ถอดบทเรียน 2 เวทีวิชาการ ม.อ. "สันติวิธี-วิถีการเมือง"ดับไฟใต้
แวลีเมาะ ปูซู และทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่สับสนอลหม่าน สถานการณ์ไฟใต้ที่ยังลูกผีลูกคน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ยังคงแสดงจุดยืนของการเป็นสถาบันทางวิชาการที่ยึดมั่นแนวทางการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและวิถีทางทางการเมืองโดยผ่านกิจกรรมสำคัญ 2 ครั้งช่วงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงต้นปีนี้
"สันติวิธี"คลี่คลายความขัดแย้ง
16 มกราคม 2553 ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีงาน มหกรรมสันติภาพชายแดนใต้ (Peace Southern Festival) จัดโดยองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ร่วมร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชมรม STP สันติศึกษา ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ มี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิด และมีการเผยแพร่บรรยากาศของงานผ่านทางสื่ออินเตอร์เน็ตในเครือข่ายภาคประชาสังคมและเครือข่ายวิทยุชุมชนทั่วประเทศจำนวน 320 สถานี และมีประชาชนสนใจมาร่วมงานอย่างล้มหลามกว่า 20,000 คน
ไฮไลท์ของงานส่วนหนึ่งอยู่ที่การแสดงศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หาดูได้ยาก เริ่มจาก
ตารีอิไน (tari inai) โดยเยาวชนจาก ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เป็นการรำแบบโบราณที่ใช้แสดงต้อนรับอาคันตุกะของชาวมลายูในอดีต
ซีลัต หรือ สีลัต (silat) เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวมลายู จากเยาวชน ต.ริโก๋ เช่นกัน
ซาเจอะ (sajak) การอ่านกวีนิพนธ์ของนักเรียนตาดีกาจากบ้านแบรอ ต.ตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานี ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดของโรงเรียนตาดีดาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เอินดัง (Endang) เป็นการร่ายรำด้วยจังหวะรวดเร็วสนุกสนาน ใช้ดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ โดยนักศึกษาชุมนุมวัฒนธรรมและภาษามลายู
สเปและ (spelah) เป็นการรำซีลัตประเภทหนึ่ง ใช้ท่าทางแปลกๆ เน้นความสนุกสนาน ว่ากันว่าสืบทอดมาจากชนเผ่ามีนังกาเบา บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แสดงโดยชาวบ้านบูเกะปือเราะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และมีแสดงอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย
ตารีกีปัส รีเน็ก (tarikipas renek) คือการแสดงรองเง็ง ซึ่งเป็นการรำโดยใช้ดนตรีพื้นเมือง จากโรงเรียนเดชะปัตนยานุกูล จ.ปัตตานี
รำกริชรายาฮิเยา เป็นการร่ายรำโบราณ ใช้กริชจริง ตำนานเล่าว่าคิดค้นโดยราชินีฮิเยา หรือรายาฮิเยา กษัตริย์สตรีที่ปกครองเมืองปัตตานีในอดีต ใช้แสดงเพื่อต้อนรับอาคันตุกะ โดยเยาวชนตะโละหะลอ อ.รามัน จ.ยะลา
ริมบานอบือซา (rembana besar) เป็นการแสดงที่ใช้กลองใหญ่ตีประชันกับการแสดงพรือโต๊ะ (pretok) ซึ่งใช้การเคาะไม้ ไม่มีการร้องเพลง การแสดงนี้ในสมัยโบราณมักใช้เล่นกลางทุ่งนาหลังจากทำนาเสร็จ
ค็อมปัง (kompang) เป็นการแสดงที่เหมือนกับการขับร้องอานาชีด แต่ค็อมปังจะมีกลองเป็นดนตรีประกอบ นักแสดงทั้งหมดมาจาก อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
อานาชีด การขับร้องเพลงที่มีเนื้อหารำลึกถึงศาสดานบีมูฮัมหมัด โดยเยาวชนจาก ต.ตาเนาะปูเตะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
ดิเกร์ฮูลู การแสดงพื้นเมืองยอดนิยมจากเยาวชน จ.ปัตตานี
นอกจากการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว ไฮไลท์อีกส่วนหนึ่งยังอยู่ที่การเสวนาบนเวทีในหลายหัวข้อที่น่าสนใจด้วย โดยเฉพาะ “ปอเนาะ-ตาดีกา กับวาทกรรมแหล่งซ่องสุมโจรแบ่งแยกดินแดน” มี อับดุลสุโก ดินอะ ผู้อำนวยการโรงเรียนแสงจริยธรรมศึกษา อ.จะนะ จ.สงขลา อิบรอเฮม ยานยา นักวิชาการอิสระ และ ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ แกนนำครูในพื้นที่ ร่วมแสดงทัศนะ ดำเนินรายการโดย ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์วัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตยชายแดนใต้ และแกนนำนักศึกษาในพื้นที่
ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาพยายามอธิบายให้ผู้ฟังได้เข้าใจความหมายของสถาบันการศึกษาปอเนาะและโรงเรียนตาดีกาว่าเป็นสถานที่สำหรับการให้การศึกษาแก่เยาวชนมุสลิมมาตั้งแต่อดีตกาล ไม่ได้เป็นแหล่งซ่องสุมโจรแบ่งแยกดินแดนตามที่รัฐไทยยัดเยียดข้อหาให้ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาและส่งเสริมสถาบันการศึกษาเหล่านี้ให้คงอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับสถานศึกษาประเภทอื่น เพราะ “ปอเนาะ” กับ “ตาดีกา” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเยาวชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้มองว่าความแตกต่างเป็นปัญหา แต่มีแนวความคิดว่าความหลากหลายในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่า จึงส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่รักษาอัตลักษณ์ของตนเองและปฏิบัติตามความเชื่อถือศรัทธาได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนั้นยังยึดมั่นแนวทางสันติวิธีในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ด้วย โดยจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสันติวิธีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรเครือข่ายด้านสันติวิธีและสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อรณรงค์เผยแพร่แนวความคิดและทักษะสันติวิธี พร้อมสนับสนุนให้มีหลักสูตรสันติศึกษา โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นายอับดุลเราะมัน มอลอ นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ปัจจุบันความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และทุกภาคส่วนได้พยายามศึกษาถึงมูลเหตุของปัญหา พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางในการแก้ไข แต่ความรุนแรงในพื้นที่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะยุติลง ส่งผลให้สังคมภายนอกมีทัศนคติและความรู้สึกในเชิงลบต่อประชาชนในพื้นที่ กลายเป็นความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จากสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการอื่นๆ และความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น การจัดงานในลักษณะนี้ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาด้วย
วิถีการเมืองดับไฟความรุนแรง
อีกเวทีหนึ่งคือ การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 10 ซึ่งสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ม.อ.หาดใหญ่ ไฮไลท์อยู่ที่การอภิปรายเรื่อง “เขตปกครองพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทัศนะของนักรัฐศาสตร์” ซึ่งมีคณาจารย์รัฐศาสตร์จากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมแสดงทัศนะ
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ได้นำเสนอข้อมูลงานวิจัยที่ชี้ว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการบริหารใหม่ โดยอาศัยหลัก 3 ประการ คือ
1.การสร้างสมดุล ได้แก่สร้างสมดุลทั้งฝ่ายศาสนา การเมือง และการปกครอง ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้โครงสร้างใหม่
2.สร้างสำนึกทางวัฒนธรรม ได้แก่เรื่องของชาติพันธุ์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ อันเป็นอัตลักษณ์ที่มีการต่อสู้เรียกร้องอยู่ในขณะนี้
3.ปัญหาอำนาจรัฐ ที่ผ่านมารัฐไทยยังผูกติดความเป็นรัฐชาติแบบเก่า ทั้งๆ ที่ในหลายประเทศได้มีการปรับเปลี่ยนให้ก้าวหน้าและทันสมัยขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ได้จำลองรูปแบบการปกครองแบบใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเสนอให้มีการตั้ง “กระทรวงการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการปกครองตามสัดส่วนของประชากร โดยวางระบบการศึกษา วัฒนธรรม การปกครอง และเศรษฐกิจท้องถิ่นให้อิงอัตลักษณ์ของพื้นที่
ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี อภิปรายว่า การเสนอรูปแบบการปกครองใหม่เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งสังคมไทยควรหันมาสนใจรายละเอียดของรูปแบบมากกว่าสนใจว่าใครเป็นผู้นำเสนอ การจัดการปกครองแบบใหม่อาจเป็นทั้งการหยุดยั้งความคิดที่จะแบ่งแยก หรือกระตุ้นให้เร่งการแบ่งแยก ขึ้นอยู่กับความพร้อมว่าได้ค้นพบเจตนารมย์ทางการเมืองแล้วหรือยัง ทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติต้องพูดคุยกันทั้งการเมืองการทหาร และการรับฟังความคิดเห็นของรากหญ้า
"เราค้นพบหรือยังว่าผู้นำในการต่อสู้คือใคร เราต้องสร้างความเข้าใจว่าเขตปกครองรูปแบบใหม่นี้ทำเพื่อประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อใครเป็นพิเศษ" ผศ.ชิดชนก กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจมา 100 ปีแล้ว โดยรวมศุนย์ทั้งการปกครองและแม้กระทั่งศาสนา การรวมศูนย์อำนาจผนึกแน่นมากขึ้นหลังได้รับความช่วยเหลืออย่างมหาศาลจากประเทศสหรัฐอเมริกา และการดำรงอยู่ของเผด็จการทหารตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 ซึ่งในระยะแรกดูเหมือนว่าคนไทยจะมีความสุข แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นเกิดวิกฤติ เนื่องจากความล่าช้าในการพัฒนาประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ และการเปลี่ยนแปลงสังคม ได้นำมาสู่วิกฤติการเมือง
"ความเข้าใจผิดจากการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปทำให้มีการกำหนดรูปแบบการปกครองเหมือนกันหมด ไม่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น ทั้งที่คนท้องถิ่นควรเป็นผู้กำหนดรูปแบบการปกครองเอง แต่ไม่ใช่เขตปกครองพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการในท้องถิ่นต้องผลักดันให้เป็นวาระของท้องถิ่นต่อไป"
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปการอภิปรายว่า รากของปัญหาเกิดจากการขาดความชอบธรรมของรัฐบาลที่มีการปกครองแบบรวมศูนย์มาเป็นเวลายาวนาน ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ แต่เราไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดการแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ดังนั้นจึงต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นกันอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลส่วนกลางจะรับผิดชอบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเงินการคลัง ส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบเรื่องความจำเป็นพื้นฐาน
หากทำเช่นนี้ได้ แม้จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากเพียงใด ประชาชนก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดการเกือบหมด แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลาสร้างการเรียนรู้ระยะหนึ่ง และเริ่มก่อนในท้องถิ่นที่มีความพร้อม