เปิดตัวคกก. องค์การอิสระฯ ผู้บริโภค-จี้กสทช.ตั้งปชช. เฝ้าระวังโฆษณาเกินจริง
เครือข่ายผู้บริโภคเปิดตัวคกก.องค์การอิสระฯ ภาคปชช. รับลูกกมธ.การเมืองฯ จี้กสทช. ตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังวชช.โฆษณาลวง แนะรัฐใช้พลังแสงทดแทนฟอสซิล
วันที่ 30 พ.ย. 55 ที่โรงแรม ที เค พาเลซ มีการจัดเวที ‘15 ปี ที่ผลักดันองค์การอิสระ เมื่อไม่มีกฎหมาย ผู้บริโภคควรทำอะไร’ พร้อมเปิดตัวคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค ภาคประชาชน 15 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการฯ, นายจุมพล ชื่นจินต์ศรี รองประธานคณะกรรมการฯ, ผศ.ประสาท มีแต้ม, ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์, นายรุจน์ โกมลบุตร, ภญ.ชโลม เกตุจินดา, น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา, นางบุญยืน ศิริธรรม, นางชลดา บุญเกษม, นางอาภรณ์ อาทะโส, นายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์, นายศิริศักดิ์ หาญชนะ, นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ, นางสุภาภรณ์ ถิ่นวัฒนากุล และนางรัศมี วิศทเวทย์
ดร.เดือนเด่น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร กล่าวว่า รอบปีที่ผ่านมา พบการร้องเรียนกว่าร้อยละ 80 กระจุกตัวที่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ค่าธรรมเนียมในการใช้บริการการเงินมีอัตราค่าบริการที่สูงเกินควร หรือมีการเก็บค่าบริการในอัตราที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เช่น ในกรณีของการเก็บค่าธรรมเนียมถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม หรือค่าธรรมเนียมในการติดตามหนี้ ซึ่งบางรายแจ้งว่าสูงถึง 2,000 บาท ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการทุกครั้งก่อนที่จะมีการใช้บริการ มิฉะนั้นผู้บริโภคมีสิทธิที่จะปฏิเสธการจ่าย และส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์แข่งขันการกำหนดค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินที่แตกต่างกัน โดยยกเลิกอัตราเพดานของค่าธรรมเนียมด้วย
2.กรณีกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือ เงินผ่อนของสถาบันการเงินที่ไม่สังกัด (Non Bank) สูงเกินควร ซึ่งธปท. ควรกำหนดให้มีการโฆษณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เนื่องจากธุรกิจที่ให้บริการผ่อนชำระค่าสินค้าหลายแห่งมีการคำนวณดอกเบี้ยจากวงเงินต้นตลอดระยะเวลาการผ่อน แม้ในทางปฏิบัติได้มีการจ่ายเงินต้นไปบางส่วนแล้วจากงวดการชำระ ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงกว่าที่โฆษณาและที่แจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างมาก จึงถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค 3. การทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม โดยมีผู้ร้องเรียนหลายรายถูกข่มขู่ หรือถูกประจานจากผู้ทวงหนี้ ดังนั้นรัฐบาลควรผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อม.ค. 55 แก้ไขปัญหา ทั้งนี้การทวงหนี้ส่วนใหญ่เกิดกับการจ่ายผ่านบัตรเครดิต ธปท. จึงควรกำกับวงเงินบัตรเครดิตให้สอดคล้องกับขีดความสามารถจ่ายคืนของผู้ถือบัตร
ผศ.ประสาท ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ กล่าวว่า ปัญหาด้านพลังงานที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคเราพบว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของคนไทยสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ คือ ในปี 55 ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงถึงร้อยละ 19 ของจีดีพี ขณะที่เมื่อ 25 ปีก่อนอยู่แค่ร้อยละ 7 ดังนั้นแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตอาจจะสูงมากกว่านี้อีก ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 กำหนดว่าให้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน นั่นคือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งใช้แล้วไม่มีวันหมด แต่รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองเจตนารมณ์ แต่กลับสนับสนุนให้กลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ผูกขาดสินค้า ดังนั้น รัฐควรทำตามนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน และ แก้กฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการไฟฟ้า คือ 1.ให้ประชานชนทั่วไปที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ให้สามารถขายไฟฟ้าได้ก่อนผู้อื่น 2. ไม่มีระบบโควต้าและไม่จำกัดจำนวน เป็นสัญญาระยะยาว 20-25 ปี และ 3. ค่าใช้จ่ายที่อาจสูงขึ้นต้องถือว่าเป็นภาระของผู้บริโภคทุกคน นอกจากนี้ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ซึ่งล้าสมัย และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทรับสัมปทานมากไป
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยมีปัญหาเรื่องมาตรฐาน และความเท่าเทียมกันในสังคม เช่น ผู้ประกันตนในประกันสังคมต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์การบริการสุขภาพที่ด้อยกว่าคนกลุ่มอื่นที่ไม่ต้องจ่าย จึงเสนอให้รัฐบาลผลักดันหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการการเงินการคลังเพื่อหลักประกันสุขภาพสำหรับทุกคน พร้อมให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกการเก็บเงินจากผู้ประกันตนในส่วนค่ารักษาพยาบาล โดยนำเงินสมทบแต่ละเดือนจากผู้ประกันตนและนายจ้าง ไปสมทบในกองทุนบำนาญชราภาพและการชดเชยการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย
นางบุญยืน ในฐานะผู้แทนเขตภาคตะวันตก กล่าวถึงการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในวิทยุชุมชนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ว่า เชื่อมั่นว่ากสทช.พยายามออกหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบวิทยุชุมชนที่มีมากกว่า 1,000 สถานี แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่รับผิดชอบจะต้องเข้มแข็งและกล้าออกกติกาที่ชัดเจน เพราะขณะนี้วิทยุชุมชนเป็นแหล่งหลอกลวงสินค้าไม่ได้มาตรฐานอันดับต้น ๆ ทั้งนี้เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เสนอให้ดึงเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังการกระทำผิดของวิทยุชุมชน
“เครือข่ายผู้บริโภคมีอยู่แล้ว แต่กสทช.ไม่อยากคบ เพราะหัวแข็งไม่ตามใจ แต่หากจะทำจริงเราพร้อมที่จะเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง แต่คุณต้องจริงใจที่จะทำ มิใช่อ้างทำไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ออกหลักเกณฑ์ ต้องถามว่าทำไมไม่เขียนให้เสร็จ มีก็เพราะคุณทำงาน ไม่มีเพราะคุณไม่ทำงาน อย่าลืมว่าทุกวินาทีที่บอกว่าไม่มีระเบียบ ตรงข้ามทุกวินาทีผู้บริโภคจะโดนหลอกทั่วประเทศเช่นกัน” ผู้แทนเขตภาคตะวันตก กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา แม้จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาแล้ว แต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 สมัยสามัญทั่วไป มีมติไม่เห็นชอบกับร่างที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา ทำให้ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา พิจารณาใหม่ โดยไม่มีกรอบเวลา ดังนั้นเครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนจึงตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระฯ โดยไม่รอกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแทน.