รักแท้ไม่แพ้ไฟใต้...ธุรกิจวิวาห์บูมที่ปลายขวาน
นาซือเราะ เจะฮะ / อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ไม่ว่ารักแท้แห่งยุคสมัยจะคือตับไตไส้พุง กางเกงที่นุ่ง นามสกุล หรือยี่ห้อรถยนต์ แต่สิ่งหนึ่งที่คนจำนวนมากเชื่อกันว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิสูจน์รักแท้ก็คือ “การแต่งงาน” ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีทหารตั้งด่านอยู่เต็มเมือง (เหมือนกรุงเทพฯเวลานี้) และประชาชนยังต้องคอยวิ่งหลบระเบิดและกระสุนปืนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ในวิถีอีกด้านหนึ่ง ผู้คนที่นั่นก็ยังคงชื่นมื่น รักใคร่ และมีงานแต่งงานให้ได้เบิกบานกันเป็นประจำ
ที่น่าแปลกใจก็คือธุรกิจจัดงานวิวาห์แบบครบวงจร หรือ “เวดดิ้ง สตูดิโอ” ที่ไม่ใช่แค่ร้านให้เช่าชุดวิวาห์เหมือนแต่ก่อน ทว่ามีคอร์สเจ้าสาว มีบริการออกแบบงาน ถ่ายภาพ พิมพ์การ์ด และทำของชำร่วย ซึ่งเฟื่องฟูสุดๆ ในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ กำลังเติบโตอย่างน่าทึ่งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ร้านในรูปแบบ “เวดดิ้ง สตูดิโอ” เปิดและขยายสาขากันราวดอกเห็ดในทุกอำเภอ บางอำเภอมีมากกว่า 2 ร้าน ไม่เว้นแม้อำเภอที่ถูกฝ่ายความมั่นคงแต้มสีแดง เช่น อ.ยะหา จ.ยะลา มีอยู่ 3 ร้าน อ.รือเสาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส มี 2 ร้าน และ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มี 2 ร้าน เป็นต้น
ที่น่าสนใจก็คือ “เวดดิ้ง สตูดิโอ” เหล่านี้ สามารถปรับตัวให้ไปกันได้กับประเพณีการแต่งงานของพี่น้องมุสลิม ซึ่งมีสัดส่วนประชากรมากกว่า 80% ในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
วิวาห์แบบอิสลาม
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ธุรกิจ “เวดดิ้ง สตูดิโอ” ยังไม่แพร่หลายเช่นทุกวันนี้ อย่างมากที่มีก็แค่ร้านตัดเย็บและให้เช่าชุดวิวาห์ เพราะพิธีแต่งงานของคนอิสลามยังจัดกันแบบดั้งเดิม คือคู่บ่าวสาวทำพิธีต่อหน้าโต๊ะอิหม่าม มีสักขีพยานคือญาติของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น เสร็จพิธีก็กินเลี้ยงกันแบบเล็กๆ น้อยๆ
ส่วนชุดที่คู่บ่าวสาวสวมใส่ในวันงาน มักจะเป็นชุดที่ช่างในหมู่บ้านตัดเย็บแบบเรียบๆ และใส่กันแค่ชุดเดียวตลอดงาน ไม่มีเปลี่ยนกัน 2-3 ชุดให้แขกเหรื่อได้ฮือฮา และไม่มีบัลลังก์หรูหราสำหรับถ่ายรูปเก็บไว้แทนความทรงจำ
อาหวัง ยีสามะแอ อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านดอน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เล่าให้ฟังว่า การสมรสในอิสลาม หมายถึงชายหญิงได้ผูกจิตสัมพันธ์เพื่ออยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามบัญญัติแห่งศาสนา เรียกว่า “นิกะห์” หรือ “แต่งงาน” ซึ่งในอิสลาม ชายคนหนึ่งจะแต่งงานกับหญิงได้ 4 คน ภายใต้ข้อบังคับว่าชายผู้นั้นจะต้องเลี้ยงดูให้ความยุติธรรมกับภรรยาทั้งหมดได้เป็นอย่างดีและเท่าเทียม หากทำไม่ได้ก็ให้มีเพียงคนเดียว
อิหม่ามอาหวัง บอกว่า ในอดีตการนิกะห์หรือแต่งงานจะจัดกันง่ายๆ กินเลี้ยงกันในวงแคบๆ อาจเป็นเพราะการเดินทางไม่ได้สะดวกสบาย และไม่มีร้านรวงคอยให้บริการเหมือนเช่นทุกวันนี้ คู่บ่าวสาวแค่ทำพิธีต่อหน้าอิหม่าม กินเลี้ยงกันแล้วก็จบ
เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่สวมใส่กันในวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าสาวจะใส่ "เสื้อบานง" คอวี ปักฉลุลวดลายตรงชายเสื้อ แขนเสื้อยาวรัดรูปจรดข้อมือ ส่วนฝ่ายเจ้าบ่าวจะใส่ "เสื้อตือโละบือลางอ" เป็นเสื้อตัวหลวมๆ ยาวถึงกลางน่อง แขนเสื้อหลวมกว้างหนึ่งคืบ ความยาวถึงข้อมือ คอเสื้อกลมรูปดวงจันทร์
“นั่นคือรูปแบบการแต่งงานในอดีต ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนมาก มีการตกแต่งซุ้มและบัลลังก์อย่างสวยงาม ทันสมัย แปลกตา ทำให้เกิดธุรกิจวิวาห์ขึ้นในพื้นที่อย่างมากมาย”
ทันสมัยแต่ใส่ใจวัฒนธรรม
ดังที่ อิหม่ามอาหวัง บอกไว้ คือทุกวันนี้การแต่งงานตามประเพณีอิสลามแบบดั้งเดิมได้แปรเปลี่ยนไปมากแล้ว การจัดการตั้งแต่เรื่องชุดวิวาห์ แต่งหน้าเจ้าบ่าวเจ้าสาว รูปแบบงาน การ์ดเชิญ อาหาร สถานที่ หรือแม้แต่ของชำร่วย ล้วนถูกแทนที่ด้วยร้าน “เวดดิ้ง สตูดิโอ”
ที่เด่นที่สุดของการเปลี่ยนแปลงเห็นจะเป็นชุดแต่งงาน เพราะแม้เจ้าสาวจะหันมานิยมสวมชุดราตรียาวแบบสากล แต่ก็ยังไม่ทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรมมลายูเสียทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ "ร้านเวดดิ้ง สตูดิโอ" ในพื้นที่ จึงแข่งขันกันเรื่องสไตล์การตัดชุดและโทนสีที่ออกแบบมาเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าที่เน้นความทันสมัยแต่ก็ใส่ใจวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม รูปแบบของชุดในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน อย่างใน จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ติดชายแดนมาเลเซีย ชุดวิวาห์จะเน้นเอกลักษณ์แบบมาเลย์ คือยังคงความเป็นชุดบานงเอาไว้ และมีสีสันฉูดฉาดสดใส ซึ่งไม่ใช่แค่ชุด แต่รวมถึงบัลลังก์และอาหารที่เตรียมไว้ต้อนรับแขกเหรื่อก็จะออกแนวมาเลย์ๆ ด้วย
ส่วนใน จ.ยะลา กับปัตตานี จะเป็นรูปแบบผสมผสาน พบกันครึ่งทางระหว่างมลายูกับสากล เช่น ชุดราตรี แทนที่จะเป็นเกาะอก ก็ออกแบบให้มีแขน ปกปิดอวัยวะทุกส่วน เช่นเดียวกับผ้าคลุมผมสำหรับเจ้าสาวก็ตัดเย็บให้ตรงตามหลักศาสนา
ขึ้นกรุงเทพฯเข้าคอร์สอบรม
ปรากฏการณ์ "บูม" ของธุรกิจ "เวดดิ้ง สตูดิโอ" ทำให้สาวๆ มุสลิมหันมาจับธุรกิจนี้กันอย่างเต็มตัว ถึงขั้นไปเข้าคอร์สอบรมที่กรุงเทพฯก่อนเปิดร้าน
ไซนับ สะอิ เจ้าของร้านนีน่าเวดดิ้ง สตูดิโอ เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกไม่เคยคิดทำธุรกิจนี้ แต่หลังจากแต่งงานมีเพื่อนเยอะ จึงไปงานแต่งงานบ่อย กระทั่งวันหนึ่งน้องสาวของเพื่อนเข้าสู่ประตูวิวาห์ เพื่อนมาขอให้ช่วยแต่งหน้าเจ้าสาว และนั่นคือจุดเปลี่ยนในวิชาชีพของเธอ
"เพื่อนบอกว่าเราเป็นคนแต่งหน้าอ่อน สวยดี เหมาะกับหน้าเจ้าสาว ตอนนั้นก็ช่วยแต่งทั้งๆ ที่ไม่มั่นใจ ต่อมาก็ถูกทาบทามให้ไปแต่งหน้าเจ้าสาวเรื่อยๆ เราไม่ได้คิดเงิน เพราะไม่มีร้าน จะคิดก็ลำบากใจ หลังจากนั้นก็ปรึกษากับแฟน เพราะเราเริ่มชอบทางนี้ ในที่สุดก็เปิดร้านที่ อ.บาเจาะ (จ.นราธิวาส) ตั้งชื่อร้านว่า ‘นีน่าชุดวิวาห์’ ก็คิดจะพัฒนาจากการแต่งหน้าและให้เช่าชุด โดยไปซื้อชุดแต่งงานจากร้านอื่นในราคา 3,500 บาท พอได้ชุดมาก็ได้รับการต้อบรับที่ดีจากลูกค้า แต่เรายังไม่มีบัลลังก์ ก็ไปหาซื้อบัลลังก์มือสองที่ อ.สุไหงโก-ลก (จ.นราธิวาส) ในราคา 30,000 บาท"
"เมื่อทุกอย่างเริ่มไปได้ดี จึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ไปอบรมหลักสูตรแต่งหน้าเจ้าสาว 1 เดือน ได้เรียนทั้งการเขียนคิว เขียนตา ทาปาก และแต่งทรงหน้า เขามีวิธีการทำให้หน้ากลม หน้ายาว หน้าเหลี่ยมได้ตามชอบใจ เรียกว่าทำได้ทุกแบบตามที่ลูกค้าต้องการ" ไซนับเล่า
แต่ความรู้ในตำราไม่เท่ากับประสบการณ์จริง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
"สิ่งที่เราเจอในพื้นที่ ไม่มีในเมืองหลวง คนที่นี่ส่วนใหญ่ชอบสวย แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรกว่าจะได้สวย คนที่นี่ไม่มีการพอกหน้า ไม่มีการมาสก์หน้า แต่ละคนที่จะเป็นเจ้าสาวไม่มีการเตรียมตัวอะไรเลย จึงยากที่จะแต่งให้สวยจริงๆ ฉะนั้นต้องใช้ประสบการณ์ประกอบเพื่อให้สวยที่สุดตามที่ลูกค้าต้องการ"
รักแท้ไม่แพ้ไฟใต้
ไม่เพียงแต่ตัว ไซนับ เองที่ไปอบรมถึงกรุงเทพฯ แต่เมื่อร้านเริ่มมีอนาคตสดใส แฟนของไซนับจึงตัดสินใจเข้าอบรมหลักสูตรทำสตูดิโอ สามารถถ่ายภาพชุดวิวาห์ได้ทั้งในและนอกสถานที่ ทำวีซีดีแบบครบวงจร และนั่นก็ทำให้ร้านของเธอได้รับความนิยมถึงขั้นต้องขยายสาขา
"ช่วงนั้นลูกค้าจากต่างจังหวัดเยอะขึ้น เพื่อนที่ อ.ยะหา โทร.มาบอกว่าไม่คิดไปเปิดร้านที่ยะหาบ้างหรือ เพื่อนอาสาดูแลร้านให้เอง เมื่อเราไปสำรวจตลาดแล้วจึงตัดสินใจเปิด ลูกค้าก็เยอะขึ้นทุกวัน จึงไปเปิดสาขาเพิ่มที่ปาลัส อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และที่ อ.เมืองยะลา รวมเป็น 4 สาขา ทุกแห่งเปิดแบบครบวงจร ทั้งเช่าชุด ตัดชุด แต่งหน้า พิมพ์การ์ด ของชำร่วย และจัดอาหารเลี้ยง มีเต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้ จานชามช้อนให้พร้อมหมด"
ปัจจุบัน "นีน่า เวดดิ้งสตูดิโอ" ไปจัดงานวิวาห์ถึง จ.สตูล พัทลุง ตรัง พังงา และกระบี่ เนื่องจากเด็กๆ มุสลิมจากจังหวัดเหล่านั้นมาเรียนในพื้นที่สามจังหวัด และได้ยินชื่อเสียงของทางร้าน เมื่อกลับบ้านก็ยังย้อนกลับมาใช้บริการ ซึ่งทางร้านก็ไม่เพิ่มราคานอกจากค่าน้ำมัน
น่าคิดว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ไม่มีผลต่อธุรกิจ "เวดดิ้ง สตูดิโอ" เลยหรือ? ไซนับ บอกสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า ไม่มีผล เพราะคนจะรักกันไม่มีใครห้ามได้
"ความรักมันหยุดกันได้หรือ หยุดไม่ได้หรอก ฉะนั้นการแต่งงานในพื้นที่สามจังหวัดก็เป็นไปอย่างปกติ เฉพาะของทางร้านก็รับถึงเดือนละ 20-30 งาน" ไซนับ กล่าว และว่า "มีแต่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจนี้อยู่ไม่ได้ เพราะเมื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวมีเงินน้อยลง การจับจ่ายก็จะน้อยตาม จากที่เคยเช่า 4 ชุด ก็จะลดเหลือแค่ 2 ชุด บัลลังก์เคยเอาที่หรูที่สุด ก็ลดลงเหลือแค่เรียบๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ปกติเราอยู่ก็ได้ถ้าเศรษฐกิจยังดีอยู่"
ครั้งหนึ่งในชีวิต...เจ้าสาวมุสลิม
ในมุมของเจ้าสาว รอกีเยาะห์ อาบู สาวเจ้าจาก จ.ยะลา เธอเล่าว่า สมัยเด็กๆ จำได้ว่าเวลาญาติๆ ในบ้านจะแต่งงาน ต้องเตรียมงานกันเป็นเดือนๆ แม้จะไม่ใช่พิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรนัก แต่ต้องทำเองหาเองหมด ไหนจะตัดชุด ไหนจะแต่งหน้า ไหนจะต้องอบสมุนไพร ดูแล้วยุ่งยากมาก คิดว่าถ้าวันไหนได้แต่งงานบ้างจะไม่ทำให้ยุ่งยากแบบนั้นเลย
"ฉันตัดสินใจเช่าชุดพร้อมบัลลังก์จากร้านเวดดิ้ง สตูดิโอ รู้สึกสะดวกสบาย ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต เราเองก็จะได้สวยที่สุด ฉันเช่าชุดราตรี 1 ชุด กับชุดท้องถิ่นอีก 2 ชุด ได้สวยตลอดงาน ส่วนเรื่องการจัดงาน ทางร้านก็จัดเตรียมให้หมด ถือว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป"
สาวีนะ อาบู แม่ของรอกีเยาะห์ บอกว่า แต่งงานลูกสาวคนนี้สะดวกสบายกว่าลูกคนอื่นๆ เพราะเมื่อก่อนแถวสามจังหวัดไม่ค่อยมีธุรกิจเช่าชุดวิวาห์นัก จึงต้องเตรียมงาน พิมพ์การ์ด เชิญแขกเอง โดยเฉพาะเรื่องชุดเจ้าสาวยุ่งยากมากและเหนื่อยมากด้วย แต่เมื่อถึงลูกคนนี้ ธุรกิจเช่าชุดวิวาห์มีเยอะแล้ว ทำได้เบาแรงลงได้เยอะ ลูกสาวก็ได้สวยสมใจ
ตั้งเป้าโกอินเตอร์
ธุรกิจวิวาห์แพร่หลายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงขั้นที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลาจัดงาน "ไอทีแอนด์เวดดิ้งแฟร์" เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้างโคลิเซียมยะลา ในงานมีการประกวดบัลลังก์ การเดินแบบชุดวิวาห์แบบมลายูและสากลจากร้านวิวาห์ชื่อดังระดับจังหวัด เช่น ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พังงา กระบี่ และสตูล โดยร้านที่ชนะจะได้สิทธิไปร่วมประกวดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการประกวดในระดับประเทศ
นิอันวา สุไลมาน พาณิชย์จังหวัดยะลา กล่าวว่า ธุรกิจวิวาห์ได้รับความสนใจจากพี่น้องในพื้นที่อย่างมาก กระทั่งเกิดการแข่งขันและพัฒนาร้านในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า งาน "ไอทีแอนด์เวดดิ้งแฟร์" ที่เพิ่งจัดขึ้น ก็เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์และเพิ่มช่องทางการตลาด ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับเกินคาด แม้จะเพิ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกก็ตาม
"บอกตรงๆ ตอนที่คิดจัดงาน คุยกันว่ามีร้านเข้ามาร่วมประกวดแค่ 2-3 เจ้าก็ประสบความสำเร็จแล้ว แต่พอจัดจริงๆ มีร้านเข้ามาร่วมเยอะมาก ทุกอย่างเกินเป้า คิดว่าธุรกิจนี้ยังไปได้อีก ทั้งในแง่ของการขยายตัวและการพัฒนา น่าจะโกอินเตอร์ได้เลยด้วยซ้ำ" นิอันวา กล่าว
นับเป็นเรื่องดีๆ ที่ปลายด้ามขวาน และสวนสถานการณ์ความไม่สงบ!
--------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ร้าน "นีน่า ชุดวิวาห์" สาขา อ.ยะหา จ.ยะลา หนึ่งในสองอำเภอที่ทหารเคยประกาศเคอร์ฟิว
2 ชุดเจ้าสาวสวยใสทันสมัย แต่ใส่ใจวัฒนธรรม
3 ทุกรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิวาห์ "เวดดิ้ง สตูดิโอ" จัดให้...
อ่านประกอบ : สำรวจธุรกิจวิวาห์...ในวันแห่งความรัก 14 กุมภาฯที่ปลายขวาน
หมายเหตุ : สารคดีชิ้นนี้พัฒนาจากสารคดีที่ชื่อ "สำรวจธุรกิจวิวาห์...ในวันแห่งความรัก 14 กุมภาฯที่ปลายขวาน" โดย "ทีมข่าวอิศรา" ตีพิมพ์ครั้งแรกในเซคชั่น "จุดประกาย" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 มีนาคม 2553 ในชื่อเรื่องว่า "14 มีนาฯ วันวาเลนไทน์"