เปิดมติที่ประชุม"โอไอซี" ตำหนิไทยแก้ไฟใต้ไม่คืบ
มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ครั้งที่ 39 ซึ่งประชุมกันไปเมื่อวันที่ 15-17 พ.ย.2555 ที่ประเทศจิบูตี ในทวีปแอฟริกา ได้ตำหนิไทยว่าไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการลดผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและปฏิบัติการทางทหารในการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบ
มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของชุมชนมุสลิมและคนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกโอไอซี มีเนื้อหาที่ระบุถึงปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย 5 ข้อจากมติทั้งหมด 21 ข้อ
โดยในข้อ 15-16 ได้เน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมที่ นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการโอไอซี และ นายซาอิด คาสเซม เอล-มาสรี ที่ปรึกษาเลขาธิการโอไอซี ทำไว้กับรัฐบาลไทย เมื่อครั้งเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ค.2550 และ พ.ค.2555 ตามลำดับ ซึ่งไทยยืนยันที่จะเร่งแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า เพื่อให้ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีส่วนในการบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากร ปฏิบัติกิจวัตรตามวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาที่มีความเป็นอัตลักษณ์ ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยและบูรณภาพแห่งดินแดน
ผิดหวังยังใช้กฎหมายพิเศษ - ห่วงพฤติกรรมทหารพราน
ในมติข้อ 17 ที่ประชุมแสดงความห่วงใยต่อความไม่ก้าวหน้าของผลการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว โดยเฉพาะที่ทำเอาไว้เมื่อปี 2550 เพราะผ่านมาถึง 5 ปีแล้วมีความก้าวหน้าน้อยมาก ทั้งยังผิดหวังต่อข้อกังวลการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่ และความก้าวหน้าอย่างจำกัดในการเปิดให้ใช้ภาษามลายูในการเรียนการสอนในโรงเรียน รวมทั้งการคงกำลังทหารอย่างกว้างขวางในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตตามปกติของประชาชน
มติที่ประชุมยังแสดงความกังวลต่อพฤติกรรมของทหารพรานและกองกำลังติดอาวุธอาสาสมัคร (ชรบ. อรบ. อส.) ซึ่งถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสภาพความแตกแยกระหว่างคนต่างศาสนาที่รุนแรงขึ้นทุกที
จี้เปิดพื้นที่"พูดคุย" – ยกปัญหาใต้ถกในที่ประชุมรอบหน้า
ส่วนในมติข้อ 18 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำงานอย่างแข็งขันเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาชายแดนใต้อย่างยั่งยืน โดยยึดตามแถลงการณ์ร่วมที่ทำไว้กับเลขาธิการโอไอซีเมื่อปี 2550 พร้อมเดินหน้าแนวทางการเปิดพื้นที่พูดคุยกับผู้นำมุสลิมเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยเฉพาะการรับรองสิทธิตามกฎหมายของมุสลิมในภาคใต้ของไทย
มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี ยังระบุในข้อ 19 ว่า จะพิจารณาการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของชุมชนมุสลิมในภาคใต้ของไทยในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซีครั้งหน้า (ครั้งที่ 40) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสื่อสารมากขึ้นระหว่างเลขาธิการโอไอซีกับรัฐบาลไทย และภาคส่วนที่ยังห่วงกังวลกับปัญหานี้ โดยมอบหมายให้เลขาธิการโอไอซีติดตามประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดผลตามมติของที่ประชุม และรายงานต่อที่ประชุมครั้งที่ 40 ต่อไป
สวนทาง "สมช.-กอ.รมน." ตีปี๊บถกโอไอซีชื่นมื่น
ก่อนหน้านี้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ให้สัมภาษณ์ทำนองว่าสาเหตุที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุรุนแรงช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ย. โดยเฉพาะเหตุลอบวางระเบิดกลางเมืองยะลา และระเบิดรถไฟใน จ.นราธิวาส เมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 17-18 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะกลุ่มก่อความไม่สงบไม่พอใจผลประชุมโอไอซีที่เป็นบวกกับรัฐบาล แต่เป็นผลลบกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมโอไอซีครั้งนี้ได้ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ผลประชุมเป็นผลดีกับประเทศไทย
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบมติของที่ประชุมโอไอซี ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ทางการขององค์การความร่วมมืออิสลาม http://www.oic-oci.org/ กลับพบว่าเนื้อหาค่อนข้างเป็นลบกับไทย สอดคล้องกับความเห็นของแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศที่มองว่า มติที่ประชุมโอไอซีถือว่าผิดคาดและน่าผิดหวัง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมติที่เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาคนกลุ่มน้อยมุสลิมเช่นกัน อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และฟิลิปปินส์
อนึ่ง มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี ครั้งที่ 39 ณ ประเทศจิบูตี สามารถสืบค้นฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์โอไอซี http://www.oic-oci.org/english/conf/fm/39/MM-DR-39CFM%20-FINAL.pdf
สำหรับผู้แทนรัฐบาลไทยที่เดินทางไปร่วมประชุมโอไอซีเมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นคณะใหญ่ นำโดย นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมผู้แทนจากทุกหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นายณรงค์ ศศิธร อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา, นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ ผู้อำนวยการกองตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี, นายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พ.อ.ปราโมทย์
ย้อนดูแถลงการณ์ปี 50 กับท่าทีเป็นบวกของที่ปรึกษาเลขาฯโอไอซี
สำหรับแถลงการณ์ร่วมเมื่อปี 2550 ระหว่าง นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู เลขาธิการโอไอซี กับ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ในขณะนั้น) ได้จัดทำเอาไว้ และได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน มีทั้งสิ้น 18 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อกังวลและข้อห่วงใยของเลขาธิการโอไอซี
โดยเฉพาะข้อ 6 ระบุว่า "คณะผู้แทนโอไอซี แสดงความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังคงมีความรุนแรงและกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจและไว้ใจของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งลดความกังวลเกี่ยวกับการไม่ลงโทษผู้กระทำผิด (impunity) และการได้รับความไม่ยุติธรรม (injustice) ควรมีการเร่งรัดกระบวนการของความรับผิดชอบ พร้อมกับการดำเนินการสอบสวนโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในข้อหาที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมการใช้กฎหมายในด้านต่างๆ..."
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาแถลงการณ์ร่วมระหว่าง นายซาอิด คาสเซม เอล-มาสรี ที่ปรึกษาเลขาธิการโอไอซี ที่แถลงร่วมกับ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในการเยือนไทยครั้งล่าสุด เมื่อ 11 พ.ค.2555 พบว่าเนื้อหาเป็นบวกกับไทยพอสมควร โดยที่ปรึกษาเลขาธิการโอไอซี กล่าวเอาไว้ว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ทัศนคติของรัฐบาลที่มีในอดีตได้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม เพราะรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตอตามแนวทางการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และยึดหลักการพูดคุยกับผู้ก่อความไม่สงบ
"เราไม่สนับสนุนขบวนการต่างๆ ที่จะมาแบ่งแยกดินแดน และขอประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือน ทั้งยังเห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องภายในของไทย ซึ่งโอไอซีไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทยได้ เพียงแต่ให้ข้อแนะนำ รวมทั้งอาจมีกองทุนในความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ และเห็นด้วยว่าการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ"
กระนั้นก็ตาม นายซาอิด คาสเซม เอล-มาสรี ได้กล่าวแสดงความกังวลหลายครั้งระหว่างเยือนไทย เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรียกร้องให้ยกเลิกโดยเร็ว
เลขาฯมูลนิธิชัยพัฒนา ชี้ไฟใต้ดับไม่ได้ด้วยอาวุธ
ที่โรงแรมแม็กซ์ ย่านพระราม 9 วันพุธที่ 28 พ.ย.2555 นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บรรยายในการประชุมเชิงปฏิบัติการการนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปขยายผลในพื้นที่ความมั่นคง ตอนหนึ่งว่า สมัยก่อนประเทศรอบๆ บ้านเราเกิดสงคราม และประเทศเราก็มีสงครามกองโจร แนวทางการแก้ไขปัญหาในประเทศ หากใช้อาวุธไม่มีทางสำเร็จ เพราะไม่มีสงครามไหนที่รบกับประชาชนแล้วชนะ
อย่างในภาคใต้มีปัญหา ส่งทหารลงไปกี่กองพลก็ไม่ชนะ การที่บอกว่ารบกับประชาชนหมายความว่าเราแยกไม่ออกว่าใครเป็นคนก่อการร้ายหรือใครเป็นคนปกติ เพราะอยู่ปนๆ กัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความยากลำบากในการทำสงครามประเภทนี้ ดังนั้นต้องมีแนวทางพิเศษในการแก้ไข เนื่องจากปัญหามีความสลับซับซ้อนและละเอียดอ่อน จำเป็นต้องตามเกมให้ทัน หากยิงคนไป 1 คน จะทำให้ญาติของบุคคลนั้นเป็นศัตรูกับเราหมด
วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา โดย กมธ.ได้เชิญ นายอิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาสันติภาพกรณีมินดาเนาของฟิลิปปินส์ โดย นายอิศร ได้กล่าวย้ำตอนหนึ่งว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของไทย และไทยจะจัดการปัญหานี้ด้วยตนเอง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ข่าวเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา จากสำนักข่าวเนชั่น