จับตา 10 นโยบาย ศธ.ยุค "พงศ์เทพ เทพกาญจนา"
นับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนที่ 3 ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หรือ "ครม.ปู 3" สำหรับ "นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา" ต่อจาก "นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนแรกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ "นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช" ที่ล่าสุดเพิ่งถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.คนปัจจุบันคือ "นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช"
หากนับรวมการปรับรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ "เปลี่ยน" รัฐมนตรีไปแล้วถึง 7 คน ในช่วงเวลาปีเศษๆ เท่านั้น!!
จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ คนมักจะพูดว่า... มองไม่เห็นอนาคตของ "การศึกษาไทย" เท่าใดนัก เพราะรัฐมนตรี ศธ.เปลี่ยนบ่อยมาก เปลี่ยนกันง่ายๆ เหมือนเปลี่ยนเสื้อเปลี่ยนผ้า...
เพราะทำให้นโยบายต่างๆ ไม่ประสานต่อเนื่อง และบางนโยบายแม้ดีแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องสะดุด และยกเลิกไปในที่สุด ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรีที่มาจากพรรคเดียวกันก็ตาม
การมาของนายพงศ์เทพ ซึ่งควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และนายเสริมศักดิ์ในครั้งนี้ กลับแตกต่างออกไปจากรัฐมนตรี ศธ.คนก่อนๆ แม้ว่าทั้งนายพงศ์เทพ และนายเสริมศักดิ์ จะถูกมองว่าไม่ได้ใกล้ชิดอยู่ในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะนายพงศ์เทพซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นอดีตผู้พิพากษา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่กลับได้รับการตอบรับจากผู้คนในแวดวงการศึกษาเป็นอย่างดี และออกจะ "คาดหวัง" กับนายพงศ์เทพค่อนข้างสูงว่าจะเข้ามาช่วย "ขับเคลื่อน" การศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้า หลังจากที่การศึกษาไทย "ย่ำ" อยู่กับที่มานาน...
แต่ความจริงแล้ว นายพงศ์เทพนับว่าใกล้ชิด และอาจเรียกได้ว่า "คลุกวงใน" แวดวงการศึกษาเลยทีเดียว โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา เพราะน้อยคนนักที่จะรู้ว่านายพงศ์เทพเป็นทั้งอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย และปัจจุบันยังเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย
ล่าสุด การแบ่งงานของนายพงศ์เทพให้กับนายเสริมศักดิ์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษามากเท่าที่ควร เพราะได้มอบหมายให้นายเสริมศักดิ์ดูองค์กรหลักๆ อย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
ในขณะที่ตัวนายพงศ์เทพเองกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และสำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
"นายสมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าดูจากการแบ่งงานแล้ว นายพงศ์เทพให้ความสำคัญกับงานของรองนายกรัฐมนตรี คืองานด้านความมั่นคงของรัฐบาล และงานด้านกฎหมาย มากกว่างานด้านการศึกษา เพราะมองว่างานด้านการศึกษาที่เป็นภาระหลักของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.อย่าง สพฐ.ได้ยกให้นายเสริมศักดิ์ดูแล แทนที่จะกำกับดูแลเอง
ซึ่งนายพงศ์เทพกลับมองอีกมุมว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไม่จำเป็นต้องลงไปดูรายละเอียด เพราะหากให้นโยบาย และแนวทางที่ดี จะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามนั้น โดยเชื่อว่านายเสริมศักดิ์ และข้าราชการจะช่วยกันขับเคลื่อนไปได้ทั้งงาน สพฐ., สอศ.และ กศน.โดยส่วนตัวจะเน้นดูหลักสูตร และครูมากกว่า เพราะเป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษา แต่จะติดตามความคืบหน้า ส่วนที่ดูงาน สกอ. เพราะอาจารย์เป็นผู้มีความรู้ และคุ้นกับการที่จะสื่อสารกับอาจารย์เหล่านี้
ส่วนที่มองว่าให้ความสำคัญกับงานในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมากกว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั้น นายพงศ์เทพบอกว่างานในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลอยู่ ส่วนใหญ่เป็นงานของ ศธ.ทั้งสิ้น จึงไม่น่าจะมีปัญหากับการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.
