“กลุ่มด้วยใจ” พลังจากหัวใจช้ำของครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคง
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ไฟใต้ยังคงคุกรุ่นและลุกโชน ปมปัญหา "ความไม่เป็นธรรม" เป็นเรื่องที่พูดกันมานานจนกลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง โดยเฉพาะ "ความไม่เป็นธรรม" ที่เกิดจาก "กระบวนการยุติธรรม" เอง และปัญหาหนึ่งที่ "ทีมข่าวอิศรา" เกาะติดมาตลอดคือกรณี "ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง" ที่ต้องสิ้นอิสรภาพในชั้นก่อนฟ้องและพิจารณาคดี ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจเป็นผู้บริสุทธิ์
ยิ่งมีข่าวเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ไร้ประสิทธิภาพซ้ำเข้าไปอีก โดยที่เจ้าแท่งพลาสติกพร้อมเสาอากาศน้ำหนัก 450 กรัมนี้เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชี้ตัวหรือค้นหาผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้กระบวนการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐถูกตั้งคำถามมากขึ้น
กรณีของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง แม้บางคดีจะเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางคดีอาจตรงกันข้าม และย่อมก่อปัญหาเรื่อง "ไม่เป็นธรรมทางความรู้สึก" อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะกับครอบครัวของผู้ต้องขังซึ่งเป็นกลุ่มที่แทบจะหลุดจากวงโคจรการเยียวยาของรัฐไปเลย เพราะถูกมองว่าเป็นครอบครัวของแนวร่วมก่อความไม่สงบ ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับเชื้อไฟที่คุโชนอยู่ที่ปลายด้ามขวาน
ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 548 คน แยกเป็นเรือนจำจังหวัดปัตตานี 83 คน เรือนจำจังหวัดยะลา 143 คน เรือนจำจังหวัดนราธิวาส 202 คน และเรือนจำจังหวัดสงขลา 120 คน ลองคิดดูว่าคนที่อยู่ข้างหลังผู้ต้องขังเหล่านี้ ทั้งบุตร ภรรยา บิดา มารดา มีอีกจำนวนเท่าไหร่ คนเหล่านั้นต้องเผชิญกับความเดือดร้อนเมื่อหัวหน้าครอบครัวถูกจับกุม
เมื่อเร็วๆ นี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือกลุ่มภรรยาของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงได้รวมตัวกันจัดตั้ง "กลุ่มด้วยใจ" และได้จัดโครงการ “ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ” โดยงานจัดขึ้นที่บ้านเพ็งยา หมู่ 3 ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา หนึ่งในสี่อำเภอที่ถูกแต้มสีแดง
ปัทมา หีมมิหน๊ะ แกนนำกลุ่มด้วยใจ เล่าว่า ตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อหวังช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวผู้ต้องขัง ซึ่งจุดเริ่มต้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือตัวของเธอเอง
"ความเป็นมาก็เริ่มจากตัวฉันเอง สามีโดนจับในคดีความมั่นคง เราก็ถือเป็นหนึ่งในครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เราเข้าใจความรู้สึกและความลำบากเป็นอย่างดี มีภรรยาจำนวนมากที่สามีโดนจับแล้วตัวเองไม่รู้จะทำอย่างไร ตัวเราเองแรกๆ ก็เป็นอย่างนั้น คิดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก เราก็พยายามใช้ความรู้ที่เคยศึกษามาเพื่อแก้ไขปัญหา แต่มันก็ไม่ใช่ง่ายๆ เราจึงคิดว่าขนาดเราเป็นคนมีการศึกษายังลำบากขนาดนี้ แล้วชาวบ้านที่ไม่รู้อะไรเลยจะลำบากขนาดไหน เพราะภาครัฐก็ไม่ได้เหลียวแลพวกเรา"
"ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านและสังคมทั่วไปก็มองเราเป็นอื่น มีแต่เครือข่ายไม่กี่คนที่เข้าใจเรา แต่เขาก็ช่วยได้เฉพาะด้าน ดังนั้นฉันเองกับพี่สาวจึงคิดกันว่าหากเรามีกลุ่มของเราเอง รวมกลุ่มคนที่ตกอยู่ในสภาพแบบเรามาแก้ปัญหาร่วมกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งกลุ่มและจัดระดมทุนในครั้งนี้" ปัทมา บอก
อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานกลุ่มด้วยใจ เล่าเสริมว่า ตั้งใจจะทำกิจกรรม 3 อย่างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้ต้องขัง คือ
1. กิจกรรมเกี่ยวกับลูกผู้ต้องขัง เพราะเราเชื่อว่าเด็กเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ เราสามารถช่วยให้เขาอยู่ในแนวทางที่ดีได้ จึงให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและศาสนาของเด็กๆ
2. กิจกรรมเยียวยากลุ่มสตรีจากครอบครัวผู้ต้องขัง โดยจะมองถึงความต้องการที่แท้จริงของภรรยาผู้ต้องขังแต่ละคน แต่จะไม่เน้นการให้เงิน เพราะไม่ยั่งยืน
