โรงเรียนท่ากำชำในวันขาดครู...กับปากคำ "ชรบ.บ้านท่าสู" นาทีถูกบุกเผา
แรงสั่นสะเทือนที่ก่อตัวเงียบๆ มานานหลายปีแล้วตั้งแต่ครูตกเป็นเป้าความรุนแรงในดินแดนปลายสุดด้ามขวานช่วงแรกๆ ก็คืออัตราการขอย้ายออกจากพื้นที่เพื่อหนีภัยความไม่สงบสูงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อปี 2553 ราชกิจจานุเบกษา หน้า 76 เล่ม 127 ตอนพิเศษ 121 ลงวันที่ 18 ต.ค.2553 ได้รายงานตัวเลขครูขอย้ายออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีการตั้งกระทู้ถามเรื่องนี้เมื่อ 18 ก.พ.2553 โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ตอบ
ข้อมูลระบุว่า ข้าราชการครูที่ขอย้ายออกจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีจำนวนถึง 6,178 ราย แต่ย้ายออกได้เพียง 1,843 ราย คงเหลือที่ไม่สามารถย้ายออกได้ และยังต้องสอนหนังสืออยู่ในพื้นที่จำนวน 4,335 ราย
เมื่อครูไม่มีกะจิตกะใจสอน เพราะหวาดผวากับปัญหาความรุนแรง แล้วคุณภาพทางการศึกษาจะอยู่ที่ตรงไหน...
เดือน พ.ย.2555 เป็นอีกเดือนหนึ่งที่มีครูตกเป็นเป้าสังหารหลายราย แต่ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด คือเหตุการณ์ลอบยิง ครูนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พ.ย.
การสังหารครูผู้หญิงระดับผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นเรื่องที่ทำให้ขวัญกำลังใจของครูชายแดนใต้ยิ่งกระเจิง สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนฯ จึงมีมติให้ปิดการเรียนการสอนของโรงเรียน 332 แห่งใน จ.ปัตตานี เพื่อกดดันให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงเร่งปรับมาตรการรักษาความปลอดภัย
ถึงขณะนี้มาตรการได้รับการปรับปรุงแล้ว แม้จะยังมีครูถูกยิงอีก 2 รายในวันที่ 3 และ 4 ธ.ค.ที่ จ.นราธิวาส ก็ตาม แต่ปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครติดตามซักถามก็คือความรู้สึกของเด็กๆ ที่ต้องเสียครู และสถานการณ์ของครูที่ขอย้ายเพิ่มขึ้นหลังจากเพื่อนครูในโรงเรียนเดียวกันตกเป็นเหยื่อกระสุน
เหลือแต่พนักงานราชการแล้วจะบริหารอย่างไร
นางจิตราวดี มุขยวัฒน์ ครูโรงเรียนบ้านท่ากำชำ เล่าว่า หลังจากครูนันทนา ผู้อำนวยการโรงเรียนถูกยิงเสียชีวิต ข้าราชการครูของโรงเรียนอีก 3 คนได้ทำเรื่องขอย้าย
"มันเหมือนถูกมีดกรีดหัวใจเป็นแผลซ้ำๆ เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนก็เพิ่งเสียไป เพื่อนครูก็มาทำเรื่องย้ายอีก" ครูจิตราวดี กล่าว
โรงเรียนบ้านท่ากำชำเคยมีครูทั้งหมด 7 คน รวมครูนันทนาที่ทำหน้าที่บริหารโรงเรียนด้วยก็เป็น 8 คน รับผิดชอบดูแลเด็ก 110 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6
"ตอนนี้เราเหลือครูที่เป็นข้าราชการเพียงคนเดียว คือ ครูมะลาเซ็น อาสัน ซึ่งทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนคนอื่นๆ เป็นพนักงานราชการหรือไม่ก็ครูอัตราจ้าง ทราบว่าขณะนี้เรื่องที่เพื่อนครู 3 คนขอย้ายไปช่วยราชการได้รับอนุมัติแล้ว ฉะนั้นเราก็จะเหลือครูเพียง 3 คนเท่านั้น คือ ครูกอยา หะยีบาซอ ครูอิสมะแอ แวยูโซ๊ะ แล้วก็ฉัน ซึ่งทั้งสามคนเป็นเพียงพนักงานราชการ"
"ตอนนี้ถือว่ายังโชคดีที่ครูมะลาเซ็นยังอยู่ แต่ครูมะลาเซ็นก็ขอย้ายเช่นกัน ถ้าเมื่อไหร่เรื่องที่เขาทำไว้ได้รับการอนุมัติ พวกเราจะยิ่งมีปัญหายิ่งกว่านี้ เพราะงานด้านธุรการ บริหารภายในจะขยับไม่ได้เลย เนื่องจากพนักงานราชการอย่างพวกฉันไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเซ็นอะไรได้" ครูจิตราวดี ระบุ และว่า ตอนนี้ก็ได้แต่ขอร้องให้ ครูมะลาเซ็น อยู่ช่วยพวกเราก่อน วันไหนที่มีข้าราชการครูคนใหม่มา หรือบรรจุพวกเธอทั้ง 3 คนเป็นข้าราชการ ปัญหาในแง่การบริหารจัดการก็น่าจะหมดไป
ส่วนในเรื่องการเรียนการสอนนั้น เดิมโรงเรียนบ้านท่ากำชำมี 7 ห้องเรียน เมื่อครูหายไปหลายคนก็ต้องใช้วิธีรวมห้องให้เหลือ 4 ห้อง และให้เด็กเรียนรวมกัน ขณะที่ครูก็ต้องเวียนกันสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6
"ต้องแบ่งวิชากันไปเลย คนหนึ่ง 2-3 วิชา แล้วก็สอนทุกชั้น ทำให้สัปดาห์หนึ่งต้องสอนกันคนละกว่า 20 คาบ" ครูจิตราวดี กล่าว
โรงเรียนไม่มีครู...แล้วหนูจะเรียนกับใคร
ด้านความรู้สึกของเด็กๆ อัยมีน์ มะเซ็ง นักเรียนหญิงชั้นอนุบาล 1 กล่าวว่า ตอนนี้ครูที่เคยสอนไม่กล้ามาสอน เพราะหลังจากที่ครูนันทนาถูกยิงก็แทบไม่มีใครกล้ามาสอนหนังสือเลย รู้สึกเสียใจที่ไม่มีครูมาสอน ถ้าเป็นไปได้อยากให้ครูมาสอนตามปกติ
"ถ้าโรงเรียนไม่มีครูแล้วหนูจะเรียนกับใคร หนูอยากเรียนสูงๆ เพื่อจะได้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อยากไปเที่ยวสวนสยาม (สวนน้ำชื่อดังย่านบึงกุ่ม) นั่งรถไฟไป หนูอยากเป็นครู แล้วจะกลับมาเป็นครูสอนทุกคนที่นี่ด้วย" อัยมีน์ กล่าว
นายอภินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รองเลขาฯศอ.บต.) กล่าวว่า กำลังเร่งแก้ไขปัญหาโรงเรียนขาดครู โดยได้ประชุมร่วมกับคณะครูและสำนักงานการศึกษาเอกชน สรุปว่าน่าจะมีการบูรณาการการศึกษากับโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ โดยอาจขอครูจากโรงเรียนเอกชนมาช่วยสอนชั่วคราวก่อนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ส่วนความคืบหน้าทางคดี พล ต.ต.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รู้ตัวคนร้ายที่ก่อเหตุแล้ว โดยเป็นคนในพื้นที่ กำลังเตรียมออกหมายจับและกดดันให้คนร้ายยอมให้จับแต่โดยดี เพราะเจ้าหน้าที่รู้ตัวหมดแล้วว่าเป็นกลุ่มใด แต่ถ้าไม่ยอมก็จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าปิดล้อมจับกุมในเร็ววันนี้
ปากคำ "ชรบ.ท่าสู" นาทีคนร้ายบุกเผาโรงเรียน
อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกอย่างกว้างขวางในห้วงสถานการณ์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบพุ่งเป้าทำร้ายครูและทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน ก็คือเหตุการณ์ลอบวางเพลิงโรงเรียนบ้านท่าสู ตั้งอยู่หมู่ 3 บ้านท่าสู ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ในช่วงหลังเที่ยงคืนก่อนเช้าวันจันทร์ที่ 3 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดเรียนวันแรกหลังจากหยุดไปราวๆ 1 สัปดาห์ตามมติของสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่น่าตกใจคือคนร้ายมากันเป็นสิบ แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ และสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่เข้าไปขอตรวจโรงเรียน
ขณะที่โรงเรียนใน อ.ปะนาเระ คือ โรงเรียนบ้านบางมะรวด เพิ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้จนอาคารวอดทั้งหลังเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า
ดอเลาะ หะมะ หนึ่งในชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) โรงเรียนบ้านท่าสูขณะเกิดเหตุ เล่าให้ฟังว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 01.20 น. มีคนร้าย 4 คนน่าจะเดินเท้ามา เนื่องจากไม่ได้ยินเสียงรถ แต่งกายชุดดำ สวมหมวกไหมพรม มาเรียกที่ประตูรั้วโรงเรียน เพื่อให้ ชรบ.เปิดประตู
"ตอนนั้นพวกผมอยู่กัน 3 คน คือตัวผมเอง มะอูเซ็ง ยูโซ๊ะ และ มูฮำหมัดไซฟู ยูโซ๊ะ ก็ออกไปเปิดประตู โดยคนร้ายได้พูดเป็นภาษาไทยว่า ผู้กองโน ซึ่งเป็นทหารพราน สั่งให้มาตรวจว่ามีคนเฝ้าโรงเรียนอยู่หรือไม่ พวกผมจึงยอมให้คนร้ายเข้ามา"
"จากนั้นคนร้ายทั้ง 4 คนก็ถามว่าใช้อาวุธอะไรดูแลโรงเรียน พอพวกเราบอกว่าไม่มีอาวุธ คนร้ายก็ได้เปลี่ยนมาพูดภาษายาวีทันที บอกให้อยู่ในความสงบ พวกเขาจะมาลอบวางเพลิง ถ้าไม่อยากมีปัญหาให้อยู่เฉยๆ หลังจากนั้นได้มีคนร้ายแต่งชุดดำเข้ามาอีกไม่ต่ำกว่า 10 คน อาวุธปืนครบมือ พวกเขาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยคนร้าย 4 แรกได้จับพวกผมไปนอนที่สนามและมัดมือมัดเท้าด้วยลวดที่เตรียมมา ส่วนคนร้ายที่เหลือขึ้นไปบนห้องพักครูซึ่งเป็นอาคารปูน 2 ชั้น ระหว่างนั้นก็ได้ยินเสียงดังและได้กลิ่นเผายาง หลังก่อเหตุคนร้ายยังบอกให้ผมและเพื่อนลาออกจากการเป็น ชรบ.เพื่อความปลอดภัย" ดอเลาะเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์และคำพูดแทงใจของคนร้าย
คิดหนัก...หนีหรือสู้
เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะตัดสินใจอย่างไร ดอเลาะ ซึ่งเจอเหตุการณ์รุนแรงกับตัวเอง บอกว่า กำลังคิดว่าจะเลือกทางไหน ใจหนึ่งก็เสียดายงานเพราะหายาก แต่เมื่อย้อนมองคนอื่นๆ ที่เคยถูกเตือนแบบนี้แล้วทำเฉย สุดท้ายก็เจอจุดจบ
"พูดตรงๆ ก็อยากลาออก แต่พอคิดถึงลูกอีก 6 คนจะกินอะไรถ้าหยุดทำงาน รายได้ที่ได้มาก็แทบไม่พอใช้จ่ายอยู่แล้ว ถ้ามาหยุดอีกก็มืดแปดด้าน แต่หากเลือกทำงานต่อไป ภัยต้องมาถึงตัวแน่ๆ สุดท้ายครอบครัวก็ลำบากเหมือนกัน คิดไปคิดมาแบบนี้ก็เลยยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเอาอย่างไร" ดอเลาะกล่าว
เขาบอกด้วยว่า ชรบ.ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียนมีทั้งหมด 4 คน พักได้ 1 คน วันเกิดเหตุคนที่หยุดพักคือ อับดุลเลาะ เจ๊ะดาโอ๊ะ ที่เหลืออีก 3 คนต้องเข้าเวร ภารกิจเริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า เฝ้าเส้นทางให้กับครู พอครูเข้าโรงเรียนหมดประมาณ 9 โมง ทุกคนก็กลับบ้าน จากนั้นในช่วงบ่ายภารกิจจะเริ่มอีกครั้งเวลาบ่าย 3โมง ต้องเฝ้าเส้นทางให้ครูกลับบ้าน เสร็จแล้ว 6 โมงเย็นก็มาเฝ้าโรงเรียน เป็นอย่างนี้ทุกวัน
นี่คือภารกิจเสี่ยงอันตรายที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย แต่คนที่ไม่มีทางเลือกก็จำต้องเสี่ยงต่อไป...
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เด็กหญิงอัยมีน์ มะเซ็ง
2 เด็กๆ โรงเรียนบ้านท่ากำชำนั่งเหงา
3 โรงเรียนบ้านท่าสู
4 สภาพห้องเรียนที่ถูกเผา