สำรวจธุรกิจวิวาห์...ในวันแห่งความรัก 14 กุมภาฯที่ปลายขวาน
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในสงครามยังมี “รักระหว่างรบ” แต่ที่ชายแดนใต้เป็นแค่ “สถานการณ์ความไม่สงบ” เรื่องราวความรักของหญิงชายจึงไม่เคยได้รับผลกระทบ และดำเนินไปตามครรลองของการคบหา ดูใจ และสร้างครอบครัวร่วมกันเหมือนกับผู้คนมากมายอีกหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์บนโลกใบนี้
และแม้ใครๆ จะยกให้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันแห่งความรัก แต่นั่นก็เป็นเพียงสัญลักษณ์และหลักนิยมที่มาจากตะวันตก ซึ่งมีผลกับพี่น้องชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มากนัก เพราะเรื่องราวความรักเกิดขึ้นได้ทุกวัน
เมื่อรักลงตัว การแต่งงานก็บังเกิด แต่การจะเนรมิตงานวิวาห์ให้กับคู่บ่าวสาวเพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้องตามประเพณี หลายๆ ครั้งก็เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าคนแค่สองคน ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีธุรกิจเกี่ยวกับงานวิวาห์ ได้แก่ร้านตัดและเช่าชุดวิวาห์ สตูดิโอถ่ายภาพ รับทำของชำร่วยและการ์ดแต่งงานอย่างครบวงจร
ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ แม้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกมองว่าเป็นพื้นที่อันตราย ไร้ความปลอดภัย ซ้ำยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจมาเนิ่นนาน แต่หากสำรวจธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแต่งงาน จะพบว่ามีร้านรวงกระจายอยู่ทุกจังหวัด ไม่ว่าคนพุทธหรือมุสลิมต่างก็พึ่งพาบริการของร้านเหล่านี้
ที่ “ร้านหญิงหมัด” ริมถนนเจริญประดิษฐ์ หรือที่คนพื้นที่เรียกกันติดปากว่าถนนสาย ม.อ. อุดม อุดมเศรษฐ์ หรือ “หญิงหมัด” ทุ่มเทให้กับงานตัดและให้เช่าชุดวิวาห์ด้วยความรักในอาชีพนี้ที่เขาทำควบคู่กับการรับราชการครูใน จ.ปัตตานีมานานกว่า 16 ปี
แม้อุดมจะเป็นชาย แต่บุคลิกของเขาก็เรียบร้อยอ่อนหวานและเข้าใจผู้หญิงยิ่งกว่าผู้หญิงด้วยกัน เขาเปิดร้านชื่อเดียวกันนี้เมื่อปี 2538 ที่ถนนมะกรูด ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี โดยลงทุนไปกว่า 3 แสนบาท ช่วงนั้นต้องบอกว่า “งานเข้า” เพราะร้านหญิงหมัดมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 70,000-80,000 บาททีเดียว
จากนั้นไม่นาน เขาก็ย้ายร้านมาตั้งที่ริมถนนสาย ม.อ. ลูกค้าก็ยังตามมาใช้บริการอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเช่นเดิม กระทั่งถึงปี 2547 ที่สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มรุนแรง ร้านหญิงหมัดก็ได้รับผลกระทบไปด้วย จนเขาต้องหันมาตัดชุดพาเหรดเป็นรายได้เสริมอีกทาง และเมื่อผ่านพ้นปี 2550 ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงรายวันเริ่มลดความถี่ลง ร้านหญิงหมัดก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
"การแต่งงานในพื้นที่นี้มีกันทั้งปี ร้านตัดชุดวิวาห์ก็มีมากขึ้น หลายร้านก็ตัดราคากัน เพราะชุดมีเหมือนกันทุกร้าน ความแตกต่างอยู่ที่ฝีมือการออกแบบและตัดเย็บ การต้อนรับ การแต่งหน้า และโปรโมชั่นอื่นๆ มากกว่า อย่างที่ร้านจะมีโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดใจลูกค้า เช่น เช่า 4 ชุด 10,000 บาท แถมแต่งหน้า บางงานใช้ชุดเดียวแต่เราให้คุ้มทั้งงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับคู่บ่าวสาว ลูกค้าจะรู้ดีว่าเราไม่ได้หวังแต่กำไร มีทั้งความสวยงามและประหยัด คุณภาพข้อนี้ทำให้ร้านหญิงหมัดอยู่มานานจนถึงปัจจุบัน”
ถนนสาย ม.อ.เป็นถนนที่มีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหวขวักไขว่ทั้งผู้คนและรถราตั้งแต่เช้ายันดึก เป็นถนนสายเศรษฐกิจที่คึกคักที่สุดเส้นหนึ่งในปัตตานี และร้านหญิงหมัดเป็นร้านที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับงานวิวาห์ร้านเดียวบนถนนสายนี้ จึงมีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการตลอดทั้งวัน
“ธุรกิจนี้ไม่มีวันตาย อยู่ที่สมองและฝีมือของเรา อัลลอฮ์สร้างมาให้เรา อยู่ได้เรื่อยๆ เจ้าสาวคือนางเอก จะทำอย่างไรให้เขาสวย เมื่อเขาสวยลูกค้าจะยิ่งเยอะ อยู่ที่ความเอาใจใส่ของเรา ให้ความรักกับทุกคน มีสายใยต่อกัน ไม่เคยปฏิเสธไม่ว่าจะเป็นใครหรือหน่วยงานไหน เรารู้สึกประทับใจที่ลูกค้าบอกว่าเข้าร้านหญิงหมัดแล้วไม่ผิดหวัง ขาดเหลืออะไรหญิงหมัดจัดให้ เป็นกำลังใจให้ทำงานมาได้จนถึงทุกวันนี้”
ด้วยความไว้วางใจในฝีมือ อุดมเคยได้รับการว่าจ้างให้ไปแต่งหน้าเจ้าสาวไกลสุดถึง จ.น่าน ส่วนร้านหญิงหมัดก็มีถึง 3 สาขา อยู่ในปัตตานี 2 สาขา และที่ อ.เทพา (จ.สงขลา) บ้านเกิดอีก 1 สาขา
แต่มิใช่เฉพาะร้านวิวาห์ของมุสลิมอย่าง “หญิงหมัด” เท่านั้นที่ได้รับความนิยม เพราะร้านของไทยพุทธที่เปิดบริการมานานอย่าง “ด้วยรัก” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจวิวาห์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในพื้นที่เช่นกัน
"ร้านด้วยรัก" ตั้งอยู่ริมถนนมะกรูดในตัวเมืองปัตตานี มี สุมาลี วงศ์รัตนพิพัฒน์ เป็นเจ้าของร้าน และทำธุรกิจนี้มานานถึง 30 ปี แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมาพอสมควร ทำให้ร้านด้วยรักต้องปรับตัวด้วยการนำ “สปา” เข้ามาเป็นตัวเสริมรายได้
“ฉันเปิดร้านมากว่า 30 ปี เมื่อก่อนรายได้ดีมาก คู่แข่งก็น้อย ลูกค้ามุสลิมเยอะมาก แต่เมื่อสถานการณ์ความไม่สงบเริ่มเกิด รายได้ก็เริ่มหดหาย ลูกค้าลดลง ประกอบกับตอนนี้ถ้าหากเป็นลูกค้าที่พอจะมีฐานะเขาจะไปเช่าชุดที่หาดใหญ่ (จ.สงขลา) หรือกรุงเทพฯมาแบบครบเซ็ต ทั้งที่ร้านในพื้นที่ก็มีให้เลือกเหมือนกัน”
สปา เสริมสวย ทำผม และคอร์สเจ้าสาว จึงเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่สุมาลีเพิ่มเข้ามา และได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด โดย สุมาลี เน้นเรื่องราคาเพื่อให้ทุกคนสบายใจ
“คอร์สเจ้าสาวก็จะมีการลดราคาให้ ส่วนชุดแต่งงานที่มีอยู่ก็ทำน้อยลง เน้นราคาไม่แพงที่ชาวบ้านธรรมดาสามารถสวมใส่ได้อย่างสบายกระเป๋า”
ทั้งสุมาลีและอุดม...ร้านด้วยรักกับร้านหญิงหมัด แม้จะดูเหมือนเป็นคู่แข่งกันทางธุรกิจ แต่ทั้งคู่ก็มีความหวังอย่างเดียวกันคืออยากให้บ้านเมืองสงบและสันติสุขเช่นวันวาน เพราะการที่คนรักกัน เข้าใจกัน ย่อมดีกว่าเกลียดกันหรือทะเลาะกัน
เรื่องราวความรักข้ามเส้นแบ่งทางศาสนาและระยะทางยังคงมีให้เห็นอยู่เสมอในดินแดนปลายด้ามขวาน ดังเช่นคู่ของ นูรฮายาตี และ ซัมซูดิน
นูรฮายาตี เป็นหญิงมุสลิมในปัตตานี ส่วน ซัมซูดิน เป็นคนอีสาน มาทำงานเป็นช่างในโรงงานแห่งหนึ่งที่นี่ ทั้งสองพบรักกันในโรงงานที่ทั้งคู่ทำงานด้วยกัน เป็นเวลาปีกว่าที่ซัมซูดินรู้จักและเรียนรู้เรื่องราวของอิสลามและมุสลิมจากนูรฮายาตี จนวันที่พวกเขาตกลงปลงใจแต่งงานกัน ทั้งสองใช้บริการชุดวิวาห์จากร้านหญิงหมัด ซัมซูดินเข้ารับอิสลามและทำพิธีนิกะฮ์ (การแต่งงานตามศาสนบัญญัติของอิสลาม) รวมทั้งจัดงานวะลีมะฮ์ (งานฉลองแต่งงาน) ตามประเพณีทุกอย่าง และ “ซัมซูดิน” ก็คือชื่ออิสลามที่เขาได้รับหลังจากรับอิสลาม
ปัจจุบัน นูรฮายาตี ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน และความรู้สึกเปี่ยมรักที่เธอมีต่อสามีก็ไม่เคยลดลงเลย...
“เขาเป็นคนนิสัยดี ตั้งแต่คบกันจนถึงตอนนี้เขายังเป็นคนเดิมที่ดูแลเอาใจใส่ เรียนรู้และศึกษาศาสนาอิสลาม ตอนค่ำเรียนอัลกุรอานกับโต๊ะครูแถวบ้าน ศาสนกิจก็ไม่เคยขาด คิดว่าเขาเป็นผู้นำของเราและลูกได้แน่นอน ทางบ้านเขาก็เข้าใจ ทางบ้านเราก็เป็นกำลังใจให้เขาอยู่เสมอ”
ไม่ว่าจะวันไหนๆ เรื่องราวของความรักยังคงโลดแล่น...ไม่เฉพาะแต่รักระหว่างหญิงชาย แต่อยากให้ทุกคนในแผ่นดินนี้รักกันเช่นในวันวาน สังคมจะได้สันติสุขดังเดิม