คืบหน้า3คดีสำคัญ...ปล้นฐานพระองค์ดำ ผู้บริหารอิสลามบูรพา และคดีฆ่าอิหม่ามยะหา
สัปดาห์ที่ผ่านมามีความคืบหน้าคดีสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน่าสนใจ ทั้งคดีปล้นฐานพระองค์ดำ เมื่อ 19 ม.ค.2554 คดีที่เกี่ยวกับผู้บริหารโรงเรียนอิสลามบูรพาที่เคยถูกทางการสั่งปิดไปหลายปี และคดีสังหารประธานชมรมอิหม่าม อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อ 14 พ.ย.ที่ผ่านมานี้
"ประหาร-จำคุก" 5 จำเลยปล้นฐานพระองค์ดำ
เริ่มจากคดีแรก คดีปล้นฐานพระองค์ดำ คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์คนร้ายหลายสิบคนบุกโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 ที่บ้านมะรือโบ หมู่ 1 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 เป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย และอาวุธปืนถูกปล้นไปหลายสิบกระบอก ซึ่งหลายคนเรียกขานว่า “เหตุการณ์ปิเหล็ง 2” (คล้ายเหตุการณ์ปล้นปืนจำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547)
หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมผู้ต้องหาได้ 16 ราย พร้อมตามยึดอาวุธยุทโธปกรณ์คืนกลับมาได้เป็นจำนวนมาก จากนั้นพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนคดีส่งให้อัยการ และพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 21 พ.ย.2555 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ออกนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยได้ตัดสินประหารชีวิตจำเลย 1 ราย คือ นายยาห์ยา บือราเฮง อายุ 23 ปี จำคุกตลอดชีวิตจำเลย 1 ราย คือ นายอุษมาน ยาแต อายุ 24 ปี และจำคุก 35 ปี 12 เดือนกับจำเลยอีก 3 ราย คือ นายมะตอฮา เซะ อายุ 27 ปี นายอารีย๊ะ มะแซ อายุ 40 ปี และ นายอาบัส สือแต อายุ 25 ปี
ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 8 ราย ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ประกอบด้วย นายมูหมัดนาพี บูละ อายุ 31 ปี นายอิสมะแอ กาโล อายุ 23 ปี นายอัมรัน สะมะแอ อายุ 23 ปี นายรุสลาม สีมาอะ อายุ 36 ปี นายมาหะมะ สารอ อายุ 24 ปี นายมะธาฮา ยะสีงอ อายุ 27 ปี นายอับดุลเลาะ เจ๊ะดอเลาะ อายุ 42 ปี และ นายซานูซี ยาแต อายุ 29 ปี แต่กรณีของ นายซานูซี ถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีครอบครองอาวุธปืน 6 ปี)
นอกจากนั้น ยังมีจำเลยที่เสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดี 1 ราย คือ นายสะบูรฮัม ปูตะนิง อายุ 32 ปี และมีจำเลยที่หลบหนีระหว่างได้รับการปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) อีก 2 ราย ได้แก่ นายซัฟวาน สาแล๊ะ กับ นายฮาพีซีน วาแตบือแง
ยกฟ้องผู้บริหารอิสลามบูรพาคดีให้กลุ่มป่วนใต้ซ่องสุม
คดีที่ 2 คือคดีที่เกี่ยวกับผู้บริหารโรงเรียนอิสลามบูรพา หรือ ปอเนาะสะปอม อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยเป็นคดีที่ผู้บริหารโรงเรียนอิสลามบูรพา 2 คน ได้แก่ นายอุเซ็ง ปุโรง ผู้ถือใบอนุญาตโรงเรียนอิสลามบูรพา และ น.ส.ซูใบดะห์ ดอเลาะ ครูใหญ่ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน กรณีใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้อาคาร สถานที่ และบริเวณของโรงเรียนในระบบเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นการอันไม่ควรแก่กิจการของโรงเรียนในระบบ, ทำหรือยินยอมให้บุคคลอื่นทำการใดอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประเทศหรือวัฒนธรรมของชาติหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
อย่างไรก็ดี ศาลจังหวัดนราธิวาส (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาเมื่อ 19 พ.ย.2555 ให้ยกฟ้องทั้ง นายอุเซ็ง และ น.ส.ซูใบดะห์
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2550 กองกำลังฝ่ายความมั่นคงได้เข้าตรวจค้นโรงเรียนอิสลามบูรพา และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้น 7 คน พร้อมของกลางวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากจากบ้านพักซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงเรียน
ต่อมาวันที่ 5 ก.ค.2550 ทางการได้สั่งปิดการเรียนการสอนโรงเรียนอิสลามบูรพา และปิดต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 ปี โดยผู้บริหารโรงเรียน คือ นายอุเซ็ง และ น.ส.ซูใบดะห์ ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนด้วย แต่ศาลชั้นต้นเพิ่งมีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในคดีจับกุม 7 ผู้ต้องหาพร้อมอุปกรณ์ประกอบระเบิดล็อตใหญ่นั้น ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำพิพากษาเมื่อ 16 มี.ค.2555 ให้ประหารชีวิต นายมะนาเซ ยา นายแวอัสมิง แวมะ นายมะฟารีส บือราเฮง และ นายฮารง บาเกาะ ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายและซ่องโจร, จำคุก 27 ปี นายรุสดี ดอเลาะ ส่วน นายมามะคอยรี สือแม หลบหนีระหว่างได้รับการปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว) และไปถูกจับกุมพร้อมของกลางวัตถุระเบิดกับอุปกรณ์ประกอบระเบิดล็อตใหญ่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อปลายปี 2552 คดีเพิ่งยกฟ้องไปเมื่อ 22 พ.ค.2555
