ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (1)...ย้อนอดีตภาษาและชนชาติต่างๆ ในอุษาคเนย์
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ย้อนอดึตศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษาไทยกับภาษามลายูในยุคกว่าสองพันปีก่อน เชื่อกันว่าทั้งสองภาษานี้เคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดถึงขนาดถูกระบุว่าเป็นภาษาที่ร่วมพ่อแม่เดียวกัน พอล เค.เบเนดิกต์ (Paul K. Benedict) นายแพทย์ชาวอเมริกัน คือผู้ศึกษาแนวคิดนี้อย่างเอาจริงเอาจังเป็นคนแรก
เมื่อ พ.ศ.2485 พอล เค.เบเนดิกต์ ได้เสนอ "ทฤษฎีออสโตร-ไท" (Austro-Tai) ซึ่งพยายามพิสูจน์ว่า ทั้งสองภาษา (และอีกหลายภาษา) เกี่ยวข้องกันอย่างไร และทำไมเขาถึงจัดภาษาไทให้อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (ภาษามาลาโย-โพลีนีเซียนเดิม) ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลใหญ่ของภาษามลายู จาม อินโดนีเซียน ฟิลิปปินส์ ชวา อีบาน อาเจ๊ะ ฯลฯ โดยเขาเรียกเสียใหม่ว่า "ตระกูลภาษาออสโตร-ไท"
ผลการค้นคว้าอันลือลั่นของเขาแม้ว่าในระยะแรกๆ จะถูกปฏิเสธโดยนักภาษาศาสตร์ส่วนใหญ่และเผยแพร่อยู่ในวงจำกัด แต่ต่อมาก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด สารานุกรมอเมริกานา (Encyclopedia Americana) ก็ยอมถอนภาษาไทออกจากตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ไปจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนตั้งแต่ฉบับที่ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) เป็นต้นมา
บทความนี้จะเท้าความถึงความสัมพันธ์ของชนชาติต่างๆ ในสุวรรณภูมิ หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์) เพื่อให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไรที่แต่ละภาษาในสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จะมีรากเหง้าเดียวกัน คือ “รากร่วมแห่งอุษาคเนย์” และในจำนวนนี้ภาษาโดยเฉพาะภาษาไท (ภาษาไทแขนงต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งภาษาไทยกลางและภาษาไทยถิ่นที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน) กับภาษามลายู (ภาษาหนึ่งในตระกูลภาษามาลาโย-โพลีนีเซียนเดิม ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘ออสโตรนีเซียน’) อาจมี “พ่อแม่เดียวกัน” โดยพิจารณาจากวงศ์คำศัพท์ในทั้งสองภาษาจำนวนมากซึ่งคล้ายคลึงกัน หรืออาจเป็น “คำร่วมเชื้อสาย” (cognate) แม้ว่ามีความแตกต่างจนดูคล้ายเป็นภาษาคนละตระกูล
ทั้งนี้และทั้งนั้นสืบเนื่องจากว่า ทั้งสองภาษานี้ค่อยๆ แยกตัวออกจากกันมาตลอดในระยะราวๆ 1-3 พันปีก่อน (สันนิษฐานโดยผู้เขียน) โดยนักภาษาศาสตร์คนสำคัญคนหนึ่งสันนิษฐานว่า ภาษาไทเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 พันปีที่แล้วมานี่เอง แต่ โลร็องต์ ซาการ์ (Laurent Sagart) นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเชื่อว่า ภาษาไทซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาออสโตร-ไท (Austro-Tai) เกิดขึ้นในยุคหินใหม่ในบริเวณชายฝั่งทางเหนือหรือตะวันออกของจีน
ภาพรวมสมัยบุพกาลของสังคมอุษาคเนย์
บัดนี้ขอสรุปในขั้นหนึ่งก่อนเพื่อให้เห็นภาพโดยรวมๆ ของชาวอุษาคเนย์ในสมัยบรรพกาลดังนี้ คนในยุคหินกลาง (ประมาณ 10,000-3,000 ปีก่อนค.ศ.) อยู่ในสมัยหัวบินเนียนและบัคโซเนียน พอเข้าสู่ยุคหินใหม่ (ประมาณ 2,500-2,000 ปีก่อน) งานประดิษฐ์ต่างๆ ก็ประณีตขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นพวกล่าสัตว์และหาอาหารจากธรรมชาติ ทว่าบัดนี้ต่างก็ได้ออกจากถ้ำมาปลูกเรือนอาศัย มีการเลี้ยงสัตว์ จับปลา เพาะปลูก และแลกเปลี่ยนสินค้า สภาพเช่นนี้ทำให้คนในยุคนี้เป็นพวกบูชาเทพเจ้าสัตว์ (Lord of Beasts) พวกเขาได้พัฒนาการผลิตของตนเรื่อยๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผาทำเป็นภาชนะและเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งประดับด้วยสัญลักษณ์ของสัตว์ รวมทั้งได้นำไปฝังไว้กับศพในถ้ำซึ่งเคยเป็นที่ฝังร่างบรรพบุรุษของตนตามประเพณีที่ติดมากับยุคก่อนด้วย
เมื่อเข้าสู่ยุคโลหะ วัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาสีดำซึ่งใช้เวลา “ฟักตัว” ในยุคก่อนหน้านี้ก็เบ่งบานเต็มที่ มีการถลุงแร่ทองแดงและดีบุกหลอมหล่อเป็นเครื่องใช้ประเภททองสำริดขึ้นมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ “วัฒนธรรมดองซอน” คนในยุคโลหะในอุษาคเนย์กล่าวได้ว่าเจริญ (civilized) อย่างเต็มที่ ภูมิปัญญาในการถลุงโลหะทำให้เกิดการปฏิวัติครั้งสำคัญในอารยธรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการพบเหล็ก ดีบุก ทองแดง และตะกั่ว ซึ่งกลายเป็นวัตถุดิบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มนุษย์ได้ค้นพบอะไรต่อมิอะไรมา
ในสมัยต่อมาพบว่าโลหะคือตัวนำไฟฟ้าซึ่งทำให้สิ่งที่ไม่เคยปรากฏในความฝันของมนุษย์กลายเป็นจริง รวมทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกหลายพันปีถัดจากนี้ไป
กล่าวในที่นี้ได้ว่า ตั้งแต่เริ่มยุคโลหะแล้ว คนอุษาคเนย์ก็รู้จักการเพาะปลูก คัดเลือกพันธุ์ ทำไร่ ทำนา (ดำ) เลี้ยงปศุสัตว์ ทำผ้าจากเปลือกไม้ จนกระทั่งรู้จักการทอผ้า รวมทั้งทำผ้าย้อมสีหรือผ้าพิมพ์ลาย (batik) ใช้กันทั่วไป เชื่อว่ามีการละเล่น เช่น หนังตะลุง ร้องรำทำเพลง เล่านิทานประกอบดนตรี และแสดงนาฏลีลาที่เลียนแบบการต่อสู้เป็นเครื่องบันเทิงใจด้วย
นอกจากข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน พวกเขาได้หล่อกลองสำริดขึ้นเรียกว่า “กลองมโหระทึก” พร้อมสลักลวดลายสวยงาม เพื่อใช้ในพิธีศาสนา สงคราม และในโอกาสอื่นๆ ภาชนะสำริดหลากหลายรูปแบบที่พบแสดงฝีมือและการสร้างสรรค์ในขั้นยอดเยี่ยม เนื่องจากชาวอุษาคเนย์ในยุคโลหะนี้ยังชีพทางกสิกรรม จึงมีชีวิตที่ผูกพันแนบแน่นกับดินฟ้าอากาศ พวกเขาสร้างสัญลักษณ์ทางธรรมชาติและกลายเป็นพวกบูชาเทพเจ้าแห่งฟากฟ้า (Father Sky) เจ้าแม่ธรณี (Mother Earth) และวิญญาณบรรพบุรุษ (Ancestor Worship) ซึ่งจะเป็นเครื่องกำหนดพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่ยัญพิธีไปจนถึงมงคลพิธี
มนุษย์ในปัจจุบันใช้หน้ากระดาษเพื่อบันทึกข้อมูลและความรู้ต่างๆ รวมทั้งเพื่อศึกษาหาความรู้นานาชนิด แต่ในยุคนั้นท้องฟ้าดูเหมือนจะเป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่พวกเขาพยายามอ่านและเรียนรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยทั้งในยามว่างและยามทำงาน นอกจากนี้ยังมีผืนดิน ป่าเขา ทะเล และมหาสมุทร เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ศึกษาและไขความเร้นลับจากรหัสทางธรรมชาติเหล่านั้นนำไปสู่ข้อสรุปซึ่งกลายเป็นองค์ความรู้เป็นต้นว่า ดาราศาสตร์ อุทกศาสตร์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งพาณิชยกรรม แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับพื้นฐาน
พวกเขาอาศัยความรู้ที่สะสมเพื่อใช้ในการพยากรณ์ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ผันแปรอยู่รายรอบเพื่อให้ก่อเกิดประโยชน์ต่อตนเองและเผ่าพันธุ์มากที่สุด รวมทั้งได้ถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคน ทั้งด้วยภาคปฏิบัติและปากเปล่า (oral) เนื่องจากพวกเขายังไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการสะสมองค์ความรู้คือภาษาเขียน
จนกระทั่งวันเวลาได้ล่วงเลยผ่านอีกนับพันๆ ปี ปรากฏว่าท้ายที่สุดพวกเขาจำต้องพึ่งพาชนเผ่าอื่นซึ่งคิดค้นภาษาเขียนได้ก่อนเพื่อใช้ในการจดบันทึก คนอุษาคเนย์เริ่มสะสมองค์ความรู้มากขึ้น สามารถมองและรู้จักตัวเองดียิ่งขึ้นจากภาษาเขียน และเช่นเดียวกันทำให้เราได้รู้จักพวกเขายิ่งขึ้น นอกเหนือจากหลักฐานต่างๆ ที่พวกเขาทิ้งไว้เพื่อให้เราได้ศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทางด้านโบราณคดี รวมทั้งจากชิ้นส่วนกระดูกและร่างกายของเขาเองซึ่งเป็นดังตัวอักษรที่ขีดเขียนเรื่องราวต่างๆ ไว้ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ และทำความเข้าใจ
จากนี้คงต้องให้รายละเอียดของสังคมบุพกาลในอุษาคเนย์มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานในการเข้าใจและรู้จักบรรพชนชาวอุษาคเนย์ของเราต่อไป
เผ่าพันธุ์และภาษาในอุษาคเนย์
จากหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวถึงทำให้เราทราบว่า เผ่าพันธุ์หลักๆ ของผู้คนยุคหินกลาง (Mesolithic) ได้แก่ พวกเมลานีเซียนรุ่นเก่า (Proto-Melanesian) ออสเตรเลียนรุ่นเก่า (Proto-Australian) เวดดอยด์ (Veddoid) และเนกริโต (Negritos) พอมาถึงในยุคหินใหม่ (Neolithic Age) ศาสตราจารย์ฟริทซ์ สารสิน (Fritz Sarasin) นักโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ชาวสวิสระบุว่าเป็นพวก “มาเลย์รุ่นเก่า” (Proto-Malays) ซึ่งบางคนเรียกว่า “พวกเนซิออต” (Nesiots) พวกนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกคอเคซอยด์ (Caucasoid) แถบเมดิเตอเรเนียน ซึ่งอพยพไปยังภาคตะวันตกของจีน และลงมาสู่อาคเนย์โดยผ่านแดนระหว่างพม่าและอัสสัม กลายเป็น “ชนเผ่ามาเลย์พื้นเมือง” (Aboriginal Malays) ซึ่งได้แก่ พวกจราย (Jarai) ระแด (Rhade) จาม ม้อย ฯลฯ ในแหลมอินโดจีน พวกยากุน (Jakun) บซีซิก (Basisik) ฯลฯ ในแหลมมลายู พวกว้า-ปะหล่อง-คลา ฯลฯ ในพม่า พวกนี้มีกะโหลกศีรษะยาว ผมหยิก สูงประมาณ 155-165 เซ็นติเมตร ใช้พาหนะคือเรือ เรียกว่า “โปรอา” (proa), “ปราวโอ” (prao) หรือ “ปราฮู” (perahu) ทำบ้าน ยุ้งข้าวและโลงศพรูปเรือ คนพวกนี้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมหัวบินเนียนในอุษาคเนย์
ตกถึงยุคโลหะ (Metal Age) พวกเนซีออต (มาเลย์เก่า) ได้ผสมกลมกลืนกับพวกมาเลย์ใหม่หรือ “มาเลย์รุ่นสอง” (Deutero-Malays) ซึ่งบางท่านเรียกว่า “พวกพารีเยิน” (Pareoean) ซึ่งเป็นพวกไป่เย่วสายมองโกลอยด์พวกหนึ่งที่พูดภาษาออสโตรนีเซียน (Austronesian) กลายเป็นประชาชนพื้นฐานรุ่นใหม่ของอุษาคเนย์ ในขณะที่พวกสาขาที่แยกไปทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนได้ผสมกับพวกมาเลย์ใหม่สายมองโกลอยด์ที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนกลายเป็นประชาชนพื้นฐานทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนและตอนเหนือของเวียดนาม รวมกับชนเผ่าไทและชนเผ่าอื่นๆ ซึ่งจีนโบราณเรียกรวมๆ ว่า “พวกไป่เย่ว”
พวกที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนที่กล่าวถึงนี้ได้เคลื่อนลงมาทางใต้เข้าสู่อินโดจีนและแหลมมลายู อีกส่วนก็ข้ามไปยังเกาะใต้หวันและญี่ปุ่น ในขณะที่อีกสายหนึ่งจากใต้หวันใช้เรือข้ามไปยังหมู่เกาะฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย และกระจายตัวไปยังหมู่เกาะใหญ่น้อยในมหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงฮาวายในห้วงเวลาราว 3,000-2,000 ปีมานี้ พวกที่เข้าสู่หมู่เกาะทะเลจีนใต้กลายเป็นประชาชนพื้นฐานในหมู่เกาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ทั้งหมด มีบางกลุ่มของพวกนี้ใช้เรือ (prao) ของตนโลดแล่นข้ามมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงเกาะมาดากัสการ์ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปอาฟริกา น่าอัศจรรย์ที่คำว่า “กยีนามอม” (quinamom ไม้หวาน/อบเชย) ซึ่งปัจจุบันมีปลูกเฉพาะในเอเชียอาคเนย์เท่านั้นไปปรากฏในพระคัมภีร์เก่า (Old Testament) บท Exodus ซึ่งในคัมภีร์ทางศาสนาของพวกยิวเมื่อกว่า 700 ปีก่อน ค.ศ. (ก่อนพุทธกาล 200 ปี) ในฐานะเป็นส่วนประกอบในน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ต้องห้ามของศาสดาโมเสส
เมื่อศึกษาที่มาของคำ quinamom (ภาษากรีกเรียก cinnamon/กินนามน) ก็พบว่า คำนี้มาจากคำภาษาออสโตรนีเซียนโบราณ (Proto-Austronasian) เทียบได้กับคำว่า “กายูมานิส” (kayu manis ไม้หวาน/อบเชย) ในภาษามาเลย์ปัจจุบัน ชื่อนี้ยังพบในบันทึกอักษรเฮียโรกลีฟิค (hieroglyphic) สมัยพระราชินีฮัตเชปสุต (Queen Hatshepsut: 1503-1482 ก่อน ค.ศ หรือประมาณ 1,000 ปีก่อนพุทธกาล) ของอียิปต์โบราณด้วย นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า "อบเชย" หรือ “ไม้หวาน” อาจถูกนำมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ พร้อมกับกานพลู (พบในเมือง Terqu/เตอร์กอ ประเทศซาม (Syam) หรือชาม (ซีเรียโบราณ) ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันคือเมื่อราว 1,700-1,600 ปีก่อน ค.ศ. (1,200-1,100 ปีก่อนพุทธกาล)
ศาสตราจารย์วิลเฮล์ม โซลไฮม์ (Wilhelm Solheim) สันนิษฐานว่า อบเชยคงมากับเรือของพวกออสโตรนีเซียนซึ่งแล่นใบมายังเกาะมาดากัสการ์ แล้วจึงขึ้นฝั่งที่ไหนสักแห่งทางภาคตะวันออกของอาฟริกา จากนั้นจึงถูกนำไปยังรัปตา (Rhapta) หรือโซมาเลียปัจจุบัน ที่นี่อบเชยได้ตกสู่มือของพ่อค้าอาหรับแห่งมูซาในเยเมน แล้วจึงถูกลำเลียงลัดเลาะขึ้นไปตามชายฝั่งทะเลแดงเข้าสู่อียิปต์และตอนเหนือของคาบสมุทรอาราเบีย
เราไปไกลถึงชายฝั่งอาฟริกาและตะวันออกกลาง ฉะนั้นจึงควรกลับมายังจุดตั้งต้นใหม่อีกครั้ง ดังที่ได้วาดภาพไว้แล้วว่า ประชาชนพื้นฐานของอุษาคเนย์และภาคใต้ของจีนในช่วง 5,000-1,000 ปีที่แล้วมีทั้งพวกเนซีออตและพวกพารีเยินซึ่งประกอบไปด้วยหลายชนเผ่าได้แก่ ไท จีนใต้ พม่า มอญ-เขมร ลาว เวียดนาม จาม-มลายู (อินโดนีเซียน) ฯลฯ ประชาชนพื้นฐานเหล่านี้รวมเรียกว่าพวก ไป่เย่ว แต่ใครเป็นใครในพวกไป่เย่วยังแยกแยะไม่ได้ชัดเจน แต่บางทีเมื่อหลายพันปีก่อนหน้านี้ พวกเขาอาจเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันโดยสายเลือดก็ได้
การกระทำและการโต้ตอบของกลุ่มชนภายใต้การกดดันของพลังทางประวัติศาสตร์อันซับซ้อนและหนักหน่วง ทำให้เกิดการแยกตัวออกเป็นชนเผ่าต่างๆ กัน ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาภาษาและองค์รวมอื่นๆ เป็นของตนเอง อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความเป็นไป บางชนเผ่าอาจถึงกาลสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของตนเอง ในขณะที่อีกหลายชนเผ่าถูกกลืนไปเป็นพี่น้อง “ร่วมสายเลือด (ใหม่)” กับเผ่าชนของผู้ชนะหรือผู้ปกครอง รวมทั้งกลายเป็นผู้ใช้ภาษาของเผ่าชนผู้ชนะหรือผู้ที่ครอบครองตนเป็นหลัก ในกรณีนี้จึงมีการละทิ้งภาษาและแม้แต่ความเชื่อเดิมของตนไป แต่ก็ไม่ทั้งหมด ถ้อยคำ สำนวน วลีหรือแม้กระทั่งโครงสร้างของภาษา ตลอดจนมโนภาพและความเชื่อดั้งเดิมของตนยังอาจถูกเก็บรักษาไว้อย่างเข้มแข็งภายในเปลือกหุ้มของภาษาใหม่หรือความคิดความเชื่อใหม่
ตามปกติภาษาของผู้ชนะส่วนใหญ่จะยิ่งงอกงามขึ้นเรื่อยๆ แต่การยืมกันไปยืมกันมา (Borrowing) ในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมก็ยังดำเนินต่อไป เพราะการไปมาหาสู่กันระหว่างชนเผ่ายังคงดำรงอยู่ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา และนี่ก็คงเป็นสภาพไม่ปกติที่เป็นปกติของพวกไป่เย่วในห้วงเวลานั้น
นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาสันนิษฐานว่า พวกไปเย่วที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนคงเป็นเผ่าพันธุ์โบราณและเคยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ของจีน รวมทั้งในอุษาคเนย์มาก่อนชาติใด และน่าเชื่อว่ามีพวกมอญ-เขมรโบราณร่วมอยู่ด้วย อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าผู้พูดภาษาออสโตรนีเซียนอพยพไปจากจีนตอนใต้ไปสู่ไต้หวัน (เกาะฟอร์โมซา) เมื่อราว 8,000 ปีมาแล้ว จากนั้นจึงอพยพออกทางเรือไปยังหมู่เกาะต่างๆ เมื่อราว 6,000 ปีมาแล้ว แต่นักธรณีวิทยาชาวออสเตรเลียผู้หนึ่งกล่าวว่า หมู่เกาะต่างๆ ในแปซิฟิคมีอายุในราว 3 พันปีมานี้เอง ดังนั้นจึงยังมีช่องว่างในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่อีก รวมทั้งนักภาษาศาสตร์บางคนก็พูดว่า ข้อมูลเกี่ยวกับภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิมยุติแค่ชายฝั่งตะวันตกของไต้หวัน โดยไม่มีความเชื่อมโยงกับภาษาบนแผ่นดินใหญ่ใดๆ ยกเว้นภาษากลุ่มจาม แต่ก็มีหลักฐานว่าเป็นภาษาของผู้อพยพเข้าไปใหม่
ดังกล่าวแล้วว่าพวกที่พูดภาษานี้ประกอบด้วยชนหลายเผ่า สิ่งที่เป็นไปได้อย่างยิ่งก็คือว่า ภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนอาจจะเป็น "ภาษารากหญ้า" และ "ภาษารากแก้ว" ภาษาหนึ่งในภาคใต้ของจีนเช่นเดียวกับในอุษาคเนย์ตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีที่ล่วงมา และพวกที่พูดภาษานี้อาจจะเป็นบรรพบุรุษของชนเผ่าไทและพวกออสโตรนีเซียนในชั้นหลัง เหตุการณ์อาจเป็นไปตามทำนองนี้ คือในขณะที่พวกออสโตรนีเซียน (มาเลย์รุ่นเก่าหรือพวกนีซีออต) พากันอพยพลงมาทางใต้สู่ทางเหนือของเวียดนาม (เวลานั้นยังไม่เป็นประเทศอย่างเดี๋ยวนี้) ไปสมทบกับพวกโปรโต-ออสโตรนีเซียนที่อาศัยอยู่ก่อนหน้าแล้วตั้งแต่สมัยหินกลางในอุษาคเนย์ โดยส่วนหนึ่งไปอยู่ตามริมฝั่งทะและข้ามไปยังเกาะแก่งต่างๆ ภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนที่ตกค้างอยู่ในแผ่นดินใหญ่จีนก็ถูกระบบเสียงวรรณยุกต์ของจีนกลืนหายไปทั้งหมด หรืออาจเป็นว่าภาษาโปรโต-ออสโตรนีเซียนและจีนโบราณจำนวนมากถูกกลืนกลายเป็น “ภาษาไท” ที่ใช้พูดกันอยู่ในจีนตอนใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ สิบสองปันนา ฉาน อัสสัม ภาคเหนือของเวียดนาม สิบสองจุไท ล้านนา ล้านช้าง และประเทศไทยในปัจจุบัน
--------------------------(โปรดติดตามตอนต่อไป)-----------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาษาออสโตรนีเซียน –ภาษาแห่งชายฝั่งและหมู่เกาะ
2 ชาวจามผู้ใช้ภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนในเขมร คล้ายพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
3 การกระจายตัวของภาษาออสโตรนีเซียน