ซากความฝันของเด็กใฝ่เรียน...กลางเถ้าถ่านโรงเรียนบ้านบางมะรวด
"ฮาฟิซเอาแต่นั่งมองดูตึกเรียนที่ถูกไฟไหม้จนเหลือแต่โครง ตั้งแต่เช้ายังไม่ลุกไปไหน ฮาฟิซอยากเรียนหนังสือมาก แม้อายุยังไม่ถึงเพราะแค่ 3 ขวบ แต่ก็มาโรงเรียนทุกวัน ไม่มาเก็บขยะก็มาช่วยภารโรงเก็บหญ้า วันนี้ก็มาตั้งแต่เช้า แม่ตามให้กลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ นั่งเฝ้ามองอยู่อย่างนั้น"
เป็นคำบอกเล่าของ มะลี มามะ วัย 57 ปี ชาวบ้านบางมะรวด ที่พูดถึงหลานชายตัวเล็กๆ ของเขา กับเถ้าถ่านของอาคารเรียนโรงเรียนบ้านบางมะรวด อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่ถูกเพลิงไหม้จนวอดเมื่อหลังเที่ยงคืนของวันพุธที่ 28 พ.ย.ต่อเนื่องวันพฤหัสบดีที่ 29 พ.ย.
อาคารที่ถูกเพลิงเผาเป็นอาคารหลักของโรงเรียน ปลูกสร้างแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น เพลิงที่โหมกระหน่ำไม่ได้เผาทำลายแค่เสา ข้างฝา และหลังคาตึกเรียนเท่านั้น แต่ยังพล่าผลาญคอมพิวเตอร์หลายสิบเครื่อง กับแทบเล็ตใหม่เอี่ยมอีก 80 เครื่องที่เพิ่งได้รับมอบจากรัฐบาลด้วย
แม้สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ยังคงเป็นปริศนาของฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่กับชาวบ้านดูเหมือนทุกอย่างจะกระจ่างแจ้งหมดแล้ว แม้ว่า มูฮัมหมัด เจะเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางมะรวด จะยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ว่าต้นเหตุความเป็นได้อาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรเท่าๆ กับการลอบวางเพลิงจากผู้ไม่หวังดีก็ตาม
มะลี มามะ ชาวบ้านบางมะรวดวัย 57 ปี บอกว่า น่าจะเป็นการลอบวางเพลิง เพราะก่อนหน้านี้มีชายแปลกหน้ามาจากที่ไหนไม่รู้พยายามเข้าไปงัดหน้าต่างด้านข้างของโรงเรียนแต่ไม่สำเร็จ เพราะในโรงเรียนมีครูและเจ้าหน้าที่เข้าออกเป็นประจำ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนก็เกิดเพลิงไหม้
ขณะที่ข้อมูลจากอีกหลายแหล่งระบุว่า โรงเรียนแห่งนี้เคยถูกวางเพลิงเผาจากผู้ไม่หวังดีมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไหม้เสียหายไปเพียงบางส่วน ไม่วอดหมดทั้งอาคารเหมือนคราวนี้
สิ่งที่น่าหนักใจก็คือ โรงเรียนบ้านบางมะรวดเกิดเพลิงไหม้ในช่วงที่โรงเรียนทั่วปัตตานีปิดการเรียนการสอนชั่วคราวจากปัญหาความไม่ปลอดภัย หลังเกิดเหตุคนร้ายลอบยิง ครูนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิต เมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุดแกนนำครูได้พบปะหารือกับฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ตกลงใจจะเปิดการเรียนการสอนพร้อมกันในวันจันทร์ที่ 3 ธ.ค.นี้ แต่โรงเรียนบ้านบางมะรวดอาจจะต้องหยุดยาว เพราะอาคารและอุปกรณ์การเรียนการสอนเสียหายไปมากจากพระเพลิง
สภาพการณ์ที่ทำให้ต้องปิดเรียนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ชาวบ้านหลายคนรู้สึกเจ็บปวด...
"ที่ผ่านมาโรงเรียนก็ประกาศปิดการเรียนการสอนอยู่แล้วตามมติสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็รู้สึกเสียกำลังใจและไม่เข้าใจว่าทำไมครูต้องปิดโรงเรียนทั้งจังหวัดด้วย เพราะบางโรงเรียนไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่พอต่อมาโรงเรียนมาถูกเผาอีก ยิ่งรู้สึกใจหายมาก เพราะเกรงจะกระทบถึงการศึกษาของลูกหลาน" มะลี มามะ กล่าว
และว่า "เรามันคนจน ไม่มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีแต่การศึกษาเท่านั้นที่จะมอบให้ลูกหลานได้ เพื่อให้ลูกหลานมีความรู้ สามารถอยู่รอดในสังคม เมื่อโรงเรียนมาถูกเผาและจะต้องปิดยาวจึงรู้สึกแย่มากๆ"
แต่คนที่ดูอาการแล้วแย่กว่า น่าจะเป็นหลานชายวัย 3 ขวบของมะลี ที่ชื่อ ฮาฟิซ ลาเต๊ะ
"ฮาฟิซเอาแต่นั่งมองดูตึกเรียนที่ถูกไฟไหม้จนเหลือแต่โครง ตั้งแต่เช้ายังไม่ลุกไปไหน ฮาฟิซอยากเรียนหนังสือมาก แม้อายุยังไม่ถึงเพราะแค่ 3 ขวบ แต่ก็มาโรงเรียนทุกวัน ไม่มาเก็บขยะก็มาช่วยภารโรงเก็บหญ้า วันนี้ก็มาตั้งแต่เช้า แม่ตามให้กลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ นั่งเฝ้ามองอยู่อย่างนั้น และไม่พูดกับใครเลย ทั้งที่เป็นเด็กชอบพูดชอบคุย เห็นอะไรก็จะตั้งคำถามตลอด" มะลี เล่าถึงอาการของหลานชาย
โรงเรียนบ้านบางมะรวดมีนักเรียน 520 คน ครู 30 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 แน่นอนว่าโรงเรียนแห่งนี้ไม่ใช่แห่งแรกที่ถูกเพลิงเผา เพราะแม้แต่โรงเรียนบ้านบางมะรวดเองก็ถูกลอบวางเพลิงมาแล้วถึง 3 ครั้ง
สามวันก่อนหน้าก็เพิ่งเกิดเหตุระทึกขวัญกับโรงเรียนบ้านบาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อมีคนร้ายใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 ยิงถล่มฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 7024 (ร้อย ร.7024) หน่วยเฉพาะกิจยะลา 15 ซึ่งตั้งอยู่ข้างโรงเรียนบ้านบาเจาะ และสะเก็ดระเบิดบางส่วนกระเด็นเข้าไปในโรงเรียน ทำให้อาคารห้องสมุดได้รับความเสียหาย และผู้อำนวยการโรงเรียนต้องสั่งปิดการเรียนการสอน 1 วัน
โรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีมากกว่า 1,300 โรง พื้นที่นี้มีประชากรกว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลามและใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาในการสื่อสาร จากปัญหาเดิมเรื่องหลักสูตรการศึกษาที่ไม่ค่อยสนองตอบกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเมื่อเทียบกับนักเรียนในภูมิภาคอื่นของประเทศอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว และยิ่งย่ำแย่หนักเข้าไปอีกเมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ตลอด 9 ปีไฟใต้ โรงเรียนถูกวางเพลิงเผามากกว่าร้อยครั้ง ครูถูกล่าสังหารไปแล้ว 154 ศพ บาดเจ็บอีก 150 ราย ในจำนวนนี้ทุพพลภาพ 6 คน
เหตุการณ์สังหารโหดครูนันทนาซึ่งเป็นครูผู้หญิงวัย 51 ปี และเป็นถึงระดับผู้อำนวยการโรงเรียน ทำให้สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตัดสินใจสั่งให้โรงเรียน 332 แห่งใน จ.ปัตตานี ปิดการเรียนการสอนจนกลายเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้งจากดินแดนปลายด้ามขวาน
ครูบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำคณะตัวแทนครูจาก จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ขึ้นรถบัสโดยสารเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พ.ย.และตั้งวงพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาสวัสดิภาพและสวัสดิการของครูชายแดนใต้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล กับครูบุญสมในฐานะตัวแทนครู เห็นตรงกันทั้งในเรื่องการปรับมาตรการคุ้มครองครู โดยเฉพาะการเพิ่ม "ชุดคุ้มครองจากชุมชน" เข้าไปเสริมการทำงานของทหาร ตำรวจ และเพิ่มสวัสดิการโดยเฉพาะ "เบี้ยเสี่ยงภัย" จากเดือนละ 2,500 บาท เป็น 3,500 บาท โดยครูบุญสมบอกว่าอยากให้ได้เพิ่มกันทุกคน ทั้งครูโรงเรียนสายสามัญของรัฐ ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา และครูอัตราจ้าง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
ครูบุญสม สะท้อนความรู้สึกเอาไว้ในรายการ "คมชัดลึก" ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นชันแนล เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พ.ย.ว่า ทุกรัฐบาลก็รับปากกับครูแบบนี้ แต่แทบไม่เคยเห็นผลในทางปฏิบัติ จึงหวังว่าข้อตกลงที่ได้ตกปากรับคำกันในรัฐบาลชุดนี้ จะปรากฏเป็นรูปธรรมจริงๆ เสียที
ก่อนที่ครูชายแดนใต้จะมีแต่ความทรงจำอันเลวร้าย และเรื่องเล่าของความสูญเสีย...
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 หนูน้อยฮาฟิซ ในอ้อมแขนของมะลี กับซากปรักหักพังของโรงเรียนบ้านบางมะรวด
3 ด้านหน้าโรงเรียนบ้านบางมะรวดมีทหารประจำการอยู่อย่างแข็งขัน
4 อาคารที่ถูกเพลิงเผา (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)