ส่วนสถานะของโรงเรียนอิสลามบูรพาในวันนี้ เปิดการเรียนการสอนตามปกติแล้วจากการผลักดันของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1 ได้มีหนังสือเลขที่ นธ.0052/2554 อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนโรงเรียนอิสลามบูรพา เมื่อ 26 ธ.ค.2554 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550
แต่กระนั้น โรงเรียนอิสลามบูรพาก็ยังไม่พ้นพงหนามเสียทีเดียว เพราะยังถูก พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงอายัดทรัพย์ตามมติคณะกรรมการธุรกรรม เมื่อ 28 ส.ค.2555 ที่ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 3 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการก่อการร้าย โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก็คืออาคารและที่ตั้งโรงเรียนอิสลามบูรพา
ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงยิงอิหม่าม
คดีที่ 3 คือคดีสังหาร นายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านอุเบง ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตเมื่อวันพุธที่ 14 พ.ย.2555 ขณะกำลังขับรถกระบะอยู่บนทางหลวงหมายเลข 4070 (ยะหา-สะบ้าย้อย) ท้องที่หมู่ 3 ต.ยะหา อ.ยะหา
การลอบสังหาร นายอับดุลลาเต๊ะ ถูกจับตามองจากหลายฝ่าย เพราะเขาเป็นทั้งประธานชมรมอิหม่าม อ.ยะหา เป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และยังได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการ ศอ.บต.เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ให้เป็นกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 รายในพื้นที่บ้านสะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2555 ด้วย
ล่าสุด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ลงนามในคำสั่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ โดยให้เหตุผลว่า เหตุการณ์สังหารนายอับดุลลาเต๊ะได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นเจ้าหน้าที่รัฐต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินผู้นำศาสนาและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด ทำให้เกิดความคลุมเครือและไม่เชื่อมั่นต่อมาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
คำสั่งดังกล่าวอ้างอำนาจตามความในมาตรา 14 ประกอบมาตรา 9 (6) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น เพื่อตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม เกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการคุ้มครองสิทธิและอำนวยความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาเป็นประธาน และมีกรรมการอื่นรวม 18 คน อาทิ ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (หรือผู้แทน) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา (หรือผู้แทน) นอกจากนั้นยังมีผู้แทนจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ด้วย
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้มี นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต.เป็นกรรมการและเลขานุการ
สำหรับการตั้งคณะกรรมการในลักษณะตรวจสอบข้อเท็จจริงคู่ขนานไปกับการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลัง โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ที่กลายเป็นปมคาใจว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด หรือเหตุการณ์ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดหรือร่วมกระทำความผิด เช่น คดียิงชาวบ้าน 4 ศพที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อ 29 ม.ค.2555 เป็นต้น โดยผลการตรวจสอบมักเป็นที่ยอมรับของภาคประชาชนในพื้นที่และสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ระดับหนึ่ง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบภายในรถของอิหม่ามอับดุลลาเต๊ะ หลังถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตคารถ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
หมายเหตุ : ใช้เทคนิคพรางภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา