สีสันนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สายน้ำแห่งความเพียร”
หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยผ่านพ้นไปเพิ่งครบขวบปี ประชาชนและสังคมได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการต่อน้ำของภาคส่วนต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกันไปพอสมควร แต่ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ซึ่งทำหน้าที่นี้มาอย่างยาวนานหลายสิบปีก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชุด “สายน้ำแห่งความเพียร” ขึ้น ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง
เมื่อเดินเข้าไปภายในอาคารจะพบกับรูปแบบการจัดนิทรรศการที่แลดูเรียบง่ายกะทัดรัด ที่แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 น้ำคือชีวิต ส่วนที่ 2 หลักการทรงงาน “แม้เป็นพระราชา ก็ยังต้องข้ามฝ่าอุปสรรคทั้งเล็กใหญ่” และส่วนที่ 3 กำลังกาย ปัญญา และความเพียร ซึ่งร้อยเรียงกันภายใต้แนวคิดหลักที่ว่า “การงานใด ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็ไร้ผล”
1.น้ำคือชีวิต
การนำเสนอนิทรรศการส่วนที่ 1 ต้องการให้ผู้ชมเห็นว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกชีวิตบนโลก ผ่านห้องฉายวีดิทัศน์เรื่อง “น้ำคือชีวิต” ที่นำเสนอใน 4 ประเด็น คือ น้ำและความสำคัญของน้ำ น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำคือหัวใจของเกษตรกรรม และปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย โดยเนื้อเรื่องจะตั้งคำถามและชวนผู้ชมหยุดคิดว่าวันนี้เรารู้จักน้ำและความสำคัญของน้ำอย่างไร และชี้ให้เห็นว่าหากเกิดปัญหากับน้ำ ไม่ว่าจะน้ำน้อย น้ำมาก น้ำเสีย ผลที่ตามมาคืออะไร
น้ำคือหัวใจของเกษตรกรรม
2.หลักการทรงงาน “แม้เป็นพระราชา ก็ยังต้องข้ามฝ่าอุปสรรคทั้งเล็กใหญ่”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ บุกป่าฝ่าดงเพื่อวางรากฐานโครงการต่าง ๆ ทั่วประเทศ จึงมีการจัดแสดงวัตถุอุปกรณ์ที่ทรงใช้ เช่น แผนที่ กล้องถ่ายรูปจำลอง และดินสอจำลอง จุดเน้นของส่วนนี้คือห้องฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ความศรัทธาที่มาแห่งความเพียร” ที่ฉายบนผนังโค้ง 3 จอต่อกัน ที่จะแสดงให้เห็นความเพียรของพระเจ้าอยู่หัวผ่านการทรงงานโครงการต่าง ๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบุกบั่นไปดำเนินโครงการเกี่ยวกับน้ำยังที่่ต่าง ๆ ด้วยความเพียร
ใช้ไอแพดถ่ายรูป QR Code แล้วจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับน้ำในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ห้องฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ความศรัทธาที่มาแห่งความเพียร” ที่ฉายบนผนังโค้ง 3 จอต่อกัน
3.กำลังกาย ปัญญา และความเพียร
นำเสนอผ่านงานกราฟิกบอร์ด และงานวีดิทัศน์ ที่นำเสนอโครงการด้านบริหารจัดการน้ำที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างต่อเนื่อง โดยยกตัวอย่างโครงการที่โดดเด่น แสดงให้เห็นเรื่องความเพียรทั้งด้านเวลาและอุปสรรคอย่างเด่นชัด จำนวน 16 โครงการ อาทิ ฝนหลวง : 14 ปีที่ทรงอดทนรอคอนฝนหลวงหยดแรก ลุ่มน้ำปากพนัง: ปากพนัง แยกน้ำ รวมคน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ : “อย่าให้ราษฎรเขาเดือดร้อน” คลองลัดโพธิ์ : หาทางลัดให้น้ำ เป็นต้น รวมถึงผนังจัดแสดงความสำเร็จที่ประชาชนได้รับจากโครงการต่าง ๆ ผ่านวิีดิทัศน์สัมภาษณ์บุคคล
รายละเอียดโครงการด้านบริหารจัดการน้ำ 16 โครงการ บนบอร์ดยาว
รับฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลจากความสำเร็จของโครงการเกี่ยวกับน้ำ
“จะเห็นว่า 66 ปีที่ทรงครองราชย์นั้นพระองค์ได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อบริหารจัดการน้ำให้ได้ แต่เป็นการบริหารจัดการภายใต้ข้อจำกัด เพราะพระองค์ท่านไม่ใช่รัฐบาลหรือกระทรวง ทบวง กรม เป็นความพยายามของกษัตริย์พระองค์หนึ่งเท่านั้นที่จะทรงช่วยเหลือพสกนิกร
กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของโครงการที่พระเจ้าอยู่หัวทำเป็นโครงการเกี่ยวกับน้ำ โดยทรงทำอย่างครบวงจรทุกมิติ น้ำถือว่าเป็นหัวใจของทุกสิ่ง ดินไม่ดีท่านก็ใช้น้ำแกล้งดิน ป่าสูญเสียไปท่านก็ทำฝายชะลอน้ำให้มีน้ำก่อน เพียงสร้างน้ำเท่านั้นเอง ชีวิตก็จะกลับคืนสู่แผ่นดิน” คือคำกล่าวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่กล่าวในพิธีเปิดนิทรรศการชุดสายน้ำแห่งความเพียร
เมื่อได้ชมนิทรรศการจนครบ ได้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจว่าถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องใช้ “ความเพียร” ในการแก้ปัญหาของตนเอง ปัญหาของสังคม เพราะแม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นถึงพระมหากษัตริย์ ก็ยังทรงต้องใช้ความเพียร
เราในฐานะคนธรรมดา ได้ใช้ความเพียร ในการแก้ปัญหา มากน้อยเพียงใด?