กรมหม่อนไหมเล็งขยายคิวอาร์โค้ดบ่งชี้ที่มาผ้าไทย ตั้งเป้าผู้นำอาเซียน
กรมหม่อนไหมเผยนำร่องใช้คิวอาร์โค้ดระบุที่มาผ้าไหมยกดอกลำพูน-แพรวากาฬสินธุ์สำเร็จ ต่างชาติยอมรับ เล็งขยายระบบทั่วประเทศ ‘ศิริวัฒน์’ ชี้ต้องปลุกจิตสำนึกคนในชาติใช้ผ้าไหม ตั้งเป้าผู้นำอาเซียน
วันที่ 4 ธ.ค. 55 ที่กรมหม่อนไหม นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เป็นประธานในวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหมครบ 3 ปี โดยกล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผ้าไหมไทยมากว่า 40 ปี จนได้รับการยอมรับถึงความสวยงามและคุณภาพจากต่างชาติ ที่สำคัญประชาชนยังมีรายได้เสริมจากการทอผ้าไหมด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ประชาเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จำเป็นต้องรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้คนไทยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม เพื่อกระตุ้นรายได้ในประเทศ และสร้างความน่าเชื่อถือแก่สินค้า เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำอาเซียนต่อไป
นอกจากนี้ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า โดยให้ดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่หันมาออกแบบสินค้าจากผ้าไหม และรณรงค์ให้เด็ก ๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าผ้าไหมมิใช่สินค้ากับคนสูงอายุ แต่เป็นสินค้าที่ร่วมสมัยสำหรับผู้บริโภคทุกวัย โดยคงไว้ซึ่งอัฒลักษณ์ของท้องถิ่น
ด้านนายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งเสริมการผลิตและเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการคุ้มครองชื่อเสียงทางการค้าของศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ โดยใช้ระบบแสดงแหล่งกำเนิดของสินค้า ภายใต้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งเป็นกระบวนการรักษาและปกป้องเอกลักษณ์ กรรมวิธี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตผ้าไหมไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำร่องการใช้ระบบสารสนเทศในการตรวจสอบย้อนกลับผ้าไหมจีไอกับกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมยกดอกลำพูน และกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมแพรวา กาฬสินธุ์
“ระบบการตรวจสอบย้อนกลับผ้าไหม GI ที่นำร่องนั้นประสบความสำเร็จมาก ทำให้ผ้าไหมยกดอกลำพูนและผ้าไหมแพรวาได้รับการยอมรับจากในและต่างประเทศ ซึ่งอนาคตกรมหม่อนไหมมีแผนจะพัฒนาและขยายการใช้งานระบบให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่สำคัญจะให้ความรู้เกษตรกรพัฒนาสู่สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ เพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาหม่อนไหมต่อไป”
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องสัดส่วนแบ่งตลาดของผ้าไหมระหว่างไทยกับจีนไม่มีการแยกชัดเจน ซึ่งแม้จะนำเข้าผ้าไหมจีน แต่ส่วนใหญ่จะทอด้วยเครื่อง คุณภาพก็จะแตกต่างจากผ้าไหมไทยที่เน้นงานหัตถกรรม เรียกว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริโภคที่ซื้อผ้าไหมที่ขึ้นทะเบียนรับตราสัญลักษณ์จีไอสามารถตรวจสอบข้อมูลการผลิตผ้าไหมได้ 2 วิธี คือ 1.กรอกข้อมูลรหัส GI 8 หลักที่ติดไว้ที่ผ้าไหมผืนนั้น ๆ ผ่านเว็บไซต์ www.gisilklamphun.go.th 2.ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตสแกน QR Code ที่ติดบนผ้าไหม เพื่อตรวจสอบข้อมูล ได้แก่ ลักษณะของลวดลายผ้า ชื่อผู้ทอผ้า แหล่งทอ กระบวนการผลิต ระยะเวลาการทอ ข้อมูลทางวิชาการ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการผ้าไหมที่สนใจนำสินค้าเข้าสู่ระบบ ติดต่อสอบถามได้ที่น.ส.ศิริพร บุญชู รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม โทร. 08-1610-8580.
ที่มาภาำพ:http://kaewluang.co.th/download/kaewluang_co_th///p1000947.jpg