สำหรับนโยบาย และทิศทางที่นายพงศ์เทพจะมาขับเคลื่อนให้การศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้านั้น น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะนายพงศ์เทพมองว่า "การศึกษา" คือ "หัวใจ" ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ปฏิเสธได้ว่าการศึกษาไม่ใช่หัวใจสำคัญ เพราะโลกปัจจุบันแข่งขันกันด้วยความรู้ ความสามารถ และคุณภาพของคน แต่การขับเคลื่อนการศึกษาแต่ละครั้งกว่าจะเห็นผล ต้องใช้เวลานานมาก
นอกจากนี้ นายพงศ์เทพยังประกาศว่าจะสานต่อนโยบายของรัฐบาล ที่ทำมาตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จากพรรคเดียวกัน ทั้งนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล และนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ได้แก่ 1.เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพผู้เรียน โดยการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา เน้นจิตสำนึกของเด็กในค่านิยมที่ถูกต้อง ผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการในประเทศ และระดับสากล ปลูกฝังคุณธรรม และจิตสำนึกประชาธิปไตยแก่นักเรียน นักศึกษา พัฒนาครูอาจารย์ในสาขาที่ขาดแคลน และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เกิดประโยชน์
2.สร้างโอกาสทางการศึกษา ต้องให้ครอบคลุมผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึง 3.นำสันติสุขสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการศึกษาในการแก้ไขปัญหาที่เกิดความไม่สงบในพื้นที่ 4.แก้ไขปัญหายาเสพติด ในสถานศึกษาต้องไม่มียาเสพติด 5.จัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแบบพกพา และพัฒนาเนื้อหาในแท็บเล็ตให้น่าสนใจ 6.การวิจัยของมหาวิทยาลัย ต้องมุ่งการวิจัยที่อยู่บนโลกแห่งความจริง นำมาปรับใช้ประโยชน์ได้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ธุรกิจ และสังคม 7.กองทุนตั้งตัวได้
8.ผลักดันการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญของประชาชน โดย ศธ.ต้องมีส่วนร่วมในการรณรงค์ และทำความเข้าใจกับประชาชน 9.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ศธ.เพราะจะเข้าไปช่วยระบบเศรษฐกิจของไทย และ 10.เรื่องทั่วไปของการบริหาร ศธ.ให้ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการซื้อขายตำแหน่ง ต้องไม่ให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างครูกับนักเรียน อาจารย์กับนักศึกษา และในส่วนของบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่ให้มีการล่วงละเมิดทางเพศด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัญหาโลกแตกอย่าง "หนี้สินครู" ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แต่ละคนมักจะประกาศแบบเอาใจครูทั่วประเทศว่าจะเข้ามา "ปลดหนี้" ให้ครู แต่สุดท้ายก็คว้า "น้ำเหลว" แทบทุกรายนั้น นายพงศ์เทพมองว่าปัจจุบันปัญหาหนี้สินครูได้คลี่คลายไปเยอะ เนื่องจากเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น และค่าตอบแทนที่จะได้จากวิทยฐานะ ฉะนั้น ทำให้ปัญหนี้สินครูลดลง และครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ดูจะมีกระแสตอบรับเกินคาดหมาย ทำให้หลายๆ ฝ่ายคาดหวังว่านายพงศ์เทพจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่นั้น ซึ่งอาจกลายเป็นแรง "กดดัน" สำหรับนายพงศ์เทพนั้น
แต่ดูเหมือนนายพงศ์เทพจะใช้จังหวะ และโอกาสนี้ ให้กำลังใจตัวเองว่า "เป็นเพราะคนเหล่านั้นเห็นว่าผมมีความรู้ความสามารถ และมีความตั้งใจที่จะมาทำภาระหน้าที่ตรงนี้ เลยขอทึกทักเอาว่าคนที่สนับสนุนผม คงจะร่วมมือในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม ก็ถือเป็นกำลังใจ เพราะส่วนตัวก็นสนใจการศึกษามาโดยตลอด ได้ร่วมแลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ทำให้เห็นว่าการศึกษาไทยเป็นอย่างไร และจะต้องทำอย่างไรให้ดีขึ้น"
ก็คงต้องติดตามดูกันว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ. "มือใหม่" แต่เรียกว่า "เก๋า" ในวงการศึกษาพอสมควร และดูจะเป็นความหวังของคนในแวดวงการศึกษาไทย อย่าง "นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา" จะสามารถขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้หรือไม่??
หรือท้ายที่สุด..จะเกิดอาการ "ตกม้าตาย" เหมือนรัฐมนตรี ศธ.คนก่อนๆ!!