมื่อได้เป็นจุฬาราชมนตรีบทบาทของท่านในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะท่านเองถือว่าเป็นผู้ติดตามใกล้ชิด ท่านปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 (24 มี.ค.2489 – 21 ส.ค.2489) ทั้งสองท่านเคยเดินทางไปพบ ต่วนหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ถึงบ้านของท่านถึงปัตตานี จนนำไปสู่ข้อตกลงบางอย่างที่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลานั้นเอง
จุฬาราชมนตรีคนที่ 15 คือ ท่านโต๊ะครูต่วน สุวรรณศาสตร์ (อิสมาแอล ยะห์ยาวี) ท่านจุฬาราชมนตรีท่านนี้เป็นผู้ริเริ่มในการแปลคัมภีร์กุรอานเป็นภาษาไทย โดยได้แจกจ่ายไปทุกมัสยิดทั่วประเทศ ทำให้ชาวมุสลิมในประเทศไทยมีความเข้าอกเข้าใจศาสนาอิสลามที่ตนนับถือมากขึ้น นับเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคมมุสลิมโดยส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายู หรือพี่น้องมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ ที่มีอีกจำนวนไม่น้อยกว่ากันในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ
การที่ท่านได้ยอมยกลูกสาวของท่านคือ คุณหญิงสมร ภูมิณรงค์ แก่หนุ่มชาวจังหวัดยะลาคือ นายอดุลย์ ภูมิณรงค์ ส.ส.จังหวัดยะลาในสมัยนั้น แสดงว่าท่านเองคงต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งกับพี่น้องมุสลิมชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน
ท่านจุฬาราชมนตรีคนต่อมาคือ นายประเสริฐ มะหะหมัด (อะหมัด บินมะหะหมัด) ได้รับการคัดเลือกจากบรรดาประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดซึ่งมาประชุมที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 16 แล้ว ท่านมีบทบาทที่โดดเด่นในการแก้ปัญหาของชาวมุสลิมโดยส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นผู้ที่ออกประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรีเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของราชการต่อชาวมุสลิม ซึ่งทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ถือปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน
สำหรับท่านจุฬาราชมนตรีที่เพิ่งถึงแก่อนิจกรรมไป นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ (อะหมัด มะห์มุด ซีสกอร์) ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศและได้รับการเลือกตั้งตาม พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เป็นคนแรก ท่านเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ดังนั้นความสนใจของท่านเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีไม่น้อยไปกว่า ท่านแช่ม พรหมยงค์ แต่เนื่องจากท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 17 เมื่ออายุมากแล้ว คืออายุ 82 ปีเศษ ภารกิจด้านดับไฟใต้ของสำนักจุฬาราชมนตรีในสมัยของท่าน จึงปรากฏแต่เพียงการออกเอกสารชี้แจงหรือตอบโต้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ผลิตหนังสือชื่อ "เบอร์ญิฮาด ดี ปาตานี" (การต่อสู้ที่ปัตตานี) ซึ่งเปรียบเสมือน “คัมภีร์มรณะ” สำหรับทางการไทยเท่านั้น
จุฬาราชมนตรีคนใหม่กับภารกิจดับไฟใต้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นคำถามว่าภารกิจดับไฟใต้ถือเป็นภารกิจของจุฬาราชมนตรีในเมืองไทยไม่ว่าหลักภารกิจหลักหรือภารกิจรองของท่านหรือเปล่า ถ้าเราศึกษาความเป็นมาของท่านจุฬาราชมนตรีที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่าการดับไฟใต้ดูเหมือนจะเป็นภารกิจของท่านที่มีความสำคัญไม่มากก็น้อย ปัจจุบันปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ถูกโหมกระพือขึ้นมาใหม่นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนและเหตุการณ์กรือเซะเมื่อ พ.ศ.2547 หรือเมื่อกว่า 6 ปีก่อน
ในช่วงที่เหตุการณ์ความไม่สงบที่ปะทุขึ้นใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นที่คาดหวังกันว่า จุฬาราชมนตรีจะต้องผนวกภารกิจนี้เข้าไว้ด้วย นอกเหนือจากที่ปรากฏใน พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ที่ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้เปลี่ยนให้จุฬาราชมนตรีเป็นที่ปรึกษากรมศาสนา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และระบุว่าให้จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย มีหน้าที่ดังนี้
- ให้คำปรึกษาและความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
- แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติศาสนาอิสลาม
- ประกาศผลการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
- ออกประกาศเกี่ยวกับวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
มาดูความเห็นของผู้นำศาสนาในพื้นที่เกี่ยวกับหน้าที่หรือภารกิจของจุฬาราชมนตรีคนใหม่กันดีกว่า นายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา กล่าวถึงกรณีที่นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่ว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้คนใต้เป็นจุฬาราชมนตรี ซึ่งในอดีตไม่เคยมีจุฬาราชมนตรีจากคนใต้ ถือเป็นประวัติศาสตร์
ท่านอิหม่ามยะโก๊บเชื่อว่า นายอาศิสเป็นผู้ที่มีความเข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดี เขามองว่าภารกิจดับไฟใต้จะต้องเอามิติทางศาสนามาปรับใช้ ผู้นำสูงสุดทางศาสนาคือท่านจุฬาราชมนตรีจะต้องลงมาพบปะผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนในท้องถิ่นบ่อยๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกัน นอกจากนี้ถ้าสามารถให้แนวทางศาสนาที่ถูกต้องแล้ว ใครที่คิดจะทำในสิ่งที่ผิดหลักการศาสนาก็คงเบาบางลงไป
ในขณะที่ นายนิมุ มะกาเจ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า ขอให้จุฬาราชมนตรีคนใหม่ศึกษาข้อมูลปัญหาด้านศาสนาที่เป็นอุปสรรคต่อชาวมุสลิมทั้งประเทศเรียงลำดับความสำคัญ โดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (อูลามะฮ์) ที่ผู้คนให้การยอมรับเข้ามามีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งได้เสนอให้มี สำนักงานจุฬาราชมนตรีสาขา ที่ จ.สงขลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ด้วย
ในทัศนะของผู้เขียนกลับเห็นว่า พันธกิจของจุฬาราชมนตรีตามที่ปรากฏใน พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ที่ประกาศในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.2491-พ.ศ.2500 ซึ่งมี นายเจะอับดุลลา หลังปูเต๊ะ เป็นที่ปรึกษานั้น น่าจะเป็นภารกิจหลักของท่าน
ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีน่าจะเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในเมืองไทยที่จะต้องธำรงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และจะต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทุกศาสนิกชนรู้สึกอบอุ่นที่จะได้รับฟังทัศนะหรือเทศนาธรรมของท่าน ท่านจึงไม่ควรมีหน้าที่ทางการเมืองซึ่งอาจเกิดพลาดพลั้งขึ้นได้
สำหรับภารกิจดับไฟใต้นั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและผู้ปกครองโดยตรงอยู่แล้ว ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ที่จะต้องช่วยกัน โดยคำนึงถึงสันติวิธีเป็นหัวใจ เฉกเช่นเดียวกับแนวทางในพระราชกุศโลบายของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษที่แล้วมา...
ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ได้รับการปฏิบัติแม้แต่น้อย!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จากจังหวัดสงขลา ได้รับเลือกเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ในห้วงเวลาเกือบ 400 ปี
2 นายแช่ม พรหมยงค์ นิกายสุหนี่และมีเชื้อสายมลายูคนแรกที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็น “พระยาจุฬาราชมนตรี”
3 พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน อหะหมัดจุฬา) ผู้ร่วมดับไฟใต้ในแนวทางสันติวิธีกับล้นเกล้ารัชกาลที่ 6
4 อาศิส พิทักษ์คุมพล กำลังขอดุอาอ์ภายหลังผลโหวตเป็นผู้ชนะ (เอื้อเฟื้อภาพจาก www.muslimthai.com)