440 ปีแห่งศรัทธา...130 ปีมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
เรื่อง : ทัดทรวง บุญธรรม*
ภาพ : อับดุลเลาะ หวังนิ
"งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว" งานประจำปีของชาวจังหวัดปัตตานีซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้ในช่วงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม สำหรับปีนี้ผู้คนจากทั้งในและนอกพื้นที่จะได้สัมผัสกับรูปแบบงานสุดอลังการ...“440 ปีแห่งศรัทธา 130 ปีมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวท่องเที่ยวปัตตานี เทิดไท้สดุดีมหาราชา” 8 วัน 8 คืน 8 มหัศจรรย์แห่งศรัทธา ระหว่างวันที่ 24 ก.พ.- 3 มี.ค.2553
นายธีรเทพ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นศูนย์รวมของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ผสมผสานจนเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น นอกจากนี้ จังหวัดปัตตานียังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย มีเสน่ห์แห่งวิถีชีวิตชุมชนที่สวยงามน่าสัมผัส เหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของการพัฒนาและสร้างสรรค์กิจกรรมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานีอย่างต่อเนื่องหลากหลาย
ดังนั้น จังหวัดปัตตานีจึงร่วมกับเทศบาลเมืองปัตตานี มูลนิธิเทพปูชนียสถาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “440 ปี แห่งศรัทธา 130 ปี มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวท่องเที่ยวปัตตานี เทิดไท้สดุดีมหาราชา” และเทศกาลสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยมีการจุดประทัดจำนวน 1 ล้านนัด เพื่อเฉลิมฉลองเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปีนี้ครบรอบ 130 ปี โดยมีพิธีเปิดในช่วงบ่ายวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และเช้าตรู่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีพิธีแห่พระลงน้ำที่บริเวณเชิงสะพานเดชานุชิต และทำพิธีลุยไฟที่บริเวณหน้าศาลเจ้าเล่งจูเกียง ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดพิธีลุยน้ำ-ลุยไฟทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยด้วย หลายๆ ท่านคงได้รับชมไปแล้ว
ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าวต่อว่า ภายในงานยังมีกิจกรรมสร้างสีสันอีกมากมาย ได้แก่ การแสดงพลุประกอบดนตรีเฉลิมพระเกียรติ 83 พรรษามหาราชัน ชุด “ใต้ร่มพระบารมีเบิกฟ้าชายแดนใต้” 8 องก์ 8 กระบวนเพลง 8,888 นัด, การแสดงศิลปะ 3 อารยะ, กิจกรรมแรลลี่จักรยานท่องเที่ยว 3 ชุมชน 3วัฒนธรรม นอกจากนั้นยังมีมหกรรมอาหารพื้นเมืองโบราณ 3 วัฒนธรรม และการจำหน่ายสินค้าโอทอปจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ลานศิลปวัฒนธรรม หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี และยิ่งใหญ่อีกครั้งกับการแข่งขันเชิดสิงโตบนเสาดอกเหมยชิงแชมป์อาเซียน
นายประยูรเดช คณานุรักษ์ รองประธานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน กล่าวว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวจีนและไทยในจังหวัดปัตตานี ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วประเทศและทั่วโลก เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้าย หรือหลังวันตรุษจีน 14 วัน หรือวันเพ็ญเดือน 3 ตามจันทรคติของไทย จะมีงานฉลองสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นงานฉลองอย่างใหญ่โต ทุกปีจะมีชาวจีนและชาวไทยเดินทางมาร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง มีพิธีดำน้ำ ลุยไฟ กลายเป็นงานที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดงานหนึ่ง ซึ่งปีนี้ครบรอบ 130 ปีมูลนิธิเทพปูชนียสถานพอดี
“ศาลเจ้าแห่งความศรัทธา ศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานีแห่งนี้ สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์เหม็ง ศักราชบ้วน และปีที่ 2 ตรงกับ พ.ศ.2117 สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นศาลเจ้าประจำชุมชนของชาวจีนเมืองปัตตานี ต่อมาปี พ.ศ.2407 หลวงสำเร็จกิจการจางวาง (ตันจงซิ่น) ได้ทำการบูรณะและนำองค์พระหมด หรือเชงจุ้ยโจ๊วซูกง มาเป็นเทพประธานประจำศาลเจ้า จึงเรียกว่า ศาลเจ้าซูก๋ง หรือศาลโจ๊วซูกง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2423 พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาจากศาลเจ้าบ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมืองปัตตานี มาประดิษฐาน แล้วจัดงานสมโภชเป็นประเพณี จึงเรียกศาลเจ้าใหม่ว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง คือศาลเจ้าแห่งความเมตตาและความศักดิ์สิทธิ์ โดยที่ศาลเจ้าจารึกไว้ว่า 'ผู้ใดศรัทธา นับถือ ความศักดิ์สิทธิ์จะบังเกิดกับบุคคลผู้นั้นเอง' จึงเป็นที่เคารพสักการะของพี่น้องชาวไทยและชาวจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ชาวบ้านมักเรียกขานต่อกันมาว่าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”
รองประธานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน กล่าวอีกว่า ศาลเจ้าแห่งใหม่นี้มีผู้คนเดินทางมาสักการะบูชาจากทุกทิศทุกภาคของประเทศ จนคณะกรรมการที่ช่วยกันดูแลได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ ปัจจุบันนี้สามารถขยายพื้นที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมาย อาทิ ลานหน้าศาลกว้างขวาง มีอัฒจรรย์สำหรับชมพิธีลุยไฟ และมีโอ่งน้ำขนาดยักษ์ทาสีแดงสด สามารถจุน้ำได้ 9 หมื่นลิตร ทั้งหมดล้วนมาจากอภินิหารและบารมีที่มาจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั่นเอง
“ในการเซ่นไหว้สักการะเจ้าแม่ นอกจากเครื่องกระดาษธูปเทียนตามปกติแล้ว นัยว่าท่านโปรดผ้าแพรสีแดงและสร้อยมุก สร้อยมุกนั้นที่ปฏิบัติกันอยู่ก็คือ เมื่อไหว้และอธิษฐานแล้วจะนำไปคล้องที่ศอเจ้าแม่ 2 เส้น และนำคืนมาคล้องคอผู้ไหว้นำกลับไปบูชาที่บ้าน อีกอย่างหนึ่งคือผู้ที่เลื่อมใสจะสามารถแลกซองอังเปาเป็นเงินขวัญถุง โดยสามารถนำมาคืนแล้วแลกกลับไปใหม่ได้ทุกปี หรือจ่ายเป็นสองเท่าของจำนวนเงินในซองหากปีหน้าไม่สามารถเดินทางมาสักการะด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ จากคำร่ำลือมีว่า ผู้ที่แลกเงินของเจ้าแม่ไปเก็บเป็นขวัญถุงจะมีเงินติดกระเป๋าไหลเข้ามาอยู่ไม่ขาด สำหรับในปีนี้ เนื่องในงานฉลองมหกรรมสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซองแดงนี้ จะทำเพียง 8,888 ชุด โดยออกแบบเป็นลิขสิทธิ์ของงานนี้เท่านั้น ห้ามพลาดของดีของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี” นายประยูรเดช กล่าว
สำหรับเรื่องความปลอดภัยที่ทุกคนเป็นห่วง เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ยังคงคุกรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงค์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ขอให้ผู้ที่จะเดินทางมาเที่ยวมีความมั่นใจ เพราะเราได้บูรณาการงานของทุกฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานด้านการข่าว เพื่อวางมาตรการอย่างรัดกุมที่สุด
ขณะที่ นางวันเพ็ญ โภคีวณิชกุล เจ้าของร้าน "คุณโย๋" จำหน่ายสินค้าพื้นเมืองข้างศาลเจ้า กล่าวว่า ขอให้มีนักท่องเที่ยวและประชาชนมาร่วมงานกันเยอะๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องสถานการณ์ เพราะจ้าแม่จะคุ้มครองทุกคน ที่ผ่านมาในเขตเมืองมักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่เองก็เตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี
"นักท่องเที่ยวมักนิยมซื้อสินค้าพื้นเมือง ซึ่งปีนี้ก็มีมาขายกันหลายร้าน ก่อนจะมีสถานการณ์ความไม่สงบเคยมีคนมาเที่ยวชมงานเป็นหมื่นๆ แต่หลังจากมีเหตุการณ์แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 70% จึงอยากเชิญชวนให้มาเที่ยวกันมากๆ มาไหว้เจ้าแม่ เพื่อให้งานสมโภชยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต บ้านเมืองจะได้เจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น”
ก็ได้แต่วาดหวังว่า งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวในปีนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของสันติสุขบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้...
----------------------------------------------------------
*หมายเหตุ : ทัดทรวง บุญธรรม คือผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดปัตตานี