เก็บตกเวทียุติรุนแรงต่อ"เด็ก-สตรี" ไฟใต้ 9 ปี "หม้าย-กำพร้า" ร่วมหมื่น!
วันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย.2555 ในขณะที่ผู้คนในสังคมยังคงวิจารณ์กันไม่จบ เกี่ยวกับการประกาศยุติชุมนุมแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ที่ระดมมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาลเมื่อ 1 วันก่อนหน้า
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีกิจกรรมน่าสนใจ แต่อาจไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนในภูมิภาคอื่น นั่นก็คือเวที "ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ" อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในโอกาส "วันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" วันที่ 25 พ.ย. ประจำปี 2555 เฉพาะที่ชายแดนใต้จัดกิจกรรมลักษณะนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยปีนี้กำหนดหัวข้อเอาไว้ว่า "เครือข่ายผู้หญิงพบรัฐบาล พลังหญิง พลังขับเคลื่อนการพัฒนาสู่สันติภาพชายแดนใต้ที่ยั่งยืน"
9 ปีไฟใต้ "หม้าย-กำพร้า" ร่วมหมื่น
"จากเหตุการณ์ความไม่สงบตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอยู่ที่ 14,377 ราย มีสตรีผู้สูญเสีย (หญิงหม้าย) 2,523 คน และเด็กกำพร้า 4,942 คน ตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นทุกทีถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงต่อเด็กและสตรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ อิสลาม หรือศาสนาอื่นใดก็ตาม"
เป็นข้อมูลที่นำเสนอบนเวทีเสวนาโดย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสูญเสียของเด็กและสตรีจากความรุนแรง ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน แม้จะไม่ใช่ผู้ที่ถูกกระทำโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและเสาหลักของครอบครัวไป
กิจกรรมในวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เริ่มจากกลุ่มพลังมวลชนในพื้นที่จำนวนกว่า 600 คนร่วมกันเดินรณรงค์จากโรงแรมมายการ์เด้นส์ ใกล้หอนาฬิกากลางเมืองปัตตานี ไปยังหอประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมูลนิธิเพื่อนหญิง จับมือกับองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐกว่า 20 องค์กร
ไล่ดูรายชื่อผู้สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมดังกล่าว นอกจากองค์กรอิสระและหน่วยงานรัฐของไทยแล้ว ยังมีสหภาพยุโรป และสถานทูตฟินแลนด์รวมอยู่ด้วย จึงได้เห็น ซิร์ปา แมนแป เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เดินทางไปร่วมกิจกรรมและพบปะกับกลุ่มผู้หญิงที่ชายแดนใต้ด้วย
จี้รัฐตั้ง "องค์กรเยียวยาภาคประชาชน"
ไฮไลท์ของงานคือการสรุปข้อเสนอจากผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เป็นเด็กและสตรี ซึ่งได้ยื่นให้กับตัวแทนรัฐบาล ดร.จรัสโรจน์ บถดำริห์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านสังคม สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1.การชดเชยเงินเยียวยาและกระบวนการเยียวยาที่ยั่งยืน
1.1 การจ่ายเงินเยียวยาต้องคำนึงถึงคนที่อุปการะเลี้ยงดูในครอบครัวตามความเป็นจริง โดยตรวจสอบจากพยานหลักฐานและพยานแวดล้อม ไม่ใช่ยึดตามเกณฑ์การเยียวยาเพียงอย่างเดียว
1.2 หน่วยงานเยียวยาของรัฐต้องแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ ไม่เลือกปฏิบัติ และให้ถือว่าประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมถึงการติดตามประเมินผลเงินเยียวยาที่จัดสรรให้อย่างเป็นธรรม
1.3 รัฐต้องจัดตั้ง "องค์กรเยียวยาภาคประชาชน" พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานองค์กรเยียวยาภาคประชาชน โดยให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษาองค์กร
1.4 รัฐ (ศอ.บต.และ กอ.รมน.) ต้องส่งเสริม สนับสนุนทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มสตรีแบบต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ทรัพยากร และภูมิปัญญาในพื้นที่ เช่น การอบรมเพิ่มทักษะด้านอาชีพ ส่งเสริมการตลาดรองรับผลผลิต และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนมีทรัพยากรหรือวัตถุดิบอยู่
1.5 รัฐต้องสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนรูปแบบใหม่ในลักษณะ "กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน" โดยสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากรแกนนำ และจัดกิจกรรมการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบปัญหาความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสตรี เด็ก หรือประชากรกลุ่มเปราะบาง เพื่อติดตามช่วยเหลือ เสริมพลัง และดูแลด้านจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมั่นคง
1.6 รัฐต้องจัดตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลการใช้เงินเยียวยา กองทุนทางสังคม หรือการทำงานของเครือข่ายสตรีที่รับโครงการการช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐ เพื่อให้การทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาล
1.7 รัฐต้องจัดเวทีให้ความรู้ เช่น การอบรม เสวนา สัมมนา เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางเพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านสิทธิ กฎหมาย หรือการจัดอบรมเรื่องสื่อต่างๆ สำหรับผู้หญิงแบบ 2 ภาษา
2.แนวทางการพัฒนาเพื่อนำไปสู่สันติภาพ
2.1 รัฐต้องส่งเสริมการเตรียมความพร้อมแก่พ่อแม่หรือครอบครัวของกลุ่มเด็กเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อบรมเสริมพลังแม่ให้มีความรู้เรื่องการเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ลูกหลานติดยาเสพติด
2.2 รัฐต้องส่งเสริมให้มีโครงการเตรียมความพร้อมแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง โดยการสนับสนุนการมีอาชีพที่ต่อเนื่อง มั่นคง เช่น การจ้างงานเยาวชนในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด จัดทำ "รั้วชุมชน" เพื่อแก้ปัญหายาเสพติด และการรักษาความสงบร่วมกัน ฯลฯ
เจ็บปวดมาพอแล้ว...วอนทุกฝ่ายยุติความรุนแรง
รอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า จากตัวเลขสตรีและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าและหญิงหม้ายถึงกว่า 7 พันรายนั้น นับว่าน่าเป็นห่วง และต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ส่วนตัวเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้หากทุกองค์กรและทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง และคาดหวังว่าข้อเสนอที่ยื่นให้กับรัฐบาลจะก่อให้ผลเป็นรูปธรรมกับสตรีและเด็กในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูญเสีย
ด้านความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบ นางฉลวย บุญเพชรศรี ครูในพื้นที่ กล่าวว่า ทุกวันนี้รัฐแก้ปัญหาเฉพาะที่ปลายเหตุ แต่ไม่ยอมแก้ที่ต้นเหตุ ปัญหาจึงไม่ยอมจบเสียที ต้นเหตุที่จะคลี่คลายปัญหาชายแดนใต้ได้ก็คือเด็กและเยาวชน รัฐต้องหันไปให้ความสนใจเด็กและเยาวชนด้วยการสร้างให้เด็กตระหนักในคุณธรรม จริยธรรม และเรียนรู้หลักศาสนาที่ถูกต้องอย่างแท้จริง
น.ส.ฟาซียะห์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนจาก จ.ยะลา บอกว่า สงสารทุกคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ ชีวิตครอบครัวที่คาดหวังว่าจะสมบูรณ์กลับต้องมลายลงในพริบตาเพียงเพราะความสะใจของคนกลุ่มหนึ่ง ถามว่าคุ้มหรือไม่ มันไม่มีทางคุ้มอยู่แล้ว จึงอยากเรียกร้องให้ใครก็ตามที่ใช้ความรุนแรงอยู่ ยุติความรุนแรงนี้เสียที
"อยากให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ยังคิดก่อเหตุรุนแรง รับฟังเสียงของเด็กและสตรีในพื้นที่บ้าง อยากให้รู้ว่าพวกเราเจ็บปวดมามากพอแล้วกับความรุนแรงตลอด 9 ปีที่ผ่านมา อยากวิงวอนว่าให้จบได้แล้ว เพราะท้ายที่สุดบุคคลที่ได้รับความเจ็บปวดจากการกระทำไม่ว่าจะเหตุยิงหรือเหตุระเบิดล้วนเป็นพี่น้องร่วมแผ่นดินเดียวกันกันทั้งสิ้น" ฟาซียะห์ กล่าว
ขณะที่ "น้องอาดัม" เยาวชนจากนราธิวาส กล่าวสั้นๆ แต่กินใจว่า อยากให้ความรุนแรงยุติลงเสียที เด็กๆ ที่ชายแดนใต้จะได้ไม่ต้องกำพร้าพ่อหรือแม่อีกต่อไป
เป็นสารที่ผู้สูญเสียไม่ได้ส่งถึงแค่รัฐบาล...แต่ส่งถึงผู้ก่อความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใด ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานด้วย!
////////////////////////////////////////////////////////////////
รู้จัก "วันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี"
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดให้วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เพื่อรำลึกถึงนักต่อสู้หญิงชาวโดมินิกัน 3 คนที่ถูกลอบสังหารอย่างทารุณโดยผู้นำเผด็จการเมื่อ พ.ศ.2503
"ความรุนแรง" ในที่นี้หมายถึงการกระทำใดๆ ก็ตามที่เกิดจากอคติทางเพศ เป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว รวมทั้งความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือภาวะสงคราม
รูปแบบของความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ได้แก่ ความรุนแรงทางเพศ มีตั้งแต่การแทะโลมด้วยสายตาและวาจา การอนาจาร ลวนลาม คุกคามทางเพศ การข่มขืน รุมโทรม การข่มขืนแล้วฆ่า
สำหรับประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง องค์กรสตรี องค์กรแรงงาน นักวิชาการ และนักศึกษา ได้นำเสนอมาตรการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงต่อรัฐบาล สาธารณชน และสังคม เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาสังคมที่ต้องร่วมกันแก้ไข
ในปี พ.ศ.2542 รัฐบาลได้มีมาตรการให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จัดให้มีศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติขึ้น ซึ่งต่อมาเรียกว่า "ศูนย์พึ่งได้" โดยทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพเพื่อให้บริการ ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง และให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี"
ปี พ.ศ.2543 รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบกับนโยบายและแผนขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และในปี 2550 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2550 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้ถูกกระทำและผู้พบเห็นเหตุการณ์มีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุเพื่อหยุดความรุนแรงนั้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-3 กิจกรรมเดินรณรงค์ในตัวเมืองปัตตานีเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
4 เวทีเสวนา "ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติ"