แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
“ปราโมทย์” ฉะงบ 2 แสนล้าน สูญเปล่า แก้ได้ไม่สัมฤทธิ์ผล
วิพากษ์งบ 2 แสนล้านจัดการน้ำประเทศ "ธนวัฒน์" เผยเป็นงบซ่อมแซมสูงสุด ห่วงไม่ควบคุมสิ่งก่อสร้างใหม่ คัน-กำแพงกั้นน้ำผุดขึ้นมาก เสี่ยงเสียหายหนักกว่าเดิม
วันที่ 22 พฤศจิกายน คณะอนุกรรมาธิการศึกษางบประมาณที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง "ใช้งบบริหารน้ำ 2 แสนล้าน... ประเทศไทยได้อะไร?" โดยมี ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล โฆษกคณะอนุกรรมาธิการศึกษางบประมาณที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วุฒิสภา รศ.ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ ประธานอนุกรรมการวิชาการและวิเคราะห์โครงการ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย นายปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ร่วมเสวนา ณ อาคารมหามกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวถึงรายงานการศึกษาการใช้งบบริหารจัดการน้ำว่า ภายหลังมหาอุทกภัยไทยปี 2554 ซึ่งสร้างความเสียหายประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ด้วยเพราะในอดีต 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้มีการเตรียมระบบการป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ไว้ อีกทั้งยังมีการขยายตัวของชุมชนเมืองชุ่มน้ำท่วมถึงมากมาย ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลการใช้งบประมาณแก้ไขน้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยหลังจากประสบปัญหาวิกฤตการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 พบว่า ประเทศไทยมีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นเงินทั้งสิ้น 2.03 แสนล้านบาท ผ่านการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เป็นเงิน 53,018 ล้านบาท และงบกลางประจำปี 2555 เป็นเงิน 119,987.72 ล้านบาท รวมทั้งงบประมาณพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 เป็นเงิน 30,585 ล้านบาท
ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท จำแนกเป็นการใช้จ่ายเงินได้ 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.งบซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมและขนส่ง 27.31% ซึ่งมากที่สุด 2.งบรายจ่ายประจำปีผ่านหน่วยงานต่างๆ 26.04% 3.งบเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยและชดเชยความเสียหายเกษตรกร 22.10% งบปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 13.44% 5.งบฟื้นฟูสถานที่ราชการ โบราณสถาน ศาสนสถาน โรงพยาบาลและแหล่งท่องเที่ยว 8.4% 6.งบสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำและระบบเตือนภัย 2.48% และ 7.งบฟื้นฟูภาพลักษณ์ทั้งในและต่างประเทศ 0.23%
"หลังวิกฤติน้ำท่วม ปี 2555 ประเทศไทยใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่การดำเนินการแบบรีบเร่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก้นักลงทุนนี้เอง จึงขาดความเหมาะสมสำหรับรองรับภัยพิบัติที่มีแนวโน้มขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งยังเน้นการบริหารน้ำเพื่อชลประทานและใช้น้ำเป็นหลัก ระบบป้องกันน้ำท่วมยังมีขนาดเล็กเกินไป ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายผังเมือง และยังไม่มีความชัดเจนของระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อต่อสู้กับภัยพิบัติขนาดใหญ่ของประเทศในอนาคต จึงยังมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบภัยขนาดใหญ่"ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าว และว่า การใช้งบฯ ในส่วนนี้ ล้วนเป็นไปในเรื่องโครงสร้าง เช่น ก่อกำแพงกั้นน้ำ โดยต่างคนต่างทำ ไม่ได้รันโมเดลในภาพรวม ซึ่งจะส่งผลกระทบในอนาคต หากน้ำมาในปริมาณมากจะเสียหายหนักขึ้น ภาพในปี 2554 จะเกิดขึ้นซ้ำ และงบประมาณจำนวน 2 แสนล้านบาทนี้จะช่วยอะไรไม่ได้เลย
ส่วนข้อเสนอแนะ ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนแม่บทแก้ปัญหาแบบองค์รวม (deltic area) เพิ่มระดับมาตรฐานการลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วมของประเทศให้เหมาะสม วางแผนควบคุมการป้องกันน้ำท่วมที่ใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มน้ำต่างๆ โดยมององค์รวม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ รวมทั้งปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำใหม่ สร้างทางระบายน้ำท่วมสำรองขนาดใหญ่ วางแผนพัฒนาเมืองในอนาคตของลุ่มน้ำท่วมถึงทั่วประเทศ และปรังปรุงระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั้งระบบ อีกทั้งต้องเร่งพัฒนาออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน มีกฎหมายปฏิรูปที่ดินในลุ่มน้ำท่วม
ขณะที่รศ.ดร.อภิชาติ กล่าวถึงโครงการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบจัดการน้ำทั้งระบบของ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในส่วนเงินงบประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้น เหตุที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมออกแบบด้วย เนื่องจากต้องการล้างบางและเปลี่ยนแนวคิดระบบหน่วยงานราชการในระดับต่างๆ ที่มักมีกระบวนการทำงานที่ไม่โปร่งใส แต่ในส่วนงบ 2 แสนล้านบาทภายหลังมหาอุทกภัยนั้น ยังไม่สามารถรองรับสถานการณ์หากเกิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"การสร้างคันดิน หรือกำแพงกั้นน้ำไม่มีประโยชน์ในทางชลศาสตร์ ในทางกลับกันจะเพิ่มปัญหา รวมทั้งปัญหาผังเมือง การบังคับใช้กฎหมายกับผู้บุรุกที่ดินและคูคลอง เช่น ปากคลองรังสิต การสร้างระบบป้องกันต้องรุกไปในคลองกว่า 10 เมตร เพราะไม่สามารถจัดการกับผู้บุกรุกได้ ทำให้คลองแคบลงและมีผลกับการไหลของน้ำ วิศวกรสมัยนี้เชื่อแต่ระบบคอมพิวเตอร์ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์มากกว่าดูสภาพจริง"รศ.ดร.อภิชาติ กล่าว และว่า ด้วยเหตุนี้จึงไม่ปล่อยให้หน่วยงานในประเทศคิดและทำเหมือนเดิม แต่หากแนวคิดไม่ใหม่หรือไม่น่าสนใจก็ไม่ต้องจ้างต่างชาติ หลักคิดมีแค่นั้น การแก้เรื่องน้ำท่วมไม่มีอะไรไฮเทค
ทุ่มงบฯ ลงทุนบริหารจัดการน้ำ แก้ได้ไม่สัมฤทธิ์ผล
ด้านนายปราโมทย์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2518 เกิดน้ำท่วมใหญ่ 13 ครั้ง เฉลี่ยจะเกิดประมาณ 3 ปี 1 ครั้ง ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร อนาคตก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีทางหนีได้ อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น ยิ่งสถานการณ์โลกร้อนขึ้น ระบบนิเวศเปลี่ยนอาจส่งผลให้สถานการณ์หนักขึ้น ธรรมชาติอยู่เหนือการควบคุม ทั้งนี้ เงินที่ลงทุนไปในระยะเร่งด่วนจะไม่ได้ช่วยดูแลป้องกันน้ำท่วมได้เลย
"เงิน 2 แสนล้านบาทที่ลงทุนไป มีความจำเป็นในส่วนที่ต้องซ่อมแซมจุดที่เสียหาย แต่แก้ปัญหาอนาคตไม่ได้เลย สู้กับน้ำไม่ได้เลย โดยเฉพาะการสร้างถนนให้สูงขึ้น การทำคันใต้คลองพระยาบันลือ ล้วนเป็นดาบสองคม หากน้ำมาน้อยก็พอสกัดกั้นได้บ้าง แต่หากน้ำมาเพียงเทียบเท่าปี 2554 จะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายเพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะมีเจตนาสกัดกั้นการไหลของน้ำ ปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติได้น้อยมาก เมื่อเป็นนโยบายที่คิดแล้วก็ใช้เงิน การลงทุนครั้งนี้จึงแก้ได้ไม่สัมฤทธิ์ผล" นายปราโมทย์ กล่าว และว่า ขณะที่เงิน 3 แสนล้านบาท ที่จะกู้มาสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาว เป็นส่วนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ว่าจะสร้างระบบและแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ มีการวิเคราะห์และศึกษาหรือยัง แต่เงินหมดแน่นอน
"อย่างการขุดลอกคลองไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย บางจุดขุดลอกคลอง แต่ก็ไม่ช่วยให้น้ำไหลเร็วขึ้น เพราะเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ จะเลือกให้เป็นพื้นที่น้ำไหลผ่านไม่ได้ สภาพภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์มันแก้ไม่ได้ ที่ผ่านมาผมเป็นฝ่ายค้านใน กยน.มาตลอด ผมคิดไม่เหมือนเขา ข้อมูลเขาจึงไม่สอดคล้องกับภูมิสังคม แผนจึงไม่ใช่แผนแม่บทที่แท้จริง แต่เป็นแผนที่อยากจะทำ"
เอกสารที่เกี่ยวข้อง:ใช้งบบริหารน้ำ 2 แสนล้าน..ประเทศไทยได้อะไร?