ชาวบ้าน 3 จว.อีสานค้านสัมปทานแร่ หวั่นผลกระทบ 1.3 ล้านไร่
ชาวบ้าน 3 จว.ค้านเอกชนขอสัมปทานเหมืองโปแตช-ทองคำ นักสิทธิหวั่นผลกระทบอีสาน 1.3 ล้านไร่ กาฬสินธุ์จ่อคิว 2 แสนไร่ คนอุดรโวยกพร.เมินปัญหา คนเลยต้านอีเอชไอเอทุ่งคำ
วันที่ 22 พ.ย.55 นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ผู้ติดตามข้อมูลนโยบายการทำเหมืองแร่และโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังมีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจ ประเมินศักยภาพแหล่งแร่โปแตช เพื่อทำการผลิตในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 12 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 2 แสนไร่
ทั้งนี้ บริษัท แปซิฟิก มิลเดอรัล จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ในตำบลโพนทอง, ตำบลเหนือ, ตำบลม่วงนา, ตำบลดอนจาน, ตำบลนาจำปา และตำบลเชียงเครือ อำเภอกมลาไสย และอำเภอดอนจาน
โดยยื่นคำขอที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และส่งต่อไปให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำเรื่องเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศยกเลิกมาตรา 6 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.แร่ 2510 ในเขตพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดให้เอกชนสามารถยื่นคำขออาชญาบัตรเพื่อประกอบการเชิงพาณิชย์ และทำการผลิตแร่โปแตชได้
“จากการติดตามข้อมูลล่าสุดพบว่ามีการยื่นคำขอในจ.กาฬสินธุ์ รวมทั้งในหลายพื้นที่ของภาคอีสานที่ได้มีการยื่นไปแล้ว ซึ่งเห็นได้ว่าจะมีเหมืองแร่โปแตชเต็มแผ่นดินอีสานไม่ว่าจะเป็น นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี มหาสารคาม หนองคาย และยโสธร คิดเป็นเนื้อที่รวมกว่า 1.3 ล้านไร่ โดยจะส่งผลกระทบต่อคนอีสานทั้งภาค” นายสุวิทย์ กล่าว
นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะในพื้นที่จ.อุดรธานี ที่กำลังอยู่ระหว่างการยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อทำการผลิตแร่โปแตช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) และชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านต่อเนื่องอย่างหนัก แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“คณะกรรมการที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามกระบวนการประทานบัตรก็ถูกฉีกทิ้งไปเมื่อเปลี่ยนอธิบดีคนใหม่ หรือแม้แต่ชาวบ้านขอเข้าพบเพื่อชี้แจงให้ข้อมูล กับผู้ว่าฯอุดร คนใหม่ก็ยังเมินเฉย” นายสุวิทย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเดียวกัน ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านเกิดจากพื้นที่ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ร่วมด้วยเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดเลย และกลุ่มนักศึกษาเฝ้าติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ จำนวนกว่า 400 คน ได้เดินทางไปที่ศาลาประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย เพื่อคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) หรือพับลิค สโคปปิ้ง (Public scoping) ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มต้นแรกสุดของการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำส่วนขยายบนภูเหล็ก ตามคำขอประทานบัตรที่ 104/2538 ของบริษัททุ่งคำ จำกัด แต่เวทีดังกล่าว ได้ถูกยกเลิกและเลื่อนไปจัดในวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 ที่มีการเลื่อนจัดเวทีฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบริษัทฯ ได้จัดเตรียมกำลังมวลชนจากหลายอำเภอในจังหวัดเลย เพื่อจะมาปะทะขัดขวางกับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองไม่ให้เข้าร่วมและให้การจัดเวทีประสบความสำเร็จ
น.ส.วัชราภรณ์ วัฒนขำ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเฝ้าระวังผลกระทบจากนโยบายการทำเหมืองแร่ เปิดเผยว่า เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะบ่อกักเก็บไซยาไนด์แตก จนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มีคำสั่งปิดเหมือง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ของบริษัทผู้ประกอบการ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาโรงประกอบโลหะกรรมหมดอายุไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผลการไต่สวนการรังวัดอันเป็นเท็จโดยระบุว่าพื้นที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำส่วนขยายบนภูเหล็กไม่มีบ่อน้ำสาธารณะ และไม่มีป่าสาธารณะประโยชน์ แต่ในข้อเท็จจริงพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำซำ น้ำซับ และมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์
“บริษัทฯ อยู่ในสถานการณ์หลังชนฝา และถ้าหากจัดเวทีขึ้นก็เท่ากับเป็นการประจานความผิดพลาดของตนเอง อีกทั้งกลุ่มมวลชนที่เตรียมเอาไว้รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดก็ต้องไปดูแลเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ เมื่อเห็นท่าจะเพลี่ยงพล้ำเขาจึงเลื่อนเวทีออกไป” น.ส.วัชราภรณ์กล่าว
ที่มาภาพ ::: http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=842:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14