พอช.เผยแก้ปัญหาที่อาศัยชายแดนใต้ ยึดหลักชุมชนร่วมสร้าง-ซ่อมบ้าน 4 หมื่นหลัง
เวที “3 ปี โครงการที่อยู่อาศัย 5 จว.ชายแดน” พอช.แจงซ่อม-สร้างบ้านใหม่ 4 หมื่นครัวเรือน ตั้งกองทุนฯ 230 ตำบล ยึดหลักชุมชนมีส่วนร่วม ด้านศอ.บต.เล็งร่วมแก้ปัญหาอุทยานเขาบูโดทับที่ทำกินชาวบ้าน
เร็วๆนี้ ที่จ.ปัตตานี สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ตอนล่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวที “3 ปี โครงการที่อยู่อาศัย 5 จังหวัดชายแดนใต้สู่ความยั่งยืน” เพื่อสรุปผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ได้แก่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล)
โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) กล่าวว่า ศอ.บต.และพอช.ควรมีส่วนหนุนเสริมและทำงานด้านการพัฒนาคู่ขนานกัน เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนเชิงพื้นที่และกิจกรรม โดยเรื่องที่ศอ.บต.ต้องการทำงานร่วมกับ พอช.อาทิ การเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งพบว่ามีความต้องการด้านอาชีพ และการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 1,341 ครัวเรือน นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งมีการประกาศเขตอุทยานเทือกเขาบูโดทับที่ดินทำกิน กระทั่งมีการกันคนออกนอกเขตทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ศอ.บต.ต้องการประสานความร่วมมือกับพอช.เพื่อแก้ปัญหาต่อไป
ด้านนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินฯ ปี พ.ศ. 2553-2555 ว่า ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 20 พ.ย. 2555) มีพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติโครงการจำนวน 286 ตำบล 1,380 หมู่บ้าน 46,861 ครัวเรือน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 1,847.64 ล้านบาท โดยมีบ้านที่ซ่อมแซมต่อเติมแล้วจำนวน 33,415 ครัวเรือน สร้างใหม่ 7,772 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้นจำนวน41,187 ครัวเรือน ทั้งนี้มีบ้านที่อยู่ระหว่างซ่อมแซม ต่อเติม และสร้างใหม่อีก 4,041 ครัวเรือน และบ้านที่อยู่ระหว่างเบิกจ่ายงบประมาณ 1,633 ครัวเรือน ทั้งนี้มีการจัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยและเริ่มคืนทุนแล้ว 230 ตำบล มีเงินคืนทุน 39.606 ล้านบาท สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน มีพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติโครงการฯแล้วจำนวน 44 ตำบล งบประมาณ 22.40 ล้านบาท รวม 275 ชุมชน 34,585 ครัวเรือน
นายดุสิต สาวดี ผู้แทนชุมชนตำบลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ที่ ต.แว้งได้รับการสนับสนุนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยจำนวน 243 หลังคาเรือน ประชากรผู้รับประโยชน์ 7,573 คน แต่สามารถทำได้มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีกรรมการคณะทำงานตำบลที่เข้มแข็งโดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้คำปรึกษาและกติการ่วมของตำบลในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เช่น ไม้ต้องซื้อเอง ทรายต้องขนในคลองเอง โดยยึดหลักความมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่ไม่ได้เป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีวิธีการช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่มีที่ดิน ด้วยการรับบริจาคที่ดินจนได้มาจำนวน 2 ไร่ครึ่งด้วย
“พี่น้องต้องมีส่วนร่วมด้วย ครัวเรือนไหนช่วยตัวเองได้ทำไป และหากครัวเรือนไหนยังไม่สร้างเมื่อถึงกำหนดก็ยกของคืน” นายดุสิตกล่าว
ขณะที่นางนิเด๊าะ อิแตแล ผู้แทนชุมชนต.บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของต.บาโงยซิแน มีการสอนให้ผู้รับประโยชน์ไม่แค่แบมือขอแต่ต้องรู้จักช่วยตัวเอง หางบประมาณ หาความรู้ เพื่อให้กองทุนฯสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ต่อได้ โดยในส่วนการคืนทุนในกองทุนที่อยู่อาศัย แม้ว่าจะมีปัญหาการส่งคืนเงิน แต่คณะทำงานก็ช่วยกันคิดหาแนวทางแก้ไขที่หลากหลาย เช่น การทยอยเก็บเงินแต่ละหมู่บ้านมารวมกันในตำบล เปิดบัญชีโยงเงินจากแต่ละกองทุน โดยยึดมติของคนในตำบลในการอนุมัติเงินเสมอ ทำให้ผู้รับประโยชน์มีศรัทธาและมีจิตสำนึกส่งคืนเงินตามกำหนดการ
ทั้งนี้จากข้อมูลพอช. ระบุว่าในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนมีปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ต่ำกว่าเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐานร้อยละ 28 หรือประมาณ 110,000 ครัวเรือน ทั้งที่เป็นบ้านที่ก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง สภาพทรุดโทรม ไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม และครอบครัวขยายที่มีความจำเป็นที่ต้องก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ชุมชนจำนวนมากยังที่มีปัญหาขาดที่ดินทำกินเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การประกาศเขตป่าทับที่ดินทำกิน ผู้ที่อยู่อาศัยทำกินริมฝั่งทะเล ในที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะ ฯลฯ เป็นต้น โดยพอช.ได้เริ่ม ปฏิบัติงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2544