วิทยุเครื่องแดง-ฮูกมปาก๊ะ..."ซีซีทีวีมีชีวิต"สู้ภัยระเบิด
เลขา เกลี้ยงเกลา / นาซือเราะ เจะฮะ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
บทวิเคราะห์เหตุระเบิดถี่ยิบในช่วงนี้ของ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นับว่าน่าสนใจยิ่ง เขาบอกว่าสถิติระเบิดพุ่งขึ้นสูงมากถึง 30 ครั้งในห้วงเวลาเพียง 15 วัน เฉลี่ยวันละ 2 ครั้ง โดยมีมูลเหตุจาก 3 ปัจจัย และหนึ่งในนั้นคือข่าวความสับสนเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงฮึกเหิม
สอดรับกับข้อมูลของ "หน่วยข่าว" จากส่วนกลางที่ "ทีมข่าวอิศรา" เคยรายงานเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีโอกาสที่สถิติการก่อเหตุระเบิดจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะกลุ่มผู้ก่อการไม่กังวลกับเครื่องมือของฝ่ายความมั่นคงอีกต่อไป (คอลัมน์คุยกับบรรณาธิการ..."จีที 200 หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ")
เป็นข้อมูลที่สืบเนื่องมาจากท่าทีของเหล่าทหารหาญที่กังวลอย่างยิ่งว่า เมื่อ จีที 200 กลายเป็นเครื่องมือลวงโลกไปแล้ว พวกเขาจะใช้อะไรในการตรวจระเบิด และมีหลักประกันความปลอดภัยอะไรในยามที่ต้องออกปฏิบัติหน้าที่
น่าแปลกที่คำถามนี้หลุดมาจากปากทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพราะตลอดมาเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่าการจะรับมือกับระเบิดและการก่อเหตุในลักษณะก่อการร้ายหรือก่อความไม่สงบนั้น ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ถูกต้องต้องทำอย่างไร...
วิทยุเครื่องแดง...ซีซีทีวีมีชีวิต
หลังเกิดระเบิดอย่างรุนแรงมาหลายครั้งที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ เมื่อ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร มารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้ทำโครงการ "เครือข่ายวิทยุภาคประชาชนเฝ้าระวังเมืองหาดใหญ่" ขึ้นอย่างเงียบๆ โครงการนี้มีชื่อเรียกกันติดปากว่า "วิทยุเครื่องแดง"
ทั้งนี้ เครือข่ายวิทยุเครื่องแดง ใช้วิทยุสื่อสารระบบซีบี ย่านความถี่ 245 เม็กกะเฮิร์ตซ์ โดย พล.ท.พิเชษฐ์ ได้ขอความร่วมมือกับบรรดาสถานประกอบการ โดยเฉพาะโรงแรมและสถานบันเทิงทุกแห่งเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ทำให้มีสมาชิกที่เป็นอาสาสมัครภาคประชาชนและศูนย์วิทยุเอกชนเข้าร่วม จากช่วงที่ริเริ่มโครงการมีเพียงหลักร้อย แต่ขณะนี้พุ่งถึงหลักพัน
เครือข่ายวิทยุเครื่องแดงเน้นการแจ้งเหตุและเฝ้าระวังเหตุร้ายต่างๆ โดยคนที่ถือเครื่องลูกข่ายมีทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ทั่วเมืองหาดใหญ่ซึ่งเข้าร่วมในฐานะอาสาสมัครภาคประชาชน กับกลุ่มที่ทางการจัดตั้งขึ้น รวมถึงสถานประกอบการที่จะต้องมีวิทยุเครื่องแดงอย่างน้อย 2 เครื่องใช้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร
ปัจจุบันโครงการนี้ลงหลักปักฐานจนน่าจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ถาวรประจำเมืองหาดใหญ่ไปแล้ว มีศูนย์แม่ข่ายตั้งอยู่ที่สถานีสารวัตรทหารมณฑลทหารบกที่ 42 ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ใช้ชื่อว่า "ศูนย์มณโฑ" และนำกำลังจากมณฑลทหารบกที่ 42 มาดูแลจัดระบบและประสานงาน "ลูกข่าย" ซึ่งจะเรียกตัวเองเป็นรหัสว่า "มณโฑ..." แล้วตามด้วยหมายเลขประจำตัว
สำหรับเครือข่ายวิทยุเครื่องแดงมี "ลูกข่าย" ที่ถือวิทยุอยู่ทั่วเมืองหาดใหญ่มากกว่า 1,200 คน และยังมีสมาชิกนอกเครือข่ายอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีของ "ศูนย์มณโฑ" ให้แม่ทัพสามารถเฝ้าฟังและติดต่อสั่งการกลับมายังศูนย์ฯได้แม้ว่าจะอยู่ถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งห่างไกลจากรัศมีสื่อสารของวิทยุเครื่องแดงมากก็ตาม สอดรับกับภารกิจของแม่ทัพที่ต้องลงพื้นที่ชายแดนใต้อยู่บ่อยๆ
พล.ท.พิเชษฐ์ กล่าวว่า การจัดตั้งเครือข่ายวิทยุเครื่องแดงจะทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่ทั้งย่านการค้าและชุมชนมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะมีภาคประชาชนและสถานประกอบการคอยเฝ้าระวังสิ่งผิดปกติตลอดจนบุคคลต้องสงสัย รวมทั้งห้องพักห้องเช่าที่อาจจะมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแฝงตัวหลบซ่อนเพื่อเตรียมก่อเหตุ
"เราจะพยายามขยายเครือข่ายวิทยุให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองหาดใหญ่ทั้งชั้นนอกและชั้นในเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด" พล.ท.พิเชษฐ์ กล่าว
หลังจากริเริ่มโครงการ "วิทยุเครื่องแดง" ที่ อ.หาดใหญ่ กระทั่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีกเลย ส่วนอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ ประเภทลัก วิ่ง ชิง ปล้น หรือแม้แต่เพลิงไหม้แค่มองเห็นกลุ่มควัน เครือข่ายวิทยุเครื่องแดงก็แสดงศักยภาพจนสามารถสกัดจับหัวขโมยหรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าสกัดเพลิงได้ก่อนจะลุกลามมาแล้วหลายครั้ง
ระยะหลังจึงมีการขยายโครงการไปยังเขตเทศบาลเมืองต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จ.ยะลา ที่ใช้ชื่อว่า "โครงการเพื่อนเตือนภัย กล้องซีซีทีวีมีชีวิต" โดยเปรียบอาสาสมัครในเครือข่ายวิทยุเครื่องแดงเป็นกล้องซีซีทีวี หรือกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีอานุภาพสูงกว่ากล้องจริงๆ เพราะเป็นกล้องมีชีวิต พูดได้ แจ้งข่าวได้ และสามารถแยกแยะคนดีกับคนไม่ดีได้
ผู้นำ 4 เสาหลักกับกฎฮูกมปาก๊ะ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ อ.เมือง จ.ยะลา คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มักถูกโจมตีด้วยการก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ประการหนึ่งเป็นเพราะถนนหนทางในเขตตัวเมืองยะลามีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม แม้จะมีข้อดีคือช่วยให้การจราจรไม่ติดขัด และมีทางเข้า-ออกเมืองได้หลายทาง แต่ก็กลายเป็นจุดอ่อนให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัว
ช่วงที่เสียงตูมตามเริ่มกลับมาให้ได้ยินถี่ขึ้นอีกครั้ง นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพ "ผู้นำ 4 เสาหลัก" คือ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้นำตามธรรมชาติ เพื่อขันน็อตเรื่อง "กฎฮูกมปาก๊ะ" ให้ชุมชนร่วมกันจัดการปัญหาต่างๆ เพื่อความสงบและเข้มแข็งของชุมชนเอง
"ฮูกมปาก๊ะ" คือการทำประชาคมเพื่อตั้งกฎกติกาของแต่ละหมู่บ้านขึ้นตามแบบของมุสลิม โดยบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อน ก็คือ "ผู้นำ 4 เสาหลัก" นั่นเอง
"การเน้นอบรมผู้นำ 4 เสาหลัก คือผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้นำตามธรรมชาติ ก็เพราะมองว่าผู้นำเหล่านี้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบหรือปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการพัฒนาตำบล หมู่บ้าน จะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย สมาชิก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ก็เป็นตัวแทนที่ประชาชนแต่ละหมู่บ้านเลือกมาก ส่วนโต๊ะอิหม่ามก็เป็นผู้นำศาสนา ขณะที่ผู้นำทางธรรมชาติก็เป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้านที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือ"
"หากผู้นำทั้ง 4 ฝ่ายมาร่วมมือกันอย่างแท้จริงและเข้มแข็ง ปรึกษาหารือและสอบถามปัญหาของชาวบ้านแล้วร่วมกันแก้ไข ผมเชื่อว่าความสงบสุขก็อยู่ไม่ไกล" ผู้ว่าฯกฤษฎา ระบุ
