วิเคราะห์แนวโน้มสงครามใต้ดิน...บทเรียนจากภาคใต้และความเป็นไปได้ใน กทม.
สุเมธ / ปรัชญา / แวลีเมาะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
หลายคนวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า กระบวนการเสื้อแดงจะยังไม่จบลงที่การประกาศยุติชุมนุมของกลุ่มแกนนำ กระทั่งเกิดเหตุจลาจลเผาเมือง ทั้งยังเชื่อว่าการเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างรุนแรงของรัฐบาลในการปราบปราม เช่น ดำเนินคดีในข้อหา “ก่อการร้าย” จะกลายเป็นตัวจุดชนวน “สงครามใต้ดิน” เหมือนกับที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วง 6 ปีที่ผ่านมา
“ทีมข่าวอิศรา” หยิบโจทย์นี้ให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและนอกพื้นที่ร่วมกันประเมินความเป็นไปได้ พร้อมระดมความเห็นจากหลากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันความรุนแรงไม่ว่าจะ “บนดิน” หรือ “ใต้ดิน” ไม่ว่าจะที่ชายแดนใต้ หรือภูมิภาคอื่นใดของประเทศ
ต่อสู้ใต้ดิน : กฎธรรมชาติ
ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ นักวิจัยในโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประเมินสถานการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า แม้การต่อสู้จะยุติลง แต่สงครามก็ยังไม่เลิก และคงจะยืดเยื้อต่อไป สอดคล้องกับคำกล่าวของ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เคยอภิปรายไว้ในสภาก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มวลชนจากต่างจังหวัดเข้ามาต่อสู้อย่างยาวนานในกรุงเทพฯ และจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงเข้าใส่กัน
“ความเจ็บแค้นของคนเสื้อแดงจะถูกอธิบายเป็นวาทกรรมและนำไปใช้อธิบายในทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ เพราะการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ยังคงอยู่ และมวลชนของแต่ละฝ่ายก็มีอยู่ชัดเจน วาทกรรมที่ใช้อธิบายกับมวลชนของแต่ละฝ่ายเป็นคนละชุดความคิดกัน ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองไม่มีโอกาสยุติลงในระยะเวลาอันสั้นอย่างแน่นอน”
ปัญญศักดิ์ วิเคราะห์ว่า การต่อสู้นับจากนี้ไปอาจเป็นไปอย่างที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกซึ่งเพิ่งถูกยิงเสียชีวิต เคยกล่าวเอาไว้เกี่ยวกับ “แก้วสามประการ” ในการเอาชนะทางการเมืองหรือล้มรัฐบาล คือต้องมีพรรค ต้องมีมวลชน และต้องมีกองทัพ ฉะนั้นหากคนมีความเคียดแค้นจากเหตุการณ์แล้วออกมาต่อสู้อย่างเปิดเผยไม่ได้ ก็ต้องหันไปต่อสู้แบบใต้ดิน เพราะเห็นรูปแบบการต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“การต่อสู้ใต้ดินเป็นกฎธรรมชาติของการต่อสู้อยู่แล้ว ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ไม่ว่าประเทศไหน อารยธรรมใด หรือศาสนาไหนก็ตาม หากต่อสู้แบบเผชิญหน้าอย่างเปิดเผยไม่ได้หรือเกิดความพ่ายแพ้ ก็ต้องหันไปใช้รูปแบบการต่อสู้ใต้ดิน ส่วนจะทำได้แค่ไหนหรือมีประสิทธิภาพมากเพียงใด มันต้องอาศัยเวลา ไม่ใช่จะทำก็สามารถทำได้เลย ยังต้องมีการผ่านกระบวนการอีกมากมายหลายอย่างถึงจะทำได้สำเร็จ”
ทั้งนี้ เมื่อประเมินศักยภาพของกองกำลังที่สนับสนุน “คนเสื้อแดง” ปัญญศักดิ์ เห็นว่า เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี อาจจะเป็นคนในกองทัพหรืออดีตคนในกองทัพก็ได้ เพราะสามารถใช้อาวุธทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ มีการบัญชาการชัดเจน และทุกวันนี้ยังไม่รู้ชัดว่ากองกำลังติดอาวุธมีอยู่มากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ได้มีแค่ที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมได้แน่นอน เพราะนั่นน่าจะเป็นเพียงส่วนน้อย
“หากจะเปรียบเทียบรูปแบบการต่อสู้ คงจะเปรียบได้กับสมัยสงครามคอมมิวนิสต์ คือต่อสู้แบบเปิดเผยไม่ได้ ต้องหันไปต่อสู้แบบใต้ดิน ตั้งกองกำลังติดอาวุธมาต่อสู้กัน ถือเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่เหมือนกัน แต่ในเรื่องอุดมการณ์อาจจะแตกต่างกัน”
