ค้นหาอิสรภาพ “ดร.ชาวนา” ...ทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อกลางปี 2555 บนพื้นที่ 100 ไร่ ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถานที่ที่ตระเตรียมไว้ต้อนรับ เกษตรกรต้นแบบ 35 คนแรก ที่เข้ามาฝึกอบรมเข้ม ในโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท โดยการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นั้น
ไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งก่อสร้างให้เห็น...
มีแค่ ‘เสื่อผืน หมอนใบ และเต็นท์คนละ 1 หลัง’
“เราบอกว่า หากไม่มีโรงเรือน ฝนตกมาก็นอนในเต็นท์ก็แล้วกัน แต่หากอยากมีโรงเรือน ก็ช่วยกันทำเอง” อดิศร พวงชมพู ประธานโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เล่าเรื่องย้อนความกลับไปให้เห็นถึงสภาพพื้นที่นี้ ที่มีแต่หญ้า ป่าปรือ ก่อนกระท่อมหลังน้อยๆ จะค่อยๆ ผุดขึ้นทีละหลังๆ โดยครูที่สอนก็ไม่ได้สนใจด้วยว่า ใครจะเคยเรียนก่อสร้างมาหรือไม่ มีแค่หาอุปกรณ์ให้
เกษตรกรต้นแบบรุ่นแรก กับห้องเรียนที่กว้างที่สุดในโลก และก่อนที่เขาเหล่านั้นจะเริ่มตักตวงองค์ความรู้ ประธานโครงการ 1 ไร่ 1 แสน บอกว่า เริ่มต้นจะมีการทำพิธีไหว้ครู พร้อมปฏิญาณตน วิชาที่จะใช้เรียนนี้ คือวิชาเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อที่จะได้บรรลุเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งตอบคำถามที่สังคมไทย ก็ยังหาคำตอบไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ว่า “ใครที่ทำให้เกษตรกรจน” ?
“สิ่งที่ประเทศนี้ไม่เคยได้ยิน ก็คือ “นา 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวแค่ 200 กรัมเท่านั้นเอง” ผู้คิดค้นการทำเกษตรแนวใหม่ บอกถึงรายละเอียด ทั้งการคัดเมล็ดพันธุ์ หมักเมล็ดพันธุ์ การเพาะกล้า ฯลฯ เราขอให้ใช้พันธุ์ข้าวที่ดีที่สุด ใช้น้อยที่สุด ในเมื่อคนอื่นลงทุนพันธุ์ข้าว 30 กิโลกรัมต่อไร่ คิดคร่าวๆ ก็ตกกิโลกรัมละ 50 บาท รวมเป็นเงิน 1,500 บาท
แต่ที่นี่ใช้ต้นทุนเมล็ดพันธุ์แค่ 10 บาท!!
"ไปเปลืองทำไมถึง 30 กิโลกรัม" อดิศร โชว์ตัวเลขอย่างมั่นใจ ก่อนย้ำถึงการประหยัดต้นทุนในขั้นตอนแรกของการทำนา ไม่ว่า จะเป็นวิธีการเพาะกล้า ถัดจากนั้นให้นำเมล็ดพันธุ์ข้าว ลงเพาะที่ถาดหลุม และนำไปวางที่โคลนแฉะๆ ให้น้ำโคลนซึมเข้าถาดหลุม
แล้วชาวนาก็รอ 2 สัปดาห์ ให้กล้าเจริญเติบโต
"การทำนาบนผืนนาบางตะไนย์ ชาวนาไม่ต้องก้ม ไม่ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอีกแล้ว เพราะเป็นนา "ปาเป้า" ปาให้ห่างกัน 40 เซ็นติเมตร"
เขาอธิบายขั้นตอนอย่างรวบรัด และว่า "ผมไม่แปลกใจ เป็นใครก็ไม่เชื่อ ใครที่เห็น ก็ว่า ปาข้าวซะห่างแบบนี้จะได้เกี่ยวข้าวหรือ บ้างก็ว่า โม้ไปหรือเปล่า ?"
เรามีเสียงยืนยัน จาก “ป้าเหวย” นางเสวย ภูเอี่ยม อายุ 54 ปี เกษตรกรจาก อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
ที่ตอนแรกๆ เธอก็ไม่เชื่อ เช่นกัน
ก่อนมาอบรม ป้าเหวย มั่นใจในวิธีทำนาแบบฉบับของตัวเอง 70% เชื่ออาจารย์สอนแค่ 30%
ด้วยความที่หัวแข็ง ดื้อรั้น และไม่เชื่อใครง่ายๆ ป้าเหวย ต้องเหนื่อยกว่าเพื่อนคนอื่นๆ เพราะต้องทดลองปลูกข้าวแบบของตัวเอง ควบคู่กับของอาจารย์สอน เพื่อจะได้เปรียบเทียบกัน
“15 วันแรก รู้สึกต้นข้าวของตัวเองดีกว่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นข้าวที่ปลูกชิดกันนั้น แผ่ไปรับแสงแดดได้น้อย แตกต่างกับวิธีของอาจารย์ ใช้ต้นข้าวต้นเดียว กลับแตกกอแผ่ไปรับแสงได้ดีกว่า” นี่คือสิ่งที่ป้าเหวย พิสูจน์ด้วยการลงมือทดลองปลูกข้าวแตกกิ่ง ปลูกถั่วฝักยาว 3 เดือนจับปลาขายได้
ขณะที่ “วิรัตน์ ก้อนเรือง” วัย 63 ปี จาก อ.เถิน จ.ลำปาง ยอมรับตลอดชีวิตเขามุ่งมั่นกับการไล่ล่าสะสมตัวเลข จนมีนาเป็นของตัวเองกว่า 60 ไร่
“ผมคิดแต่เพียงว่า ทำนา 1 ไร่ ได้ 2 พันบาท หากอยากได้เงินสักหมื่น สักแสนบาท ต้องทำกี่ไร่ ?”
ถึงขั้น ใครว่าทำนาหว่านดี นาดำดี หรือนาโยนกล้าดี วิรัตน์ก็ไม่รีรอทดลองทำในผืนนาของตัวเอง โดยเฉพาะกับนาโยนกล้าในความคิดเขาเวลานั้น ยกนิ้วให้ "สุดยอดแล้ว" เพราะจากเคยใช้เมล็ดพันธุ์กับนาหว่าน 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ นาโยนกล้าใช้แค่ 5 กิโลกรัมต่อไร่
แต่ที่บางตะไนย์นา 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์แค่ 2 กำมือ หรือ 2 ขีด คือ 10 บาทเท่านั้นเอง นอกจากนี้ วิรัตน์ยังขอพิสูจน์ให้เห็นในเชิงประจักษ์ ด้วยการแบ่งแปลงนาออกเป็น 4 ล็อค ล็อคแรก...ใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 1 เมล็ด ล็อคสอง...ใช้ 2 เมล็ด ล็อคสาม...ใช้ 3 เมล็ด และล็อคสี่...โรยเต็มที่
เวลาผ่านไป 3 เดือน ชาวนาจากพื้นที่ภาคเหนือ ก็ได้พบคำตอบ …
“ผมเสียดายเมล็ดพันธุ์ เสียดายต้นทุน เสียดายเวลาที่ทำ เพราะเมล็ดพันธุ์เพียง 1 เมล็ด ในแปลงนาของผม สามารถแตกกอ 72 ต้น ขณะที่สถิติสูงสุดในแปลงนาบางตะไนย์ 1 เมล็ด แตกกอสูงสุดถึง 98 ต้น”
ความมหัศจจรย์เมล็ดพันธุ์ 1 เมล็ด กลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศนี้มองข้ามไป แต่สำหรับวิรัตน์ เมื่อเขาได้ลงมือทำด้วยตัวเอง กลายที่มาของการเปลี่ยนความคิด ความเชื่อที่ว่า การทำนาต้องใช้เมล็ดพันธุ์จำนวนมากจึงจะได้ผลผลิตสูง เพราะความจริง การใช้เมล็ดมาก ก็สิ้นเปลืองมาก
ก่อนกลับมาถามตัวเองทิ้งท้าย “ที่เราทำนา 60 ไร่นั้น ยังจำเป็นอยู่ไหม” ในเมื่อพื้นที่เพียง 1 ไร่ก็สามารถเงินให้ได้กว่าแสนบาทแล้ว
มาถึงพื้นที่อีสานที่มีปัญหาแล้งซ้ำซาก ‘เขียว’ จิตสมาน วารีขันต์ อายุ 42 ปี จาก อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ สมัครเข้าร่วมโครงการ ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน
เขียว มีหนี้กว่าล้านบาท แม้จบการอบรมแล้ว หนี้สินก้อนโตก็ยังอยู่คงเดิม แต่วันนี้สิ่งที่เธอได้กลับบ้านไปด้วย นั่นก็คือ แรงบันดาลใจ หลังพบความมหัศจรรย์วิธีปลูกข้าวโพด 1 ต้น ได้ถึง 6 ฝัก ทั้งหมดทั้งมวลมาจากการเตรียมดินที่ดี รดน้ำสรรพสิ่งย่อยสลายชนิดน้ำ สรรพสิ่งผง รวมถึงการทำก้อนดิน ประกอบกับการจัดรูปแบบแปลงนา ด้วยการกักเก็บน้ำ ขุดคลองรอบนา ซึ่งเธอเห็นว่า เป็นประโยชน์อย่างมากในการที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้กลับไปต่อยอดในพื้นที่บ้านเกิด
“อาจารย์บอก หนี้สินระดับปานกลาง 3-4 แสนบาท ใช้ข้าวโพดแก้ไขได้ แต่หากหนี้เป็นล้าน ให้ใช้การปลูกข้าวโพด เลี้ยงปลาดุก ควบคู่ไปด้วย อีกทั้งอาจารย์ยังให้แนวคิดว่า ปลูกข้าวโพดอย่างไรให้ได้หลายๆ ต้น หลายๆ รอบ” เกษตรกรหญิง จากกาฬสินธุ์ บอกถึงความตั้งใจที่จะนำวิธีคิด วิธีการทำเกษตร รูปแบบการจัดการแปลงนาที่มีความละเอียด ผสมผสานหลายอาชีพรวมอยู่ในแปลงนาเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ รายวัน รายเดือน และรายปี นำกลับไปใช้อย่างแน่นอน เพื่อปลดเปลื้องหนี้สิน ไม่ให้หนี้สินก้อนนี้ กลายเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกๆ ของเธอ
เกษตรกรอีกคนที่ทึ่งกับรายได้กว่า 136,000 บาท หลังผ่านการอบรม “ประภาส คำเพ็ง” อายุ 50 ปี อ.บ้านแพง จ.นครพนม เชื่ออย่างสนิทใจว่า โครงการนี้ แก้จน แก้จริง ไม่ต่างจาก “ลุงพล” นายพล เกศคง อายุ 64 ปี ก็ไม่เคยรู้มาก่อนถึงวิธีเลี้ยงสัตว์ (กบ ปลา กุ้งฝอย หอยขม) อย่างไรให้โตเร็ว และใช้อาหารประหยัดมากที่สุด
หรือแม้กระทั่ง การได้มาฝึกความอดทน เกษตรกรวัย 16 ปี "นัฐ" หรือนัฐพงษ์ บูรณ์ชนะ จากนครศรีธรรมราช กับเสียงพ่อแม่ที่ก้องอยู่อยู่ตลอดเวลา “ถ้าอดทนเรียนรู้ อยู่ที่นี่ 5 เดือนได้ ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ใช้ชีวิตที่ไหนก็ได้”
นัฐ บอกหลังผ่านการอบรมอันเข้มข้นว่า มันยิ่งกว่ามหาวิทยาลัยชีวิตเสียอีก เขาตั้งเป้าหมายอนาคตจะกลับไปทำนาให้ประสบความสำเร็จ
“ผมจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดทำนาที่บ้านให้ได้มากที่สุด ยายมีนาอยู่ 5 ไร่ ผมจะใช้น้ำสรรพสิ่งย่อยสลายเป็นปุ๋ยใส่ในนาข้าว จะทำนาแข่งกับพ่อที่ใช้ปุ๋ยสารเคมี รวมถึงจะนำความรู้ไปบอกต่อกับชาวนา ทำตัวให้เป็นแบบอย่างทีดีต่อไป”
ประสบการณ์พร้อมคำบอกเล่าเรื่องราวอันหลากหลาย จากปากเกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน หรือแค่ 1 รอบของการผลิต คือความจริงที่ปรากฏขึ้น และกลายเป็นความหวังใหม่ของเกษตรกรไทย