100 ปีวันสตรีสากล…พลังของผู้หญิงถักทอสันติภาพที่ชายแดนใต้
เลขา / แวลีเมาะ / นาซือเราะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้หญิงต้องลุกมาทำในหลายๆ เรื่องเพื่อประคองครอบครัวให้เดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ผู้หญิงค้นพบว่าตัวเองมีศักยภาพในหลายๆ ด้านที่ช่วยเหลือชุมชนและสังคมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ผู้ชายเห็นว่า ผู้หญิงทำอะไรได้มากกว่าแค่การเป็นแม่และภรรยา”
เป็นคำกล่าวของ นิเดาะ อิแตแล ประธานสตรีจาก อ.ยะหา จ.ยะลา ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากวันสตรีสากล 8 มี.ค. ซึ่งในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของวันสตรีสากลด้วย
ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากลในหลายพื้นที่ แต่ที่น่าสนใจที่สึดเห็นจะเป็นกิจกรรมที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดขึ้น ภายใต้ชื่องาน “โครงการสานฝันสตรีจังหวัดชายแดนใต้ พัฒนาสันติสุขถาวร ศอ.บต.สานฝันวันสตรี เนื่องในวันสตรีสากลปี 2553” ที่ห้องน้ำพราว โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งมีผู้หญิงแกร่งจากจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนกว่า 1,200 คนเข้าร่วมงาน
ในการนี้มีการจัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่สตรีดีเด่นชายแดนใต้ในด้านต่างๆ 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาสตรีผู้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติ จำนวน 3 คน สตรีผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม 30 คน สตรีผู้เป็นเกษตรกร 4 คน สตรีผู้มีความมานะ อดทน ขยันหมั่นเพียร 6 คน และสตรีผู้เสียสละ 1 คน โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณด้วยตัวเอง
ไมตรี พังทูน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านสายสุราษฎร์ ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งได้รับรางวัลสตรีดีเด่นระดับจังหวัดด้านการส่งเสริมสันติภาพ เธอเล่าว่าเป็นคนสุราษฎร์ธานีโดยกำเนิด แต่ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานและครอบครัวมาปักหลักทำมาหากินที่บ้านสายสุราษฎร์ ต.เขื่อนบางลาง ตั้งแต่ปี 2519 และแม้ปัจจุบันดินแดนแห่งนี้จะร้อนระอุด้วยสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เธอก็ตัดสินใจอยู่ที่นี่ ไม่ย้ายไปไหน
“ตอนที่ฉันย้ายมา ที่สุราษฎร์ฯมีคอมมิวนิสต์เยอะ จึงย้ายกันมาอยู่ที่นิคมสร้างตนเอง อยู่มาตั้งแต่ปี 2519 จนถึงตอนนี้ 30 กว่าปี ในหมู่บ้านมีพี่น้องมุสลิมมากกว่าพุทธในอัตรา 70:30 เราอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีการแบ่งแยก ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฉันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมา 13 ปี ช่วยงานผู้ใหญ่บ้านคนเดิมทุกอย่าง จนได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 4 ปี ส่วนสามีได้รับเลือกเป็นประธานสภาเทศบาลตำบลเขื่อนบางลาง”
“ตอนเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ตอนนั้นสถานการณ์ยังดีอยู่ เวลาไปประชุมที่อำเภอช่วงเดือนรอมฎอน กลับมาบ้านช่วงเย็นจะซื้ออาหารละศีลอดมาฝากเพื่อนมุสลิมตั้งแต่หัวหมู่บ้านยันท้ายหมู่บ้าน เพราะเป็นหมู่บ้านเล็กทำให้รู้จักกันหมด เวลาปกติก็แวะไปพูดคุยกันจนได้ใจเขา”
ไมตรี บอกว่า ความเป็นผู้หญิงไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน และหลักสำคัญที่เธอยึดถือเสมอคือความยุติธรรม เสมอภาค และเท่าเทียม
“เมื่อลูกบ้านมาหาเพราะความเดือดร้อน หากช่วยเหลือได้ก็จะช่วยเต็มความสามารถ สิ่งไหนช่วยไม่ได้ก็จะหาทางอื่นหรือให้ผู้ที่มีอำนาจมากกว่าช่วยเหลือ”
ปัจจุบันผู้หญิงมีโอกาสแสดงศักยภาพในด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งไมตรีมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสิ่งที่ผู้ชายทำไม่ได้ บางครั้งผู้หญิงก็ทำได้ดี แต่ก็มีบางสิ่งที่ผู้หญิงทำไม่ได้เหมือนกัน เช่น การลาดตระเวนในเวลากลางคืน ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือต้องช่วยเหลือกัน อย่างเรื่องการลาดตระเวน เธอก็จะมอบหมายให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้ชายไปทำหน้าที่แทน
สิ่งสำคัญที่ทำให้ ไมตรี ตัดสินใจอยู่ที่บ้านสายสุราษฎร์ต่อไป ทั้งๆ ที่ความรุนแรงคืบคลานเฉียดเข้ามาใกล้มากขึ้นทุกทีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็คือคำพูดของเพื่อนบ้านมุสลิมที่ว่า “ไมตรีอย่าไปไหนนะ อยู่ด้วยกันที่นี่”
และนั่นคือกำลังใจที่ทำให้ ไมตรี สู้ต่อไป เพื่อดูแลเพื่อนบ้านอันเป็นที่รักของเธอ...
ส่วน นิเดาะ อิแตแล ประธานสตรีจาก อ.ยะหา จ.ยะลา เธอได้รับรางวัล “คนดีศรี ศอ.บต.” สาขาสตรีผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และรางวัลสตรีส่งเสริมสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อีกหนึ่งรางวัล
นิเดาะทำงานเพื่อสังคมมานาน ได้รับรางวัลต่างๆ จากหลายหน่วยงาน สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจที่ทำให้เธอตั้งใจทำงานเพื่อสังคมต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ
“ฉันทำงานโดยไม่ได้นึกถึงเรื่องรางวัลหรือเงินทอง ทำเพื่อต้องการให้พี่น้องในชุมชนมีรอยยิ้ม มีความสุขทั้งกายและใจ เมื่อทุกคนมีความสุข เรื่องร้ายๆ ก็จะไม่เกิด เมื่อจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวได้อย่างลงตัวก็มาทำงานเพื่อสังคมบ้าง”
“เมื่อก่อนผู้หญิงมุสลิมไม่มีบทบาทอะไรในสังคม เป็นแค่แม่บ้านเลี้ยงดูลูกและสามี จนเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ผู้หญิงต้องลุกมาทำหลายๆ เรื่องเพื่อประคองครอบครัวให้เดินหน้าต่อไปได้ ทำให้ผู้หญิงค้นพบว่าตัวเองมีศักยภาพในหลายๆ ด้านที่ช่วยเหลือชุมชนและสังคมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ผู้ชายเห็นว่าผู้หญิงทำอะไรได้มากกว่าแค่การเป็นแม่และภรรยา”
ด้วยคุณสมบัติด้านความละเอียดและความอดทนอันเป็นเลิศของผู้หญิง ทำให้ นิเดาะ มองว่านี่คือโอกาสท่ามกลางวิกฤติที่ผู้หญิงจะได้แสดงศักยภาพของตนเอง
“สิ่งสำคัญคือผู้หญิงต้องมีจิตสำนึกและจิตอาสามากกว่าเดิม อย่าลืมว่าทุกคนอยู่ในโลกนี้ได้ไม่นานก็ต้องไปสู่โลกใหม่ ช่วยกันทำให้ทุกวันเป็นวันที่ดีและมีความสุขกันดีกว่า”
เช่นเดียวกับ ฉลวย ยอดสร้อย อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านคลองขุด หมู่ 4 ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ผู้หญิงอีกหนึ่งคนที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ เธอบอกว่ารางวัลที่ได้มาทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ ไม่นึกว่าหน่วยงานที่ทำงานด้วย (ในพื้นที่ อ.หนองจิก) จะเห็นความสำคัญ ถือเป็นกำลังใจให้ต่อสู้งานต่อไป
“ฉันทำงานมา 10 ปี ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้รับรางวัลนี้ งานทุกอย่างที่ทำไม่เคยหวังรางวัล หวังเพียงแค่หมู่บ้านของเราอยู่ดีมีสุขก็พอ ทำอย่างไรให้ประชาชนคลองขุดและคนรอบข้างพบแต่สันติสุข” ฉลวยกล่าว และว่า
“ฉันเป็นผู้ใหญ่บ้านมา 2 สมัย ดูแลประชาชน 124 ครัวเรือน เป็นมุสลิม 35 ครัวเรือน จนขึ้นชื่อว่าเป็นหมู่บ้านปลอดเหตุ คือไม่มีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ตั้งแต่ก่อนปี 2547 ถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมุสลิมและพุทธอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง มีงานอะไรเราก็ช่วยกันโดยไม่แบ่งแยกศาสนา”
ฉลวย บอกจากประสบการณ์การทำงานของเธอว่า ปัญหาทุกอย่างเกิดจากความอยุติธรรม
“ผู้ใหญ่ที่เกิดความขัดแย้งเพราะไม่มีความยุติธรรม การอยู่ร่วมกันต้องมีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าทุกคนให้ความยุติธรรม คลี่คลายปัญหาโดยใช้หลักธรรมและความจริงใจ ตั้งใจแก้ไขปัญหา ฉันเชื่อว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะสงบลง” ฉลวย กล่าว
เป็นความเชื่อมั่นจากพลังของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชายแดนใต้ ที่ช่วยกันรังสรรค์สันติภาพบนแผ่นดินร้อน...เนื่องในวาระ 100 ปีของวันสตรีสากล!
----------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
(ซ้าย) ไมตรี พังทูน (กลาง) นิเดาะ อิแตแล (ขวา) ฉลวย ยอดสร้อย
อ่านประกอบ :
"บงกช-วาสือเมาะ-ยูไนดา" ผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4486&Itemid=86