วิกฤตประมงพื้นบ้าน : ความอยู่รอดบนเส้นทางกฏหมายและอุตสาหกรรม
สมัชชาชาวประมงพื้นบ้าน 16 จังหวัดชายฝั่งทะเลไทย ร่วมสะท้อนภาพการทำลายทรัพยากรทะเลซึ่งกำลังนำไปสู่ภาวะวิกฤต ท่ามกลางการรอคอยว่ากฎหมายประมงฉบับใหม่ จะทำให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้หรือไม่
วิกฤตชาวประมงพื้นบ้าน : ด่านหน้ารักษาทรัพยากรทะเล
“ชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ชายฝั่งแทบไม่มีตัวตนในสังคม คนซื้อปลาไม่เคยเห็นว่าใครเป็นคนจับ ไม่รู้ว่าการทำประมงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร นึกว่าในทะเลทุกที่มีปลาให้จับเท่าไหร่ก็ได้ ...สังคมไม่ได้รับรู้ว่าจริงๆแล้วชาวประมงพื้นบ้าน คือ ด่านหน้าในการดูแลรักษาทรัพยากรทะเลให้เรา คือคนที่ปล่อยปลาเล็กในวันนี้เพื่อให้ลูกหลานมีปลาตัวโตกินในวันหน้า” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิชาการด้านการจัดการประมง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวถึงชาวประมงพื้นบ้านในฐานะคนปิดทองหลังพระรักษาทรัพยากรในท้องทะเล
ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีอยู่ราว 3,800 หมู่บ้าน 57,000 ครอบครัว คือผู้มีบทบาทอย่างมากในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง โดยเป็นผู้ผลิตสินค้าประมงเกรดเอปลอดภัยไร้สารเคมีจำนวนมาก แต่ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากร ชาวประมงพื้นบ้านกลับไม่มีส่วนร่วมและถูกกีดกันจากประมงพาณิชย์ส่วนหนึ่งที่ใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างทรัพยากรและเน้นการทำประมงที่ปริมาณสัตว์น้ำมากกว่าความยั่งยืน โดยพบว่าปัจจุบันประมงพาณิชย์ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของชาวประมงทั้งประเทศ สามารถผลิตสินค้าได้ถึงร้อยละ 70 ขณะที่ประมงพื้นบ้านซึ่งมีอยู่ร้อยละ 70 กลับผลิตสินค้าได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
นางอุรัตน์ ละอาด ชาวประมงพื้นบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า เนื่องจากทรัพยากรทะเลปัจจุบันไม่สมบูรณ์เช่นในอดีต การออกเรือหาปลาแต่ละครั้งจึงต้องออกไปไกลกว่าเดิม จากที่เคยเสียค่าน้ำมันหลักร้อยต่อเที่ยวก็กลายเป็นหลักพัน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัววันละ700 -1000 บาท หากวันไหนโชคดีจับได้มากก็อาจมีรายได้หลายพัน ขณะที่บางวันก็ขาดทุนไม่คุ้มค่าน้ำมันเพราะเขตชายฝั่งไม่มีปลาให้จับ บางครั้งชาวประมงพื้นบ้านจึงต้องออกเรือไปนอกเขตชายฝั่งและแข่งขันกับประมงพาณิชย์
ขณะเดียวกันเรือประมงพาณิชย์ก็ลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตชายฝั่ง(3,000 กิโลเมตร) “เรืออวนลากชอบเข้ามาลากในเขตชายฝั่ง ถ้าเป็นเรืออวนรุนบางทีก็เข้ามาที่ชายหาด พอเราโทรไปแจ้ง กว่าเจ้าหน้าที่จะมาถึงเรือก็หายไปแล้ว บางครั้งพอเขาได้ข่าวว่ามีกุ้งเยอะชาวบ้านไปเดินแทงได้คนละ 10 กิโล ก็เอาเรือเข้ามารุน คืนสองคืนก็หมดเกลี้ยง พอชาวบ้านจะจับแค่เอามาทำกับข้าวกินก็ยังไม่พอ”
นอกจากนี้นางอุรัตน์ยังเล่าว่า บ่อยครั้งที่การรุกเข้ามาของเรืออวนลากอวนรุนทำลายเครื่องมือประมงชายฝั่งของชาวบ้านจนเสียหาย เป็นสาเหตุให้ชาวบ้านต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาสร้างเครื่องมือประมงใหม่ และแม้หน่วยงานจะรับรู้ปัญหา แต่ก็เพียงเข้ามารับฟังและให้ข้อมูลโดยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทรัพยากรทะเลเสื่อมโทรม-สินค้าประมงก้าวไกล : คนรวยไม่ใช่ชาวประมง
นักวิชาการจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่าในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าชายเลนของไทยลดลงจาก 3 ล้านไร่เหลือ 1.5 ล้านไร่ ขณะที่แนวปะการัง1.2แสนไร่ รวมทั้งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนก็ถูกทำลายจนเสื่อมโทรม นอกจากการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างธรรมชาติชายฝั่งแล้ว โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในเขตชายฝั่งยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ทรัพยากรทะเลเสื่อมโทรม
ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทน้ำมัน เชฟรอน ซึ่งได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย หรือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นโครงการที่ชาวบ้านกำลังต่อต้านอยู่ในขณะนี้ ดร.สุภาภรณ์กล่าวว่า โครงการเหล่านี้ล้วนส่งกระทบต่อความสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเล จากผลการศึกษาระบุว่าธรรมชาติชายฝั่งทะเลนอกจากจะให้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแล้วยังให้บริการทางนิเวศ เช่น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปรับสมดุลการหมุนเวียนของก๊าซออกซิเจนและไนโตรเจน และหากคิดในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจหากรักษาธรรมชาติชายฝั่งไว้ผลตอบแทนที่ได้รับจะมากกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และยังช่วยกระจายความมั่งคั่งไปสู่คนในท้องถิ่นอีกด้วย
อย่างไรก็ดีสถานการณ์สินค้าประมงไทยกลับสวนทางกับทรัพยากรทะเล นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ของโลกที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าประมงแหล่งใหญ่ โดยมีสินค้าประมงประมาณ 1.6 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และร้อยละ 10 ของจีดีพีภาคเกษตร โดยในปีที่ผ่านมา(2554) สินค้าประมงไทยสร้างรายได้มากที่สุดในรอบ 15 ปี คิดเป็นมูลค่า 2.7 แสนล้านบาท ...แต่สิ่งน่ากังวลคือผลผลิตที่สร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจได้สวยงามเช่นนี้อาจเป็นเพียงประโยชน์ชั่วคราว ณ ปัจจุบัน เมื่อปรากฏว่าทรัพยากรในท้องทะเลของไทยอาจหมดไปในอนาคตข้างหน้า
นอกจากนี้ในความเป็นจริงผลกำไรจากการขายสินค้าประมงส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่ที่ชาวบ้านแต่ตกอยู่กับพอค้าคนกลางที่สามารถขยับราคาปลาทูจากกิโลกรัมละ 20 บาท ณ ชายฝั่ง เป็นกิโลกรัมละ 120-160 ที่ตลาดในกรุงเทพฯได้ ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านยังยากจนเช่นเดิม ดร.สุภาภรณ์ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นหนี้พ่อค้าคนกลางในการกู้ยืมเงินมาซื้อเครื่องมือประมง ดังนั้นเมื่อนำสัตว์น้ำไปขายไถ่ถอนหนี้จึงไม่มีอำนาจต่อรองราคา อย่างไรก็ดีวิธีการแก้ไขคือการปลดตัวเองออกจากความเป็นหนี้และรวมกลุ่มกันต่อรองราคา โดยพบว่าแพปลาชุมชนบางแห่งสามารถตั้งราคาปูม้าได้เองจากเคยขายกิโลกรัมละ 250 บาท ขยับขึ้นเป็น 500 บาท
ช่องโหว่ของกฎหมายประมงที่ล้าหลัง – จับตาร่างฯใหม่ให้สิทธิชุมชน?
ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้หากมองในเชิงโครงสร้าง ความล้าสมัยและช่องโหว่ของกฎหมายประมงที่ใช้มานาน 65 ปี (พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 )ไม่ทันต่อสถานการณ์และเทคโนโลยีประมงที่ก้าวไกล คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรทะเลถูกใช้ไปอย่างมักง่าย
ดร.สุภาภรณ์กล่าวว่า “ยังมีเครื่องมือประมงบางชนิดที่ทำลายล้าง แต่กฎหมายไม่ได้ระบุห้ามไว้ เช่น อวนล้อมปลากะตักกลางวัน ซึ่งใช้จับปลากะตักตัวเล็กที่สามารถตีล้อมได้ถึงชายฝั่ง หรือ เรือคราดหอย ซึ่งตามกฎหมายห้ามคราดบริเวณชายฝั่ง แต่ด้วยข้อจำกัดของการตรวจจับก็ทำให้เรือเหล่านี้รุกล้ำเข้ามาชายฝั่งมากขึ้น ขณะที่เครื่องมืออวนลาก อวนรุน ซึ่งเดิมทีกรมประมงควบคุมจำนวนโดยการไม่ออกอาชญาบัตรใหม่ คือ ชำรุดเสื่อมไปก็ต้องเลิกใช้ แต่ ณ ปัจจุบันก็มีการสวมอาชญาบัตร สร้างอวนอันใหม่ขึ้นมาแล้วสวมทับด้วยอาชญาบัตร วันดีคืนดียังมีการนิรโทษกรรมอนุญาตให้มาจดทะเบียนใหม่ จึงทำให้เครื่องมือทำลายล้างทรัพยากรเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก”
“อีกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ เรือบางลำใช้อวนตาเล็กกว่ากฎหมายกำหนดในการจับปลา แต่พอเห็นเจ้าหน้าที่มาก็โยนอวนตาใหญ่แทน ถึงแม้ว่าจะตรวจพบอวนตาเล็กในเรือแต่ก็จับกุมไม่ได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้จับขณะทำการประมงเท่านั้น ถามว่าแล้วคุณจะมีอวนตาเล็กไว้ในเรือทำไม กฎหมายมันเลยต้องแก้ โดยควรจับกุมตั้งแต่มีเครื่องมือผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง จับขณะทิ้งอวน และจับเมื่อนำเรือเทียบท่า แต่กฎหมายบ้านเรายังล้าหลังและบทลงโทษเบา บางคนเลยกล้าเสี่ยงทำผิด ทำแล้วขายปลาได้หลักหมื่น แต่เสียค่าปรับแค่หลักพัน มันก็คุ้ม กฎหมายที่ดีจึงต้องคิดอุดช่องว่างให้หมด”
กรมประมงได้พยายามแก้กฎหมายประมงมากว่า 10 ปี แต่เนื่องจากปัญหาหลายอย่างในช่วงผลัดเปลี่ยนรัฐบาลจึงทำให้การแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งการประชุมสภาฯสมัยนี้ร่างพ.ร.บ.การประมงได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯท่ามกลางความหวังของชาวประมงพื้นบ้านที่ต้องการให้กฎหมายกระจายอำนาจและรองรับสิทธิชุมชนในการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลชายฝั่งอย่างยั่งยืน
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการเสนอร่างพ.ร.บ.ประมง 5 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้แก่ ร่างที่เสนอโดยส.ส.พรรคเพื่อไทย 2 ฉบับ พรรคชาติไทยพัฒนา 1 ฉบับ พรรคประชาธิปัตย์ 1 ฉบับ และร่างรัฐบาลที่กรมประมงเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีอีก 1 ฉบับ
โดยร่างกฎหมายจากภาคประชาชนที่ใช้สิทธิ์จากการรวบรวมรายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อไม่สามารถเสนอทันและนำเข้าสู่สภาฯได้เนื่องจากต้องใช้เวลาในการตรวจสอบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ดีจะเสนอสาระเพิ่มเติมในชั้นกรรมมาธิการซึ่งมีตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน 3 คนเป็นกรรมาธิการอยู่ด้วย
ทั้งนี้หากพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก ประเด็นแรกเรื่องคณะกรรมการประมงระดับจังหวัด ซึ่งเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ชุมชนไม่มีในร่างฯรัฐบาล แต่มีในร่างฯของพรรค ซึ่งต้องคอยดูต่อไปว่าหลักการดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ ประเด็นที่สองเรื่องเขตประมงชายฝั่ง ภาคประชาชนเสนอให้มีแนวเขตห่างออกไป 5 ไมล์ทะเล(9.275 กิโลเมตร) ร่างฯรัฐบาลเสนอ 3 ไมล์ (5.565 กิโลเมตร) ขณะที่ร่างฯของพรรคเพื่อไทยซึ่งมาจากแนวคิดของกลุ่มประมงพาณิชย์เสนอให้แนวเขต 2 กิโลเมตรแรกเป็นเขตอนุรักษ์และ 2 กิโลเมตรถัดไปสามารถให้เรือประมงพาณิชย์ทำประมงได้ และประเด็นที่สามเรื่องกองทุนพัฒนาการประมง ซึ่งไม่มีในร่างฯของรัฐบาลแต่มีในร่างฯของพรรคการเมือง โดยสาระอื่นๆไม่แตกต่างกันมากนัก
“หลักๆคือเรื่องกระจายอำนาจที่ต้องรอดูต่อไป เราเห็นว่ากฎหมายควรกระจายอำนาจการตัดสินใจไปในระดับจังหวัดไม่ใช่อยู่ที่ส่วนกลางอย่างเดียว” นายวิโชคศักดิ์กล่าว
……………..
อุปสรรคคือแรงผลักให้ชาวประมงพื้นบ้านวันนี้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง กฎหมายประมงฉบับใหม่จะคลอดออกมาเช่นใดย่อมมีผลต่อความอยู่รอดของประมงพื้นบ้านและทรัพยากรทะเล ดังที่ดร.สุภาภรณ์กล่าวไว้ “หากทะเลหน้าบ้านไม่ถูกดูแลโดยชุมชนผู้อาศัย ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครมาดูแล”
ข่่าวที่เกี่ยวข้อง ::: 'ถกผลผลิตประมงลดลงกว่าครึ่งเหตุทะเลโทรม หวังร่าง พ.ร.บ.ใหม่ชุมชนมีส่วนร่วม' http://bit.ly/TfOayN
ที่มาภาพ :::
http://siangtai.com/new/index_mobile.php?name=hotnewsmobile&file=readnews&id=11951
http://www.greenistasociety.com/cool_detail.php?coolid=12