เส้นทางสินค้ามือสองที่ชายแดนใต้...จากสิงคโปร์สู่ตลาดเปิดท้ายปัตตานี
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“ภาคใต้ตอนล่าง” ขึ้นชื่อเรื่อง “สินค้ามือสอง” มาเนิ่นนาน หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อเสียงของ “ตลาดคลองแงะ” ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยอาจไม่ทราบว่าที่ชายแดนใต้ก็มีตลาดขนาดมหึมาของ “สินค้าใช้แล้ว” แต่คุณภาพยังดี
และแม้จะเป็น “สินค้ามือสอง” หากสามารถสร้างรายได้อย่างงามแก่คนขาย สร้างความแปลกใจให้คนซื้อกับการเลือกสรรของดีๆ ที่ยังหลงเหลือ ย่อมสร้างกระแสสะพัดทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยเหมือนกัน
“ทีมข่าวอิศรา” อาสาไปสำรวจเส้นทาง “สินค้ามือสอง” ที่พ่อค้าแม่ขายนำมาเปิดท้ายในตลาดริมแม่น้ำปัตตานี...
ระยะเวลาปีกว่าๆ ที่ผ่านมา พ่อค้าแม่ค้าหลายรายในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากสินค้ามือสองที่ส่งตรงมาจากสิงคโปร์ มีทั้งลูกค้าขาจรและรับไปขายสร้างรายได้กระจายไปทุกพื้นที่ทั่วภาคใต้จนถึงกรุงเทพฯ
สินค้ามือสองเหล่านี้มีตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน (จริงๆ) ยันเรือรบ (จำลอง) เครื่องแก้ว เครื่องครัว เสื้อผ้าแพรพรรณ และสารพัดโมเดลของเล่น เป็นที่ชื่นชอบของคนเสาะหาของดีมีคุณภาพ แต่ราคาถูก (เพราะเคยผ่านมือผู้ใช้มาแล้ว)
ในปัตตานีมีพ่อค้าคนกลางหลายรายที่ติดต่อรับซื้อสินค้ามือสองจากประเทศสิงคโปร์โดยผ่านทางมาเลเซีย และไปรับของที่ด่านตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ขนสินค้าเข้ามาขายกระจายสู่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยทั้งที่เป็นลังและเป็นกระสอบในราคาต้นทุนบวกกำไรนิดหน่อย
ทุกเช้าถึงเที่ยงของวันจันทร์และวันพฤหัสบดีริมแม่น้ำปัตตานีใจกลางเมืองปัตตานี คือตลาดใหญ่ของสินค้ามือสองดังว่า เป็นที่รู้กันของ “นักช้อปสินค้ามือสอง” ว่าต้องมากันตั้งแต่เช้า เพราะจะได้ดูของและเลือกของก่อนใคร หากมีของกระสอบใหม่เข้ามาจะได้ไม่ผิดหวัง สินค้ามีทุกสภาพ ทุกราคาตามความพึงพอใจของผู้ขายและผู้ซื้อ
อามัน มามะ หนึ่งในพ่อค้าที่ยึดอาชีพนี้มากว่าหนึ่งปีควบคู่ไปกับการเป็นช่างทำแหวนในเวลาปกติ เขาและญาติอีก 2-3 คนช่วยกันขายของมือสอง โดยเริ่มต้นจากการรับของมาจากพ่อค้าที่รู้จักกัน จากไม่กี่ลังจนตอนนี้เขากล้าลงทุนครั้งละเป็นสิบลังหรือสิบกระสอบด้วยหวังเจอ “ของดี” ในลังและกระสอบเหล่านั้น
“ถ้าเปิดกระสอบหรือลังแล้วได้สินค้าดีจะทำราคาได้ดี ราคาเครื่องแก้วเครื่องครัวลังละประมาณ 1,200-1,300 บาท ถ้าเป็นของเล่นราคาจะถูกกว่านิดหน่อย บางครั้งไปคัดของกับพ่อค้ารายใหญ่บ้างเพื่อให้มีของมาคละกัน รายได้ก็พออยู่ได้ ผมขายที่นี่ตรงนี้สะดวกดี ช่วงปลายเดือนจะมีลูกค้ามาซื้อกันมาก มีลูกค้าทุกประเภท ทุกวัย ส่วนวันเสาร์ขายหน้ามัสยิดกลาง (ปัตตานี) จริงๆ ถ้ามีเวลาและทำเล ที่นี่สามารถขายของประเภทนี้ได้ตลอดเวลา อย่างตอนนี้วันอาทิตย์จะมีเพื่อนๆ ไปขายกันแถววงเวียนหน้า ม.อ.ปัตตานี เพราะเป็นวันที่มีตลาดนัด ซึ่งก็มีลูกค้าแวะเวียนมาดูเยอะอยู่เหมือนกัน”
จากพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยไม่กี่รายเมื่อปีที่แล้ว ได้เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัวในทุกวันนี้ และยังมีเจ้าใหญ่ที่เป็นพ่อค้าคนกลางนำของน่าสะสมมาขายอีกด้วย
นิมิต เด่นอุดม คือพ่อค้าที่ส่งของให้กับพ่อค้ารายย่อย เขาเล่าถึงที่มาของสินค้ามือสองเหล่านี้ว่า สินค้ามือสองที่นำเข้ามาเป็นข้าวของเครื่องใช้ของชาวสิงคโปร์ที่ปีหนึ่งๆ เขาจะโละข้าวของกันครั้งหนึ่ง เพราะมีพื้นที่เก็บและพื้นที่อยู่อาศัยน้อย (ประเทศสิงคโปร์เป็นเกาะขนาดเล็กกว่า จ.ภูเก็ต) เมื่อซื้อของมาใหม่ก็ต้องบริจาคของเดิมซึ่งยังอยู่ในสภาพดีให้กับสมาคมต่างๆ ทางสมาคมจะแพ็คเป็นกล่องๆ และนำออกขายเพื่อหารายได้ไปบริจาคต่อ ซึ่งข้าวของเหล่านี้จะมีสินค้าดีมีคุณภาพติดมาในปริมาณมากพอสมควร
นิมิต เล่าว่า การเดินทางของสินค้าเริ่มจากทางสมาคม (ในสิงคโปร์) แพ็คของแล้วขายต่อ จากนั้นสินค้าจะออกจากสิงคโปร์สู่ประเทศมาเลเซียโดยรถเทรลเลอร์ สินค้าจะมาพักที่มาเลเซียก่อนที่จะส่งมายังด่านตาบา อ.ตากใบ
“ก่อนหน้านี้ผมจะเข้าไปคัดของที่มาเลเซียเอง ช่วงหลังเมื่อค้าขายกันนานผมจึงเลือกไปรอรับที่ด่านตาบา จากประสบการณ์ทำให้ทุกวันนี้แค่สัมผัสดูก็จะรู้แล้วว่าภายในลังหรือกระสอบเป็นข้าวของประเภทไหน เพียงแต่ไม่รู้ว่าอยู่ในสภาพใด บางช่วงจึงอาจได้ของไม่ดีปะปนมามาก ลูกค้ารับไปขายก็ไม่ได้ราคา ผมจึงต้องประสานไปทางสิงคโปร์ให้แพ็คของคละๆ กัน”
ธุรกิจนี้ขยับขยายไปสู่หลายจังหวัดทั่วภาคใต้และกรุงเทพฯ มีทั้งส่งเป็นแพ็คและลูกค้ามาคัดของเอง นิมิตบอกว่าเป็นการกระจายรายได้ไปอย่างทั่วถึง ราคาขายส่งจะขยับขึ้นลงถ้าทางสิงคโปร์ขึ้นราคา เป็นธุรกิจที่เขาบอกว่าถ้าตั้งใจขายจริงก็จะได้ราคาดีและมีกำไรพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้เลยทีเดียว
ที่ปัตตานีมีตลาดเปิดท้ายกลางเมืองทุกบ่ายวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ปลุกชีพจรเศรษฐกิจให้หมุนเวียนได้อย่างน่าตื่นใจ...
สีสันของตลาดเริ่มขึ้นประมาณบ่ายสามโมงจนถึงสี่ทุ่ม ทุกตารางนิ้วของตลาดจะคึกคักไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะยามแดดร่มลมตก มีทั้งของกิน ของใช้มือหนึ่งและมือสองเกือบทุกประเภทให้เลือกสรร จัดแบ่งเป็นโซนกันชัดเจน มีพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่หน้าเก่าวางของขายกันจนเต็มพื้นที
ที่แผงรองเท้ามือสองซึ่งมี มัดมาฮารี เจ๊ะเห็ง เป็นเจ้าของ เขาเช่าพื้นที่สองล็อค ล็อคละ 60 บาท วางรองเท้าที่ไปคัดมาจากตลาดโรงเกลือ (จ.สระแก้ว) จนเต็มแผง สนนราคาคู่ละ 100 บาท เมื่อถามถึงกำไร เขาได้แต่ยิ้มและบอกว่าน่าพอใจ
“ช่วงเย็นวันศุกร์จะมีลูกค้ามาเดินและเลือกซื้อเยอะ เพราะบางคนซื้อแล้วกลับบ้าน และจะขายดีอีกทีในวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันที่ลูกค้ากลับมา แม้ว่าเวลาขายจะมีแค่ช่วงสั้นๆ แต่ที่นี่ขายดีกว่าตลาดอื่น เพราะเปิดในวันหยุด มีลูกค้าหลากหลายและกำลังซื้อเยอะ คิดว่าตลาดนี้น่าจะอยู่ไปได้อีกนาน” มัดมาฮารี บอก
ด้าน ณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยา ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ประเมินแนวโน้มธุรกิจสินค้ามือสองจากสิงคโปร์ว่า อาจดำเนินไปได้สักระยะหนึ่ง เมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็อาจจะหดหายไปบ้าง
“เราไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่ามีการนำเข้าสินค้าเหล่านี้เท่าไหร่ และมีรายได้จำนวนเท่าไหร่ เพราะเป็นสินค้านอกระบบ ไม่ใช่อยู่ในระบบเศรษฐกิจหลักที่สามารถมองเห็นตัวเลขได้ แต่จุดอ่อนอยู่ตรงที่การรับสินค้ามาขายไม่สามารถทราบได้ว่าสินค้ามีคุณภาพหรือไม่ อย่างไร จึงมีความเสี่ยงที่ต้องยอมรับว่าเป็นของมือสอง ถ้าโชคดีก็ได้ของดี แต่ก็ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ขายต้องตระหนัก ผมคิดว่าคงจะบูมกันไปสักระยะหนึ่ง เมื่อถึงจุดอิ่มตัวก็คงจะลดลงไป”
อย่างไรก็ตาม ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี มองว่า เมื่อความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายตรงกัน ความต้องการของตลาดยังมีอยู่ ก็นับเป็นช่องทางกระจายรายได้ที่น่าพอใจเช่นกัน เขายังคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจของปัตตานีจะดีขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ราคายางพาราที่พุ่งสูงขึ้น เป็นต้น
ทว่าปัจจัยที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ เหตุการณ์ความไม่สงบที่ยังเป็นที่หวาดวิตกของนักลงทุนจากทั้งในและนอกพื้นที่ ฉุดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง...
และยังไม่รู้ชะตากรรม!