เมื่อ “สมานฉันท์” ถูกตั้งคำถาม
การทำสงครามใต้ดินโดยใช้การก่อวินาศกรรมหรือ “รบในเมือง” เป็นฉากทัศน์ (scenario) ที่น่ากลัว แต่ ปัญญศักดิ์ มองว่า การก่อเหตุในกรุงเทพฯซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ คงไม่ง่ายหรือกระทำได้บ่อยครั้ง ยืดเยื้อ เหมือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“การก่อเหตุอาจจะทำได้ก็จริง แต่คงไม่ได้เกิดเหตุบ่อยๆ หรือถี่ยิบเหมือนในภาคใต้ เพราะฐานมวลชนในกรุงเทพฯมีความหลากหลาย ไม่ได้เป็นมวลชนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สำหรับในต่างจังหวัดบางจังหวัด ความถี่ของความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่า เพราะบางพื้นที่เป็นพื้นที่ของกลุ่มมวลชนที่ก่อเหตุเอง จึงง่ายกับการวางแผน ลงมือ และหลบซ่อนตัว อย่างนี้จะคล้ายๆ กับภาคใต้ แต่หากมองเฉพาะในกรุงเทพฯ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงต่อเนื่องเป็นเรื่องยาก ที่สำคัญคือความรู้สึกร่วมของคนในพื้นที่ก็ไม่มีหรือมีน้อย”
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งในมุมมองของ ปัญญศักดิ์ ก็คือประเด็นการสร้างความสมานฉันท์
“ประเด็นสมานฉันท์ที่เราเคยรณรงค์กัน วันนี้เอามาใช้ในภาคใต้ได้อีกหรือไม่ หากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดอธิบายกับมวลชนของเขาว่า ในกรุงเทพฯยังใช้ไม่ได้เลย แล้วในสามจังหวัดจะใช้ได้อย่างไร มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากตัวละครหลักๆ ที่เคยลงมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่าง อาจารย์โคทม อารียา (ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) ก็เคยชูธงแก้ปัญหาด้วยประเด็นสมานฉันท์ แต่เอาไปใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯไม่ได้ผล เรื่องนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก” นักวิจัยในโครงการความมั่นคงศึกษา ระบุ
หมอพรทิพย์ : ความต่างในความเหมือน
หันมาฟังทัศนะของผู้ที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากกว่าอย่าง แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กันบ้าง เพราะเธอเป็นหนึ่งในกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และเป็นหัวหน้าทีมเข้าเคลียร์พื้นที่ย่านราชประสงค์และบริเวณโดยรอบ ซี่งเป็นเวทีหลักการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
“ที่พูดกันว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายนั้น นิยามของก่อการร้ายในเชิงกฎหมายเป็นอย่างไรหมอไม่ทราบชัดเจน แต่การก่อเหตุครั้งนี้ (จลาจลเผาเมืองในกรุงเทพฯและหลายจังหวัดในภาคเหนือและอีสาน) ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี มีการสนับสนุน มีระบบส่งกำลังบำรุง ทั้งอาหารและการกินอยู่ มีการระดมมวลชนมาสับเปลี่ยนหมุนเวียน และมีกระบวนการเตรียมเครื่องมือเครื่องไม้สำหรับก่อเหตุทุกรูปแบบ นอกจากระเบิดที่เป็นอาวุธสงครามแล้ว ยังมีระเบิดเพลิงซุกซ่อนอยู่แทบทุกเต็นท์ บางเต็นท์เตรียมไว้ยังไม่ได้ประกอบ มันปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่”
หมอพรทิพย์ บอกว่า จากหลักฐานที่พบ ชี้ชัดได้ว่าเหตุการณ์จลาจลเผาเมืองมีการเตรียมแผนมาก่อนล่วงหน้าอย่างแน่นอน
“ในรถยนต์ของมือขวาเสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) ที่เพิ่งตรวจเจอ ก็พบระเบิด 2 ลูก มีแผนที่ มีการกำหนดตัวบุคคล วางแผนว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร มีการกำหนดจุดใช้อาวุธรุนแรงในการก่อเหตุร้าย และที่สำคัญคือมีกระบวนการฝึกอบรมกองกำลังสนับสนุนด้วย”
อย่างไรก็ดี ในทัศนะของ หมอพรทิพย์ ที่ผ่านประสบการณ์คลี่คลายคดีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มามากมาย มองว่าเหตุการณ์เผาเมืองในกรุงเทพฯ ไม่เหมือนกับเหตุรุนแรงที่ดินแดนด้ามขวาน
“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกับภาคใต้ เพราะทางภาคใต้มีเรื่องศาสนาและอัตลักษณ์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ แต่กรณีของคนเสื้อแดงเป็นคนละอย่าง เป็นเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง ส่วนที่หลายคนเกรงว่าจะเกิดสงครามใต้ดินแบบภาคใต้นั้น ส่วนตัวคิดว่าไม่เกิด เพราะอุดมการณ์ต่างกัน เหตุการณ์จลาจลเผาเมืองเป็นเรื่องของคนที่คิดร้ายต่อแผ่นดิน” แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ระบุ
วาทกรรมก่อการร้าย...ซ้ำเติมปัญหา
เมื่อประเมินแนวโน้มของสถานการณ์กันไปแล้ว ประเด็นที่น่านำมาคิดต่อก็คือ จะหาทางป้องกันการเกิดสถานการณ์ร้ายเช่นนั้นได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่า คำตอบหนึ่งที่อาจเป็น “คำตอบสุดท้าย” ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องความยุติธรรม
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกคือให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มคนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี อย่าใช้ช่องทางตามกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งเพื่อผลทางการเมือง ที่สำคัญคือกระบวนการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้
“อย่าให้เกิดปัญหาเหมือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐจะต้องดำเนินการโดยให้พวกเขาได้มีโอกาสพิสูจน์หลักฐาน พยาน ให้เขามีตัวแทนของเขาในการต่อสูในชั้นศาลด้วย”
พรเพ็ญ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า การใช้ถ้อยคำเรียกขานผู้ต้องหาหรือข้อกล่าวหาที่เตรียมแจ้งดำเนินคดี เช่น ผู้ก่อการร้าย หรือคดีก่อการร้าย จะยิ่งสร้างความรู้สึกขัดแย้ง เกลียดชัง เพราะเหมือนยิ่งไปทับถมบุคคลเหล่านั้น
“รัฐควรเคารพสิทธิของบุคคล หากทำได้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาความรู้สึกทั้งผู้ที่ถูกจับกุมและผู้ชุมนุมโดยทั่วไปได้มากทีเดียว” พรเพ็ญ ระบุ
ขณะที่ ทนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า การฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำความจริงให้ปรากฏเป็นสิ่งสำคัญ หากกระบวนการยุติธรรมไม่โปร่งใสและไม่เป็นกลางเพียงพอ ปัญหาจะตามมาอีกมากมาย แต่ถ้าดำเนินการอย่างโปร่งใส ทุกฝ่ายจะยอมรับได้ และน่าจะยุติปัญหาได้ในที่สุด
อีกประเด็นหนึ่งที่ ทนายสิทธิพงษ์ แสดงความเป็นห่วงก็คือ การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่ประกาศในกรุงเทพฯและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะมีมาตรฐานแตกต่างกัน
“เรื่องนี้คนในพื้นที่สามจังหวัดพูดกันมาก ระวังจะกลายเป็นปัญหาทางความรู้สึกกันต่อไป เพราะคนสามจังหวัดมองว่าทำไมรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีที่กรุงเทพฯอย่างระมัดระวังและมีหลักการมาก แต่กับที่สามจังหวัดดูจะมีมาตรฐานอีกอย่าง ฉะนั้นรัฐควรทำให้เหมือนกัน และถือโอกาสนี้พิจารณากฎระเบียบต่างๆ ในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้วย” เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุ
อิหม่ามปัตตานี : ระวังเจอบูมเมอแรง
หันมาพิจารณาทางออกของปัญหาด้วย “แว่น” ทางศาสนาบ้าง นายยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เหตุการณ์ร้อนแรงในกรุงเทพฯ ต้องใช้ความอดทน และรัฐต้องคลี่คลายปัญหาอย่างระมัดระวัง
"ในอดีตคนสามจังหวัดก็ถูกมองว่าเป็นโจร เป็นผู้ก่อการร้าย และถูกกล่าวหาเป็นอะไรต่อมิอะไรมากมายแบบเหมารวม ลองคิดดูว่าคนที่ไม่มีความผิดอะไรเขาจะรู้สึกว่าอย่างไรที่ถูกมองว่าเป็นโจร ถ้าอย่างนั้นเป็นโจรไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ด้วยเหตุนี้เราอย่าไปเหมารวม กรณีที่กรุงเทพฯก็เช่นเดียวกัน ผมว่าประวัติศาสตร์สอนเรามาเยอะแล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 มีคนเข้าป่าเพราะอะไร เพราะเราไปกล่าวหาเขา ไปอคติกับเขามากเกินไป ทั้งๆ ที่เป็นคนไทยด้วยกันน่าจะคุยกันได้”
