สมัชชาสุขภาพหวั่นเออีซีเปิดช่องอาหารอันตรายทะลักไทย จี้รัฐตั้งมาตรการตรวจจริงจัง
สมัชชาสุขภาพหวั่นเออีซีเปิดช่องอาหารปนเปื้อนทะลัก จี้รัฐออกมาตรการตรวจเข้ม แนะยกระดับห้องปฏิบัติการ- ดึงปชช.ร่วมทำงาน ‘วิฑูรย์’ แย้มผู้ผลิตไดโครโตฟอส-อีพีเอ็นยอมถอยจากไทย
วันที่ 29 พ.ย. 55 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) แถลงข่าว ‘อนาคตความปลอดภัยทางอาหารของไทย’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานสมัชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น ‘การพัฒนากลไกและกระบวนการรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กล่าวว่า เมื่อไทยเข้าสู่เออีซีปี 58 สมาชิกทุกประเทศจะไม่มีกำแพงภาษีระหว่างกัน ทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้า โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร ทำให้ต้องคำนึงถึงมาตรฐานที่ปลอดภัย เพราะหากเกิดสารเคมีตกค้างแล้วผู้บริโภคไม่รู้ อาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคทางเดินอาหาร จึงต้องตั้งหลักเกณฑ์ตรวจมาตรฐานตั้งแต่กระบวนการผลิต โดยกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกัน
ซึ่งปัจจุบันไทยมีคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เป็นองค์กรกำกับดูแลจัดการด้านอาหาร ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหาร, ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร, ด้านอาหารศึกษา และด้านการบริหารจัดการ แต่ยังไร้มาตรการตรวจสอบที่จริงจัง ดังนั้นเราอยากให้เกิดการตรวจสอบสินค้าที่ผลิตและนำเข้าเข้มข้นกว่านี้ เพิ่มสมรรถนะห้องปฏิบัติการและเครื่องมือให้เพียงพอ แม้เครื่องมือตรวจสอบของไทยจะก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นก็ตาม ที่สำคัญให้มีผู้แทนภาคประชาชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อความโปร่งใส และต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านอาหารในอนาคต เพราะอาจเกิดอาหารใหม่ ๆ ที่ขายในตลาดได้ เพื่อจะหาวิธีตรวจสอบต่อไป
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า อาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจากผลสำรวจผักยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภค 7 ชนิด คือ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริก ที่ขายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ตลาดสด และรถเร่ของกรุงเทพฯ พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐานของสหภาพยุโรปถึงร้อยละ 40 เกินกว่าที่จะยอมรับได้ ในจำนวนนี้ คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลสำรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างข้างต้นสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ผักสดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 359 ตัวอย่าง มีอัตราสารเคมีร้ายแรงตกค้างในผักที่มีเครื่องหมายปลอดสารพิษและผักที่ไม่มีเครื่องหมายร้อยละ 51.8 และ63.7 ตามลำดับ
ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวต่อว่า สารเคมีทั้ง 4 ชนิดมีอันตรายร้ายแรงมาก แม้จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบฉับพลัน แต่กลับมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะระบบสืบพันธุ์ ซึ่งหลายประเทศในโลกและอาเซียนได้ประกาศห้ามผลิต ห้ามใช้ และไม่ให้ขึ้นทะเบียนแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีมาตรฐานการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ต่ำกว่าประเทศอื่น แต่ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวโน้มจะสั่งห้ามสารเคมี 2 ชนิดแล้ว คือ ไดโครโตฟอสและอีพีเอ็น นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตยกเลิกสารเคมีดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศที่ห้าม คือ 1.คาร์โบฟูราน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน จาไมก้า นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น 2.เมโททิล ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมันนี ฟินแลนด์ กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย ลาว และอินเดีย (บางสูตร) 3.ไดโครโตฟอส ได้แก่ สหภาพยุโรป ไต้หวัน อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว 4.อีพีเอ็น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ไต้หวัน กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ลาว และบังคลาเทศ
อย่างไรก็ตาม นายวิฑูรย์มีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการผลิตอาหารที่ปลอดภัย พร้อมให้กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันอาหาร และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้จัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และออกมาตรฐานสำหรับคนไทย (Thai GAP) ตั้งเป้าพัฒนาจากที่เป็นภาคสมัครใจ ให้เปลี่ยนเป็นภาคบังคับ อีกทั้งให้กระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยา ชดเชยผลกระทบทางสุขภาพและเศรษฐกิจ และเก็บภาษีจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย
ทั้งนี้ งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 จะมีขึ้นวันที่ 18-20 ธ.ค. ภายใต้แนวคิด ‘ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ’ ที่ศูนย์การประชุมไบเทคบางนา.