เมื่อคนในครอบครัวถูกยิงต่อหน้า...หนูน้อยอับดุลซาลาม กับการเยียวยาจิตใจที่แตกสลาย
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“อับดุลซาลาม...มารับของเล่นกับขนมเร็ว!” เป็นเสียงที่แฝงไปด้วยความอบอุ่นและกันเองของ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต และทีมนักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งเข้าไปเยี่ยมหนูน้อยถึงบ้าน หากเป็นเด็กคนอื่นๆ คงวิ่งตื๋อออกมาด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแล้ว แต่สำหรับเด็กน้อยคนนี้มีแต่ความเงียบและเฉยเมย
อับดุลซาลาม เพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบทเล็กน้อยเมื่อมองเห็นผู้มาเยือน ด้วยการค่อยๆ เอามือสอดผ่านฝาบ้านสังกะสีไปจับราวไม้เป็นที่ยึด แววตาที่แลมองมายังกลุ่มของแพทย์หญิงเพชรดาวมีแต่ความว่างเปล่า
เด็กชายอับดุลซาลาม วามะ วัยเพียง 5 ขวบ เป็นเหยื่อไฟใต้อีกรายหนึ่งที่ต้องสูญเสียพ่อ แม่ และพี่ชายไปในคราวเดียวกันแบบต่อหน้าต่อตา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีคนร้ายใจโหดใช้อาวุธปืนพกสั้นขนาด 9 มม.ยิงพ่อ แม่ และพี่ชายของเขาขณะขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อน 4 บนถนนสายบางเก่า-บ้านแป้น หมู่ 1 บ้านเจาะโบ ต.แป้น อ.สายบุรี เพื่อมุ่งหน้าไปบ้านบาเลาะ ต.ปะเสยาวอ ซึ่งเป็นบ้านน้องสาวของนางสารีกา แวจิ แม่ของอับดุลซาลาม กระสุนมรณะพรากคนในครอบครัวไปถึง 3 ชีวิต เหลือเพียงเด็กน้อยคนเดียวที่ได้รับบาดเจ็บ
“ผ่านมาเดือนกว่าแล้ว อับดุลซาลามยังคงไม่พูดไม่จา ยิ่งคนแปลกหน้ามาบ้าน แทบไม่ออกมาให้เห็นหน้าเลย คอยหลบอยู่เรื่อย” นางรอปีเยาะ อาแวบือซา น้าของอับดุลซาลามเอ่ยถึงหลานชาย แต่ก็บอกว่าแม้วันนี้อับดุลซาลามจะยังเซื่องซึม แต่ก็ดีกว่าช่วงหลายสัปดาห์ก่อนมากทีเดียว
“เทียบกับหลายอาทิตย์ก่อน อับดุลซาลามเขาดีขึ้นมาก ใจไม่สั่น ไม่ตื่นเต้น คลายความหวาดกลัวไปเยอะ หลังจากที่มีหมอจากโรงพยาบาลสายบุรีคอยมาเยี่ยม มาดูอาการ เพียงแต่ว่าเขาจะนิ่งๆ ไม่พูด ไม่จา”
มัสณี เจ๊ะ หัวหน้างานศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี เล่าถึงอาการโดยรวมของหนูน้อยอับดุลซาลามว่า เมื่อครั้งที่ทีมนักจิตวิทยาของโรงพยาบาลเจออับดุลซาลามครั้งแรก เด็กจะหนีและแอบตลอดเวลา ไม่ยอมเข้าใกล้เลย มีอาการกลัวคนแปลกหน้า อาจะเป็นเพราะความคุ้นชินยังไม่เกิดขึ้น
แต่พอมาวันนี้เด็กเริ่มนิ่ง ไม่หนี แต่ก็ยังไม่ยอมพูดจาอะไร ตรงนี้ต้องใช้เวลาในการสร้างสัมพันธภาพจนกว่าเด็กจะรู้สึกชินและไม่รู้สึกกลัว เพราะต้องเข้าใจสาเหตุที่กลัวว่าเป็นผลพวงมาจากการที่อยู่ในเหตุการณ์รุนแรง ทำให้หวาดผวาคนแปลกหน้าที่เข้าใกล้
"ปกติการบำบัดและเยียวยาด้านจิตใจ ถ้าไม่ใช่เด็กจะใช้เวลา 3 เดือนเป็นอย่างต่ำจึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ บางคนถ้าไม่เข้าสู่ภาวะปกติ จะมีอาการทางด้านสุขภาวะทางจิตหรือเปล่า ก็ต้องประเมินต่อจนถึง 6 เดือน แต่กรณีของน้องอับดุลซาลาม ระยะเวลา 3 เดือนแรกต้องดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ เกือบทุกอาทิตย์ที่ต้องเข้าไปพูดคุย เพื่อให้เขาคลายความซึมเศร้า การจะใช้แบบสอบถามเห็นชัดว่าค่อนข้างยาก เพราะยังเด็กอยู่ ต้องอาศัยดูจากพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมา ซึ่งก็ยังดีที่อับดุลซาลามมีทั้งน้าสาวและยายช่วยดูแล เราก็จะแนะนำว่าให้ดูอะไรบ้าง เช่น ปกติเด็กเคยเล่นกับเพื่อน แล้วไม่ได้ไปเล่นเลย ชอบอยู่คนเดียวหรือเปล่า หรือเห็นคนแปลกหน้าแล้วกลัวมากสุดๆ ไหม หรือว่าเข้ากับคนกลุ่มเยอะๆ เด็กมีอาการใจสั่น ตื้นเต้นหรือเปล่า ก็ต้องให้เขาช่วยสังเกต"
อย่างไรก็ดี มัสณี บอกว่า จากการสอบถามญาติๆ ปกติอับดุลซาลามก็จะไม่พูดมากกับคนอื่นอยู่แล้ว ก็เป็นไปตามพฤติกรรมปกติของเด็ก แต่ถ้าเป็นเพื่อนวัยเดียวกันที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง จะพูดจาและคุยกันดี
"เรื่องประวัติของเด็กก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องทราบว่าเด็กมีพฤติกรรมพื้นฐานแบบไหน ถ้าเด็กเคยชอบคุยกับคนโน้นคนนี้ พอเกิดเหตุปั๊บแล้วไม่พูดอะไรเลย ตรงนี้ก็ตั้งข้อสันนิษฐานไว้เลยว่าเด็กอาจจะผิดปกติ สำหรับอับดุลซาลามอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่การเยียวยาด้านจิตใจจะต้องใช้เวลานานอีกเท่าไหร่หมอก็บอกไม่ได้ บอกได้แต่ว่าต้องใช้เวลา เพราะเวลาเท่านั้นที่จะสมานแผลในใจให้ลืมเหตุการณ์ทั้งหมด"
สำหรับสถิติเด็กกำพร้าเฉพาะในพื้นที่ อ.สายบุรี ข้อมูลจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีที่รวบรวมไว้พบว่ามีถึง 69 คน ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
“เด็กกำพร้าในอำเภอมี 69 คน แต่เด็กกำพร้าที่ทีมนักจิตวิทยาของโรงพยาบาลดูแลอยู่มีประมาณ 40 กว่าคน ที่ไม่ค่อยเยอะเพราะเด็กบางคนจะตามแม่กับญาติพี่น้องในครอบครัวย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วนเด็กที่ตกอยู่ในเหตุการณ์หรือเห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเองอย่างน้องอับดุลซาลามมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่พบคือพ่อถูกยิงโดยเด็กไม่เห็นเหตุการณ์ รู้แต่เพียงว่าพ่อตายแล้ว ฉะนั้นแรงกระทบด้านจิตใจจึงไม่แรงมากเพราะไม่กระทบโดยตรง”
"ต่างจากของอับดุลซาลาม เพราะเขาเห็นภาพทั้งหมด เขาจำได้หมดเลยว่าเส้นทางไหน ใครหยิบอะไร ปืนสีอะไร ใครเป็นอะไร สามารถเล่าเหตุการณ์ตรงนั้นได้ กับแค่วัย 5 ขวบของเขาเป็นอะไรที่สะเทือนจิตใจเขามาก ซึ่งกว่าที่จิตใจเขาจะกลับมาเป็นปกติได้คงต้องใช้เวลาเยียวยาพอสมควร” มัสณี บอก
กับการทำงานของทีมนักจิตวิทยาที่ต้องลงพื้นที่สีแดงไปพบปะกับผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นเรื่องดีๆ แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องระมัดระวังอันตราย
“การทำงานของเราไม่ได้สร้างความหวาดระแวง เพราะชาวบ้านรู้ว่าเรามาช่วยเขา แต่เราทำงานในพื้นที่ลักษณะนี้เราก็ต้องเพิ่มแผนรักษาความปลอดภัย ต้องเช็คแหล่งข่าวก่อนว่ามีสิ่งผิดปกติอะไรหรือไม่ เพราะเราก็ต้องนึกถึงความปลอดภัยคนทำงานด้วย ถามว่ากลัวไหม มันก็เป็นแค่ชั่ววูบที่เข้ามา แล้วก็หายไป เพราะเมื่อมาเจอผู้ที่ได้รับผลกระทบ บอกได้เลยว่าสภาพจิตใจของเขาแย่กว่าเราเป็นหลายเท่า” มัสณี กล่าว
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจเยียวยาปัญหาที่รุนแรงและซับซ้อน ในโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงเด็กชายอับดุลซาลามว่า ในช่วงเดือนแรกนี้เด็กอาจจะยังรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความเศร้าโศกเสียใจที่เห็นพ่อ แม่และพี่ชายต้องตายต่อหน้าต่อตาเป็นเรื่องปกติ แต่ระยะหลังจากนี้เราต้องสอนให้เด็กรู้จักการปรับตัวเพื่อให้ชีวิตอยู่ต่อไปได้
สำหรับกิจกรรมเยียวยาสภาพจิตใจนั้น แพทย์หญิงเพชรดาว บอกว่า ได้จัดนักจิตวิทยาและพยาบาลวิชาชีพจำนวน 74 คนเข้าไปประจำตามโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลทั่วไปจำนวน 37 แห่ง เพื่อติดตามเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาสุขภาพจิตที่พบจากการเยี่ยมบ้านและเข้าไปให้ความช่วยเหลือเยียวยาในพื้นที่ พบว่าประมาณ 60% มีอาการฝันร้าย เห็นเหตุการณ์ซ้ำๆ นอนไม่หลับทั้งคืนติดต่อกัน 30% สะดุ้ง ตกใจง่าย 22% หวาดกลัว ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ 7% วิตกกังวล และ 6% เบื่อหน่าย
อีกด้านหนึ่งคือการช่วยเหลือเยียวยาในรูปตัวเงิน ซึ่งแม้จะไม่สำคัญเท่าจิตใจ แต่ครอบครัวของอับดุลซาลามก็ยังไม่ได้รับแม้แต่บาทเดียว
ด.ญ.นูรอาซียัน วามะ พี่สาวของอับดุลซาลาม กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐในเหตุการณ์ที่คนในครอบครัวถูกยิงเสียชีวิตว่า จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับเลย ทราบว่าทั้งสามฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ยังยืนยันไม่ตรงกัน โดยทหารกับฝ่ายปกครองบอกว่าการเสียชีวิตมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ตำรวจยังสรุปไม่ได้ว่ามาจากการสร้างสถานการณ์หรือเรื่องส่วนตัว
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามล่าสุดไปยัง พ.ต.อ.วัลลพ จำนงอาสา ผู้กำกับการ สภ.สายบุรี ได้รับการยืนยันว่า การเสียชีวิตของ นายหะแว วามะ พ่อของอับดุลซาลาม พร้อมทั้งภรรยาและลูกชายอีกคนนั้น ตำรวจสรุปคดีออกมาแล้วว่าเป็นการเสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ
"ที่เราสรุปช้าเพราะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการตายของนายหะแวไปเกี่ยวโยงกับเรื่องที่เขาไปเป็นพยานในคดียิงผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่บ้านท่าน้ำ (อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี) หรือเปล่า เมื่อผลการสืบสวนออกมาว่ามันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ก็สรุปว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ ฉะนั้นการช่วยเหลือต่างๆ ก็จะเริ่มดำเนินการหลังจากนี้ไปตามขั้นตอน" พ.ต.อ.วัลลพ ระบุ
ความเดือดร้อนลำบากของหนูน้อยอับดุลซาลามและพี่ๆ ที่ยังมีชีวิต คือภาพสะท้อนความร้ายกาจของความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งสิ้นในโลกใบนี้...
คนที่ก่อเหตุจะรับรู้หรือไม่ว่าได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ในหัวใจดวงน้อยๆ อย่างยากที่จะลบเลือน...
---------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
4 ชีวิตกำพร้ากับหยดน้ำตา...หลังสิ้นเสียงปืนที่สายบุรี