“อาสาฉุกเฉินชุมชน”- 8 นาทีถึงที่เกิดเหตุ รับเทศกาลลอยกระทง
ลอยกระทง 28 พ.ย.นี้ จับตาสถิติอุบัติเหตุพุ่ง…ดอกไม้ไฟ-พลุ อันตรายอันดับ 1…กระทรวงสาธารณสุข ระบุรอบ 5 ปีมีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากประทัดรักษาที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล 28 แห่ง 2,587 ราย ตาย 6 ราย
ที่สำคัญคือ 20% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ อยู่ในอาการ “มึนเมา”!
อีกปัจจัยความสูญเสียในเทศกาลลอยกระทงคือ “จมน้ำ” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) ระบุว่าพบเด็กจมน้ำในเทศกาลลอยกระทงมากที่สุด โดย 5 ปีที่ผ่านมามีคนจมน้ำเสียชีวิต 102 รายภายในวันลอยกระทง
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) เตือนว่าผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้บุตรหลานเล่นประทัด ดอกไม้ไฟ และไม่ควรให้ยืนดูพลุในระยะใกล้กว่า 10 เมตร และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผลหรือให้น้ำไหลผ่านประมาณ 10 นาที จากนั้นปิดแผลด้วยผ้าสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แล้วนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ที่สำคัญห้ามใส่ยาหรือสารใดๆบนบาดแผล จะยิ่งทำให้ระคายเคือง
สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยจมน้ำ ควรสังเกตว่าผู้ป่วยหยุดหายใจหรือไม่ ถ้ายังควรจับนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมให้เกิดความอบอุ่น แต่หากหยุดหายใจแล้วควรปั๊มหัวใจตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติงานกู้ชีพ
ต้นเหตุแห่งความสูญเสียข้างต้น ยังไม่นับอุบัติเหตุอื่นๆที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายช่วงเทศกาลลอยกระทง ....ที่ทั้งตัวประชาชนเองและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควรร่วมมือกันป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสพฉ. แนะนำโครงการน้องใหม่ “อาสาฉุกเฉินชุมชน” ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ 2 แสนคน ทำหน้าที่หน้าด่านแจ้งเหตุหากมีอุบัติเหตุในชุมชน พื้นที่ หรือในงานเทศกาล
แนวคิดคือทุกครอบครัวควรจะมีสมาชิกที่มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตฉุกเฉินได้อย่างน้อย 1 คน เบื้องต้นอาจเพียงแค่รู้วิธีการแจ้งเหตุ สามารถเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปช่วยได้ ขณะเดียวกันก็มีทักษะปฐมพยาบาล เช่น พลิกตัวผู้ป่วย ตะแคงตัวไม่ให้เกิดการหายใจอุดกั้น กระทั่งปั้มหัวใจได้
“โครงการอาสาฉุกเฉินชุมชน” เพิ่งเริ่มดำเนินการ ปัจจุบันมีอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมเพียง 2 แสนคน แต่ สพฉ.ตั้งเป้าต่อไปให้มีถึง 5-7 ล้านคนทั่วประเทศ โดยคนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในระบบราชการ แต่จะช่วยเหลือจัดการชุมชนด้วยตัวเอง
“ในเทศกาลลอยกระทง อาสาฉุกเฉินชุมชนจะเป็นหน้าด่านเฝ้าระวังภัย ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งเพื่อความแข็งแรงของชุมชน” รองเลขาธิการ สพฉ.กล่าว
ด้าน นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สพฉ. อธิบายว่า ที่ผ่านมา สพฉ.แบ่งกลุ่มการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินตามระดับความรุนแรงของอาการ โดยจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มสีเขียว” คือผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น แผลถลอก “กลุ่มสีเหลือง” คือผู้ป่วยที่มีอาการความรุนแรงแต่ยังสามารถรอการรักษาได้ เช่น แขนขาหักแต่ยังมีสติ “กลุ่มสีแดง” คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงระดับชีวิต หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจะนำไปสู่ความสูญเสียได้ทันที เช่น มีอาการช็อก หมดสติ หัวใจวาย เส้นเลือดฝอยอุดตัน
ซึ่งเดิมทีหลังรับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือทางสายด่วน 1669 ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในกลุ่มใด สพฉ.จะต้องส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังที่เกิดเหตุภายในไม่เกิน 10 นาที แต่จากนี้ไปได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ คือ “กลุ่มสีแดง” ที่มีอาการโคม่า หน่วยเคลื่อนที่เร็วจะต้องถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาทีเท่านั้น
“เป็นไปตามมาตรฐานสากลทั่วโลก ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงจะต้องได้รับความช่วยเหลือภายใน 8 นาที สำหรับในไทย สพฉ.ตั้งเป้าช่วยเหลือให้ทัน 80% ในเทศกาลลอยกระทง” คุณหมอชาตรีระบุ
คุณหมอชาตรี ให้ภาพเพิ่มว่าที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนคือหน่วยแพทย์น้อย การกระจายต่ำ โรงพยาบาลอยู่ห่างไกล การทำแผนที่ที่อยู่ผู้ป่วยยังไม่ครอบคลุม สพฉ.จึงมุ่งเพิ่มหน่วยแพทย์ให้มากขึ้น ยึดหลักยกโรงพยาบาลไปหาคนไข้ ไม่ใช่ไปรับคนไข้กลับมารักษายังโรงพยาบาล ซึ่งจะไม่ทันวิกฤตชีวิต
“ต้องเพิ่มรถพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อม เหมือนโรงพยาบาลย่อมๆ มีแพทย์หรือพยาบาลวิชาชีพประจำรถ เมื่อได้รับแจ้งเหตุก็วิ่งไปกู้ชีพได้ ปั้มหัวใจได้ ให้ออกซิเจนได้ ไม่จำเป็นต้องขนผู้ป่วยกลับมายังโรงพยาบาล”
ต้องยอมรับว่าในชนบทหรือแม้แต่ในเขตเมืองก็ตาม การเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลให้ครอบคลุมการกระจายตัวของประชากรเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ทำได้คือการเพิ่ม “คน-รถ-ของ” ซึ่งปัจจุบันรถกู้ชีพมีหลายระดับ เบื้องต้นเป็นเพียงรถกระบะ มีเปล มีเฝือก ใช้สำหรับคนไข้กลุ่มสีเขียว ระดับต่อมาคือรถตู้ซึ่งมีอุปกรณ์สูงขึ้นมา แต่ยังไม่ใช่เฉพาะทาง และท้ายที่สุดเป็นรถพยาบาลขั้นสูงมีอุปกรณ์ครบ เสมือนโรงพยาบาลขนาดเล็ก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับสภาพรถจากระดับล่างให้เป็นระดับสูงให้ได้มากที่สุด
“การขยับรถมันง่าย ใช้เงินก็ทำได้ สิ่งสำคัญที่ควบคู่กันคือต้องขยับคนด้วย”
นพ.ชาตรี ขยายความว่า สพฉ.ได้ฝึกอบรมอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น จากระดับต้นที่อบรมเพียง 20 ชั่วโมงทำได้เฉพาะการปฐมพยาบาล ก็จะขยับการอบรมถึง 120 ชั่วโมงทำให้อาสาสมัครมีศักยภาพในการกู้ชีพได้มากขึ้น โดยขณะนี้ สพฉ.ได้จัดระบบริหารจัดการหน่วยแพทย์ใหม่เพื่อลดความซ้ำซ้อนของมูลนิธิต่างๆ โดยได้แบ่งพื้นที่การรับผิดชอบไว้ชัดเจน สั่งให้จอดรถสแตนบายไว้ทุกสี่แยกใหญ่ เมื่อมีการแจ้งเหตุมายัง 1669 ศูนย์รับแจ้งก็จะส่งคำสั่งไปถึงหน่วยแพทย์ที่รับผิดชอบในพื้นที่โดยตรง ซึ่งก็จะเข้าถึงผู้ป่วยได้ทันที
“หน่วยเคลื่อนที่เร็วจะเข้าไปทันที ไม่ว่าจะเป็นรถกระบะหรือมอเตอร์ไซด์ หากไม่ไหวก็จะประสานให้รถระดับสูงเข้ามา แต่โจทย์คือต้องถึงผู้ป่วยให้เร็วที่สุด อย่างน้อยให้ได้รับปฐมพยาบาลหรือสำรวจอาการเบื้องต้นได้เร็ว ย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากขึ้น” นพ.ชาตรีให้ความเชื่อมั่น
ปัญหาที่ผ่านมาคือ แต่ละตำบลอาจมีหน่วยแพทย์หรือรถมูลนิธิไม่เพียงพอ สพฉ.จึงเจรจากับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้จัดซื้อรถเพิ่มและรับผิดชอบในการวางระบบให้
“เราก็เข้าไปบอกเขาว่านี่พื้นที่เขาใช่หรือไม่ พี่น้องเขาใช่หรือไม่ ชาวบ้านเขาคะแนนเสียงเขาใช่หรือไม่ ถ้าทำมันก็ได้ผลงาน เงินก็มีแค่ซื้อรถซื้อเครื่องมือเพิ่มมันจะยากอะไร เราก็เข้าไปวางเครือข่ายและจัดอารมอาสาสมัครในชุมชนให้ เขาก็ดูแลกันเอง ตอนนี้แทบจะครอบคลุมทุกตำบลแล้ว”
…………………………
มาตรการปลายทางโดย สพฉ.ยืนยันว่ามีความพร้อมรับอุบัติการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นแล้ว …คำถามคือมาตรการต้นทางในการป้องกัน ตั้งแต่ระดับผู้ปกครอง-ครอบครัว ไปจนถึงหน่วยงานรับผิดชอบต่างๆ ได้มาตรฐานเพียงพอที่จะลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินคนไทยแล้วหรือไม่?
เทศกาลอันใกล้ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ลอยกระทงปีนี้ 28 ธันวาคม 2555 พิสูจน์กัน…!
ที่มาภาพบางส่วน : http://www.rimkokresorts.com/rimkok-resort-chiang-rai/news_events