ผ่าปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น 101 ล้าน “ชัจจ์-สุริยา-สมยศ” เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด?
เปิดปมขัดแย้ง“ชัจจ์ กุลดิลก”รมช.มหาดไทย“สุริยา ลาภวิสุทธิสิน-สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง”ผ่านคำให้การคดีฟ้องเพิกถอนโอนหุ้น 101 ล้าน - แจ้งเท็จ ป.ป.ช. เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด?
ถ้านางวิมลรัตน์ กุลดิลก ไม่ยื่นฟ้องแพ่งนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.-ตำแหน่งขณะนั้น ปัจจุบัน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.)กับพวกรวม 10 คนเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2554 เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นมูลค่า 101,996,000 บาท (คดีหมายเลขดำที่ 830/2553) และไม่ถูกนายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หยิบมาอภิปราย พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
สาธารณชนอาจไม่รู้ว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน และพล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต่างคุ้นเคยกัน
สะท้อนได้จากคำให้การของ นางวิมลรัตน์ ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 และคำให้การของ พล.ต.ท.ชัจจ์ ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 สอดคล้องกันว่ารู้จักกันเป็นอย่างดี
เรียบเรียงคำให้การของ พล.ต.ท.ชัจจ์ได้ดังนี้
@ชัจจ์-เมีย-พล.ต.ท.สมยศ-สุริยา เกลอเก่า
พล.ต.ท.ชัจจ์ให้การว่า เป็นสามีของนางวิมลรัตน์ กุลดิลก ตัว พล.ต.ท.ชัจจ์ นางวิมลรัตน์ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง (จำเลยที่ 3) และนายสุริยา (จำเลยที่ 1) รู้จักกันมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว โดยนายสุริยาเป็นลูกหนี้กู้ยืมเงินจากนางวิมลรัตน์ และ พล.ต.ท.สมยศ มาโดยตลอด
พล.ต.ท.ชัจจ์ และ พล.ต.ท.สมยศ ทราบว่า นายสุริยาเป็นตัวการมีอำนาจควบคุมการดำเนินการกิจการของบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 99.99% ของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (WG)
ในช่วงปี 2549 ต่อเนื่องปี 2551 ครอบครัวของพล.ต.ท.ชัจจ์ และพล.ต.ท.สมศ ต่างก็ทราบว่า นายสุริยา และบมจ.ปิคนิค เกิดปัญหาทางการเงินและมีหนี้สินมากจนต้องมีการเข้าแผนฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต่อมานายสุริยาได้ไปซื้อหุ้นบริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด มาดำเนินกิจการ จนในที่สุด บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด เข้าไปถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 99.91 ของหุ้นทั้งหมด ของบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด จึงมีรายได้จากบริษัทลูกคือ บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีมูลค่ากิจการสูงถึงประมาณ 800 ล้านบาทตามทุนจดทะเบียน สำหรับหุ้นของนายสุริยาใน บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัดนั้นนายสุริยาไม่ได้ถือไว้ในชื่อของตนเอง แต่ได้ให้ตัวแทนลงชื่อถือหุ้นแทน นายสุริยายังคงมีอำนาจควบคุมที่แท้จริงอยู่
@อ้างเสี่ยปิคนิคติดหนี้ 232 ล้าน
พล.ต.ท.ชัจจ์ให้การว่า นายสุริยาเป็นลูกหนี้ของนางวิมลรัตน์ ได้มาขอยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในธุรกิจส่วนตัวมาโดยตลอด การกู้ยืมเงินนั้นมีทั้งการทำสัญญา และไม่ได้ทำสัญญาเงินกู้ บางครั้งก็มีการนำเช็คมาแลกเป็นเงินสด ตลอดจนการซื้อเครื่องประดับเพชรพลอยจากร้านค้าเพชรพลอยของนางวิมลรัตน์ภรรยา
จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2551 นายสุริยามีหนี้สินคงค้างชำระกับนางวิมลรัตน์ภรรยาประมาณ 232 ล้านบาท ซึ่ง พล.ต.ท.ชัจจ์ และนางวิมลรัตน์ได้ติดตามทวงถามให้นายสุริยาชำระหนี้มาโดยตลอด นายสุริยาได้เจรจาชำระหนี้กับนางวิมลรัตน์โดยตกลงจะนำหุ้นของบริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด จำนวน 51%ที่ได้ชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้วมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์ ซึ่งหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของนายสุริยาแต่ให้ตัวแทนถือหุ้นไว้แทนโดย ณ เวลานั้นมีชื่อนายสุวิทย์ สัจจวิทย์ ตัวแทน เป็นผู้ได้รับโดยหุ้นจากนายธรรมนูญ ทองลือ (จำเลยที่ 2) ตัวแทนอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทฯว่าเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งนางวิมลรัน์ กับนายสุริยามีการนัดหมายกันว่าจะดำเนินการโอนหุ้นให้กับนางวิมลรัตน์
ต่อมาวันที่12 พฤศจิกายน 2551 เวลากลางวันนายสุริยาได้นัดนางวิมลรัตน์ให้ไปพบตัวแทนที่ให้ถือหุ้นแทน และผู้เกี่ยวข้อง ที่บริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด (จำเลยที่4) เลขที่ 195/13 ชั้น 12 อาคารเลครัชดา ออฟฟิศคอมเพล็กซ์ ถนนรัชดาฯ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีนายสุริยา นายสุวิทย์ สัจจวิทย์ นายสมบัติ สร้อยเงิน และนายโดนัล เอียน แม็คเบน ซึ่งเป็นกรรมการและนายทะเบียนของบริษัท บริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด และบุคคลอื่นอีก 2-3 คน
นายสุริยาและนายสุวิทย์ได้แจ้งกับนางวิมลรัตน์ว่า นายสุริยาเป็นเจ้าของหุ้น บริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด จำนวน 51% หุ้นหมายเลขที่ 00000001-10199600 จำนวน 10,199,600 หุ้น ที่แท้จริง โดยนายสุริยาให้นางธรรมนูญ ทองลือ เป็นตัวแทนถือไว้แทน และนายสุริยาได้ให้นายธรรมนูญทำหนังสือโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้นายสุวิทย์ สัจจวิทย์ ตัวแทนอีกคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2551 โดยทำเป็นหนังสือการโอนหุ้นลงลายมือชื่อ นายธรรมนูญ ผู้โอน นายสุวิทย์ ผู้รับโอน มีนายสมบัติ สร้อยเงิน และนายสุริยาลงลายมือเป็นพยาน มีนายโดนัล เอียน แม็คเบน ลงลายมือชื่อฐานะนายทะเบียนบริษัท ลงนามรับทราบการโอน ปรากฏตามใบโอนหุ้น ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2551
พล.ต.ท.ชัจจ์ให้การว่า นางวิมลรัตน์ ภรรยา ตกลงรับโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นการชำระหนี้บางส่วนของนายสุริยา จึงได้ทำหนังสือการโอนหุ้นกัน ปรากฏตามหนังสือใบโอนหุ้น ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 ซึ่งหนังสือฉบับดังกล่าวนายสุริยาได้จัดเตรียมมาโดยจัดทำลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 แต่ผู้เกี่ยวข้องลงนามกันจริงๆ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551
@เชิญกินข้าวเจรจาเคลียร์หนี้ที่บ้าน
หลังจากนั้น นางวิมลรัตน์ได้โทรศัพท์แจ้งเรื่องนายสุริยาโอนหุ้นเพื่อชำระหนี้บางส่วนให้ พล.ต.ท.ชัจจ์ทราบเรื่อง พล.ต.ท.ชัจจ์จึงได้เชิญนายสุริยา และนายโดนัล เอียน แม็คเบน มาที่บ้านของพล.ต.ท.ชัจจ์เลขที่ 581/14-15 ถนนประชาอุทิศ ซอยสหการประมูล เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ เพื่อรับประทานอาหารและพูดคุยเรื่องการโอนหุ้นชำระหนี้บางส่วน
พล.ต.ท.ชัจจ์ให้การว่า ในเย็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 นั้นเองในวงอาหาร ได้ร่วมพูดคุยกันถึงเรื่องการโอนหุ้นเพื่อชำระหนี้บางส่วนของนายสุริยาซึ่ง พล.ต.ท.ชัจจ์ ได้แนะนำให้มีการทำหลักฐานไว้ นายสุริยาจึงได้มีการจัดทำเป็นหนังสือข้อตกลงการชำระหนี้โดยเขียนด้วยลายมือของนายสุริยาซึ่งมีนายโดนัล เอียน แม็คเบน ลงนามเป็นพยาน โดยมีข้อตกลงว่า โอนหุ้นของบริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด เป็นหุ้นหมายเลขที่ 00000001-10199600 มูลค่าหุ้นละ 10 บาท คิดเป็นเงิน ประมาณ 101,960,000 บาท โดยเอกสารดังกล่าวทำเพื่อประกอบการโอนหุ้นให้กับ พล.ต.ท.ชัจจ์ โดยมีข้อตกลงเพิ่มเติมว่า หากนายสุริยาชำระหนี้ให้ภายใน 1 ปี นางวิมลรัตน์ภรรยา จะต้องโอนหุ้นคืนให้กับ นายสุริยา หรือ นายสุวิทย์
@คุย“สมยศ”หลัง“สุริยา”เผ่นหนีต่างประเทศ
หลังจากนายสุริยาชำระหนี้บางส่วนด้วยการโอนหุ้นบริษัท แอสเซ็ทฯ ให้กับ พล.ต.ท.ชัจจ์ แล้ว ในเดือนธันวาคม 2551 พล.ต.ท.ชัจจ์ทราบว่านายสุริยาได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถติดต่อได้ พล.ต.ท.ชัจจ์ นางวิมลรัตน์ และ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้พูดคุยปรึกษากันหลายครั้ง เพื่อหาวิธีที่จะได้รับชำระหนี้คืนจากนายสุริยา
พล.ต.ท.ชัจจ์และ พล.ต.ท.สมยศทราบกันอยู่แก่ใจแล้วว่าทรัพย์สินของนายสุริยาที่ยังเหลืออยู่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ได้คือหุ้นบริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด จำนวน 51% ที่นายสุริยาให้ตัวแทนถือหุ้นไว้แทน ซึ่งหุ้นจำนวนนี้นางวิมลรัตน์ได้รับโอนเพื่อชำระหนี้บางส่วนจากนายสุริยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่ง พล.ต.ท.สมยศก็พยายามติดต่อนายสุริยาให้นำหุ้นจำนวนนี้มาชำระหนี้สินของ พล.ต.ท.สมยศเช่นเดียวกันแต่ไม่สามารถติดต่อนายสุริยาได้
ต่อมา พล.ต.ท.ชัจจ์และภรรยาได้ทราบว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาเหลักทรัพย์ (กลต.) ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินผู้ทีถูกกล่าวโทษกรณีทุจริต ยักยอกเงินและทรัพย์สิน บมจ.ปิคนิค โดยมีผู้เกี่ยวข้องคือ บริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด นายทะนงศักดิ์ ศรีทองคำ และนายธรรมนูญ ทองลือ เป็นบุคคลที่ถูกล่าวโทษและถูกอายัดทรัพย์ เป็นเหตุให้นางวิมลรัตน์ ไม่ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นจากจำเลยที่ 2 มาเป็นชื่อของนางวิมลรัตน์เพราะหุ้นดังกล่าวเห็นทรัพย์สินที่ถูกกลต.สั่งอายัดไว้ แต่นางวิมลรัตน์ก็ยังคงยึดถือหุ้นจำนวนดังกล่าวไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ซึ่งนายโดนัล ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ และในฐานะนายทะเบียนบริษัท ได้จดแจ้งชื่อนางวิมลรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นที่ได้รับโอนมาดังกล่าวในสมุดบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด
ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2552 พล.ต.ท.ชัจจ์ นางวิมลรัตน์ พล.ต.ท.สมยศ และนายโดนัล ได้พบพูดคุยกันหลายครั้งเพื่อตกลงเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้น บริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด ทั้ง 100% ชำระหนี้ที่นายสุริยามีต่อนางวิมลรัตน์ และ พล.ต.ท.สมยศ ซึ่ง พล.ต.ท.ชัจจ์ได้ยืนยันให้ พล.ต.ท.สมยศทราบว่า นางวิมลรัตน์ได้รับโอนหุ้นของนายสุริยาที่ให้นายธรรมนูญ ทองลือ ตัวแทนถือไว้ทั้งหมด มาถือครองไว้แล้ว โดยมีหนังสือการโอนหุ้นลงลายมือชื่อพยานถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังไมสามารถไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือได้เพราะ นายธรรมนูญ ทองลือ ถูก กลต.มีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน
@คนสกุลพุ่มพันธุ์ม่วงชิงโอนหุ้น 101 ล้านให้“สมยศ”
พล.ต.ท.ชัจจ์การว่า แต่ตัว พล.ต.ท.ชัจจ์และนางวิมลรัตน์ทราบภายหลังว่า ระหว่างที่มีการเจรจาตกลงกันนั้นว่าเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 นายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง (จำเลยที่ 5) เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท บริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด และนายทนงศักดิ์ ศรีทองคำ ซึ่งเป็นกรรมการของ บริษัท แอสเซท มิลเลี่ยน จำกัด ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อ ในเอกสาร แบบ บอจ. 5 (บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น) ถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่าขอเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในส่วนของ นายธรรมนูญ ทองลือ ทั้งหมดมาเป็นชื่อ พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้ถือหุ้นโดยอ้างว่า พล.ต.ท.สมยศได้รับโอนหุ้นมาจาก นายธรรมนูญ ทองลือ และลงทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 ซึ่งหุ้นที่มีชื่อ พล.ต.ท.สมยศ ดังกล่าวนั้น เป็นหุ้นจำนวนเดียวกับที่นางวิมลรัตน์ได้รับโอนมาจากนายสุริยาที่ให้นายธรรมนูญถือครองแทนไว้ พล.ต.ท.สมยศไม่มีเคยมีกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนดังกล่าว
@ซัดน่าเชื่อทำสัญญาโอนหุ้นย้อนหลัง?
พล.ต.ท.ชัจจ์การว่า สัญญาโอนหุ้นระหว่าง นายธรรมนูญ กับ พล.ต.ท.สมยศ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 นั้นน่าเชื่อว่ามิได้ทำขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2552 จริง แต่เป็นเอกสารที่น่าจะทำขึ้นภายหลัง โดยลงวันที่ ย้อนหลังเป็นวันที่ 11 มีนาคม 2552 ก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2552 อันเป็นวันที่ กลต.มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ นายธรรมนูญ เพื่อให้บุคคลเข้าใจว่าได้มีการซื้อขายโอนหุ้นกันก่อนมีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน นายธรรมนูญ เพราะหากมีสัญญาโอนหุ้นกันเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 จริง นายโดนัลซึ่งเป็นตัวแทนของนายสุริยามาตกลงเรื่องหนี้สินย่อมต้องรับรู้ และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นมาช่วงระหว่างที่ พล.ต.ท.ชัจจ์ นางวิมลรัตน์และนายโดนัล และ พล.ต.ท.สมยศ เจรจาตกลงแบ่งสรรหุ้นกันนั้น พล.ต.ท.สมยศ ไม่เคยบอกให้พล.ต.ท.ชัจจ์ และนายโดนับให้ทราบเลยว่า ได้รับโอนหุ้นมาจากนายธรรมนูญแล้ว มีแต่ พล.ต.ท.สมยศเท่านั้นที่บอกให้ พล.ต.ท.สมยศทราบว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ได้รับโอนหุ้นมาจานายสุริยาและตัวแทนแล้ว
พล.ต.ท.ชัจจ์ให้การว่า การที่นายธรรมนูญ และ พล.ต.ท.สมยศ จัดทำเอกสารการโอนหุ้นดังกล่าว จึงเป็นการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จซึ่งนางวิมลรัตน์ภรรยาได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนและได้ยื่นฟ้องคดีไว้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้
ตอนท้าย พล.ต.ท.ชัจจ์ให้การว่า หุ้นจำนวนดังกล่าวเป็นของนางวิมลรัตน์ภรรยา เมื่อ นายธรรมนูญ และ พล.ต.ท.สมยศ ได้ร่วมกันจัดทำเอกสารและได้โอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่ จำเลยที่ 5 –ที่ 10 จึงได้หุ้นไปโดยไม่ชอบและต้องร่วมกับ พล.ต.ท.สมยศคืนหุ้นจำนวนดังกล่าวแก่นางวิมลรัตน์
คดีนี้นางวิมลรัตน์ฟ้องนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน จำเลยที่ 1 นายธรรมนูญ ทองลือ จำเลยที่ 2 พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จำเลยที่ 3 บริษัท แอสเซ็ท มิลเลี่ยน จำกัด จำเลย ที่ 4 นายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง จำเลยที่ 5 นายสง่า รัตนชาติชูชัย จำเลยที่ 6 นายอดุลย์ บุญรอด จำเลยที่ 7 พ.ต.ท.ธีระ หรือ นายธีระ ทองระยับ จำเลยที่ 8 พ.ต.ท.ภูมินทร์ หรือนายภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง จำเลยที่ 9 นายธีรชัย ลีนะบรรจง จำเลยที่ 10
อย่างไรก็ตาม หลังจากนางวิมลรัตน์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพิกถอนการโอนหุ้นมูลค่า 101,996,000 บาท ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ฝ่าย พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก ตอนรับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ปี 2551 กรณีไม่แจ้งว่ามีกู้ให้ยืมนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน จำนวน 232 ล้านบาท ว่า เข้าข่ายจงใจปกปิดบัญชีฯหรือไม่?
เท่ากับต่างฝ่ายต่างไปพิสูจน์ความจริงกันที่ศาลและที่ ป.ป.ช.
แลกกันคนละหมัดชนิดรู้ตื้น-ลึก หนา-บาง กันดี?