6 ปีกรือเซะกับความจริงอันปวดร้าว และชีวิตหลังฝันร้ายของ"รอสะนิง"
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
วันที่ 28 เมษายนปีนี้ คือวันครบรอบ 6 ปีของ “เหตุการณ์กรือเซะ” ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ปะทะกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กับกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ที่ส่วนใหญ่มีมีดกับไม้เป็นอาวุธ บุกโจมตีป้อมจุดตรวจกว่า 10 แห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเช้ามืดวันที่ 28 เมษายน 2547 จนมีผู้เสียชีวิตถึง 108 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่
จุดใหญ่ที่สุดของเหตุการณ์อยู่ที่มัสยิดกรือเซะ เพราะมีผู้ที่ต้องพบจุดจบถึง 32 ราย...
ร้อยกว่าชีวิตที่เป็นวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมต้องจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับนานกว่า 6 ปีแล้ว หากนับรวมผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมด้วย ตัวเลขพุ่งสูงถึง 124 ชีวิต ถึงวันนี้ผู้คนในสังคมนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบไม่มีใครจำได้หรือเอ่ยถึงเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน แต่สำหรับความรู้สึกของ “คนข้างหลัง” ซึ่งหมายถึงครอบครัว พ่อแม่ ลูกเมียของเหยื่อความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้น ยังคงเจ็บปวดอย่างยากที่จะลืมเลือน
เมื่อถึงวันที่ 28 เมษายน หลายๆ คนจึงเลือกที่จะไม่เดินทางผ่านมัสยิดกรือเซะ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ตันหยงลูโละ นอกเมืองปัตตานี เพราะไม่อยากหวนคิดถึงภาพเหตุการณ์เมื่อ 6 ปีก่อน และสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าความทรงจำอันเลวร้ายก็คือชะตาชีวิตของบุตรและภรรยาของเหยื่อในเหตุการณ์ ซึ่งแทบไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ เพียงเพราะพวกเธอและเขาเป็นคนในครอบครัวของผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็น “กลุ่มก่อความไม่สงบ”
6 ปีกับคดีที่ไม่คืบหน้า
ห้วงเวลา 6 ปีหลังเกิดเหตุการณ์กรือเซะ มีคดีความเกิดขึ้นมากมาย เฉพาะที่น่าสนใจและมีความคืบหน้าคือ คดีที่จุดตรวจบ้านกรือเซะ คดีที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี และคดีที่จุดตรวจเกาะหม้อแกง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
- คดีจุดตรวจบ้านกรือเซะ มีคดีแยกย่อยออกไปอีก 3 คดีคือ
1.คดีอาญาที่ 374/2547 เรื่องร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำวิสามัญฆาตกรรม
2.คดีชันสูตรพลิกศพ ช.3/2547 เรื่องตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ ระหว่างนายตำรวจผู้ร้อง กับ นายสการียา ยูโซ๊ะ และพวกรวม 32 คน ผู้ตาย
3.คดีอาญาที่ 358/2547 เรื่องร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ระหว่างนายตำรวจผู้ร้อง กับ นายสการียา ยูโซ๊ะ และพวกรวม 32 คน ผู้ต้องหา
ผลการดำเนินคดีตามข้อ 2 (คดีชันสูตรพลิกศพ) ศาลจังหวัดปัตตานีสรุปสำนวนการสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง ส่วนคดีข้อ 3 (คดีอาญาที่ 358/2547) อัยการจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดี เนื่องจากผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย ส่วนคดีวิสามัญฆาตกรรมซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องหานั้น แทบไม่มีความคืบหน้า
- คดีที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่ลาน มีคดีแยกย่อย 2 คดี ได้แก่
1.คดีอาญากล่าวหาเจ้าหน้าที่ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยอ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ (คดีวิสามัญฆาตกรรม) คดีนี้ศาลสั่งให้ยุติการดำเนินคดีแล้ว
2.คดีหมายเลขดำที่ 647/2547 และคดีหมายเลขแดงที่ 114/2548 เรื่องความผิดต่อชีวิต พยายามปล้นทรัพย์สิน ตระเตรียมการบุกรุก มีอาวุธปืน โดยมีพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีโจทก์ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ จำเลย ผลการดำเนินคดี ปัจจุบันจำเลยถูกควบคุมตัวที่เรือนจำบางขวาง กรุงเทพมหานคร
- คดีจุดตรวจเกาะหม้อแกง ศาลสั่งยุติการดำเนินคดี เนื่องจากผู้ก่อเหตุเสียชีวิต
เยียวยาชำรุด
ด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนทั้งหมด 107 ราย เนื่องจากฝ่ายรัฐมองว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ จึงทำให้ไม่สามารถมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาตามเกณฑ์ได้ ส่งผลให้แต่ละครอบครัวได้รับเฉพาะค่าทำศพรายละ 20,000 บาทเท่านั้น
และแม้ตลอดมาจะมีองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรเข้าไปช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ต่อเนื่องและไม่ทั่วถึง หลายครอบครัวตกสำรวจ
อย่างไรก็ดี จากความพยายามผลักดันของทุกฝ่าย ล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติให้ครอบครัวผู้สูญเสียทุกรายอยู่ในเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว
จากการลงพื้นที่เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมของทีมงานจากศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 ร่วมกับหลายๆ องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และภาคประชาสังคม เพื่อเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้สูญเสีย 17 ครอบครัวในพื้นที่ อ.แม่ลาน อ.ยะหริ่ง อ.ยะรัง และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พบว่า หลายครอบครัวมีฐานะยากจน และมีลูกมาก ในขณะที่การทำมาหากินเป็นไปอย่างฝืดเคือง ทุกครอบครัวอยู่ในภาวะหมดหวัง
ตามดูชีวิต 17 ครอบครัว
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 (รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) กรมสุขภาพจิต ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจเยียวยาปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อน ในโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ได้ประสบจากการลงพื้นที่ว่า หลายครอบครัวยังคงเดือดร้อน ยากจน แม้กระทั่งหลังคาบ้านก็รั่ว น้ำหยดเวลาฝนตก บางครอบครัวมีลูกหลายคน บางครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตคือลูก ทิ้งแม่วัยชราไว้เพียงลำพัง ไม่มีคนดูแล และไม่รู้จะพึ่งใคร
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือชาวบ้านรู้สึกเอือมระอากับการไปเยือนของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยที่เข้าไปขอข้อมูลและให้ความหวังหลายอย่าง แต่สุดท้ายก็ขาดการติดต่อไป จากที่ได้พูดคุยกับครอบครัวผู้สูญเสีย หลายครอบครัวพูดถึงเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา เรื่องทุนการศึกษา โดยบอกว่าภาครัฐให้ไม่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลมากี่ครั้งก็ตาม 17 ครอบครัวที่ไปเยี่ยม มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้ทุนการศึกษา อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้เลย จึงไม่แปลกที่คณะของหมอที่เข้าไปจะถูกครอบครัวผู้สูญเสียถามเหมือนกันว่ามาทำไมอีก คงเป็นเพราะผิดหวังกับหน่วยงานของรัฐ และฝังอยู่ในใจตลอดมา”
“มีบ้านหนึ่งที่เข้าไปเยี่ยม ผู้หญิงที่กลายเป็นเสาหลักของบ้านเล่าให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีหน่วยงานหนึ่งมาบอกว่าจะให้ทุนการศึกษา ภายใน 2 วันให้ไปเอาหลักฐานมาให้หมด ทำให้หลังจากนั้น 2 วันเต็มๆ เธอต้องวิ่งวุ่น แต่พอเวลาผ่านไป ทุกอย่างกลับเงียบหาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถามคนที่มาติดต่อก็ไม่พูดถึงอีกเลย นี่คือสิ่งที่เขาคาดหวังกับรัฐ แต่รัฐกลับทำให้ความหวังของพวกเขามลายหายไป”
แพทย์หญิงเพชรดาว บอกด้วยว่า อยากให้หน่วยงานรัฐปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เพราะแม้คนเหล่านี้จะเป็นครอบครัวของผู้ก่อเหตุ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่มีใครรู้เรื่องด้วยเลย
“เวลาก็ล่วงเลยมา 6 ปีแล้ว หมอไม่อยากให้ใครก็ตามมองครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ 28 เมษายนว่าเป็นครอบครัวผู้ก่อการ เพราะในสิ่งที่สามีหรือลูกทำไป เธอเหล่านั้นไม่รู้เรื่องเลย อย่าลืมว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตมีหลายสิบครอบครัว ทุกคนมีลูกมีภรรยา มีพ่อมีแม่ ถ้ารัฐไม่ช่วยเหลือดูแลในฐานะเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน ความสงบสุขที่แท้จริงคงไม่เกิดขึ้น”
ล้มได้แต่อย่าท้อ
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤติก็มีหลายคนที่พลิกเป็นโอกาสได้เหมือนกัน ซึ่ง หมอเพชรดาว มองว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ...
“กรณีของ รอสะนิง สาและ หญิงสาววัย 24 ปี ชาวอำเภอแม่ลาน เธอสูญเสียสามีในเหตุการณ์กรือเซะ แต่แทนที่เธอจะท้อ เธอกลับเข้มแข็ง ทุ่มเททำมาหากินเลี้ยงลูกเล็กๆ 1 คน เมื่อเธอดูแลตัวเองได้ ยังหันไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ประสบชะตากรรมเดียวกันด้วย ส่วนตัวของรอสะนิงเอง แม้จะแต่งงานใหม่แล้ว แต่ก็ยังดูแลครอบครัวของสามีที่เสียชีวิต”
“เรื่องราวของ รอสะนิง เป็นตัวอย่างของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่มีบทบาทอะไรเลยในชุมชนของเธอเอง แต่ตอนนี้เธอสามารถเป็นตัวแทนของผู้หญิงในหมู่บ้าน เป็นกระบอกเสียงให้กับคนอื่นได้ และที่สำคัญ เธอผลักดันตัวเองด้วยการเรียนต่อที่วิทยาลัยชุมชน โดยที่เจ้าตัวคาดหวังอยากเป็นครู ซึ่งอีกไม่นานเธอก็คงได้เป็นครูสมใจ”
“หมอคิดว่าถ้าไม่มีเหตุการณ์ในวันนั้น รอสะนิงคงไม่ได้เรียนหนังสือต่อ คงจะเป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูกอีกไม่รู้กี่คน และคงไม่มีโอกาสได้ยืน ไม่มีพื้นที่ให้ได้ต่อสู้และพูดในฐานะตัวแทนสตรีผู้สูญเสียในพื้นที่อำเภอแม่ลาน แต่พอมีเหตุการณ์กรือเซะ รอสะนิงก็สามารถทำในสิ่งที่แม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่คิดว่าจะทำได้”
เรื่องราวของ รอสะนิง ตรงกับคติที่ว่า “ล้มได้แต่อย่าท้อ” และก็ได้แต่หวังว่าในวาระ 6 ปีกรือเซะ รัฐจะยอมปรับท่าที เพื่อสร้างรอยยิ้มทดแทนความทรงจำอันเจ็บปวดของครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน...
-----------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มัสยิดกรือเซะ ศาสนสถานเก่าแก่นอกเมืองปัตตานีซึ่งวันนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547
2 แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา