ขายข้าวจีทูจี 3 แสนตันส่อเก๊ งบดุล“สยามอินดิก้า”ระบุชัดคู่สัญญาอินโดนีเซีย
ขายข้าวจีทูจี 3 แสนตันส่อเก๊ งบดุล บ.สยามอินดิก้า ระบุชัดทำสัญญากับอินโดนีเซียเอง กู้เงิน 1,000 ล้านจ่ายล่วงหน้า“อคส.”แทน“บูล็อค” ผู้สอบบัญชีชี้ผู้บริหารแจงไม่เคลียร์ยอดเงิน 779 ล้าน หลังถูกระงับส่งมอบ เหตุสินค้าไม่ได้คุณภาพ?
กรณีที่พรรคฝ่ายค้านระบุในการอธิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีว่าการที่รัฐบาลอ้างว่าการขายข้าวในสต๊อกจำนวน 3 แสนตัน ให้แก่องค์กรสำรองข้าวประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อค) เป็นการค้าขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) นั้นไม่เป็นความจริง แท้ที่จริงแล้วเป็นการดำเนินการโดยบริษัท สยามอินดิก้า จำกัดนั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org) ตรวจสอบงบดุลของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา พบว่า บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ทำสัญญาซื้อขายสินค้าให้แก่หน่วยงานของรัฐ โดยจะต้องจัดส่งสินค้าไปให้แก่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ในงบดุลปี 2554 ซึ่งเป็นงบดุลปีล่าสุด ที่บริษัทสยามอินดิก้า นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้มีการระบุข้อมูลเรื่องการขายข้าวให้กับอินโดนิเซียไว้ ในรายงานผู้สอบบัญชี เพื่อเสนอผู้ถือหุ้นบริษัทฯ
โดยระบุในหมายเหตุ 18 เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า ว่า “ในเดือนธันวาคม 2554 บริษัทฯ ได้เข้าลงนามในสัญญาขายสินค้าให้แก่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง โดยตามเงื่อนไขในสัญญาบริษัทฯ จะต้องจัดส่งสินค้าไปให้แก่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย ต่อมาในเดือนธันวาคม 2554 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อข้าว เป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท โดยการใช้วงเงินสินเชื่อที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เพื่อนำข้าวมาใช้ในการบรรจุและจัดส่งสัญญาดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานสำหรับยอดเงินคงเหลือของบัญชีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าซื้อสินค้าดังกล่าว”
ผู้สอบบัญชี ยังระบุถึงข้อมูลเรื่องนี้ ในหมายเหตุ 21 เหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบการเงิน ว่า “เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 บริษัทฯ ได้เข้าลงนามในบันทึกต่อท้ายสัญญาขายสินค้าตามที่กล่าวในหมายเหตุ 18 โดยเปลี่ยนแปลงจำนวนสินค้าที่บริษัทฯ ต้องจัดส่ง นอกจากนี้บริษัทฯ มีหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันต่อผู้ว่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 176.5 ล้านบาท”
ผู้สอบบัญชียังได้ระบุว่า “ ตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 18 ข้าพเจ้าไม่สามารถตรวจสอบให้เป็นที่พอใจสำหรับความถูกต้องและครบถ้วนของยอดเงินคงเหลือของบัญชีเงินจ่ายล่วงหน้าซื้อสินค้า จำนวน 779.03 ล้านบาท เนื่องจากฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี และข้าพเจ้าไม่ได้รับการตอบกลับหนังสือยืนยันยอดจากผู้ขายสินค้า ข้าพเจ้าไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอื่นให้ได้มาซึ่งหลักฐานจนเป็นที่พอใจสำหรับยอดคงเหลือของบัญชีดังกล่าว”
แหล่งข่าวจากวงการข้าว เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การขายข้าวจำนวน 3 แสนตัน ดังกล่าว ผู้ส่งออกได้รับการยืนยันจากตัวแทนรัฐบาลว่า เป็นหนึ่งในจำนวนข้าว 7.3 ล้านตัน ที่รัฐบาลระบุว่าเปิดระบายในรูปแบบจีทูจี แต่ขั้นตอนการดำเนินงานกลับไม่ได้ทำในรูปแบบจีทูจี เพราะมีการมอบหมายให้บริษัทสยามอินดิก้า มาดำเนินการแทนที่จะเป็น กรมการค้าต่างประเทศ
“หลังจากที่รัฐบาลไปเจรจากับทางอินโดนิเซียเรียบร้อยแล้ว ได้มีการมอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ดำเนินการ จัดหาเอกชนเข้ามารับหน้าที่นี้ ซึ่งก็ได้บริษัทสยามอินดิก้า มาดำเนินการให้ ขณะที่แหล่งเงินที่สยามอินดิก้านำมาใช้ในการจัดหาข้าว ก็เป็นเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย ทำให้บริษัทสยามอินดิก้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้ามาจับเสือมือเปล่าในเรื่องนี้”
แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าผิดหวังกับการดำเนินการเรื่องนี้คือ หลังจากที่บริษัทสยามอินดิก้าได้ส่งมอบสินค้าไปได้ไม่กี่งวด ก็ถูกอินโดนิเซียปฏิเสธรับของ โดยอ้างว่า ตรวจพบสินค้าไม่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วในวงการผู้ส่งออกข้าวไทย
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านตรวจสอบพบว่า บริษัทจีนได้แต่งตั้งแทนที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทสยามอินดิก้า เข้ามาซื้อข้าวกับรัฐบาลไทย นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ฝ่ายค้านควรยื่นเรื่องไปยังสถานทูตจีนให้เข้ามาตรวจสอบสถานะที่แท้จริงของบริษัทจีนรายนี้ว่าเป็นอย่างไร และได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนให้เข้ามาซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยจริงหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และบริษัทสยามอินดิก้า ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้