เปิดโครงสร้าง ศปก.กปต.ดับไฟใต้ นายกฯลุยเอง-ตั้งรมต.คุม3กลุ่มงาน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนในรัฐบาลพูดถึงการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้หลายครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงในสภาช่วงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงโครงสร้างใหม่ที่กำลังนำมาใช้ ขณะที่รัฐมนตรีหลายรายก็บอกว่าได้รับคำสั่งที่นายกฯลงนามให้ไปรับผิดชอบงานด้านต่างๆ ในภารกิจดับไฟใต้แล้ว จนทำให้เกิดความสับสนพอสมควร
เพราะโครงสร้างใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต.นั้น นายกฯยังไม่ได้ลงนามอย่างแน่นอน
รื้อโครงสร้าง กปต.-นายกฯนั่งประธาน
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งปรับโครงสร้างคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กปต. ส่วนโครงสร้าง ศปก.กปต.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา
โครงสร้าง กปต.เดิมมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา สมัยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงนั่งเป็นประธาน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2555 เพื่อทำหน้าที่ประสานการขับเคลื่อนงานของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ โดยมีการประชุมใหญ่นัดแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ค.2555 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และคลอดแผนยุทธศาสตร์ 9 ข้อ 29 เป้าหมาย และ 5 แนวทางขับเคลื่อน
อย่างไรก็ดี ในการปรับ ครม.เที่ยวล่าสุด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี จึงไม่มีใครดำรงตำแหน่งประธาน กปต. จึงปรับแก้ให้นายกฯเป็นประธาน กปต.ด้วยตัวเอง พร้อมกันนั้น นายกฯก็ได้ลงนามแต่งตั้ง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน กปต. คุมงานด้านความมั่นคง การพัฒนา และการอำนวยความยุติธรรมตามลำดับ
ชงโมเดล ศปก.กปต.ให้นายกฯพิจารณา
ส่วนโครงสร้าง ศปก.กปต.ที่จะเป็นข้อต่อเชื่อมระหว่าง กปต.ซึ่งบูรณาการงานของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจดับไฟใต้ กับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นั้น พล.ท.ภราดร บอกว่า ได้เสนอโมเดลขึ้นไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว
ศปก.กปต.เป็นองค์กรที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงดำริขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานส่วนหน้า คือ หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ กับหน่วยงานส่วนหลัง คือ 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน และรัฐบาล เดิมใช้ชื่อ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.จชต.จากการประชุม กปต.เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2555 หลังเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด หรือเดือนรอมฎอน
ปัญหาของ ศปก.จชต.
อย่างไรก็ดี การตั้ง ศปก.จชต.ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาด้านข้อกฎหมาย เพราะ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ที่ตราขึ้นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้จัดวางโครงสร้างการบริหารจัดการและการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้เอาไว้อย่างครอบคลุม มีองค์กรรับผิดชอบชัดเจน นำโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อยู่แล้ว และเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่รับผิดชอบโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ควบคุมและเชื่อมประสานยุทธศาสตร์ 2 ขา (ความมั่นคงและการพัฒนา) ในภาพรวม
การตั้ง ศปก.จชต.จึงสุ่มเสี่ยงต่อการถูกตีความว่าเป็นการตั้ง "องค์กรใหม่" ขึ้นมาโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งอาจขัดต่อ พ.ร.บ.ศอ.บต. ทำให้เบื้องต้นรัฐบาลต้องเลี่ยงไปใช้ชื่อ ศปก.กปต. หรือศูนย์ปฏิบัติการของคณะกรรมการ กปต.ที่รัฐบาลตั้งขึ้นแทน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สมช.ก็พยายามเสนอโมเดลที่น่าจะได้ผลในแง่ปฏิบัติและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
โครงสร้างใหม่จัด 3 กลุ่มงาน-5 ภารกิจ
สำหรับโครงสร้าง ศปก.กปต.ที่ สมช.เพิ่งเสนอขึ้นไปนั้น จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.) แบ่งงานออกเป็น 3 กลุ่มงานหลักๆ ได้แก่ กลุ่มงานด้านความมั่นคง มี พล.อ.อ.สุกำพล เป็นผู้รับผิดชอบ กลุ่มงานด้านการพัฒนา มี ร.ต.อ.เฉลิม และ นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ และกลุ่มงานด้านกฎหมายและความยุติธรรม มี นายพงศ์เทพ เป็นผู้รับผิดชอบดูแล
ทั้งนี้ จาก 3 กลุ่มงานได้แยกย่อยออกเป็น 5 ภารกิจ และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วย
1.ภารกิจการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เป็นเจ้าภาพ
2.ภารกิจด้านการพัฒนาและอำนวยความเป็นธรรม มี ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพ
3.ภารกิจด้านกฎหมายและความยุติธรรม มีกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพร่วมกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
4.ภารกิจด้านการสร้างความเข้าใจ มีกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ
5.ภารกิจด้านประสานความร่วมมือ มี สมช.เป็นเจ้าภาพ
นายกฯลุยเอง-ไม่ต้องตั้งรัฐมนตรีคุมใต้
สำหรับหน่วยปฏิบัติหลักในพื้นที่จะมี 2 หน่วยทำงานประสานกันเหมือนเดิม คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กับ ศอ.บต. ขณะที่งานของ 17 กระทรวง 66 หน่วยงานจะบูรณาการผ่าน กปต. และมี ศปก.กปต.เป็นตัวเชื่อมในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่
การจัดวางโครงสร้างลักษณะนี้ เท่ากับนายกรัฐมนตรีจะลงมารับผิดชอบปัญหาชายแดนภาคใต้โดยตรง และมีรองนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลกลุ่มงานต่างๆ จึงไม่จำเป็นต้องตั้งรัฐมนตรีขึ้นมารับผิดชอบเป็นการเฉพาะ หรือส่งรัฐมนตรีลงไปทำงานในพื้นที่เต็มเวลาเหมือนในรัฐบาลชุดที่แล้ว
ฝ่ายปฏิบัติหนุน-มั่นใจแก้ปมไร้เอกภาพ
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอยู่ในโครงสร้าง กปต.ในส่วนงานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายและบริหารงานยุติธรรม กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า หากสุดท้ายโครงสร้างการบริหารจัดการออกมาลักษณะนี้ ก็เท่ากับฝ่ายการเมืองลงมากำกับดูแลงานในระดับปฏิบัติเอง และลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น รวมทั้งกำหนดกลุ่มงานและตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรง ถือเป็นแนวทางใหม่ และน่าจะช่วยขจัดปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพ รวมถึงปัญหาเรื่องการประสานงานได้
อย่างไรก็ดี โครงสร้างลักษณะนี้ สมช.ต้องรับบทหนัก เพราะต้องเป็นหน่วยงานเชื่อมประสาน "ส่วนหลัง" ซึ่งหมายถึง 17 กระทรวงกับ 66 หน่วยงาน และ "ส่วนหน้า" คือ กอ.รมน. กับ ศอ.บต.
"ยกตัวอย่างงานยุติธรรม เรื่องปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ตามโครงสร้างนี้ผมในฐานะรองปลัดฯสามารถรายงานตรงถึงรองนายกฯได้เลย และงานก็สามารถดันลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้ทันทีผ่านกลไก ศปก.กปต. แต่หากข้อเสนอนั้นมีปัญหาในส่วนหน้าคือระดับปฏิบัติ สมช.ก็จะรวบรวมปัญหาแล้วส่งกลับไปที่ กปต.ซึ่งบูรณาการงานส่วนหลังอยู่ และแยกกลุ่มงานเอาไว้ชัดเจนแล้ว ก็จะแก้ไขปัญหานั้นในระดับกลุ่มงาน ซึ่งมีรองนายกฯดูแล แต่หากเป็นเรื่องใหญ่หรือเหลือบ่ากว่าแรง หรือเกี่ยวโยงกับหลายกระทรวง ก็ต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา"
"กลไกการทำงานแบบนี้จะทำให้หน่วยงานที่อยู่ในส่วนกลางขาไม่ลอย และมีข้อต่อเชื่อมไปถึงทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติโดยผ่าน ศปก.กปต. ซึ่งมี สมช.เป็นผู้ประสานงาน" นายชาญเชาวน์ ระบุ
ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างและการจัดทัพดับไฟใต้ล่าสุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์!
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนผังโครงสร้าง ศปก.กปต.ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ และอยู่ระหว่างรอนายกรัฐมนตรีลงนาม
ขอบคุณ : ทีมกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : บางส่วนของข่าวชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 ธ.ค.2555 ด้วย