ฮือฮา“ปลาบึก”โผล่ปัตตานี กับเรื่องราวดีๆ ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน
นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ หากใครได้มีโอกาสผ่านไปแถวสะพานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ย่านจะบังติกอ ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี อาจจะสงสัยว่ากำลังมีมหกรรมหรือตลาดนัดกลางคืนที่เรียกกันว่า “ไนท์บาซาร์” กันอยู่หรือเปล่า ทำไมผู้คนถึงเบียดเสียดเยียดยัดกันมากมายถึงขนาดนั้น
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้าง จึงต้องเดินทางไปพิสูจน์ แล้วก็พบความจริงที่น่าตื่นใจกว่า “ไนท์บาซาร์” หลายเท่า เพราะสิ่งที่เจอคือชาวบ้านทั้งไทยพุทธ มุสลิม ต่างอุ้มลูกจูงหลานชักชวนกันไปดู “ปลาบึกยักษ์” ที่มักจะโผล่จากแม่น้ำปัตตานีขึ้นมาอวดโฉมกันให้เห็นตัวเป็นๆ บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติฯ นั่นเอง
และเจ้าปลาบึกยักษ์ที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีแค่ตัวสองตัว แต่มากันเป็นฝูงระดับ 8-10 ตัวกันเลยทีเดียว!
ที่ไหนมีฝูงชน ที่นั่นเป็นต้องมีพ่อค้าแม่ขาย เป็นสัจธรรมแบบไทยๆ ที่เห็นกันทุกภาคไม่เว้นแม้ชายแดนใต้ เมื่อปลาบึกยักษ์ปรากฏกาย และมีชาวบ้านแห่กันมาดูปลาวันละหลายร้อยชีวิต บรรดารถเข็นขายของ ทั้งของกินของเล่น ก็เข็นมาจอดบริการกันแทบจะเต็มสะพาน ปลุกเศรษฐกิจรากหญ้าปัตตานีให้ฟื้นขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบได้อย่างน่าอัศจรรย์
แถมช่วงเวลาชมปลาบึกยักษ์ยังค่อนข้างยาวนาน ตั้งแต่เย็นย่ำค่ำมืดเรื่อยไปจนถึงเช้าตรู่ของอีกวัน บางคนมานั่งเฝ้าหลายชั่วโมงกว่าจะได้เห็นปลาตัวโตสมใจ แต่บางคนเหมือนมีสัญญาใจกับปลา แวะมาแป๊บเดียวปลาก็มาดำผุดดำว่ายให้ได้เห็นแบบไม่ต้องรอ
หลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออกว่า เจ้าปลาบึกหน้าตามันเป็นอย่างไร ก็อยากจะสาธยายให้ฟังว่า ปลาบึกนั้นจัดเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาวเกือบ 3 เมตร โตเต็มที่มีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม ลักษณะของปลาบึกจะมีลำตัวยาวและแบนด้านข้าง ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่ ตามีขนาดเล็ก ไม่มีฟัน มีหนวดสั้นๆ ที่ขากรรไกรบน 1 คู่ ลำตัวจะมีสีเทาออกแดง และเทาแกมฟ้า ใต้ท้องมีสีขาว มีจุดดำจุดหนึ่งตรงตำแหน่งปลายสุดของครีบหู และจุดดำอีกสามจุดบนครีบหาง ครีบทุกครีบเป็นสีเทาจางๆ
เจ้าปลาบึกนี้ปกติอาศัยอยู่เฉพาะในลุ่มน้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น เคยพบมากในรัฐฉานของพม่า และมณฑลยูนนาน ตอนใต้ของประเทศจีน ชอบอยู่ในแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า 10 เมตร ท้องน้ำเป็นกรวด โดยเฉพาะที่มีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำ เจ้าปลาชนิดนี้กินสาหร่ายเป็นอาหาร โดยเฉพาะสาหร่ายที่เกาะตามก้อนหินใต้น้ำ มีนิสัยรักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหล
ประเทศไทยโดยกรมประมงผสมเทียม “ปลาบึก” เป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 และในปีต่อมาก็สามารถเพาะพันธุ์ได้จำนวนมากพอที่จะปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏว่าปลาบึกเจริญเติบโตได้ดี ทุกปีจะมีเทศกาลจับปลาบึกที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ขณะที่อีกหลายพื้นที่นิยมจับมาทำเป็นอาหาร เมนูปลาบึกมักมีราคาแพง ทำให้แต่ละปีมีปลาบึกที่โตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ถูกจับนับร้อยตัว ส่งผลให้ปริมาณปลาบึกในแม่น้ำโขงลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย
คำถามก็คือ แล้วปลาบึกมาโผล่ที่แม่น้ำปัตตานีได้อย่างไร?
ประเด็นนี้ ศราวุธ เจะโส๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี บอกว่า ที่มาของปลาบึกฝูงนี้น่าจะมาจาก 2 แหล่ง คือ 1.จากเขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ 2.มาจากแม่น้ำปัตตานีเอง เนื่องจากเป็นปลาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานีเคยนำมาปล่อย ครั้งแรกเคยปล่อยจำนวน 99 ตัวเมื่อปีพ.ศ.2528 จากนั้นก็มีการนำพันธุ์ปลาบึกมาปล่อยตลอด
“ส่วนตัวผมเชื่อว่าปลาบึกที่เห็นบริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นปลาที่เราเคยนำมาปล่อยเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว และเมื่อได้อยู่ในที่ที่อุดมสมบูรณ์ ตัวมันจึงใหญ่เร็ว แต่ปลาพวกนี้ไม่ใช่ปลาท้องถิ่นบ้านเรา เป็นปลาจากแม่น้ำโขง แต่มันสามารถขยายพันธุ์ได้”
“ปลาบึกฝูงนี้มันจะไม่ไปไกลกว่าสะพานเฉลิมพระเกียรติฯ เพราะจุดนี้เป็นจุดสุดท้ายที่น้ำทะเลเข้ามาไม่ถึง ส่วนสะพานเดชานุชิตที่อยู่ถัดไปทางปากแม่น้ำนั้น น้ำจะเค็ม ปลาไม่ชอบ ฉะนั้นก็จะวนเวียนอยู่แถวๆ ที่เห็นนี้”
อย่างไรก็ดี ศราวุธ บอกว่า ปรากฏการณ์ปลาบึกโผล่แม่น้ำปัตตานี ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจสำหรับคนในแวดวงประมง เพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว เนื่องจากเคยนำพันธุ์ปลามาปล่อยเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับประชาชนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ฉะนั้นควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน โดยเฉพาะข้อควรระวังที่ต้องรับรู้ก็คือ สิ่งที่อันตรายที่สุดของปลาพวกนี้คือเบ็ด ส่วนอวนของชาวบ้านมักจะทำอะไรมันไม่ได้ เพราะมันอยู่ในน้ำลึก
จากการสอบถามประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หลายคนเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า เคยจับปลาบึกได้มาแล้ว แต่เป็นตัวเล็กกว่าที่มาว่ายวนเวียนอยู่ในขณะนี้ คือมีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัมเท่านั้น แต่หลังจากที่จับได้ก็เป็นที่โจษขานกันต่อๆ มาว่าพบปลาบึกในแม่น้ำปัตตานี บริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติฯ กระทั่งมีชาวบ้านจากต่างถิ่นทั้ง จ.ยะลา และนราธิวาส เดินทางมาดู
พาตียะห์ บือราเฮง ชาวบ้านริมแม่น้ำปัตตานี บอกว่า ตอนแรกๆ คนไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ปลาก็โผล่ขึ้นมาบ่อย แต่หลังๆ เมื่อคนมาดูเยอะขึ้น ปลาไม่ค่อยออกมา ไม่รู้ทำไม แต่ยิ่งนานวันคนก็ยิ่งมามากขึ้นกว่าเก่า
“เวลาสัก 3 ทุ่ม มองไปบนสะพานจะเห็นแต่คนกับรถ ส่วนปลาจะมาให้ดูหรือเปล่าไม่รู้นะ เพราะบางคืนก็มา บางคืนก็ไม่มา แต่แถวนี้กลายเป็นตลาดไปเลย มีทั้งชาวบ้านและพ่อค้าแม่ค้านำของมาวางขายเรียงรายเต็มไปหมด มีทุกอย่างทั้งของเล่น ของกิน เพราะคนมาเยอะจริงๆ บางคนก็มารถส่วนตัว บางคนถึงขั้นเหมารถกันมา ซอยทุกซอยแถวจะบังติกอไม่มีเหลือที่ว่างให้จอดรถเลย” พาติยะห์ บอก
ขณะที่ ซุกกรี ยาแลแต ซึ่งเดินทางมาค่อนข้างไกลจาก อ.เมือง จ.ยะลา เล่าว่า มาทุกคืนเลย แต่ยังไม่เคยเห็นปลาบึกสักที เพราะกว่าจะจอดรถได้ กว่าจะมาหาที่ยืน จากนั้นก็ต้องรอนานเป็นชั่วโมงๆ อีก แต่ก็ไม่ได้เห็น สงสัยดวงไม่ดี เพราะคนอื่นบอกว่ามาครั้งเดียวได้เห็นเลย
“ผมจะมาเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เห็น อยากรู้ว่ามันสวยขนาดไหน ตัวใหญ่อย่างที่คนเอาไปพูดจริงหรือเปล่า บางคนบอกว่าคนเยอะๆ ปลาจะไม่กล้าออกมาเล่นน้ำ ถ้าคนน้อยๆ ปลาจะออกมา ฉะนั้นต้องรอคนเงียบ โดยเฉพาะตอนหัวรุ่ง (เช้ามืด)”
ด้าน นางแมะ โต๊ะสามอโต๊ะ ชาวบ้านจาก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รายนี้ได้เห็นปลาบึกตัวเป็นๆ มาแล้วหลายครั้ง
“ได้มาดูหลายรอบแล้ว ตัวมันใหญ่มาก ยาวด้วย ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน สวยมากเวลามันขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ มันจะโชว์หางของมันให้เราดู บางวันมาก็เห็น บางวันก็ไม่เห็น แต่ก็อยากดูทุกวัน หลัง 1 ทุ่มจะเหมารถกันมาหลายๆคน กลับบ้านประมาณตี 3”
นางแมะ บอกว่า ปลาบึกคือความโชคดีของพี่น้องชาวปัตตานี เพราะทำให้ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่โดยไม่ต้องเดินทางไปดูที่ไหนไกล แถมยังทำให้เศรษฐกิจแถวนี้ดีขึ้น ทุกอย่างขายดีหมด ร้านอาหารแถวริมน้ำก็มีคนมากินเต็มทุกคืน คิดว่าเป็นเพราะปลาบึกสร้างปรากฏการณ์
กระแสเงินสะพัดเพราะปลาบึกเป็นเรื่องจริงที่ได้รับคำยืนยันจาก สามะแอ สาและ พ่อค้าขายไอศรีม ที่บอกว่าปกติถ้าไม่มีปลาบึก ค่ำๆ ก็ต้องกลับบ้านนอนแล้ว เพราะขายไม่ได้ แต่พอมีปลาบึก ก็ทำให้ขายไอศครีมได้ดีขึ้น บางวันต้องสั่งเพิ่มเพราะเท่าที่มีอยู่ไม่พอขาย จากปกติขายได้แค่วันละ 200-300 บาท เดี๋ยวนี้ขายได้ 500 บาท บางวันมากถึง 1,000 บาท
เช่นเดียวกับ แอเสาะ มอลอ เจ้าของร้านอาหารริมแม่น้ำ ที่บอกว่า นับตั้งแต่เริ่มมีปรากฏการณ์ปลาบึก อาหารที่ร้านขายดีทุกอย่าง โดยเฉพาะข้าวยำกับน้ำชา มีลูกค้ามานั่งเต็มร้านทุกคืน ตั้งแต่หัวค่ำถึงตี 3 บางวันก็มีกลุ่มวัยรุ่นนั่งเฝ้าปลาจนสว่างก็ยังเคย
“ฉันเองก็เคยไปนั่งเฝ้า แต่ก็ไม่เคยเห็นสักครั้งเดียว แต่อาจเป็นเพราะไม่มีเวลาไปเฝ้านาน เนื่องจากพะวงขายของ ช่วงนี้ขายดีมากๆ จนขายกันไม่ทัน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ได้แต่นั่งเฝ้าร้าน” แอเสาะ กล่าว
ปรากฏการณ์ปลาบึกจึงกลายเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจรากหญ้าปัตตานี...ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง!
------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กับ 3 - ป้ายประชาสัมพันธ์จุดชมปลาบึกบนสะพานเฉลิมพระเกียรติฯ และร้านค้าจำพวกรถเข็นที่มารอให้บริการนักเฝ้าปลา
2 - ปลาบึกยักษ์ที่เคยถูกจับได้จากแม่น้ำโขง
4 - ไนท์บาซาร์บนสะพานกลางเมืองปัตตานี