ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (2) ภาษาไท-กะได ออสโตร-ไท และตระกูลภาษาไท
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
จากการศึกษาของนักภาษาศาสตร์เปรียบเทียบเชิงประวัติพบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่าง “ภาษาไท” กับ “ภาษาออสโตรนีเซียน” อย่างลึกซึ้งชัดเจน ในขณะที่ภาษาเวียดนามซึ่งน่าจะใกล้ชิดกับภาษาไทมากกว่า เนื่องจากมีระบบเสียงวรรณยุกต์เช่นกัน แต่ภาษาเวียดนามกลับจัดว่าใกล้ชิดกับภาษามอญ-เขมรมากกว่า
นักภาษาศาสตร์ เช่น โธมัสและเฮดลีย์ จัดภาษาเวียดนามอยู่ในสาขาเวียด-เหมื่องซึ่งจัดเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษามอญ-เขมรมาตั้งแต่ พ.ศ.2513 โดยเขาใช้เกณฑ์วงศ์คำศัพท์ดั้งเดิม (basic vocabulary) ในการจัดแบ่ง
ต่อมา พอล เค.เบเนดิกต์ (Paul K.Benedict: 1912-1997) ซึ่งศึกษาภาษาศาสตร์กับ เอ็ดเวิร์ด แซปเพอร์ (Edward Sapir) ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้แต่ไม่ได้จำกัดจำนวนคำ ผลก็คือภาษาไทถูกจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (Austronesian) หรือที่เขาเรียกเสียใหม่ว่า "ตระกูลภาษาออสโตร-ไท" (Austro-Thai หมายถึง The Austro-Thai language family)
ก่อนหน้านี้เบเนดิกต์ได้เขียนบทความเรื่อง Thai, Kadai and Indonesian: a new alignment in south east Asia ในปี ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) ซึ่งต่อมาเมื่อ ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) เขาได้ปรับปรุงเขียนเป็นหนังสือชื่อ Austro-Thai : Language and Culture with Glossary of Roots โดยเบเนดิกต์ได้แบ่งตระกูลภาษาในอุษาคเนย์เสียใหม่ ดังนี้
การแบ่งตระกูลภาษาเช่นนี้ เป็นการเอาภาษาไทออกจากตระกูลภาษาจีน-ธิเบต (Sino-Tibetan) ที่จัดอยู่เดิมอย่างสิ้นเชิง ภาษาไทได้ถูกจัดเป็นภาษาใน "กลุ่มไท-กะได" (Tai-Kadai) หรือในประเทศจีนรู้จักในชื่อว่า "กลุ่มภาษาจ้วง-ตง" (Zhuang-Dong languages) ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ที่พบในอุษาคเนย์และตอนใต้ของประเทศจีน
ช่วงแรกภาษากลุ่มไท-กะไดเคยถูกกำหนดให้อยู่ในตระกูลจีน-ธิเบต แต่เนื่องจากต่อมาเชื่อว่าภาษากลุ่มไท-กะไดมีความสัมพันธ์กับตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนอย่างใกล้ชิด (ชเลเกล ชาวเยอรมันเป็นผู้เริ่มตั้งข้อสังเกตเป็นคนแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1901/พ.ศ.2444) เบเนดิกต์ซึ่งเป็นคนแรกที่เสนอ ตระกูลภาษาออสโตร-ไท ชี้ให้เห็นว่า ทั้งภาษาออสโตรนีเซียนและภาษากลุ่มไท-กะไดล้วนมีรากเหง้าเดียวกัน
โดยก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ.1906 (พ.ศ.2449) วิลเฮล์ม ชมิดต์ (Wilhelm Schmidt) นักมานุษยวิทยาชาวเยอรมัน เคยจัดกลุ่มภาษาในอุษาคเนย์ทั้งตระกูลออสโตรเอเชียติค (มอญ-เขมรและอื่นๆ รวมราวๆ 150 ภาษา) และออสโตรนีเซียนไว้ในตระกูลภาษาใหญ่ออสตริก (Austric languages) เบเนดิกต์เองได้จัดทำผังแสดงความสัมพันธ์ทางภาษาในอุษาคเนย์ดังแสดงในแผนภูมิข้างต้น โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไท-กะได และอินโดนีเซียน และกลุ่มมอญ-เขมร อันนัม (เวียดนาม) และแม้ว-เย้า
โรเจอร์ เบลนช์ (Roger Blench) นักภาษาศาสตร์อีกผู้หนึ่งกล่าวว่า ภาษากลุ่มกะไดอาจเป็นสาขาของภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนที่อพยพจากฟิลิปปินส์ไปสู่เกาะไหหลำ แล้วแพร่สู่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเขากล่าวว่า ตระกูลภาษาไท-กะไดอาจเป็นสาขาของภาษากลุ่มบอร์เนียว-ฟิลิปปินส์ ในขณะที่สาขาไท (Daic) ของภาษากลุ่มกะไดมีการปรับโครงสร้างใหม่โดยได้รับอิทธิพลจากภาษากลุ่มม้งเมี่ยนและภาษาจีน
ส่วน โลรองต์ ซาการ์ต (Laurent Sagart) ได้กล่าวว่า ภาษาไท-กะไดดั้งเดิมได้เกิดขึ้นในยุคต้นของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนที่อาจจะอพยพกลับจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของไต้หวันไปยังชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน หรือจากจีนไปไต้หวันและเกิดการพัฒนาของภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนบนเกาะนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนและไท-กะไดอาจจะอธิบายได้จากวงคำศัพท์ที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งคำยืมในยุคก่อนประวัติศาสตร์และอื่นๆ ที่ยังไม่รู้
นอกจากนั้นภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนอาจจะมีความสัมพันธ์กับตระกูลภาษาจีน-ธิเบต ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในบริเวณชายฝั่งของจีนภาคเหนือและภาคตะวันออก เชื่อกันว่าผู้พูดภาษาสาขาไทอพยพจากตอนใต้ของจีนลงทางใต้เข้าสู่อุษาคเนย์แต่ครั้งโบราณ เข้าสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยและลาว ซึ่งเป็นบริเวณที่พบผู้พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร-เวียดนาม เป็นต้น) อยู่ก่อนแล้ว
เบเนดิกต์ได้อธิบายการสัมผัสทางภาษาระหว่างภาษาไท-จีนอย่างหนักหน่วงในระยะ 1,000 ปีก่อน ค.ศ. (500 ปีก่อนพุทธกาล) หรือก่อนหน้านั้นอีก ซึ่งส่งผลให้เกิดระบบเสียงวรรณยุกต์รวมทั้งลักษณะคำพยางค์เดียวในภาษาไท แต่ไม่ค่อยมีคนรับฟังเบเนดิกต์สักเท่าไรนัก ระบบเสียงวรรณยุกต์นี้เป็นเหตุผลหนึ่งในสองข้อ (อีกข้อหนึ่งคือลักษณะคำโดด/คำพยางค์เดียวของภาษาไท) ที่ทำให้มาสเปโร (Maspéro) จัดภาษาไทอยู่ในตระกูลจีน-ทิเบต
แต่การอธิบายการเกิดระบบเสียงวรรณยุกต์ในภาษาเวียดนามซึ่งจัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมรโดยโอดริกูร์ต (Haudricourt) เมื่อ พ.ศ.2497 ก็มีเหตุผลที่นักภาษาศาสตร์ส่วนมากยอมรับ ในกรณีระบบวรรณยุกต์ในภาษาไทก็คงทำนองเดียวกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดกับภาษาเขมรบางถิ่นที่สัมผัสกับภาษาไทและภาษาจามบางถิ่นที่สัมผัสกับภาษาเวียดนามจนเกิดการพัฒนาเสียงวรรณยุกต์ในขั้นเริ่มต้นในภาษาทั้งสองนั้นก็เป็นเรื่องที่เห็นจริงในปัจจุบัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ความน่าเชื่อถือของเบเนดิกต์ก็ดีโดยลำดับ จนกระทั่ง สารานุกรมอเมริกานา (Encyclopedia Americana) ค.ศ.1994 ได้จัดภาษาไทอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรนิเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ลักษณะคำพยางค์เดียวและเสียงวรรณยุกต์ในภาษาต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณอุษาคเนย์กำลังถูกอธิบายว่า เป็นเพราะลักษณะสองประการดังกล่าวเป็น “แบบหลัก” ของภาษาในเบ้าหลอมของอุษาคเนย์ โดยมีภาษาไทเป็นแกนกลางในการกระจาย จึงเห็นว่าควรจัดภาษาไทแยกเป็นตระกูลต่างหาก คือ "ภาษาตระกูลไท" (ดังเช่นแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล)
ส่วนตัวของผู้เขียนมีความเห็นว่า เราควรต้องศึกษาภาษาต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์โดยเฉพาะภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดว่ามีความสัมพันธ์กับภาษาไทอย่างลึกซึ้งตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยต้องศึกษาอย่างจริงจังในทางภาษาศาสตร์เปรียบเทียบเชิงประวัติให้มากกว่านี้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นงานที่ยากลำบาก แต่เชื่อว่าจะเปิดพรมแดนใหม่ๆ ของภาษาไท โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้เรารู้จัก “ลักษณะของภาษาไท” เพิ่มขึ้นในอีกหลายมิติ ก่อนที่จะอธิบายว่า ภาษาไทคืออะไร และแม้ว่าผู้เขียนโน้มเอียงที่จะยอมรับ "ภาษาตระกูลไท" ในระดับหนึ่งก็ตาม
ในปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) พอล เค. เบเนดิกต์ ได้พิมพ์หนังสือเล่มสำคัญชื่อ Austro-Thai : Language and Culture with Glossary of Roots ในหนังสือเล่มนี้หน้า 135 เขาได้เอาภาษาแม้ว-เย้าเข้ามารวมอยู่ในตระกูลภาษา Austro-Thai (ต่อมาเปลี่ยนเป็น Austro-Tai) ด้วย และได้เขียนผังแสดงความสัมพันธ์ในภาษาตระกูลใหม่ ดังนี้
ถ้าหากว่าภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนเป็นภาษาที่มากับกลุ่มผู้อพยพเช่นที่กล่าวก่อนหน้านี้ กลุ่มชนที่เป็นบรรพชนของพวกพม่าซึ่งพูดภาษามอญ-เขมร-ละว้า (หรือลาวโบราณ) ซึ่งพูดภาษามอญ-เขมรโบราณ (แน่ละว่าชนเผ่าต่างๆ เหล่านี้ส่วนหนึ่งได้ผสมกลมกลืนกับพวกเวดดอยด์ซึ่งเป็นเจ้าของขวานหินมีบ่า) กับส่วนหนึ่งที่แยกไปพูดภาษาเวียดนามโบราณ (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนโบราณอย่างหนัก) อาจถือว่าเป็น “เจ้าของ” หรือผู้ครอบครองดินแดนแห่งอุษาคเนย์ดั้งเดิมได้หรือไม่ หรือว่าชนเผ่าเหล่านี้ร่วมกับพวกโปรโต-ออสโตรนีเซียน (เจ้าของขวานหินขัดด้านตัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า) ซึ่งอพยพลงมาในระยะ 2,500 ปีก่อนพุทธกาลเป็นเจ้าของอารยธรรมแห่งอุษาคเนย์ร่วมกัน
จากนั้นกลุ่มชนที่พูดภาษาพม่าและมอญ-เขมรโบราณก็กลืนกลุ่มชนรวมทั้งภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนของพวกเขาไปด้วย (ในฐานะผู้ชนะ) ประจักษ์พยานเห็นได้จากภาษามอญ-เขมรในอุษาคเนย์ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนอยู่มาก เป็นต้นว่าคุณสมบัติที่มีร่วมกันในเรื่องการประกอบคำขึ้นใช้ในภาษาด้วยระบบหน่วยเติมหน้าคำ (prefix) และหน่วยเติมหลังคำ (suffix) จากหน่วยคำแกน (root) และที่สำคัญกลุ่มภาษาที่เกี่ยวข้องกันนี้พบว่ามีการใช้คำศัพท์จำนวนหนึ่งตรงกัน แต่ก็น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับวงศ์คำศัพท์ร่วมระหว่างภาษาไทกับภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งดูราวกับจะเป็น “คำร่วมเชื้อสาย” (cognate) กันด้วยซ้ำ!
ในที่นี้จึงอาจตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนว่าพวกที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนไม่ใช่พวกนักรบหรือพวกเอาแต่รบ หากเป็นพวกพ่อค้า นักผจญภัย และเป็นพวกรักสงบมากทีเดียว เมื่อพวกนี้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต หรือเสี่ยงต่อการเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตน ตลอดเวลาที่ตนอยู่บนบกหรือภาคพื้นทวีป แทนที่พวกเขาจะถอยร่นขึ้นไปหลบอยู่ตามหุบเขาหรือที่สูงบนภูเขา (แน่นอนมีส่วนหนึ่งได้หลบขึ้นเขาและกลายเป็นพวก “ข่า” ไป) พวกเขากลับไปตั้งหลักอยู่ตามชายหาด ด้วยความพร้อมเต็มที่ที่จะผละจากชายฝั่งข้ามไปยังเกาะแก่งต่างๆ ในน่านน้ำที่เปิดกว้างและอิสระเสรีด้วยเรือของพวกเขา
หลักฐานทางโบราณคดีชี้ชัดว่าในราว 2-3 พันปีมานี้พวกออสโตรนีเซียนใช้เรือที่ทรงประสิทธิภาพของตนซึ่งเรียกว่า “ปราว” (prao) บุกเบิกสัญจรไปเรื่อยๆ ทั่วเจ็ดย่านน้ำ เข้าครอบครองหมู่เกาะใหญ่น้อยในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกเกือบทั้งหมด พวกเขาข้ามสาครใหญ่คือมหาสมุทรอินเดียไปคบค้ากับผู้คนถึงทวีปแอฟริกา เอาภาษาออสโตรนีเซียนไปเผยแพร่ถึงเกาะมาดากัสการ์ ซึ่งรู้จักในชื่อว่า “ภาษามาลากาซี/Malagasy” (ภาษามาลาโย-โพลินีเซียนที่ใช้ในสาธารณรัฐนี้) โดยส่วนหนึ่งได้ฝังรกรากอยู่ที่นั่น (ซึ่งก็ตั้งหลักอยู่บนเกาะ “นอก” ชายฝั่งภาคพื้นทวีปอีก) งานของพวกเขาคือทำหน้าที่ขนถ่ายสินค้าสู่ตะวันออกกลางและยุโรปโดยเฉพาะอบเชยและกานพลู พร้อมกับแลกเอาเครื่องแก้ว สร้อยคอ เสื้อผ้า เครื่องสำริด กำไลที่สวมวงแขนสตรีกลับมาซึ่งโดยทั่วไปต้องใช้เวลากว่าจะเสร็จภารกิจถึง 5 ปี
นักโบราณคดี-มานุษยวิทยาบางคนกล่าวว่า พวกออสโตรนีเซียนได้ไปเยือนดินแดนแห่งทวีปอเมริกาเมื่อราว 600 ปีก่อน ค.ศ. ก่อนหน้าโคลัมบัสนับพันปี!
กลับมาดู ณ ถิ่นฐานเดิมของพวกออสโตรนีเซียนบนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์บ้าง การณ์กลับปรากฏว่า พวกที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนซึ่งเคยเป็นเจ้าของอาณาจักรจามปาโบราณอันยิ่งยง เคยเป็นผู้สร้างนครจัมปาศักดิ์ในลาว และเคยเป็นชนชั้นปกครองอาณาจักรหริภุญชัย (ลำพูนโบราณ) ผลัดเปลี่ยนกันกับชนเผ่าไทและขอม ฯลฯ พวกเขาสูญหายไปเกือบหมดราวกับถูกล้างเผ่าพันธุ์ ที่ยังคงมีเหลือตกค้างอยู่บ้างก็ในเวียดนามภาคกลางและภาคใต้กับในเขมรภาคใต้อีกเล็กน้อย เชื้อสายของพวกเขาคือพวกจามนั่นเอง และมีอีกจำนวนหยิบมือเดียวที่กลายเป็นคนป่า แต่ก็ถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่าพวก “ข่า” (ทาส) อาศัยอยู่ตามป่าดงและภูดอยในลาว เขมร และเวียดนาม ได้แก่ พวกจราย ระแด ชรู (จารู) ร็องเล เซดัง เป็นต้น
แต่เมื่อหันไปมองข้ามผืนน้ำสีครามออกไป ก็พลันเห็นเชื้อสายของพวกเขาได้เข้าครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของอาณาจักรแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ และตลอดบริเวณปลายแหลมมลายู ซึ่งปัจจุบันนี้คือประเทศต่างๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ในขณะที่ประชาชนพื้นฐานบนภาคพื้นทวีปในอุษาคเนย์เกือบทั้งหมด ล้วนสืบเชื้อสายหรือร่วมเผ่าพงศ์วงศ์วานกับพวกที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนเหล่านั้นทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสยาม (ก่อนสมัยสุโขทัยที่มีหลายชนเผ่า) และต่อมาชาวไทสยาม (ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาซึ่งผสมผสานกันกับพวกจีนใต้ ลาวและเขมร) ก่อนที่จะมาร่วมสายเลือดเดียวกันกับชาวจีนใต้อย่างหนักหน่วงตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา และกลายเป็น “คนไทย” ในสมัยปัจจุบัน
อาจกล่าวสรุปอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่นี้ว่า พวกไป่เยว่ในจีนภาคใต้ซึ่งลงมายังอุษาคเนย์ทั้งหมดยังมีความเป็นเอกภาพอยู่มาก แต่ต่อมารออีกพักใหญ่ๆ ก็กลายเป็นความหลากหลาย เมื่อเนิ่นนานเข้าแม้จะ “แยกตัว” ออกเป็นชนชาติต่างๆ ซึ่งสามารถครอบครองพื้นที่ทางอธิปไตยของตนได้แล้ว และสามารถสร้างมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันเป็นแกนกลางของตนเองได้สำเร็จ ความเป็น “เอกภาพ” ซึ่งแสดงออกผ่านคำว่า “รากร่วม” จึงแสดงถึงพื้นเพที่มาอันหลากหลายของบรรดาชนเผ่าต่างๆ ที่เคย “ร่วมอดีต” และเกือบทั้งหมดเคย “ร่วมพื้นที่” กันมาก่อน
ในขณะที่ “รากร่วม” ย่อมหมายถึงการมีส่วนร่วมของหลายชนเผ่าที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ “วัฒนธรรม-อารยธรรม” ของสังคมแห่งอุษาคเนย์นับตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน ซึ่งใช้เวลานานนับสหัสวรรษทีเดียว เราอาจกลับไปศึกษารากเหง้าร่วมกันดังกล่าวได้จากหลักฐานที่ถูกเก็บรักษาในรูปของ “ฟอสซิส” (fossil) ทางภาษา หน่วยทางวัฒนธรรม รวมทั้งชิ้นส่วนอื่นๆ จากอดีต ซากตกค้างทั้งหลายเหล่านี้กำลังรอเวลาที่จะถูกขุดคุ้ยขึ้นมาจากชั้นใต้ดินทางวัฒนธรรมซึ่งอาจฝังลึกอยู่หลายๆ ช่วงชั้น แต่เมื่อมันได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ เราในฐานะอนุชนรุ่นหลังก็จะพบกับความพิศวงและความลิงโลดใจอย่างมากมายทีเดียว
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา ผู้เป็นนักวรรณคดี นักภาษาศาสตร์และนักมานุษยวิทยา ได้กล่าวถึงรากร่วมวัฒนธรรมไป่เย่วว่า ประกอบด้วย “3 ตระกูล 3 ภาษา 3 สายวัฒนธรรม” คือ ไต-ไท มอญ-เขมร และจาม-มลายู/อินโดนีเซียน ในที่นี้จะเห็นว่า รากร่วมชนชาติไทได้ถือกำเนิดขึ้นมาช้านานแล้วในกลุ่มพวกไป่เยว่ แต่ในระยะนั้นยังไม่ใช่ชนชาติไทยในผืนแผ่นดินไทยปัจจุบันนี้แต่อย่างใด
หากแต่คนไทยในประเทศไทยปัจจุบันคงมีบรรพชนร่วมกับชนชาติไทในกลุ่มไป่เยว่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่คนไทยในประเทศไทยปัจจุบันยังมีบรรพชนร่วมกับประชาชนพื้นฐานแห่งอุษาคเนย์อื่นๆ อีกดังกล่าวแล้ว ทั้งที่เป็นพวกโปรโต-มาเลย์ เมลานีเซียน ออสโตรลอยด์ เวดดอยด์ เนกริโต ดอยเตอโร-มาเลย์ ลาว มอญ-เขมร-อันนัม (เวียดนาม) ม้ง-เย้า พม่า จีน จาม เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งมาจากสายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ มอญ-เขมรโบราณ ออสโตรนีเซียนโบราณ อินเดียน และจีนตั้งแต่โบราณกระทั่งปัจจุบัน ต่อไปเราคงจะต้องพิจารณา “รากร่วม” ของชนชาติเหล่านี้ไว้เป็นประการสำคัญด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ช่วงเวลาการแพร่กระจายของภาษาออสโตรนีเซียนไปตามดินแดนต่างทั่วโลกๆ
2 การกระจายของภาษากลุ่มไท-กะได
3 หนังสือชื่อ Kinship in Southeastern Asia เขียนโดย พอล เค.เบเนดิคต์
อ่านประกอบ :
- ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (1)...ย้อนอดีตภาษาและชนชาติต่างๆ ในอุษาคเนย์