3. กิจกรรมสร้างความเข้าใจกับสังคม เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มครอบครัวผู้ต้องขังเหมือนถูกกดดันจากสังคมหรือคนในชุมชน จากปัญหาความไม่เข้าใจ
"เรื่องความไม่เข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างแม้แต่การจัดกิจกรรมระดมทุน ชาวบ้านบางกลุ่มก็ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรกัน เพราะว่าเขากลัวมาก กลัวว่าการมายุ่งเกี่ยวกับกลุ่มของเราจะทำให้เขาเดือดร้อน กลัวโดนกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วม เขาไม่แสดงออกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เขาไม่ใส่ใจเรื่องนี้ไปเลย ดังนั้นหากเราไม่อยากให้ครอบครัวผู้ต้องขังต้องกลับไปอยู่จุดที่ถูกกดดัน เราก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมและชุมชนด้วย" อัญชนา กล่าว
จริงๆ แล้วงานระดมทุนที่ "กลุ่มด้วยใจ" จัดขึ้น มีบุคคลจากหลายภาคส่วนมาร่วมงาน ทั้งเครือข่ายภาคประชาสังคม และข้าราชการฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ แต่ อัญชนา ยังมองว่า การให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตัวแทนของภาครัฐไม่ได้ทำให้ชาวบ้านและตัวเธอเองเชื่อถือได้มากนัก
“เขาอาจให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับการจัดงานของเรา แต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่ชาวบ้านเชื่อว่าภาครัฐจะมีความจริงใจ เพราะเขาอาจทำตามนโยบายที่ต้องให้ความร่วมมือกับประชาชน ที่บอกอย่างนี้เพราะที่ผ่านมาเมื่อเจ้าหน้าที่จับชาวบ้านแล้ว เจ้าหน้าที่จะมองชาวบ้านเป็นผู้ร้ายไปเลย ไม่มีแม้สักครั้งที่เขาจะมองชาวบ้านเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อน เขาจะบอกในกลุ่มของเขาเองว่าคนนี้ใช่แล้ว เป็นขบวนการใหญ่โต และมีการพูดในทุกๆ ที่ว่าเป็นเครือข่ายใหญ่ เขาไม่เคยบอกเลยว่าเขาจับผิดตัว”
“เจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนอื่นก็ไม่ต่างกัน ครั้งหนึ่งเคยไปที่โรงพยาบาลเพื่อติดต่อให้มาตั้งหน่วยบริการและทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อเยียวยาจิตใจคนในครอบครัวผู้ต้องขัง แต่เขากลับหลุดคำพูดออกมาว่านี่คือครอบครัวกลุ่มคนร้ายใช่หรือเปล่า หรือตอนที่เราลงพื้นที่เข้าไปในหมู่บ้าน ก็เคยมีเหมือนกันที่มีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเข้ามาพูดเชิงขู่ให้เรากลัว พูดประมาณว่าไม่กลัวเหรอเข้าไปในหมู่บ้าน เคยมีคนโดนเยอะนะ บางทีพูดเหมือนเราเป็นคนร้าย เหมือนเรามาปลุกปั่นชาวบ้าน ซึ่งเป็นวิธีคิดของหน่วยงานราชการที่มักจะเลือกมองครอบครัวผู้ต้องขังแต่ด้านลบเพียงด้านเดียว ไม่เลือกที่จะมองด้านอื่นๆ บ้าง ทำให้เราได้เห็นภาพความเป็นจริง และต้องเร่งสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับสังคม" อัญชนา กล่าว
ในงานระดมทุนฯ มีกิจกรรมเบาๆ เป็นวงสานเสวนาในหัวข้อ "เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยสันติ” มีตัวแทนจากเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา ทำให้กิจกรรมเสวนาเบาๆ กลายเป็นกิจกรรมหนักขึ้นมาทันที
ชาวบ้านคนหนึ่งจาก ต.ทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าอาร์เคเค กล่าวว่า ส่วนตัวยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่เห็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตลอดมา ทำให้พี่น้องสามจังหวัดจำนวนมากถูกฝากขังนานเป็นปีๆ อยากทราบว่าหากผู้ต้องขังเป็นผู้บริสุทธิ์ ใครจะชดใช้ โดยเฉพาะความสูญเสียในแง่เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ที่สำคัญถูกมองว่าเป็นโจรไปแล้ว
“วันนี้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานตามเงินเดือนหรือว่าตามบทบาทหน้าที่ ผมอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามกรอบกฎหมายอย่างแท้จริง เพราะมันจะทำให้ชาวบ้านลดอคติกับรัฐลงได้บ้าง ที่ผ่านมาลึกๆ แล้วชาวบ้านยังมีอคติกับพวกท่านมาก ท่านต้องหันมองตัวเอง ทบทวนตนเอง ไม่ใช่ว่าท่านไม่ดี แต่คนที่ท่านเอามาทำงานนั้นเป็นปัญหา บอกตรงๆ ผมก็มีอคติกับรัฐอยู่ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนผมมองว่าทหารเป็นพระเอกในใจผม แต่วันนี้เขาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ผมก็เป็นคนไทยเหมือนทุกคน ผมก็อยากเห็นประเทศไทยสงบด้วยเหมือนกัน"
ขณะที่นายดาบตำรวจคนหนึ่งจากหน่วยพัฒนาสันติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.ธารคีรี อ.สะบ้าย้อย และคลุกคลีกับครอบครัวผู้ต้องขังในพื้นที่ตลอดมา กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เคยมองว่าครอบครัวผู้ต้องขังเป็นศัตรู สำหรับกลุ่มด้วยใจเขาก็รู้จัก บางครั้งก็มีการพูดคุยกัน จึงพอจะรู้ว่าเจอปัญหาและได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ก็รู้สึกสงสารและเข้าใจ ที่ผ่านมาก็พยายามไปเยี่ยมเยียนช่วยเหลือเรื่องเครื่องอุปโภค บริโภคเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นวันนี้ก็พาเพื่อนๆ เจ้าหน้าที่มากินเลี้ยง สนับสนุนให้ก่อตั้งกลุ่มได้สำเร็จ เผื่อจะได้เป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทนในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
"ตัวผมเป็นเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ก็ช่วยได้แค่นี้ คือช่วยให้กำลังใจ สำหรับผมไม่ว่าใครจะมองอำนาจรัฐอย่างไร แต่ตัวผมเองเปิดตลอดเวลา พร้อมช่วยเหลือทุกคน ผู้ที่ถูกจับกุมหรือคุมขัง ผมก็ไม่ได้จับตาพวกเขาเป็นพิเศษ ผมถือว่ากระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด เขาก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เขาอาจจะคิดว่าเจ้าหน้าที่ถือปืนมาอยู่ตรงนี้แล้วจะมองชาวบ้านผิดไปหมด มันไม่ใช่ เจ้าหน้าที่บางคนเขาก็มองด้วยความเป็นธรรมเหมือนกัน ส่วนที่มองตรงกันข้าม คิดว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล มันก็มีอยู่ในทุกสังคม ต่างจิตต่างใจ” นายดาบสีกากี ระบุ
อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ กรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชนจากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) กล่าวว่า รัฐไม่ควรมองครอบครัวผู้ต้องขังเป็นศัตรู และการให้ความช่วยเหลือจากรัฐในเชิงรูปธรรมที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ กรณีผู้ต้องขังที่ยากจนและมีลูกหลายคน ลูกๆ จะขาดโอกาสทางการศึกษา รัฐสามารถสนับสนุนได้ในเรื่องทุนการศึกษา ดูแลคุณภาพชีวิต ดูแลเรื่องอาชีพผ่านกลุ่มด้วยใจ เพราะว่าบางครอบครัวมีลูกเกือบ 10 คน เมื่อพ่อไม่อยู่เพราะถูกจับ ครอบครัวคนข้างหลังต้องรับภาระหนัก โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา
“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการดูแลสภาพจิตใจ ควรมีหน่วยงานแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนเป็นระยะ อาจมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบ และพยายามสร้างกลุ่มครอบครัวผู้ต้องขังให้มีความเข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ใช่ให้เขาขอความช่วยเหลือจากรัฐตลอดไป”
“ส่วนในระดับนโยบาย ควรจะปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะความล่าช้าคือความไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมาประชาชนก็ไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดังนั้นรัฐจึงควรหันมาทบทวนอย่างจริงจังในการนำกฎหมายพิเศษมาใช้ แล้วกลับไปพิจารณาใช้กฎหมายอาญาเป็นหลักจะดีกว่า" อับดุลอซิซ กล่าว
การก่อเกิดของ "กลุ่มด้วยใจ" แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเรื่องน่าดีใจที่ชาวบ้านรวมหัวจิตหัวใจแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการ "เข้าถึง" และ "เข้าใจ"
อย่าปล่อยให้ชาวบ้านต้องโดดเดี่ยวและทุกข์ใจต่อไปอีกเลย...
----------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1. งานระดมทุนของ "กลุ่มด้วยใจ" ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
2. ปัทมา หีมมิหน๊ะ
3 อัญชนา หีมมิหน๊ะ
4. อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์
หมายเหตุ : ผู้สนใจบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของ "กลุ่มด้วยใจ" สามารถโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารออมสิน สาขาสะบ้าย้อย ชื่อบัญชี ปัทมา หีมมิหน๊ะ เลขที่บัญชี 4213-5410-1149-6286 หรือ โทร.087-2894328
อ่านประกอบ :
- ให้ประกันผู้ต้องขังคดีความมั่นคง...มิติใหม่ความเป็นธรรมที่ชายแดนใต้
- เมื่อ 5 พี่น้อง"หะยีเตะ"ตกเป็นผู้ต้องขัง กับ 24 ชีวิต"คนข้างหลัง"ที่จำต้องรับกรรม
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4890&Itemid=86
- "548 ชีวิต"ผู้ต้องขังแดนใต้ มิติมั่นคงสวนทางความเป็นธรรม
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4901&Itemid=86
- เมื่อพ่อหนูถูกจับ...อีกหนึ่งความจริงที่รัฐไม่ควรละเลย