หลบการเมืองร้อน...ไปหย่อนใจที่ชายหาดปัตตานี
นาซือเราะ เจะฮะ/ สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เอาชนะคะคานกันอยู่ที่กรุงเทพฯยามนี้ หลายคนบอกว่าไม่อยากเปิดทีวีดูด้วยซ้ำ โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ร่วมวงเล่น "กีฬาสี" ทั้งแดงและเหลือง แต่อยากให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบสุข เมื่อรับสื่อแล้วไม่สบายใจ หลายคนจึงอยากหาที่หย่อนใจให้หายเครียด...แน่นอนว่าหาดทราย สายลม และแสงตะวันคือความเบิกบานที่ใครๆ ก็ใฝ่หา
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีสองจังหวัดที่เป็นเมืองชายทะเล คือนราธิวาสกับปัตตานี สองจังหวัดนี้มีหาดทรายขาวทะเลสวยอยู่หลายหาด เช่น หาดนราทัศน์ในตัวเมืองนราฯ หาดตะโละกาโปร์ที่ อ.ยะหริ่ง และหาดแฆแฆที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นหาดยอดนิยม แต่มีน้อยคนนักที่จะทราบว่า ณ ด้านหนึ่งของอำเภอเมืองปัตตานี ก็มีชายหาดกับเขาด้วยเหมือนกัน ไม่ได้มีแต่ท่าเรือประมงดังที่หลายคนเข้าใจ...
แถมยังเป็นชายหาดที่มองเห็นดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเพียงแห่งเดียวในอำเภอเมืองปัตตานีอีกด้วย
เส้นทางสู่ชายหาดซึ่งยังไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามแห่งนี้ ต้องเริ่มจากสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สวนสาธารณะประจำจังหวัดที่อยู่ด้านหลัง ม.อ.ปัตตานี จากจุดนั้นจะมีถนนซีเมนต์สายเขื่องเลาะลัดไปตามพงหญ้าและป่าชายเลนต้นสูง ปลายถนนโค้งจรดเลียบริมหาดทรายกับผืนน้ำขนาดมหึมา
หากแลตามองไปด้านหนึ่งจะเห็นเส้นโค้งขอบอ่าวปัตตานียาวไปสุดลูกหูลูกตาจนเข้าเขตสงขลา เมื่อเหลียวมองอีกด้านสายตาจะไปสะดุดกับขอบเขื่อนที่ทอดยาวเข้าไปในทะเล ดูคล้ายสะพานแคบๆ พุ่งลึกเข้าไปในแผ่นน้ำเวิ้งว้าง
ผู้คนบางตาบ้างนั่ง บ้างเดิน บ้างขี่มอเตอร์ไซค์ ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหญิงชายและนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี หาดทรายขาวละเอียดแม้จะไม่สวยบาดใจเหมือนแถวๆ กระบี่หรือภูเก็ต แต่ก็เงียบสงบอยู่ในสายลมพัดเอื่อย ตัวหาดเร้นกายอยู่ด้านหลังป่าโกงกางและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ จึงไม่แปลกอะไรที่ใครต่อใครจะไม่เคยได้มายลโฉม แม้กระทั่งคนปัตตานีเอง
ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว พื้นที่ตรงนี้เป็นเพียงป่าชายเลนกับน้ำผสมโคลน แม้จะไม่งามตา แต่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติก็สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวประมงพื้นบ้านที่ออกจับสัตว์น้ำเพื่อดำรงชีวิต
กระทั่งสภาพแวดล้อมเริ่มเปลี่ยนไป น้ำเสียจากท่าเรือไหลทะลัก กุ้ง หอย ปู ปลาเริ่มลาหาย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจสร้างกำแพงกั้นน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเสียรุกรานเข้ามา ขณะเดียวกันก็ปรับผืนดินฝั่งตรงข้ามชายหาด และตัดถนนจากสวนสาธารณะให้ทะลุถึงหาดได้
การพัฒนาทีละเล็กละน้อยค่อยๆ พลิกฟื้นป่ารกร้างที่น้ำเริ่มส่งกลิ่นเหม็นให้กลายเป็นสถานที่หย่อนใจสำหรับใครหลายคนที่อยากพักผ่อนกายใจให้คลายเหนื่อยล้า
ยามเย็น...ที่ดินผืนกว้างเบื้องหน้าหาดกลายเป็นจุดตั้งแคมป์ของคนที่อยากหากิจกรรมทำยามว่าง บ้างก็นำเบ็ดมาตกปลา บ้างก็เล่นเครื่องพารามิเตอร์ บ้างก็วิ่งจ๊อกกิ้ง บ้างก็ขี่จักรยานออกกำลังกาย นานๆ ครั้งลูกเถ้าแก่เจ้าของร้านมอเตอร์ไซค์ในเมืองก็นำรถมาขี่โชว์ให้เป็นที่ครึกครื้น
สันเขื่อนกั้นน้ำเสียจากฝั่งท่าเรือ กลายเป็นสะพานวัดใจที่บรรดาวัยรุ่นนักศึกษาเรียกขานกันติดปากว่า "แคทวอล์ค" คนที่ใจกล้าจะพากันเดินไปบนขอบแท่งปูนแคบๆ...แคบขนาดที่ว่าเดินสวนกันแทบไม่ได้ มุ่งหน้าไปที่โป๊ะไฟซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในทะเลหลายร้อยเมตร ส่วนคนที่ใจฝ่อก็ต้องหยุดนั่งห้อยขาระหว่างทาง แล้วโยกตัวหลบให้คนจิตแข็งเดินเบี่ยงข้ามตัวเองไป แต่ละคนส่งยิ้มให้กันใต้แสงสุดท้ายของดวงตะวันที่กำลังลาลับขอบฟ้าเบื้องหน้า
ยามค่ำ...หลายคนปูเสื่อแล้วนอนนับดาว พวกนักตกปลาเริ่มก่อไฟย่างปลาที่ตกมาได้ บางคนใจดีแบ่งให้เพื่อนร่วมหาดได้ลิ้มรสปลาสดๆ ที่เพิ่งปลดจากเบ็ด อิ่มหนำกับมื้อค่ำริมทะเลกันแล้ว ก็แยกย้ายกันกลับบ้านใครบ้านมัน
ที่นี่เสมือนเป็นอีกโลกหนึ่งที่แยกขาดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ได้ยินเสียงปืนคำราม ไม่ได้ยินเสียงระเบิดตูมตาม เป็นสถานที่แห่งความสุขสงบอย่างแท้จริง
มะกือตา สามะ วัย 32 ปี เจ้าหน้าที่สำนักงานทีทีแอนด์ที สาขาปัตตานี ซึ่งแวะเวียนมาที่ชายหาดไร้ชื่ออยู่เป็นนิตย์ บอกว่า จะมาที่นี่ทุกครั้งที่เบื่อๆ วันไหนนึกขยันหน่อยก็จะเก็บหอยไปฝากที่บ้าน อะไรๆ ก็หาง่าย ทั้งผัก ปลา กุ้ง หอย อยากได้กุ้งก็เอาแหมาทอด อยากกินปลาก็เอาเบ็ดมาตก
“ทุกวันนี้ตื่นนอนตอนเช้าผมกับลูกจะขับรถมาวิ่งออกกำลังกาย เสร็จแล้วก็กลับบ้านเตรียมตัวไปทำงานและส่งลูกไปโรงเรียน ถ้าเป็นวันหยุดก็จะอยู่ยาว หรือไม่ก็อยู่ทั้งวัน ก่อนกลับบ้านทุกวันต้องเก็บขยะติดมือไปทิ้งด้วย"
พูดถึงขยะ ดูจะเป็นปัญหาที่สร้างความรกหูรกตาและรำคาญใจมากที่สุดสำหรับผู้มาเยือน เพราะทางเทศบาลยังไม่ได้นำถังขยะมาวางรองรับสิ่งปฏิกูล ซึ่ง มะกือตา บ่นว่า ขยะจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคนที่มาเทียว เป็นธรรมดาที่คนเก็บน้อยกว่าคนทิ้ง จึงทำให้ขยะเต็มพื้นที่ เคยตั้งคำถามในใจเหมือนกันว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่รู้หรืออย่างไร ทำไมจึงไม่เข้ามาดูแล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องขยะ แต่ยังรวมถึงอาชญากรรมที่มักเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนด้วย
ด.ช.กรีภัทร ทองจันทร์แก้ว หนูน้อยวัย 5 ขวบ เล่าว่า มาที่หาดแห่งนี้เป็นประจำช่วงปิดเทอม หากเป็นช่วงเปิดเทอมก็จะมาเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตอนแรกๆ โดนแม่บังคับให้มา แต่หลังๆ ขออนุญาตแม่มา แม่ชอบมาเก็บหอยไปทำกับข้าวตอนเย็น
"ผมไม่เคยช่วยแม่เก็บเลย ทุกครั้งที่มาที่นี่จะชอบเล่นทราย และชอบดูพระอาทิตย์ตก สวยมาก แต่ไม่รู้ว่าทำไมถึงมีขยะเยอะ ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่มาดูแล" เด็กน้อยกล่าว
ปัญหาแก๊งฉกชิงวิ่งราวดูจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แฟนๆ ของชายหาดแห่งนี้อยากให้ผู้รับผิดชอบรีบจัดการ
แวเด็ง แวเย็ง หนุ่มวัย 30 ปี ซึ่งเคยทำอวนรุนแต่ขาดทุนจนต้องหันมาทอดแหใกล้ๆ ชายหาดแห่งนี้แทน บอกว่า เคยแปลกใจว่าทำไมรัฐไม่พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ เพราะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากอย่างแน่นอน แต่รัฐกลับปล่อยให้เป็นเพียงแค่ปลายแหลมหลังเมืองที่เต็มไปด้วยขยะและอาชญากรรม
"ชาวบ้านเริ่มรู้จักและชอบที่นี่ แต่รัฐกลับไม่ดูแล ผมไม่เข้าใจเลยจริงๆ" แวเด็ง บอก
ขณะที่ ธีรเทพ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า พื้นที่ริมทะเลแถบนี้เป็นเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลรูสะมิแล ขณะนี้กำลังประสานกับทางเทศบาลให้นำถังขยะไปตั้งตามจุดต่างๆ และขอให้ตำรวจไปช่วยดูแลความปลอดภัย
“ผมรู้สึกดีใจที่คนปัตตานีเห็นความสำคัญของการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีการพาครอบครัวไปเที่ยวชมพระอาทิตย์ตก และมีเยาวชนไปทำกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ” ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
แต่คงจะดีกว่านี้มากหากรีบจัดการเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย เพื่อให้ชายหาดแห่งนี้เป็นสถานที่หลบร้อนจากเปลวไฟ...ทั้งไฟใต้และไฟการเมือง
-------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มุมหนึ่งของชายหาดหลังเมืองปัตตานี แนวขอบปูนที่เห็นคือสันเขื่อนที่ทอดยาวไปในทะเล
2 หนุ่มคนนี้โชว์ความกล้าด้วยการอุ้มลูกสาวเดินบน "แคทวอล์ค"
3 หนูน้อยเดินเล่นริมหาด