อิหม่ามยะโก๊ป บอกว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามบทบาทการจัดการปัญหาของรัฐมาตลอด พบว่าพื้นที่สื่อของรัฐไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายตรงข้ามเลย โทรทัศน์ 4-5 ช่องมีแถลงการณ์ของรัฐตลอด ในความรู้สึกของชาวบ้านเหมือนยิ่งถูกปิดหูปิดตา ยิ่งรัฐปิดหูปิดตามากเท่าไหร่ ผลสะท้อนกลับมันจะแรงมากเท่านั้น เหมือนบูมเมอแรง แล้วมันจะย้อนกลับมาหาเรา
“สงครามครั้งนี้ก็ชัดเจนว่าเป็นสงครามของอารมณ์ความโกรธแค้น เกลียดชัง ถ้าปล่อยไว้บาดแผลจะยิ่งลึก ยกตัวอย่างคดีกรือเซะกับตากใบในภาคใต้ ถามว่ารัฐสามารถทำให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกตัดสินว่ามีความผิดได้สักคนไหม มันก็ยังไม่มีความชัดเจน มันถึงเกิดปัญหาทางความรู้สึก ฉะนั้นรัฐต้องกล้าตัดสินใจ ผมเห็นใจรัฐบาล เห็นใจนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องใช้ไมตรีจิต ใช้จิตวิทยาในการแก้ปัญหา อย่าไปใช้หลักนิติศาสตร์มากเกินไป”
ไฟเผาเมืองดับแล้ว แต่ไฟในอกยังลุกโชน
อิหม่ามยะโก๊ป ยังชี้ว่า การเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีเมตตาต่อกัน มันหายไปแล้วจากสังคมไทย ฉะนั้นรัฐบาลน่าจะถือโอกาสนี้ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ อย่าไปใช้ความร้อนหรือความรุนแรง เพราะมันไม่ได้แก้อะไร ไฟที่เผาไหม้สรรพสิ่งอาจดับไป แต่อย่าลืมว่าไฟที่อยู่ในอกมันยังอยู่ เหมือนป่าพรุที่ถูกไฟเผา ดูเหมือนดับแล้ว แต่ความร้อนใต้ดินยังมี
“ญาติของผู้สูญเสียเขาคงมีความรู้สึกแบบนั้น และหลักการทางศาสนาเท่านั้นที่จะยุติปัญหาได้ นั่นคือการให้อภัยซึ่งกันและกัน เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป เดินหน้าไปพร้อมๆ กับการให้อภัย แล้วสังคมจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างสันติ”
“แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างตั้งแง่กันมันก็ไม่จบ คนไทยต้องไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป หลักการบริหารง่ายๆ เมื่อเขาตึง เราหย่อน เมื่อเขาหย่อน เราตึง พยายามเดินทางสายกลางให้ได้ หันหน้ามาใช้หลักศาสนาเถิด อย่าไปใช้ความรุนแรงเลย เพราะเมืองไทยเป็นสยามเมืองยิ้มอยู่แล้ว อย่าให้การยิ้มของคนไทยมีอคติแฝงอยู่ข้างใน เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะไม่เกิดเฉพาะที่กรุงเทพฯ แต่มันจะระบาดไปทั่วประเทศ”
อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หลักการง่ายๆ ของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคือการให้อภัย ดังคำกล่าวที่ว่า “ติดหนี้ต้องคืนทุน มีบุญคุณต้องทดแทน มีแค้นต้องให้อภัย”
แน่นอนว่าถ้าทุกคนทุกฝ่ายทำได้...ประเทศไทยก็จะกลับคืนสู่สันติสุขดังเดิม
----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ควันไฟจากการเผายางรถยนต์และตึกรามย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หนึ่งในจุดที่เกิดความวุ่นวายในกรุงเทพฯ (ภาพโดย ปิยะศักดิ์ อุ่ทรัพย์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้)
2 แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
3 เต็นท์พักแรมของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงรายหนึ่งใกล้กับเวทีราชประสงค์ เขียนข้อความประชดประชันเอาไว้ว่า "ที่เฉพาะผู้ก่อการร้าย" (ภาพโดย ปิยะศักดิ์ อู่ทรัพย์)
อ่านประกอบ :
- "โรดแมพ"คนชายแดนใต้ ร่วมฟื้นไทยจากซากหักพัง
- ผ่ายุทธการทหารเคลียร์ม็อบ หยุดชุมนุมได้...แต่นับหนึ่งจลาจล!
- เคอร์ฟิวกรุงเทพฯ จลาจลทั่วประเทศ!
- ลอบสังหาร "เสธ.แดง"...นับหนึ่งความรุนแรงแบบไม่รู้จบ
- "นักวิชาการ-คนสามจังหวัด"กระตุกรัฐดูบทเรียนชายแดนใต้ หยุดใช้กำลังที่กรุงเทพฯ
- เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกตั้งคำถาม...บทเรียนไฟใต้ถึงทางออกที่กรุงเทพฯ