กล่าวได้ว่า "ฮูกมปาก๊ะ" คือการดึงพลังของชุมชนมาช่วยดูแลความปลอดภัยและแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง เพราะเชื่อในหลักที่ว่าคนในหมู่บ้านรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในหมู่บ้านของตน ใครคือคนแปลกหน้าที่เข้ามา ใครคือคนที่สร้างปัญหา หรือใครเป็นคนไม่ดี ซึ่งหากผู้นำ 4 เสาหลักรวมใจชาวบ้านให้เป็นหนึ่งเดียว ก็จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ "คนนอก" แทรกแซงเข้ามาในหมู่บ้าน และในขณะเดียวกันหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ก็ยังง่ายที่จะระดมกันหาตัวผู้ก่อเหตุว่าเป็นฝีมือของใครด้วย
"ช่วงที่เป็นรองผู้ว่าฯ ผมได้ขับเคลื่อนเรื่องฮูกมปาก๊ะจนเริ่มได้ผลในบางหมู่บ้าน และในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลก็ให้ผู้นำ 4 เสาหลักไปสำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชนเพื่อวางแผนพัฒนาหมู่บ้านโดยใช้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งด้วย ผมจึงมาคิดต่อยอดว่าเมื่อผู้นำ 4 เสาหลักได้แสดงบทบาทช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด ช่วยสำรวจความต้องการของชาวบ้านได้แล้ว ก็น่าจะให้มาช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วย เพราะชัดเจนว่าเหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้เกิดจากขบวนการทั้ง 100% แต่บางเรื่องบางราวเกิดจากความขัดแย้งของคนในหมู่บ้านเอง ดังนั้นผู้นำ 4 เสาหลักจึงนับว่ามีบทบาทสูงมากในการคลี่คลายความขัดแย้งในชุมชน" ผู้ว่าฯกฤษฎา กล่าว
หลักง่ายๆ ของฮูกมปาก๊ะก็คือ หากทุกคนในชุมชนปฏิบัติตามกฎที่ร่วมกันร่างขึ้น หมู่บ้านก็จะมีแต่ความสงบสุข ร่มเย็น ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือตรวจหาระเบิด เพราะไม่มีระเบิดให้หา
ที่สำคัญเมื่อไม่มีเหตุร้ายในพื้นที่ใด ก็จะลดการปฏิบัติทางยุทธการลงในพื้นที่นั้น เพราะถือว่าชาวบ้านดูแลกันเองได้ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในหลายๆ ท้องที่
นายประเสริฐ ไตรสุวรรณ ผู้นำทางธรรมชาติจาก อ.ธารโต จ.ยะลา กล่าวว่า หลังจากพื้นที่ จ.ยะลา ใช้กฎฮูกมปาก๊ะ ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีมีสุขมากขึ้น เพราะกฏดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ มั่นใจว่ายะลาจะเกิดสันติสุขแน่ถ้าใช้หลักฮูกมปาก๊ะของผู้ว่าฯกฤษฎา เพราะทำให้ผู้นำในพื้นที่จับมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง
นายมูฮัมหมัด ภูมิพิศ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านแร่ อ.ธารโต กล่าวว่า การที่ผู้ว่าฯกฤษฎา ตั้งกฎให้ชาวบ้านดูแลพื้นที่กันเองจนเกิดความสามัคคีในชุมชน และจนกว่าเหตุการณ์ในพื้นที่จะไม่เกิดขึ้น ถ้าทำได้ก็จะลดความเข้มทางยุทธการลงนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องการมากที่สุด
"ปัญหาของเรา เราดูแลเองได้ ถ้าใช้คนอื่นจากนอกพื้นที่เขาจะทำได้ใม่ดีเท่าเรา เพราะบางเรื่องเขาก็ไม่เข้าใจ ปัญหาของเรา เราก็อยากจัดการกันเอง" นายมูฮัมหมัด กล่าว
ทั้งผู้นำ 4 เสาหลัก และสมาชิกในชุมชนทุกคนจึงเปรียบเสมือน "ซีซีทีวีเคลื่อนที่" คอยสอดส่องระแวดระวังและแสดงพลังสกัดภัยความไม่สงบ...
เพราะเมื่อทุกบ้านปลอดภัย ชุมชนก็จะปลอดภัย เมื่อชุมชนปลอดภัย ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติก็ปลอดภัย
---------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบภาพแรกจากเว็บไซต์ http://board.palungjit.com
บรรยายภาพ :
1. พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 กำลังตรวจเยี่ยมเครือข่ายวิทยุเครื่องแดงที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
2. นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา
อ่านประกอบ : "จีที 200" หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ!