‘ยุคล’ ชี้อนาคตตลาดข้าวไทย ต้องเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
รมว.เกษตรชี้อนาคตตลาดข้าวไทยต้องเน้นวิจัยคุณภาพมากกว่าปริมาณ ชูเครื่องจักรกลลดต้นทุน-ทดแทนแรงงาน ดึงอาเซียนพัฒนาระบบผลิตข้าวป้อนชาวโลก 3 พันล้าน
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) ปาฐกถาพิเศษถึงทิศทางของข้าวไทยและการวางตำแหน่งการตลาดของข้าวไทยในเวทีโลกว่า ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวคุณภาพดีมากกว่าปริมาณ โดยเฉพาะข้าวสำหรับตลาดเฉพาะที่มีราคาสูง ดังนั้นจึงได้กำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ทั้งทางด้านการผลิต การตลาด และคุณภาพชีวิตชาวนาไทย เพื่อพัฒนาข้าวไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน และคงความเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก
ในปี 54 ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกข้าวประมาณ 10.7 ล้านตัน แบ่งเป็น การส่งออกข้าวจ้าวขาว 4.44 ล้านตัน มูลค่า 67,117 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ข้าวนึ่งจำนวน 3.41 ล้านตัน มูลค่า 53,158 ล้านบาท คิดเป็น 32 % ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ข้าวหอมมะลิ 2.36 ล้านตัน มูลค่า 63,584 ล้านบาท คิดเป็น 22 % ซึ่งจะเห็นว่าตัวหลักที่เป็นข้าวเพื่อการส่งออกของไทยนั้น เป็นการส่งออกข้าวที่มีคุณภาพสูงทั้งสิ้น
“องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คาดการณ์ว่าข้าวจะยังคงเป็นอาหารหลักที่จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรโลกทั้งหมดจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 7 พันล้าน เป็น 9 พันล้านคน”
รมว.กษ. กล่าวต่อว่า ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาข้าวที่มีคุณภาพ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับข้าว โดยเฉพาะเรื่องของสายพันธุ์ข้าวที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มความต้านทานโรคแมลง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก กระบวนการเก็บเกี่ยวแปรรูป การเก็บรักษา การเพิ่มมูลค่า รวมทั้งคุณลักษณะพิเศษของข้าวแต่ละชนิด และที่สำคัญคือ การพัฒนาเครื่องจักรกลทดแทนแรงงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มจะลดลงและเป็นชาวนาที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี
นอกจากนี้ ประเทศไทยจะต้องสร้างความร่วมมือในระดับประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน เพื่อร่วมกันวางระบบการผลิตข้าวและการค้าข้าวร่วมกันเพื่อผลิตข้าวป้อนประชากรในกลุ่มอาเซียน 620 ล้านคน และป้อนชาวโลกกว่า 3 พันกว่าล้านคนอีกด้วย.