ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (3) นาลุ่ม บ้าน และเมิง (เมือง) รากร่วมทางวัฒนธรรมไท-มลายู
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
จากการตั้งข้อสังเกตของนักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ อาทิ อี.ไซเดนฟาเดน, ดับบลิว แอล.โทมัส, เอฟ.เอ็ม.เลอบาร์, บี.เอ็ม โบรแมน และ บี.เจ.เทอร์วีล ซึ่งทำการศึกษาเรื่องชนชาติไทอย่างเป็นเรื่องเป็นราวต่างลงความเห็นว่า ลักษณะใหญ่ๆ ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของชนชาติไทมีดังนี้
1.เป็นกลุ่มชนซึ่งดำรงชีพด้วยการ ทำนาในที่ลุ่ม
2.ระบบการปกครองแบบ ชุมชนเมือง
3.ลักษณะการสร้างบ้านเป็นแบบใต้ถุนสูง
4.ความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับ ผีและแถน (ตัวเน้นโดยผู้เขียน)
ส่วน ปราณี วงษ์เทศ ให้ข้อสรุปจากการศึกษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนชาติไต-จ้วง เอาไว้ว่า ชาวจ้วงทางตอนใต้ของประเทศจีนยังคงแสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆ ในบริเวณนี้ที่มีร่วมกันมาก่อนรับอารยธรรมจีนและอินเดีย เช่น
1. ความเชื่อเรื่อง ผี
2. ความเชื่อเรื่อง ขวัญ
3. ความเชื่อเรื่อง แถน หรือเทพแห่งฟ้า
4. การให้ความสำคัญต่อ บทบาทและฐานะของผู้หญิง (ตัวเน้นโดยผู้เขียน)
จะเห็นได้ว่า ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมของชนชาติไทดังกล่าวมิได้แตกต่างไปจากของชนชาติอื่นๆ ในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะพวกที่พูดภาษาออสโตรนีเซียน (ซึ่งรวมภาษามลายู-อินโดนีเซียน ต่อไปจะใช้ชื่อนี้แทน ‘ออสโตรนีเซียน’ เป็นบางครั้ง) ยกตัวอย่างเช่น พวกจาม-มลายู และมอญ-เขมร ก็เป็นพวกทำนาดำหรือนาลุ่ม นอกจากนี้ยังรู้จักทำสวนเพื่อปลูกไม้ยืนต้นบางชนิดเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเพื่อบริโภคเองด้วย
ไทย-อินโดนีเซียน ยังใช้ศัพท์ร่วมกัน (การเปรียบเทียบในที่นี้ส่วนใหญ่ใช้วงศัพท์ปัจจุบัน โปรดสังเกตคำเน้นดำ) โดยเฉพาะคำสองพยางค์ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน กลายเป็นคำโดดหรือคำพยางค์เดียวในภาษาไท เช่น
คำว่า bendang (นา) ในภาษามลายูถิ่นปัตตานีเรียกว่า ‘บือแน’ เมื่อเป็นคำพยางค์เดียวในภาษาไทอาจกลายเป็นคำว่า ‘นา’ ก็เป็นได้
คำว่า tanam (การปักดำ) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน พอล เค.เบเนดิกต์ บอกว่า คำอินโดนีเซียนคือคำว่า *tanəm ภาษาไทคือ ‘ดำ(นา)’ (dam) โอดริกูรต์ว่าในภาษาแสก (ภาษาตระกูลไทภาษาหนึ่ง) ว่า ‘ตำ’ (tam) แปลว่า ปักดำ
คำ *tanəm อาจคลี่คลายเป็นคำพยางค์เดียวในภาษาแสกและภาษาไทดังนี้ *tanəm>/ta(nə)m/>/tam/>/dam/ โดย /t/>/d/ (shift)
คำว่า cambah (เพาะ หรือ ชำ) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียนกลายเป็นคำโดดหรือคำพยางค์เดียวสองคำในภาษาไท คือคำว่า ‘ชำ’ กับ ‘เพาะ’ ดังนี้ /cambah/>/cham+bh// (ชำ+เพาะ)
ส่วนคำว่า ‘สวน’ ในภาษาไท สันนิษฐานว่ามาจากคำสองพยางค์ในภาษามลายู-อินโดนีเซียนว่า dusun
คำว่า ‘ที่ลุ่ม’ ในภาษาไทย-มลายู-อินโดนีเซียน ก็ยังใช้คำร่วมกันคือ di lembah ดังนี้ คือ di-ที่ และ *lumbah (ลุ่ม+บ่า)
คำว่า *lumbah คลี่คลายเป็น lembah (ที่ลุ่ม) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน และ /lum+ba/ (ลุ่ม+บ่า) ในภาษาไทย
พยางค์ท้ายของ lumbah คือ bah บ่งบอกว่าเป็นที่ซึ่งน้ำท่วมถึงหรือมีน้ำขัง ตรงกับคำว่า ‘บ่า’ (น้ำบ่า/น้ำท่วมหลาก) ในภาษาไทย
คำ 2 พยางค์ในภาษามลายู-อินโดนีเซียนว่า tumpah (น้ำหกเนื่องจากล้นหรือถูกเท) กลายเป็นคำพยางค์เดียวหรือคำโดด 2 คำในภาษาไทคือคำว่า ‘ท่วม+บ่า’ (tum+pah) นั่นเอง
พื้นที่ ‘ลื่นแฉะ’ มลายูใช้ tanah becah (ดินแฉะ) คำว่า Iecah มาจากคำว่า lincin-ลื่น + becah-(ที่)แฉะ>ลื่นแฉะ
นอกจากคำเหล่านี้แล้ว ยังมีคำอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับการปลูกข้าว การทำนาลุ่ม รวมทั้งการสร้างบ้านและโรงเรือนใต้ถุนสูงที่ภาษาไทยและภาษามลายู-อินโดนีเซียนใช้ร่วมกัน
เมื่อกล่าวถึงการตั้งบ้านเมือง กล่าวได้ว่าทุกชนชาติสามารถวางรูปการปกครองแบบชุมชนเมืองมาได้นานนับพันปีแล้ว เขมร-จาม-มลายูยังใช้ศัพท์ร่วมกันเช่น 'กำปง' (kampung) หมายถึง ‘หมู่บ้าน’
จากการวิเคราะห์คำสองพยางค์ภาษามลายู-อินโดนีเซียนคำว่า benih (พันธุ์ หรือเมล็ดพันธุ์) อาจสันนิษฐานได้ว่า คำนี้น่าจะเป็นคำเดียวกับคำภาษาไทยชุดหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับอคำว่า ‘หว่าน’ ‘ว่าน(เครือ) ‘แว่น(แคว้น)’ ‘บ้าน’ เช่น คำว่า ‘วงศ์วานว่านเครือ’ เป็นต้น
คำว่า ‘ว่าน’ (พืชจำพวกหนึ่งที่มีหัวใช้ขยายพันธุ์หรือบางชนิดก็ไม่มีหัว) และคำว่า ‘หว่าน’ เช่นในคำว่า ‘หว่านเมล็ดพันธุ์’ เป็นที่มาของคำว่า ‘บ้าน’ ในคำว่า ‘บ้านเรือน’ และคำว่า ‘แว่น’ ในคำว่า ‘แว่นแคว้น’
แม้ว่านักภาษาศาสตร์เชิงประวัติยังไม่มีการสืบสร้าง (reconstruct) คำเหล่านี้เพื่อหาคำดั้งเดิม (proto) ของมัน แต่เราก็สามารถใช้หลักการทางภาษาศาสตร์ดูการคลี่คลายคร่าวๆ ของคำมลายู-อินโดนีเซียนว่า benih(เมล็ดพันธุ์) กับคำว่า ‘หว่าน’ ‘ว่าน(เครือ) ‘แว่น(แคว้น)’ ‘บ้าน’ สอดคล้องกับความคลี่คลายทางประวัติศาสตร์-มานุษยวิทยาของชนเผ่าที่ใช้ภาษานี้
ในยุคบรรพกาล ภายหลังชนเผ่าไททำการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวได้แล้ว พวกเขาก็จะได้ต้นกล้าเพื่อใช้ในการปลูกข้าวต่อไป จากนั้นพื้นที่หรือบริเวณที่ขยายออกไปหรืออยู่ใกล้เคึยงกันนั้นก็จะมีการปลูกทับ กระท่อม เพิง เรือน (หมายถึงบ้าน), บ้าน (หมายถึงหมู่บ้าน) และแว่นแคว้น (หมายถึงบ้านเมือง) ในที่สุด
การคลี่คลายในทางภาษาศาสตร์เป็นดังนี้
*vanuih>benih (‘เมล็ดพันธุ์’) และ *vanuih>/van(ua)/วา(นัว) ในสมัยศรีวิชัย > /ban(ua)/ บานนัว (บ้านเมือง) หรือ /benua/ (ล้านเมือง, ประเทศ) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียนปัจจุบัน
คำว่า /ban(ua)/ บานนัว (บ้านเมือง) กลายเป็นคำว่า ‘บ้าน’ (baan) และ ‘หมู่บ้าน’ ส่วนคำว่า *vanuih และ vanua/วานัว กลายเป็นคำว่า ‘วงศ์วานว่านเครือ’, ‘แว่นแคว้น’ (เมืองหรือ ประเทศ เช่น ประเทศ Vanuatu/วานัวตู)
คำว่า *vanuih ในระยะแรกหมายถึงเมล็ดพันธุ์ และอาจหมายถึงพื้นที่ใช้สำหรับทำนาหว่าน (vanua) หรือพื้นที่ไถหว่าน เพื่อเตรียมทำนาดำ (wet rice) ต่อไป ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวนี้ก็เลยเป็นที่ตั้ง ‘บ้านเรือน’ เป็นที่อยู่อาศัยของ ‘ชาวบ้าน’
เมื่อมีการตั้ง ‘บ้านเรือน’ และต่อมากลายเป็น ‘หมู่บ้าน’ ซึ่งไทเรียกว่า ‘บ้าน’ และ ‘เมือง’ (ไทเหนือเรียก ‘เมิง’) ภาษามลายู-อินโดนีเซียนหลังสมัยศรีวิชัยคำว่า /vanua/> /banua/ และกลายเป็น benua (/v/>/b/) ในที่สุด เช่นคำว่า Benua Rom หมายถึงประเทศโรมัน
ในสมัยต่อมาภาษามลายู-อินโดนีเซียนก็หันไปใช้คำว่า ‘negeri’ (นครี) และ ‘negara’ (นครา) ที่แปลว่า ‘เมือง’ หรือ ‘ประเทศ’ แทนคำว่า benua ซึ่งหมายถึง ‘บ้านเมือง’, ‘หัวเมือง’ และ ‘ประเทศ’ แต่เดิม โดยในภามลายู-อินโดนีเซียนยืมคำว่า desa /เดซา ‘เทศะ’ จากภาษาสันสกฤตมาใช้ในความหมายว่า ‘ท้องถิ่น’ หรือ ‘เมือง’ เช่นเดียวกับที่ไทยยืมคำว่า desa ‘เทศะ’ (เช่นในคำว่า ‘เทศบาล’) และใช้คำว่า ‘ประเทศ’ แทนคำว่า ‘เมือง’ หรือ ‘เมืองใหญ่’ ที่มีหลายหัวเมืองรวมกัน
มองในแง่พัฒนาการของบ้านเมือง ข้าพเจ้าเห็นว่า บางทีชนเผ่าไท (ตั้งแต่อยู่ในจีนตอนใต้) จะเริ่มแยกตัวออกจากพวกโปรโต-ออสโตรนีเซียนหรือพวกมลายู-อินโดนีเซียนตั้งแต่ในยุคหินใหม่ (กระบวนการนี้ดำเนินอย่างต่อเนื่องในช่วง 2,000-1,000 ปีที่ผ่านมา) โดยเกิดขึ้นในช่วงที่พวกโปรโต-ออสโตรนีเซียนเริ่มพัฒนาชุมชนแบบ ‘เมือง’ ขึ้นได้สำเร็จในราวกว่าหนึ่งพันปี (หรือก่อนหน้านี้) ในช่วงนี้เองประชากรที่ใช้ภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนกลุ่มหนึ่งสามารถแยกตัวออกจากบรรพบุรุษที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนหรือมลายู-อินโดนีเซียนได้อย่างเด็ดขาด กลายเป็นผู้พูดภาษาไท โดยสาเหตุหลักมาจากการอพยพลงสู่สุวรรณภูมิ ‘ช้ากว่า’ บรรพบุรุษที่พูดภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียน กลุ่มซึ่งพูดภาษาสาขาใหม่นี้ (ภาษาไท) ได้ตกค้างอยู่บริเวณจีนตอนใต้และตะวันออกเช่นกวางสีและกวางตุ้งไม่น้อยก่าหนึ่งพันปี เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ภาษาที่พวกตนใช้ได้รับอิทธิพลจากลักษณะคำโดดและระบบเสียงวรรณยุกต์ของภาษาจีน-ธิเบตอย่างเข้มข้นในระดับคุณภาพหนักหน่วงจนกลายเป็นภาษาตระกูลใหม่ขึ้นมา คือภาษาตระกูลไท
ข้าพเจ้าจะวิเคราะห์คำว่า ‘เมิง’ (‘เมือง’) ในภาษาไทซึ่งมีความหมายที่ใกล้เคียงกันกับที่มีปรากฏในภาษามลายู-อินโดนีเซียนแต่เพียงเค้ารอยเท่านั้น (โดยมีร่องรอยภาษาจีนด้วย) แต่ไม่มีความหมายโดดๆ ที่แปลว่า ‘เมือง’ โดยตรง
คำดังกล่าวนี้คือคำว่า demang (ท้าวเมือง = เจ้าเมือง) ในภาษามลายูซึ่งเป็นคำเก่า (archaic) ไปแล้ว
ขอสันนิษฐานว่า คำนี้มาจากคำประกอบ คือคำว่า datu และ meng หรือ mang ในภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียน เมื่อสองคำนี้ผสมกันกลายเป็น demang ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน โดยเป็นคำรวบพยางค์มาจาก /datu+m(e)ang/ ซึ่งคำนี้ตรงกับคำในวัฒนธรรมภาษาไทว่า ‘ท้าวเมง’, ‘ท้าวเมิง’, ‘ท้าวเมือง’ หรือ ‘ต้าเมิง’
เช่นเดียวกับพระนาม (พญา)มังราย หรือ (พญา)เมงราย ซึ่งข้าพเจ้าขอสันนิษฐานว่ามีที่มาจากคำร่วมวัฒนธรรมของพวกออสโตรนีเซียนก่อนหน้านี้คือคำว่า mangku raya โดยคลี่คลายได้ดังนี้
*mang(ku)+*raya (มังกู+รายา) > /mangraj/ (‘มังราย’) หรือ meng+raj (‘เมงราย’) แปลว่า พระยาเมืองผู้เป็นใหญ่
คำว่า raya = ราย, (พระ)ยา หรือ (พ)ญา แปลว่า ใหญ่ หรือผู้เป็นใหญ่ เช่นในคำว่า (พญา)มังราย หรือ (พญา)เมงราย หรือ พระยาเมืองทั่วๆไป
ในขณะที่คำว่า ‘ยา’ (ya) ในคำว่า ‘พระเจ้าน้องยาเธอ’ ก็แปลว่า เยอ หรือใหญ่นั่นเอง
สรุปแล้วในทัศนะของข้าพเจ้า คำในภาษาไทและในภาษามลายู-อินโดนีเซียนที่เกี่ยวกับบ้าน, เมือง, โรงเรือนหรือที่พักอาศัยจำนวนไม่น้อยสามารถสืบสานได้ว่ามีที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน เป็นต้นว่า
คำว่า ‘หว่าน’, ‘(วงศ์)วาน’, ‘ว่าน(เครือ)’, ‘แว่น(แคว้น)’, ‘บ้าน’ คลี่คลายมาจากคำว่า *vanuih
คำว่า ‘เพิง’ (ขนำที่พัก) คลี่คลายมาจากคำว่า *bangsal (เพิงหรือกระท่อม) ดังนี้
/bang(sal)/ พยางค์ /sal/ หายไป โดย /bang >/phə:ŋ/เพิง โดย /b/>/ph/
คำว่า ‘โรง’ (ภาษาไท) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียนปรากฏในคำ balairong โดยคำว่า balai ปรากฏในคำเขมรซึ่งไทยยืมมาคือคำว่า ‘พาไล’
ในขณะที่คำว่า ‘เรือน’ (ภาษาไท) เบเนดิกต์เคยสืบสร้างว่ามาจากคำว่า rumah ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน
คำว่า ‘เมิง’ หรือ ‘เมือง’ มาจากคำว่า demang ในทัศนะของข้าพเจ้า
ส่วนคำว่า ‘ยา’ หรือ ‘เยอ (ใหญ่)’ มาจากคำว่า raya ตามการสืบสร้างของนักภาษาศาสตร์
น่าสังเกตที่คำว่า ‘กรุง’ หรือ ‘กุง’ ในภาษาไทยโบราณ (archaic) ซึ่งแปลว่า ‘เจ้าเมือง’ (ปัจจุบันแปลว่า เมืองใหญ่) ก็ตรงกับคำว่า agung (ใหญ่) หรือ agong (พระมหากษัตริย์) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน อย่างเช่นพระราชาบดีแห่งมาเลเซียปัจจุบันทรงเรียกว่า Yang di-Pertuan Agong (ยังดิเปอร์ตวนอากง)
ส่วนคำว่า ‘ขุนนาง’ ในภาษาไทยก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมาจากคำว่า gunung ganang (ภูเขาเลากา) ซึ่งเมื่อออกเสียงแบบรวบคำก็จะมีเสียงว่า gunang ดังนี้
/gunungganang/>/gun(ung)(ga)nang/>/gunnang/ (ขุนนาง) โดย /g/>/kh/ บ่งบอกถึงความเป็นมาของชนเผ่าที่มาจากที่ราบสูงก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่นราชวงศ์ไศเลนทร์ในสมับศรีวิชัย ก็มีความหมายถึงความเป็นกษัตริย์ซึ่งมีที่มาจากภูเขา
----------------------(โปรดอ่านต่อตอนที่ 4 ผีฟ้า แถน และมะโย่ง รากร่วมทางวัฒนธรรมไท-มลายู)-------------------------
หมายเหตุ : โปรดดาวน์โหลด IPA หรือ “อักษรโฟเนติคส์สากล” (157 kb) เข้าใน Fonts ในเครื่องของท่านเพื่อใช้ในการอ่านข้อเขียนบางส่วนในบทความนี้ (โหลดเข้าครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป) [rokdownload menuitem="15" downloaditem="2" direct_download="false"]linked text[/rokdownload]
บรรยายภาพ :
1 ชาวนาไทย (กำลังดำนา) และเพิงพัก (เถียงนา)
2 ชาวนามาเลเซียกำลังดำนา
3 ชาวนามาเลเซียใช้ควายคู่ไถนา
4 ชาวนามาเลเซียกำลังตากข้าวเปลือก
อ่านประกอบ :
- ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (2) ภาษาไท-กะได ออสโตร-ไท และตระกูลภาษาไท
- ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (1)...ย้อนอดีตภาษาและชนชาติต่างๆ ในอุษาคเนย์