“สมยศ”ซัด“ชัจจ์”ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้ 232 ล้าน ชงประธาน ป.ป.ช.สอบแจ้งเท็จ?
เปิดคำร้อง“สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง”รอง ผบ.ตร.ซัด“ชัจจ์ กุลดิลก”ส่อซุกเมีย-ไม่แจ้งเงินปล่อยกู้ 232 ล้าน ชงข้อมูลประธาน ป.ป.ช.สอบแจ้งบัญชีฯเท็จ?
ความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก กับ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน และ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ปัจจุบัน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.) ไม่ได้ปรากฏเฉพาะกรณีนางวิมลรัตน์ กุลดิลก ยื่นฟ้องนายสุริยา พล.ต.ท.สมยศ กับพวกรวม 10 คนเป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นมูลค่า 101,996,000 บาท (คดีหมายเลขดำที่ 830/2553) โดยอ้างว่าหุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นหุ้นที่นายสุริยาโอนชำระหนี้บางส่วนให้นางวิมลรัตน์จากจำนวนหนี้ทั้งหมด 232 ล้านบาท แต่ต่อมาหุ้นกลับถูกโอนไปอยู่ในชื่อ พล.ต.ท.สมยศและบุคคลอื่น
(อ่านประกอบ ผ่าปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น 101 ล้าน “ชัจจ์-สุริยา-สมยศ” เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด? http://www.isranews.org/investigate/item/18016-ชัจจ์-สุริยา-สมยศ.html)
หากยังมีกรณี พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ยื่นเรื่องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ให้ตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ตอนรับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ปี 2551 ว่าจงใจปกปิดบัญชีฯหรือไม่ใน 3 กรณี
1.ไม่แจ้งว่ามีเงินกู้ให้ยืมแก่นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน จำนวน 232 ล้านบาท
2.แจ้งในบัญชีทรัพย์สินว่ามีสถานภาพ“หย่า” แต่ กลับเบิกความในศาลแพ่งว่าเป็นสามีนางวิมลรัตน์
3.ไม่แจ้งว่ามีรายได้ค่าที่ปรึกษาบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงคำร้องเรียนของพล.ต.ท.สมยศ (ยศขณะนั้น) ต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในแต่ละประเด็นดังนี้
กรณีไม่แจ้งว่ามีเงินกู้ให้ยืมแก่นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน จำนวน 232 ล้าน
หนังสือร้องเรียนระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีที่นางวิมลรัตน์ กุลดิลก ภรรยาของ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ที่ 1 กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง โดยยืนยันในคำฟ้องว่านางวิมลรัตน์ เป็นเจ้าหนี้ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน จำเลยที่ 1 ซึ่งมีมูลหนี้จากกู้เงินที่มีสัญญากู้และไม่มีสัญญากู้ รวมตลอดถึงหนี้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเช็ค และการซื้อเครื่องประดับเพชรพลอยจากนางวิมลรัตน์ คิดถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 จำนวนรวมกัน 232 ล้านบาท ซึ่ง พล.ต.ท.ชัจจ์ ได้เชิญนายสุริยา มาทำการตกลงในรายละเอียดการชำระหนี้และเงื่อนไขการชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้กับนางวิมลรัตน์ ตามสำเนาคำฟ้องและหนังสือรับสภาพหนี้
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 นางวิมลรัตน์ ได้เบิกความยืนยันต่อศาลแพ่งว่า เป็นเจ้าหนี้นายสุริยา ในมูลหนี้คิดถึงเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นจำนวนเงินรวมกันทั้งสิ้น 232 ล้านบาท โดยที่ พล.ต.ท.ชัจจ์ ทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะเป็นผู้เชิญนายสุริยาให้มาร่วมตกลงในรายละเอียดการชำระหนี้และเงื่อนไขการชำระหนี้ ณ ที่บ้านของ พล.ต.ท.ชัจจ์ และนางวิมลรัตน์ ยิ่งไปกว่านั้น นางวิมลรัตน์ยังเบิกความยืนยันต่อศาลตอนตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านอีกด้วยว่า เงินส่วนหนึ่งที่นำมาให้นายสุริยา กู้ยืมนั้น เป็นเงินของ พล.ต.ท.ชัจจ์
โดยที่ในช่วงเวลาดังกล่าว พล.ต.ท.ชัจจ์ เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 259 วรรค 1 ประกอบมาตรา 260 บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่ง โดยให้ยื่นภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง , ภายใน 30 วัน นับแต่พ้นจากตำแหน่ง และภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทนายจำเลยที่ 2 (นายธรรมนูญ ทองลือ จำเลยที่ 2)ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งออกหมายเรียกบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ ได้ระบุว่าตนเองและภรรยาเป็นเจ้าหนี้นายสุริยาไว้ในบัญชีฯตามจำนวนหนี้ 232 ล้านบาท ตามที่นางวิมลรัตน์ฟ้องและนำสืบต่อศาลหรือไม่
ทั้งนี้ เพื่อนำมาประกอบการถามค้าน พล.ต.ท.ชัจจ์ แต่ปรากฏว่าเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งบัญชีฯของ พล.ต.ท.ชัจจ์ มาศาลแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ ไม่ได้ระบุถึงยอดหนี้ 232 ล้านในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 ได้ถามค้าน นางวิมลรัตน์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 เกี่ยวกับเรื่องเงินกู้ในส่วนที่ นางวิมลรัตน์ และพล.ต.ท.ชัจจ์ นำมาให้นายสุริยา กู้นั้น พล.ต.ท.ชัจจ์ ได้ระบุไว้ในบัญชีฯ ที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ นางวิมลรัตน์ ตอบว่า “ไม่ทราบ”
จากคำถามของทนายจำเลยที่ 2 ที่ได้ถามค้าน นางวิมลรัตน์ ดังกล่าวในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 11 มีนาคม 2554) ซึ่งเป็นวัดนัดที่ พล.ต.ท.ชัจจ์ จะต้องมาเบิกความต่อศาล พล.ต.ท.ชัจจ์ กลับไม่ยอมมาให้การที่ศาล โดยทนายของนางวิมลรัตน์ อ้างว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ ติดภารกิจไม่อาจมาเบิกความต่อศาลได้ในวันนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นทนายความของ นางวิมลรัตน์ ก็แถลงยืนยันต่อศาลแล้วว่า จะนำตัว พล.ต.ท.ชัจจ์ มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลแพ่งในวันที่ 11 มีนาคม 2554 และได้ส่งคำเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลแล้วต่อมาในที่สุดทนายความของ นางวิมลรัตน์ ก็แถลงตัดพยานไม่นำ พล.ต.ท.ชัจจ์ มาสืบ
กรณีดังกล่าวจึงเป็นข้อพิรุธที่เห็นได้ชัดว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ ไม่กล้ามาเบิกความต่อศาล เพราะเกรงว่าทนายจำเลยที่ 2 จะต้องถามค้านเกี่ยวกับเรื่องหนี้เงินกู้ที่ พล.ต.ท.ชัจจ์ และภรรยา นำเงินของตนเองไปให้ นายสุริยากู้
จากคำรับของนางวิมลรัตน์ตามคำฟ้อง และคำเบิกความของนางวิมลรัตน์รวมตลอดถึงคำเบิกความและข้อพิรุธของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่า นางวิมลรัตน์เป็นเจ้าหนี้นายสุริยาเป็นจำนวนเงิน 232 ล้านบาทซึ่งเป็นจำนวนยอดหนี้ที่สูงมาก อีกทั้งเงินที่นำมาให้นายสุริยากู้บางส่วนนั้น ก็เป็นเงินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ดังนั้น พล.ต.ท.ชัจจ์ จึงเป็นเจ้าหนี้เงินกู้นายสุริยาด้วยเช่นกัน
พล.ต.ท.ชัจจ์ ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงในวันที่ยื่นบัญชีดังกล่าว ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 259 ประกอบ มาตรา 260 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34
ดังนั้นเมื่อ นางวิมลรัตน์ ยืนยันตามคำฟ้องและเบิกความต่อศาลแพ่งว่า นางวิมลรัตน์ และพล.ต.ท.ชัจจ์ เป็นเจ้าหนี้ นายสุริยา คิดถึงเดือน พฤศจิกายน 2551 เป็นจำนวนยอดหนี้รวมกันสูงถึง 232 ล้านบาท อีกทั้งเงินที่นำมาให้นายสุริยา กู้บางส่วนนั้น ก็เป็นเงินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ดังนั้น พล.ต.ท.ชัจจ์ ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ของ นายสุริยา ด้วยเช่นกัน จึงมีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแสดงรายการว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ และนางวิมลรัตน์ เป็นเจ้าหนี้ นายสุริยา จำนวน 232 ล้านบาท ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.รวม 3 ครั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
แต่จากหลักฐานบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ที่ศาลแพ่งได้มีคำสั่งเรียกมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ไม่ได้แจ้งแสดงถึงยอดหนี้จำนวนดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 259 ประกอบ มาตรา 260
กรณีแจ้งสถานภาพ“หย่า”แต่เบิกความในศาลแพ่งว่าเป็นสามีนางวิมลรัตน์
คำร้องระบุว่า แม้ว่า พล.ต.ท. ชัจจ์จะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ระบุสถานภาพ “หย่า” ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามทางพิจารณาของศาลแพ่งและปรากฏต่อสังคมทั่วไปว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ ยังคงอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยากับนางวิมลรัตน์ตลอดมา กล่าวคือ
พล.ต.ท.ชัจจ์ ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 463/83 ถนนลูกหลวง แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กทม. ซึ่งเป็นบ้านเลขที่เดียวกับ นางวิมลรัตน์ ระบุในคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำเลขที่ 332/2554 ที่ได้ยื่นต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 ว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 463/83 ถนนลูกหลวง แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กทม.จึงแสดงให้เห็นได้โดยชัดเจนว่า บุคคลทั้งสองยังคงอยู่ร่วมกินกันฉันสามีภรรยา ณ ภูมิลำเนาตามบ้านเลขที่หลังดังกล่าว
นอกจากนี้ในการที่นางวิมลรัตน์ และ พล.ต.ท.ชัจจ์ ทำคำเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอต่อศาลแพ่งตลอดถึงคำร้องทุกข์กล่าวโทษของนางวิมลรัตน์ที่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน และยืนยันต่อพนักงานสอบสวนว่า บุคคลทั้งสองเป็นสามีภรรยากันโดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามบุคคลทั้งสองยังยืนยันถึงสถานภาพในความเป็นสามีภรรยาของบุคคลทั้งสองในคำเบิกความที่ได้ยื่นต่อศาลแพ่ง ด้วยข้อความเป็นจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 20 แห่ง และในคำร้องทุกข์กล่าวโทษ นางวิมลรัตน์ ต่อพนักงานสอบสวน ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง
ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลทั้งสองยังเบิกความต่อศาลแพ่งถึงพฤติการณ์ในการให้นายสุริยากู้ยืมเงินซึ่งเป็นการแสดงถึงการทำมาหากินร่วมกันอีกด้วยว่า บุคคลทั้งสองได้ร่วมกันนำเงินมาให้นายสุริยากู้และได้ร่วมกันทำบันทึกยอมรับสภาพหนี้ของนายสุริยาดังที่ได้กราบเรียนมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ พล.ต.ท.ชัจจ์ยังได้แสดงออกต่อสาธารณะชนว่านางวิมลรัตน์เป็นภรรยาของตนด้วยการนำนางวิมลรัตน์ออกงานสังคมร่วมกันโดยตลอดมา ดังปรากฏตามภาพถ่ายสิ่งที่ส่งมาด้วย อีกทั้งจวบจนปัจจุบัน นางวิมลรัตน์ก็ยังคงใช้นามสกุล “กุลดิลก” ของพลต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก โดยตลอดมา
พฤติการณ์ทั้งหมดจึงแสดงให้เห็นว่าบุคคลทั้งสองยังคงอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยา ดังนั้น แม้ว่าบุคคลทั้งสองจะได้หย่าขาดจากกันตามที่ พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวอ้างก็ตามแต่เมื่อบุคคลทั้งสองยังอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา พล.ต.ท.ชัจจ์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส ตามที่มีอยู่จริงในวันที่ยื่นบัญชีดังกล่าว ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 259 ประกอบ มาตรา 260 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกหลายคนที่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส ก็ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรส (ที่หย่าขาดจากกันแล้ว) ต่อ ป.ป.ช. ด้วยเช่นกัน
จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้วทั้งหมด การหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยาของ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก และนางวิมลรัตน์ กุลดิลก จึงเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อปิดบังอำพรางถึงสถานภาพที่แท้จริงของตนเพื่อประโยชน์ในการการปกปิดจำนวนทรัพย์สินที่แท้จริงของตนด้วยความจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง และ/หรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น
กรณีไม่แจ้งว่ามีรายได้เป็นที่ปรึกษาบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด
คำร้องเรียนระบุอีกว่า ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกด้วยว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ มีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาของบริษัท เวิลด์แก๊ส(ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2552 เป็นจำนวนสูงถึง 733,333 บาท แต่ พล.ต.ท.ชัจจ์ ก็ไม่ได้ระบุแจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ว่ามีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาในบริษัทดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีกับ พล.ต.ท.ชัจจ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 263 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32 ประกอบมาตรา 34 และมาตรา 119
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ตอนรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันที่ 9 สิงหาคม 2554 (หลังถูก พล.ต.ท.สมยศ ยื่นร้องต่อป.ป.ช.วันที่ 19 พฤษภาคม 2554) ระบุสถานภาพ“หย่า”ด้วยเหมือนกัน