สุขแท้ที่บ้านเกิดด้วย “เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงเมืองแกง” สุรินทร์
“ตอนเป็นหนุ่มยากจนมาก เข้าไปทำงานกรุงเทพเป็นช่างเชื่อมไฟฟ้า ตอนแรกทำไม่เป็น เศษเหล็กกระเด็นเข้าตา น้ำหูน้ำตาไหล นั่งรถเมล์กลับบ้านตาแดงบวมมาก เราไม่มีความรู้ถึงต้องยอมทำงานลำบากเพื่อเงิน”
พ่อม้วน เสพสุข เกษตรกรตำบลเมืองแก อ.ท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ บอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตก่อนที่หันมาทำการเกษตรอินทรีย์บนวิถีพอเพียง จนกลายเป็นต้นแบบเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ ให้กับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจากหลากหลายพื้นที่ที่เข้าร่วมอบรมการจัดกระบวนการการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ เข้าใจ ปรับประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน จัดโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) โดยใช้เทศบาลตำบลเมืองแก เป็นพื้นที่ต้นแบบ
“ผมทำงานที่โรงเชื่อมไฟฟ้ามาเกือบ 10 ปี ไม่ค่อยได้กลับบ้าน แม่ก็อยู่คนเดียว พอได้เงินมาก็จะส่งมาให้แม่ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมกลับมาที่บ้าน แม่หยิบผ้าโสร่งออกมาผืนหนึ่ง มันเป็นผ้าผืนที่สวยมาก และแม่พูดกับผมว่าแม่รอผมนานมากแล้ว เก็บผ้าโสร่งผืนนี้ไว้รอผมอยากให้ผมเอาไว้ใส่ ผมเห็นมือแม่ผม แววตาแม่ เห็นผ้าโสร่งผืนนั้น ผมร้องไห้เลย ตั้งคำถามกับตัวเองทันทีว่า สิ่งที่ผมทำอยู่มันเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่” พ่อม้วนเล่าจุดเปลี่ยนความคิดตัวเองในการหันมาทำเกษตรอินทรีย์ต่อว่า
หลังจากที่พ่อม้วนในวัยหนุ่มขณะนั้นฉุกคิดได้ว่าการเป็นแรงงานในเมืองใหญ่ไม่ใช่ความสุขแท้ที่จะตอบสนองเขาและครอบครัวได้ พ่อม้วนจึงกลับไปที่เมืองใหญ่เป็นครั้งสุดท้ายและกัดฟันทำงานจนได้เงินเก็บมาหนึ่งก้อนแล้วกลับมาที่บ้านพร้อมกับความฝันอันเต็มเปี่ยมที่จะสร้างเส้นทางชีวิตของตนเองใหม่บนวิถีของเกษตรกรที่ปลูกพืชผักและข้าวแบบอินทรีย์ โดยพ่อม้วนได้เริ่มการทำการเกษตรอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2532 ท่ามกลางคำครหาของชาวบ้านในขณะนั้นว่าเป็นคนบ้า
“ตอนที่พ่อเพิ่มทำเกษตรอินทรีย์ใหม่ๆ มีแต่คนหาว่าพ่อบ้า เพราะตอนนั้นเราเป็นคนเดียวเลยที่เริ่มทำ สมัยก่อนนั้นที่นาทั้งหมดชาวบ้านก็จะใช้ทำนาอย่างเดียวแต่พ่อขุดสระน้ำในที่นาด้วย คนก็มาถาว่าทำไมที่นาน้อยแล้วยังขุดสระอีกพ่อก็ไม่ได้เถียงอะไร นอกจากนั้นแล้วในที่นาของพ่อไม่ได้ปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวแต่ได้จัดแบ่งไปปลูกพืชอื่น ๆ แซมกันด้วย สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญจริงๆ ของพ่อเลยคงหนีไม่พ้นเรื่องของการทำงานเพราะนาที่พอทำนั้นไม่ใช้สารเคมีแม้แต่นิดเดียว ปุ๋ยพ่อก็ทำเอง ยาฆ่าแมลงพ่อก็ทำเอง พืชทุกอย่างในสวนของพ่อจึงปลอดสารพิษทุกอย่าง”เกษตรกรตัวอย่างเล่ากระบวนการจัดการในที่ดินของเขาให้ฟัง
อย่างไรก็ตามกว่าพ่อม้วนจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าก็ต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานมาก่อนที่จะประสบผลสำเร็จกับการทำเกษตรอินทรีย์ พ่อม้วนเล่าว่าในช่วงแรกที่เริ่มปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์นั้นผลผลิตไม่ได้งอกงามอย่างที่คิด ต่างจากนาของเพื่อนบ้านหลายแปลงที่เติบโตและงอกงามด้วยการใช้สารเคมี แต่พอนานวันเข้าดินของพ่อม้วนก็เริ่มปรับสภาพกับการเกษตรอินทรีย์ได้ผลผลิตของพ่อม้วนก็งอกงาม และได้เยอะกว่าเมื่อครั้งที่ใช้สารเคมี ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดพ่อม้วนบอกว่า รางวัลที่เขาและครอบครัวได้ คือร่างกายที่แข็งแรง ได้อยู่ในอากาศที่ดี ปลอดภัยจากสารเคมี และคนที่ซื้อผลผลิตของเขาไปนั้นก็จะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยและส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งคนทำและกินด้วย
เคล็ดวิชาที่พ่อม้วนสั่งสมประสบการณ์มาด้วยตนเองไม่ได้เก็บไว้เป็นความลับ หากแต่ถูกเผยแพร่และส่งต่อไปยังผู้คนที่สนใจในวิถีของเกษตรอินทรีย์ของเขา พี่ควร หรือวานทิพย์ บุญมี ชาวบ้านที่ตำบลนาแก อ.ท่าตูม เป็นเกษตรอินทรีย์ที่ตั้งไข่มาจากวิชาของพ่อม้วน พี่ควรเล่าว่า….
“ทำงานโรงงานเย็บผ้ามาเกือบ 10 ปี แต่รู้สึกเหมือนชีวิตมันยังขาดอะไรอยู่ เป็นลูกน้องเขามันก็ไม่รวย ซ้ำร้ายยังไม่ได้อยู่กับครอบครัว เลยตัดสินใจกลับมาทำนาที่บ้าน ตอนแรกทำนหมดเงินเยอะมากทั้งค่าปุ๋ยค่ายาฆ่าแมลงสารเคมีทั้งนั้นผลผลิตก็ได้นิดเดียว พอได้ทราบข่าวการทำนาอินทรีย์ของพ่อม้วน ก็เลยสมัครเข้าเป็นลูกศิษย์ ได้ทำน้ำหมักชีวภาพจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องที่ใช้เอง เช่นน้ำหมักจากไส้กล้วย จากปลาสด และกากน้ำตาล ของที่เหลือ ๆในบ้านพ่อม้วนบอกว่าเป็นวัตถุดิบได้หมด ทำให้ต้นทุนทำนาของลดลง ผลผลิตก็มากขึ้น ร่างกายก็ไม่ต้องเสี่ยงสารเคมีด้วย มันเป็นกระบวนการง่ายๆทีเกษตรที่ไหนก็ทำได้ถ้าตั้งใจจริง มันดีทั้งต่อสุขภาพตนเองและของคนที่กินข้าวที่เราปลูก”
พ่อขัน อุดหนุน ก็เป็นปราชญ์ชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่เปลี่ยนที่นาของตนเองจากการใช้สารเคมีเป็นแปลงนาปลอดจากสารเคมี จนกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์อีกแห่งหนึ่งในตำบลเมืองแกเช่นกัน สิ่งที่พ่อขันพยายามบอกกับเพื่อนสมาชิกทุกคนที่เข้ามาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์กับเขาคือ….
“การทำการเกษตรอินทรีย์นั้นไม่ได้เกื้อกูลกับตนเองเพียงอย่างเดียว หากแต่เกื้อกูลกับสัตว์น้อยใหญ่ที่เป็นห่วงโซ่อาหารหลักให้เราด้วย ไม่ว่าจะเป็นไส้เดือน กบ เขียด เพราะถ้าสัตว์เหล่านี้ปลอดภัยจากสารเคมีก็จะไปช่วยผลักให้ระบบของห่วงโซ่อาหารของพวกเราขยายออกไปไม่มีวันหมด และเป็นห่วงโซ่อาหารที่ปลอดภัยสำหรับทุกชีวิตด้วย”
ปัจจุบันนี้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ของพ่อม้วนและพ่อขันนั้น กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ของตำบลเมืองแก 19 หมู่บ้าน พร้อมทั้งเป็นเป็นหนึ่งในแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชนของคนตำบลเมืองแกให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปลอดภัยจากสารเคมี ซึ่งเป็นระบบการจัดการสุขภาพชุมชนที่ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยเทศบาลเมืองแก
…………….
โดยกลุ่มเกษตรอินทรีย์ของพ่อม้วนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ผลผลิตของกลุ่มยังถูกส่งขายต่อไปยังยุโรปหลากหลายประเทศ แต่สำคัญเหนืออื่นใดคือสมาชิกกลุ่มที่นี่ทุกแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต สังเกตได้ชัดเจนจากรอยยิ้มที่ปรากฏบนใบหน้าของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม!!